“เมื่อพูดถึงปัญหาของไรเดอร์ คนส่วนใหญ่จะนึกถึงไวรัลที่โด่งดังอย่างอเวจีปอยเปต แต่ความจริงมีมากกว่านั้น” คือสิ่งที่อยู่ในใจของไรเดอร์หลายคน
‘ไรเดอร์’ คนประกอบอาชีพขี่มอเตอร์ไซค์รับส่งอาหาร รับส่งคน หรือเป็นแมสเซนเจอร์ส่งเอกสาร ไม่ว่าจะเรียกด้วยคำไหน พวกเขาเป็นคนที่เราเจอทุกวันบนท้องถนน หรือติดต่อกันผ่านคำสั่งซื้อ เหมือนใกล้ชิด แต่เรื่องราวของพวกเขากลับห่างไกลจากการรับรู้ของเรา สำหรับเราเขาจึงเป็นเพียง คือ คนอำนวยความสะดวก มากกว่าเพื่อนร่วมสังคม
ถ้าเขาคือเพื่อน เราอาจจะรู้ว่าแต่ละวันเขาต้องทำงานบนท้องถนนเวลานาน ไม่มีการคุ้มครองความปลอดภัย ไม่มีสวัสดิการ ค่าแรงต่อหนึ่งงานที่น้อยนิด ปัญหาสุขภาพกายและจิต ฯลฯ
แต่เราไม่เคยรู้ข้อมูลที่เกินกว่า หน้าตา ชื่อนามสกุล เลขที่บัญชี
ทว่า ไรเดอร์กลุ่มหนึ่งที่ทนไม่ไว้กับสภาพการทำงานแบบนี้ ก็ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องการทำงานงานที่เขาควรจะได้ พวกเขาไม่เพียงแต่เรียกร้องสิทธิ สวัสดิการ และสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้น แต่ยังเคลื่อนไหวเรื่องสวัสดิการของทั้งสังคม คนกลุ่มนี้มีนามว่า ‘สหภาพไรเดอร์’

บทความนี้ชวนคุยกับ ‘เรย์’ อนุกูล ราชกุณา แอดมินเพจสหภาพไรเดอร์ ที่ทำอาชีพไรเดอร์อิสระ และเคลื่อนไหวประเด็นสิทธิไรเดอร์ที่สังคมยังไม่พูดถึง
ทำไมถึงเลือกมาทำงานเป็นไรเดอร์
4 – 5 ปีที่แล้ว เราเป็นช่างซ่อมรถที่อู่แห่งหนึ่ง แล้วเห็นความไม่เป็นธรรม แรงงานส่วนใหญ่ในอู่มาจากประเทศเพื่อนบ้านที่ดูเหมือนถูกเกณฑ์มา เขาจะถูกยึดพาสปอร์ตไว้และให้ทำงานล่วงเวลา ถ้าเลิกงานแล้วแต่ยังมีลูกค้า เจ้าของอู่จะปลุกพี่ๆ มาทำงานโดยไม่ให้ค่าจ้างเพิ่ม มีค่าตอบแทนแค่ราดหน้าถุงเดียว มันเลยเป็นความรู้สึกว่านี่ไม่เป็นธรรมนะ เราทำงานต้องการเงิน ไม่ได้ต้องการราดหน้า
เราเลยตั้งคำถามว่า แล้วการทำงานของเราล่ะเป็นธรรมจริงหรือเปล่า ประกอบกับช่วงนั้นมีธุรกิจแพลตฟอร์มเข้ามาทำตลาดในไทย จริงๆ เข้ามาเกือบ 10 ปีแล้ว แต่ยังไม่ดัง ช่วง 4 – 5 ปีถึงเริ่มมีกระแสว่า ‘ไรเดอร์’ เป็นอาชีพอิสระที่น่าสนใจเพราะรายได้ดี ซึ่ง ณ ตอนนั้นมันก็เป็นจริง เราเองก็มีความสนใจอาชีพนี้ เลยไปสมัครเป็นไรเดอร์ที่แอปพลิเคชันหนึ่ง
ช่วงที่ทำงานแรกๆ เรามีความสุขนะ เพราะวิ่งงานไม่กี่ชั่วโมงก็สามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ ตอนนั้นวิ่ง 1 งาน ได้เงินประมาณ 1,000 บาท แต่วิ่งไกลอยู่นะ จากลาดกระบังมาหนองแขม
วิธีสมัครมาเป็นไรเดอร์มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
สมัครผ่านแอปพลิเคชั่นเฉพาะสำหรับไรเดอร์ที่ใช้ทำงาน กรอกข้อมูลส่วนตัว เอกสารเกี่ยวกับรถ เช่น ใบขับขี่ สำเนาทะเบียนรถ จะมีข้อความแจ้งเตือนนัดอบรมเรื่องการรับงาน บรรยายว่าเราต้องรับงานอย่างไร มีค่ารอบเท่าไหร่ แต่ไม่ได้อบรมเรื่องความปลอดภัย
ส่วนอุปกรณ์ทำงาน เราต้องซื้อเองทั้งหมด เช่น กล่องใส่ของ ยูนิฟอร์ม ค่าสมัครบัญชีในแอปฯไรเดอร์ เราต้องกำเงินประมาณ 2,000 บาทเพื่อสมัครเป็นไรเดอร์ นอกจากนี้ยังต้องมีโทรศัพท์มือถือ ที่วางโทรศัพท์มือถือกับรถ และหมวกกันน็อค โทรศัพท์มือถือก็ต้องแยกเป็นเครื่องที่เอาไว้รับงานโดยเฉพาะ กับเครื่องที่เอาไว้ใช้ส่วนตัว

ในหนึ่งวัน ไรเดอร์ต้องทำอะไรบ้าง
ระบบการรับงานของไรเดอร์จะแบ่งเป็น 2 แบบ แบบที่ 1 ยิงงานเข้าหาตัวเอง และแบบที่ 2 แย่งกันกดงาน แบบยิงงานเข้าหาตัว คือ เราเปิดรับงานไว้ในหน้าแอปรอให้งานเด้งเข้ามาโดยอัตโนมัติ
ส่วนแบบแย่งงานคือเมื่องานเด้งขึ้นมา คุณก็กดเลือกทำงานนั้น ถ้าคุณช้าเพียงเสี้ยววินาที คนอื่นก็ได้งานไป เห็นไหมที่ไรเดอร์อยู่อย่างนี้บนรถ (ทำท่ากดมือถือแบบรัวๆ) คือเขากำลังเร่งกดรับงาน มันเป็นสภาวะแข่งขันที่แพลตฟอร์มสร้างขึ้นมา ทำให้ไรเดอร์แย่งกันกิน ทะเลาะกันเอง การแย่งรับงานยังส่งผลต่อความปลอดภัยบนท้องถนน หลายคนมองแบบปัจเจก โทษไรเดอร์ที่ขับรถฝ่าไฟแดง แต่ถ้ามองที่โครงสร้าง แพลตฟอร์มต่างหากที่กำหนดกติกา ให้ไรเดอร์วิ่งงานมากขึ้น เร็วขึ้น อันตรายขึ้น
ถ้าไรเดอร์ที่ทำงานมาสักระยะจะมีลูกค้าประจำ เขาก็จะมีช่วงเวลาที่เรียกงานประจำ สมมติชอบสั่งอาหาร 6 โมง ไรเดอร์ก็จะตื่นมาเตรียมตัวรองานช่วงเวลานั้น แต่เวลาไม่แน่นอนนะ บางทีลูกค้าก็ไม่เรียก ไรเดอร์ก็ต้องวิ่งไปเรื่อยๆ เพื่อรับงาน ตรงไหนที่มีงานชุม เช่น ร้านอาหารในตัวเมือง ไรเดอร์ก็จะไปรอตรงนั้นกัน
คุณบอกว่าช่วงแรกๆ ของการทำงานไรเดอร์มีความสุข พอเราทำไปนานๆ ความรู้สึกยังเหมือนเดิมไหม หรือเปลี่ยนไปแล้ว
ช่วงแรกของการทำงานเรามีความสุข เพราะความคาดหวังและการกดดันยังไม่มาก เขาปฏิบัติกับเราเหมือนเป็น ‘พาร์ทเนอร์’ แต่เรายังไม่รู้นะว่า ตอนนั้นบริษัทแพลตฟอร์มใช้มาตรการ ‘การทุ่มตลาด (Dumping)’ เพื่อดึงไรเดอร์ ดึงผู้บริโภค ดึงทุกคนเข้ามาในระบบเขา พอเวลาผ่านไป ธุรกิจเริ่มเป็นที่รู้จัก ติดตลาด วิธีที่เขาปฎิบัติกับเราก็เปลี่ยนไป เราไม่ได้เป็นพาร์ทเนอร์ของเขาแล้ว
เช่น เมื่อมีจำนวนไรเดอร์มากขึ้น แพลตฟอร์มต้องหาวิธีทำให้ไรเดอร์หน้าใหม่มีรายได้ เพื่อกระตุ้นคอยดึงไรเดอร์เข้ามาเรื่อยๆ วิธีการที่ใช้ คือ ปรับ Algorithm ที่ทำให้ไรเดอร์เก่าๆ มองเห็นงานลดลง หรือออกนโยบายลดค่ารอบ เพื่อกระจายรายได้รองรับไรเดอร์ที่มากขึ้น ไรเดอร์เก่าๆ ที่เคยได้ค่ารอบสูงๆ เมื่อได้ค่ารอบลดลง ก็ขอถอดใจล้มเลิกอาชีพนี้ไป ทำให้ระยะเวลาทำงานของไรเดอร์ขึ้นอยู่กับต้นทุนที่แต่ละคนมี ส่วนใหญ่อยู่ไม่นาน 1 – 3 ปี เพราะเขาแบกรับต้นทุนไม่ไหว
สำหรับเรา แพลตฟอร์มยืมมือไรเดอร์เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจตัวเอง แต่พอไรเดอร์ใช้งานได้ไม่ดีเท่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ หรือยานพาหนะ แพลตฟอร์มจะเขี่ยไรเดอร์คนนั้นทิ้ง สุดท้ายแพลตฟอร์มไม่ได้ต้องการไรเดอร์ที่ทำงานดี แต่เขาต้องการไรเดอร์ใหม่วนเข้ามา และเอาไรเดอร์เก่าออกไป เราเรียกว่า ‘ทฤษฎีน้ำดีไล่น้ำเสีย’
งานไรเดอร์ได้รับสวัสดิการอะไรบ้าง
มี แต่ปัญหาคือแพลตฟอร์มดันเอาจำนวนงานมาผูกกับสวัสดิการที่ไรเดอร์จะได้รับ บางบริษัทมักตั้งเงื่อนไขประมาณว่า คุณจะได้รับสวัสดิการก็ต่อเมื่อคุณรับงานครบ 350 งานต่อเดือน ไรเดอร์ก็ต้องเร่งรับงานให้ครบ ถ้าทำไม่ครบก็จะไม่ได้การคุ้มครองหรือสวัสดิการ เช่น ประกันอุบัติเหตุ กลายเป็นเจ็บฟรี ตายฟรี
ประกันอุบัติเหตุที่แพลตฟอร์มทำให้ส่วนใหญ่จะเป็นประกันชั้น 2 ซึ่งคุ้มครองทุกกรณี แต่ไม่คุ้มครองเรา แล้วเบิกยาก แทบเคลมไม่ได้
คำถาม คือ วิ่งงาน 350 งานกับวิ่งงานครั้งแรก ความเสี่ยงเท่ากันไหม? เท่ากัน เผลอๆ วิ่งไป 350 งานหรือ 349 งาน เกิดรถชนขึ้นมาก็จบ สวัสดิการของไรเดอร์มีปัญหาทุกที่ เพราะต้นตอมาจากเรื่องเดียวกัน คือ กฎหมาย รัฐไทย และมายาคติในสังคมไทย
สวัสดิการที่ไรเดอร์ควรได้รับตามกฎหมายแรงงาน คือ วันหยุด วันลาพัก ถ้าหยุดมีเงินชดเชยให้ ส่งเงินประกันสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไรเดอร์ควรได้เหมือนกัน เพราะเราทำงานมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมง
มีกฎหมายตัวหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจ กฎหมายของแคลิฟอร์เนีย ชื่อว่า Prop 22 เป็นกฎหมายที่แพลตฟอร์มเขียนขึ้นมาว่า แพลตฟอร์มจะต้องจัดสวัสดิการเพิ่มหรือพิเศษให้ไรเดอร์ แต่ถ้าไรเดอร์คนนั้นวิ่งงานมากกว่าจำนวนงานที่วิ่งปกติ
ค่ารอบดูเป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานของไรเดอร์มันสำคัญแค่ไหน และผลักให้ไรเดอร์ทำอะไรได้บ้างเพื่อค่ารอบ
ค่ารอบมันส่งผลต่อรายได้ที่ไรเดอร์จะได้รับ สมมติวิ่งงาน 3 กิโลเมตรแรกในกรุงเทพฯ ได้ค่ารอบ 42 บาท ถ้าไกลออกไปก็บวกเพิ่มกิโลเมตรละ 3 – 7 บาท ขึ้นอยู่แพลตฟอร์มจะกำหนด ยิ่งค่ารอบสูงไรเดอร์ก็จะทำงานน้อยลง เพราะได้ค่าแรงสูงอยู่แล้ว เขาก็ไม่ต้องวิ่งทำงานหนัก
เมื่อค่ารอบถูกปรับให้ลดลงไม่เท่ากับช่วงแรกๆ ที่เราได้ ทำให้ชั่วโมงการทำงานก็ต้องเพิ่มขึ้น บางคนทำงาน 12 ชั่วโมง บางคน 18 ชั่วโมงต่อวัน หรือบางคนไม่นอนเลยก็มี พวกเราเขาใช้เวลาไปกับการทำงาน ไม่มีเวลาส่วนตัว หรือเวลาพักผ่อน
แล้วค่ารอบขึ้นอยู่ที่พื้นที่ด้วยนะ บางจังหวัดค่ารอบ 1 รอบ 17 บาท ลองคำนวณดูว่าวันนี้เขาต้องวิ่งงานเท่าไรถึงจะได้เงินพอเลี้ยงตัวเอง

ไรเดอร์จะถูกบังคับให้ต้องรับงานให้ได้มากที่สุด แล้วไรเดอร์สามารถที่จะยกเลิกงาน หรือคำสั่งซื้อเองได้ไหม
จริงๆ มันควรจะมีสิทธิ์ยกเลิกเองได้นะ แต่ในความเป็นจริงถ้าไรเดอร์ คนไหนยกเลิกงานแม้แต่งานเดียว จะถูกแพลตฟอร์มแบน 1 – 2 วันทันที คนไหนที่ทำไรเดอร์เป็นอาชีพหลัก ก็ถูก ‘สภาวะจำยอม’ ให้เขาไม่สามารถยกเลิกงานได้ เพราะถ้าเขาถูกแบนก็วิ่งรับงานไม่ได้ ไม่มีรายได้
เราจะเห็นข่าวลูกค้าไม่จ่ายค่าอาหารบ่อยมาก กรณีแบบนี้ ไรเดอร์ต้องทำอย่างไรบ้าง
นี่เป็นปัญหาหนึ่ง ข่าว สามแสนล้านภพ สามแสนล้านชาติ ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่มันมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง แค่ไม่เป็นข่าว
เงินที่ไรเดอร์ออกค่าอาหารเป็นเงินของเขาเอง ทั้งๆ ที่การส่งอาหารแต่ละครั้งทำให้บริษัทได้ชื่อเสียงและส่วนแบ่งการตลาดเพิ่ม ตัวเองไรเดอร์เองก็ไม่อยากแจ้งเคลมค่าอาหารกับบริษัท เพราะใช้เวลาเคลมนาน และมักถูกบริษัทถามว่า “ออกจากร้าน คุณได้โทรศัพท์คอนเฟิร์มกับลูกค้าหรือยังก่อน” ถ้าไม่โทรศัพท์หาลูกค้าถือว่าทำผิดเงื่อนไข เคลมไม่ได้ ไรเดอร์ส่วนใหญ่ต้องรับผิดชอบค่าอาหารเองมากกว่าพึ่งบริษัท
ถ้าบริษัทมีไรเดอร์ประมาณ 500,000 คน และให้เงินสำรองค่าอาหารกับไรเดอร์คนละ 1,000 บาท บริษัทจะต้องใช้เงินประมาณ 500 ล้านบาท ในทางกลับกัน การที่ให้ไรเดอร์สำรองค่าอาหารเอง ก็คือการใช้เงินไรเดอร์ 500 ล้านบาท เป็นต้นทุนในการทำธุรกิจ โดยไม่ต้องกู้ยืมจากธนาคารไหน
เพจสหภาพไรเดอร์เคยโพสต์ว่า “ยืมเงินไรเดอร์ค่าอาหารเท่ากับยืมเงินไรเดอร์” ซึ่งคนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเรา เขามองว่าการที่ไรเดอร์จ่ายค่าอาหารเองเป็นความเสี่ยงทางการเงินที่ไรเดอร์ต้องแบกรับ ถ้าแพลตฟอร์มออกค่าอาหารให้กับลูกค้าเอง ไรเดอร์ก็ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงนี้
ฝนตกก็เป็นอีกความเสี่ยงหนึ่งที่ไรเดอร์ต้องแบกรับ เพราะคำสั่งซื้อที่เยอะ แรงกดดันจากลูกค้าที่เร่งอาหาร ความอันตรายจากถนนที่ลื่น ความเสี่ยงตรงนี้สร้างความเครียดให้กับไรเดอร์ แม้ว่าไรเดอร์ส่วนใหญ่ไม่รับงานตอนฝนตก แต่บริษัทอาจจะมีเล่ห์กล ด้วยการขึ้นค่าส่ง 5-10 บาท ซึ่งลูกค้าหลายคนคิดว่าค่าส่งที่บวกเพิ่มจะเข้ากระเป๋าไรเดอร์ แต่ความจริงกลับเข้าแพลตฟอร์ม
บางคนบอกว่า “ถ้าคนทีเขามาหาคุณในวันฝนตก นั่นแหละคือรักแท้” แล้วนำมาเปรียบเทียบกับไรเดอร์ที่ส่งอาหารตอนฝนตก มันไม่ใช่คำที่ต้องมาโรแมนติก ถ้าเป็นใครก็ตามแต่ที่ผมห่วงใย ผมคงไม่ให้ใครมาหาวันฝนตก มาหาวันที่ฟ้าสว่างหรือกลางคืนดีกว่าไหม

การที่บางคน Romanticize ไรเดอร์แบบนี้ ทำให้เรารู้สึกยังไง
ไรเดอร์บางคนเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว แม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องหิ้วลูกมาวิ่งงานด้วย คนจำนวนหนึ่งมองเป็นเรื่องโรแมนติก “ไรเดอร์คนนี้สู้ชีวิตมากเลย” ผมมองว่า มันไม่ใช่เรื่องโรแมนติก เป็นเรื่องที่ต้องไปจัดการกับบริษัทว่า ทำไมปล่อยให้ไรเดอร์เอาเด็กมาวิ่ง บนการทำงานที่มันไม่ปลอดภัยอยู่แล้ว ถ้าไรเดอร์เกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ก็เท่ากับมีคนเจ็บเพิ่ม
เราไม่ควรมองสิ่งที่ไรเดอร์เจอเป็นเรื่องโรแมนติก เพราะมันคือการบดบังปัญหาที่แท้จริง ทำไมไรเดอร์ต้องทำงานตากฝน หรือเอาลูกมาทำงาน ถ้าค่ารอบมันเพียงพอเหมาะสมกับการเลี้ยงชีพ ทำงานไม่กี่ชั่วโมงก็สามารถหยุดงานเพื่อมาอยู่กับลูกได้แล้ว เป็นแบบนี้มันจะไม่ดีกว่าหรอ
นอกจากเรื่องงาน ไรเดอร์ยังมีปัญหาอื่นๆ ไหม
เยอะเลยครับ เราตากแดด ตากลม เผชิญกับฝุ่นละอองทั้งวัน ปัจจัยความเสี่ยงของเราที่จะเกิดโรคทางเดินหายใจมันมากกว่าคนอื่นๆ ต้องเจอกับอาการปวดหลังจากการนั่งอยู่บนมอเตอร์ไซค์ตลอดเวลา ไรเดอร์บางคนตากแดดจนผิวไหม้เกรียมก็เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง
ปัญหาสุขภาพจิต ไรเดอร์ส่วนใหญ่มีแนวโน้มเป็นโรคเครียด จากการถูกกดดันจากแพลตฟอร์มและลูกค้า เพราะลูกค้าก็ไม่ได้น่ารักทุกคน แต่เรื่องที่เครียดที่สุดก็คงเป็นค่ารอบ
ต้นทุนอีกอย่างที่ไรเดอร์ต้องจ่ายเอง คือ ค่ารักษาพยาบาล เราไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ต้องออกค่ารักษาเองทั้งหมด เพราะงานไรเดอร์จัดอยู่ในอาชีพอิสระ ไม่มีสิทธิประกันสังคม บริษัทก็ไม่ได้ส่งมาตรา 33 ให้เรา เพราะไม่ใช่ลูกจ้างประจำ ไรเดอร์ส่วนใหญ่ต้องทำประกันสังคมมาตรา 39 สิทธิประกันตนตามสมัครใจ (กรณีที่ไรเดอร์เคยทำงานประจำมาก่อน) หรือมาตรา 40 สิทธิประกันตนของผู้มีอาชีพอิสระเอง
ท่ามกลางปัญหาที่อาชีพไรเดอร์กำลังเผชิญ ถ้าให้ถอยหลังไปดูภาพกว้าง คุณคิดว่าต้นตอของปัญหาเกิดจากอะไร
ผมมองว่าเป็นการปลดปล่อยของทุน จากสมัยก่อนที่นายทุนเป็นเจ้าของโรงงานที่มีแรงงานจำนวนมาก เมื่อการทำงานเกิดมีปัญหา แรงงานที่ทำงานอยู่ในโรงงานเดียวกันสามารถรวมตัวเพื่อประท้วงเจ้านายได้ แต่ในยุคปัจจุบัน แรงงานไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรงงาน แต่กระจายออกไปทำงานที่เล็กกว่า เช่นสถานประกอบการ หรือรับจ้างทั่วไป การที่แรงงานแต่ละคนทำงานกระจัดกระจายออกไป ทำให้แรงงานรวมกลุ่มได้น้อยลง และพึ่งพาตัวเองมากขึ้น
ทุนนิยมปลดปล่อยตัวเอง คือการจ้างงานที่ไม่รับผิดชอบคนทำงาน ยิ่งอยู่ในประเทศไทยที่ดำเนินเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ลดบทบาทของคนทำงานไม่ให้จัดตั้งเป็นสหภาพ และลดการเก็บภาษี


สถานการณ์การทำงานของไรเดอร์คิดว่าจะมีแนวโน้มต่อไปเป็นอย่างไร
มีแนวโน้มที่จะแย่ลง เพราะนโยบายของแพลตฟอร์ม คือ แข่งกันลดราคา บริษัทไหนสายป่านยาวจะกลายเป็นผู้ผูกขาดตลาด โดยไม่ได้สนใจว่าไรเดอร์เจ็บตายข้างทางกี่คน การจ้างงานแบบนี้จะมันขูดรีดสังคมไปเรื่อยๆ ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น
สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ รัฐไทยพยายามผลักดันพรบ.ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นการตีตราว่า ‘ไรเดอร์ไม่มีนายจ้าง’ และให้อำนาจแพลตฟอร์มในการปฏิเสธสวัสดิการไรเดอร์ ผลักให้เงินเยียวยาหรือประกันอุบัติเหตุของไรเดอร์มาจากภาษีประชาชนแทน ซึ่งไรเดอร์สร้างมูลค่าให้แพลตฟอร์ม แต่แพลตฟอร์มกลับลอยตัว ไม่รับผิดชอบคนทำงาน ไม่ต่างจากรัฐไทยกำลังอุ้มธุรกิจเหล่านี้อยู่
กฎหมายแรงงานเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำร้ายฝ่ายแรงงานมานาน ประเทศไทยเป็นประเทศที่ร่วมก่อตั้งองค์กรสมาชิกแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization หรือ ILO) แต่รัฐไทยปฎิเสธให้สัตยาบัตอนุสัญญาฉบับที่ 87 เรื่องการรวมตัวของแรงงาน และฉบับที่ 98 เรื่องการต่อรองของแรงงาน ถ้ารัฐให้สัตยาบัต มีผลทำให้ต้องออกกฎหมายมารองรับสิทธิ์นี้ พอรัฐไม่ได้ลงนาม อำนาจต่อรองหรืออำนาจรวมตัวของแรงงานไม่มี
เร็วๆ นี้ได้ยินข่าวว่ารัฐไทยจะรับอนุสัญญาฉบับที่ 98 ผมมองว่าเปล่าประโยชน์ ในเมื่อไม่รับฉบับที่ 87 แรงงานไม่สามารถรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจได้ แล้วเราจะไปต่อรองยังไง
การรวมตัวกันมันสำคัญมาก เพราะการรวมตัวกัน จะทำให้เรามีพลังในการกดดันหรือต่อสู้ และรัฐ กฎหมาย หรือบริษัทก็จะเปลี่ยนตามเรา ในประวัติศาสตร์การเรียกร้องกฎหมายลาคลอด ก็เกิดจากการต่อสู้ของพี่น้องแรงงาน ไม่ได้เกิดจากรัฐบาลใจดีประทานมาให้

สหภาพไรเดอร์ เป็นกลุ่มที่ไรเดอร์รวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่ไรเดอร์ต้องเจอ ณ ตอนนี้งานที่สหภาพกำลังขับเคลื่อนคืออะไร
ถ้าเราจะผลักดันแก้แค่ปัญหาไรเดอร์มันก็ดูเห็นแก่ตัวเกินไป เราควรเห็นแก่พี่น้องแรงงานทุกคน เพราะทุกคนคือคนทำงาน ดังนั้น สิ่งที่เราขับเคลื่อน คือ การปรับเปลี่ยนนิยามในกฎหมายแรงงาน ไม่ให้มีการแบ่งแยกแรงงานในระบบและนอกระบบ ให้ทุกคนใช้คำนิยามว่า ‘แรงงาน’ หมดเลย เพราะตราบใดที่คุณไม่ได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ไม่ใช่นายทุน ทุกคนก็คือแรงงานคนหนึ่ง
แล้วประเด็นแรงงานมันผูกเชื่อมโยงกันหมด สหภาพไรเดอร์ขับเคลื่อนและสนับสนุนหลายงาน เช่น ล้างหนี้กยศ. เพราะสิทธิ์เรียนฟรีควรเข้าถึงทุกคน การเข้าไม่ถึงการศึกษาที่ฟรีมันก็คือเหยื่อของระบบทุนนิยม ความหวัง ความฝัน หรือความรู้ มันต้องใช้เงินจ่าย ก็คือทุนนิยม
ส่วนประเด็นเฉพาะของไรเดอร์ที่สหภาพกำลังเคลื่อนไหวอยู่ เป็นประเด็นไรเดอร์เชียงใหม่ถูกแบนกรณีไม่ขึ้นไปส่งลูกค้าเลยร้องเรียน เรื่องเกิดจากลูกค้าที่อยู่โรงพยาบาลขอให้ไรเดอร์นำอาหารขึ้นไปส่งในตึก แต่ไรเดอร์ไม่สามารถขึ้นไปส่งอาหารได้ เพราะทางบริษัทแพลตฟอร์มมีกฎว่าห้ามไรเดอร์ขึ้นอาคาร บวกกับโรงพยาบาลที่อยู่ในมาตรการดูแลของสาธารณสุข ลูกค้าไม่พอใจจึงเลยร้องเรียนมากับแพลตฟอร์ม แพลตฟอร์มที่ออกกฎนี้ก็แบนไรเดอร์ สหภาพคนทำงานกับสหภาพไรเดอร์เราเรียกร้องเรื่องนี้จนแพลตฟอร์มปลดแบน และยื่นเรื่องให้โรงพยาบาลจัดเตรียมพื้นที่สำหรับให้ไรเดอร์ส่งอาหาร
ย้อนกลับไป เรย์เคยสนใจและเรียนด้านดนตรี แต่ลาออกจากเรียนมาทำงานเป็นไรเดอร์ อะไรที่ทำให้เรายอมละทิ้งความฝันนั้น และมาเริ่มทำงานไรเดอร์
เราก็เอาตัวรอดแหละ (หัวเราะ) ทุนนิยมมันทำให้เราอยู่กับความเป็นจริงมากกว่าอุดมคติ เพราะว่าทุกอย่างมันต้องใช้เงินจ่าย เราก็ต้องทำงานเลี้ยงตัวเอง ก่อนที่จะทำตามอุดมคติหรือความฝันของเรา เหมือนการศึกษา รัฐไทยทำให้การศึกษามันเข้าถึงยาก มันต้องใช้เงินจ่าย เราเห็นเด็กฆ่าตัวตาย ไม่มีเงินเรียนบ้าง ความฝันของเด็กมันต้องใช้เงินจ่าย แล้วเราจะยอมเรื่องพวกนี้อย่างไร เพราะถ้าผมว่าเรายังเจ็บปวดกับเรื่องพวกนี้ เราก็ยังเป็นคนอยู่
ทุนนิยมทำให้ไรเดอร์อยู่กับความเป็นจริง เมื่อเขาปรับลดค่ารอบคุณ คุณก็ต้องทำงานมากขึ้นเพื่อให้มีรายได้เพียงพอในแต่ละวัน ไรเดอร์ไม่สามารถทำในสิ่งที่ชอบได้ สมมติไรเดอร์คนหนึ่งเป็นจิตรกรที่เก่งมาก ในโลกความเป็นจริงจิตรกรขายภาพไม่ได้ ทุนนิยมทำให้จิตรกรต้องมาทำงานไรเดอร์หาเลี้ยงตัวเอง และก็ลบล้างความฝันของตนไปหมด ทุนนิยมจึงทำลายความฝันของศิลปิน
มันกระทบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความฝัน ครอบครัว การคบกับใครคนหนึ่งมันก็มีปัจจัยทางเศรษฐกิจมาเกี่ยวข้อง เช่นสองคนเคมีตรงกัน มีความฝัน หรือเป็นศิลปินเหมือนกัน สองคนนั้นจะคบกันเลยโดยที่ไม่มีเรื่องเงินมาเกี่ยวข้อง มันเป็นไปไม่ได้ เพราะทุนนิยมมันพรากทุกอย่างไปหมดแล้ว
ถ้าเราทำตามความฝัน เราก็คงประกอบอาชีพ sounds engineering ซึ่งตอนนี้ก็ยังทำอยู่เป็นงานอดิเรก เราไม่ได้ทิ้งมัน แต่มันอยู่กับเราในบางเวลา เช่นเวลาที่เราทำคอนเทนท์ตอบโต้บริษัทแพลตฟอร์ม และต้องการนำเสนอรูปแบบใหม่ๆ เราต้องอาศัยความรู้เรื่อง sounds engineering มาในการ mix mastering เพลง
ท้ายที่สุดแล้ว ‘ความเป็นมนุษย์’ ในมุมมองของไรเดอร์คืออะไร
รักอิสระ ชอบงานอิสระ ชอบงานผาดโผด ชอบไปที่ใหม่ๆ ซึ่งมันก็เป็นทุกคนหรือเปล่า ที่อยากท่องโลกกว้าง หาสถานที่ใหม่ๆ มันคือทุกคน ผมไม่ได้พูดแค่ไรเดอร์ แต่ทุกคนด้วย มันมีใครที่อยากใช้ชีวิตในห้องสี่เหลี่ยมเดิมๆ โดยที่ไม่ทำอะไรเลย ทุกคนล้วนอยากออกไปเห็นโลกใหม่ๆ ทั้งนั้น
จริงๆ คำถามนี้ก็คือคำตอบมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่ไรเดอร์ อยากมีอิสรภาพที่จะออกไปใช้ชีวิต แต่ถูกมายาคติ ถูกวิธีคิดของทุนครอบงำเราจนไม่สามารถไปไหนได้
ทุกวันนี้เราเป็นผลผลิตของทุนนิยมทั้งนั้นแหละ ใช้ชีวิตเพื่อความอยู่รอด ไม่ได้ใช้ชีวิตเพื่อความอยากอยู่ บางคนที่ทนไม่ไหวกับระบบก็ฆ่าตัวตายไป เราไม่ได้โทษเขา บางทีเราทุกข์กับเขาด้วยซ้ำที่ต้องมาทนกับระบบพวกนี้กัดกินคนในสังคมไปเรื่อยๆ
แถบสแกนดิเนเวียนสหภาพแรงงานเขาแข็งเข้มมากนะ อำนาจต่อรองอยู่ที่คน 99% ทำให้สามารถกระจายทรัพยากรไปที่คนส่วนใหญ่ คนเขามีอิสรภาพที่แท้จริง ทุกวันนี้ถามว่าอิสรภาพจริงๆ คนส่วนใหญ่รู้หรือยังว่าคืออะไร ถ้าบอกว่าตื่น 8 โมงไปทำงานหรือไม่ได้ถูกจองจำในคุก คุณคิดผิดแล้วละ มันไม่ใช่อิสรภาพ อิสรภาพที่แท้จริงคือ คุณมีทรัพยากรใช้ชีวิตเพียงพอหรือยัง ในเมื่ออำนาจต่อรองยังไม่มี อย่าหวังออกไปใช้ชีวิตโดยมีอิสรภาพในโลกนี้เลย