‘ดัชนีเสรีภาพสื่อของประเทศไทยปี 2553 ตกลงมา 23 อันดับจากปีก่อนหน้า อยู่อันดับที่ 153 จาก 178 ประเทศทั่วโลก จากกรณีที่มีสื่อมวลชนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ จากการทำข่าวการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง’
ส่วนหนึ่งของข้อมูลที่ปรากฏในงานนิทรรศการ ‘ความท้าทายของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวการชุมนุม’ ป่าวประกาศความจริงกึกก้องทั่วห้องโถง 1559space ถึงระดับเสรีภาพสื่อมวลชน ที่สะท้อนปัญหาสิทธิพลเมืองไทย
เมื่อเดินดูทั่วทั้งงาน จะเห็นว่ามีทั้งภาพหลายสิบใบที่ถ่ายสื่อมวลชนและผู้ชุมนุมกำลังถูกทำร้าย บทสัมภาษณ์ของคนทำงานสื่อที่พบเจอประสบการณ์ความรุนแรงโดยตรง และไฮไลต์เด็ดของงานที่สรุปจำนวนคนทำสื่อที่ได้รับความเสียหายจากการรายงานข่าวในม็อบ ผ่านไทม์ไลน์ขนาดยาวเกือบตลอดฝั่งของกำแพงห้องโถงนิทรรศการ


ทั้งหมดนี้คือข้อมูลเพียงส่วนหนึ่งที่รวบรวมตั้งแต่ปี 2535 – 2565 ซึ่งยิ่งทำให้เห็นภาพชัดว่า แม้การเมืองไทยจะผ่านไปกี่สิบปี แต่บรรยากาศการทำงานสื่อยังคงถูกเซนเซอร์ การรายงานข่าวถูกจำกัดด้วยข้อกำหนดจากภาครัฐ แม้กระทั่งคนทำงานสื่อก็ได้รับบาดเจ็บระหว่างการทำงานในพื้นที่ชุมนุมมาโดยตลอด
เหมือนอย่างเคสของ ตูน – สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล ผู้สื่อข่าว The MATTER ที่เพิ่งได้รับบาดเจ็บจากการรายงานข่าวในม็อบมาไม่นาน มาร่วมแชร์มุมมองจากคนทำงานสื่อให้เราฟังในวันนี้
ตูนเล่าย้อนไปเมื่อปี 2565 ในระหว่างที่กำลังรายงานข่าวการชุมนุมของกลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 เจ้าหน้าที่ได้ออกมาสลายการชุมนุม ตูนถูกเจ้าหน้าที่ใช้กระบองทำร้ายร่างกาย และเตะเข้าที่ศีรษะ พร้อมคำพูดขู่กรรโชกจากเจ้าหน้าที่ว่า “พวกกูเนี่ยของจริง มึงจำไว้” แม้ตูนจะบอกว่าเขาเป็นสื่อมวลชนและมีปลอกแขนสื่อยืนยันก็ตาม
“แว้บแรกที่โดนเราก็ยังมึนอยู่ว่า ทำไมกูมาโดนตรงนี้วะ แล้วกูสมควรโดนมั้ย หลังจากนั้นก็เป็นความโกรธมากกว่า สิ่งเหล่านี้มันไม่ควรเกิดขึ้นกับเรา แล้วที่จริงไม่ควรเกิดขึ้นกับใครก็ตาม” ตูนพูดถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นให้ฟัง ในฐานะคนธรรมดาทั่วไปคนหนึ่ง
แม้ว่าการชุมนุมถือเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งที่ประชาชนสามารถทำได้ตามสิทธิที่มี แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะที่มาจากรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลประชาชน ก็ทำให้ต้องกลับมาตั้งคำถามถึงสิทธิพลเมืองที่เราพึงมีกัน

ข้อปฏิบัติที่ไม่ชัดเจน เบี่ยงเบนความยุติธรรม
“ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีเกณฑ์มาตรฐานในการสลายการชุมนุม”
จากประสบการณ์ทำงานสื่อมาร่วม 6 ปี ตูนแชร์ว่า ตามหลักสากลฝั่งรัฐจะมีการอบรมเจ้าหน้าที่ที่ออกมาควบคุมพื้นที่การชุมนุมถึงหลักปฏิบัติที่เหมาะสม เช่น การแจ้งกับผู้ชุมนุมก่อนล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ตูนยังไม่เห็นการปฏิบัติทำนองนี้จากเจ้าหน้าที่ไทยเท่าไหร่นัก นั่นจึงเป็นปัญหาหนึ่งที่ผู้ชุมนุมไม่รู้หลักการทำงานของเจ้าหน้าที่ หรือสถานการณ์หน้างานอาจทำให้เจ้าหน้าที่บางคนปฏิบัติตนไม่เหมาะสม
ข้อกำหนดที่ไม่ชัดเจนของรัฐ จึงอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัวเลขคนบาดเจ็บในม็อบ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุด และอาจสร้างช่องโหว่ในระบบตัดสินความถูก-ผิดของสังคม
อย่างเช่นเคสของตูนที่ยื่นฟ้องไปหาศาลแพ่งถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกินกว่าเหตุ แต่ถูกยกฟ้องด้วยเหตุผลว่า ‘ต่างกรรมต่างวาระ’ หรือเป็นการทำผิดที่มักจะเกิดขึ้นหลายครั้ง ด้วยเจตนาที่แตกต่างกัน สุดท้ายแล้ว เคสของตูนจึงถูกตัดสินว่าไม่ผิดต่อคำสั่งศาล
คำตัดสินนี้มักเกิดขึ้นบ่อยจนกลายเป็นเรื่องปกติในสังคม อย่างน้อยก็ในสายตาทนายและคนรอบตัวของตูน ท้ายที่สุดตูนจึงตัดสินใจไปปรึกษาศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อช่วยยื่นฟ้องศาลปกครองในการเอาผิดเจ้าหน้าที่ ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการทำเอกสารคำร้องเตรียมดำเนินการ
นอกจากนี้ ได้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เข้ามาพูดคุยกับตูนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และออกแถลงการณ์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพจริง พร้อมเสนอให้ติดตั้งกล้องพกพาที่เจ้าหน้าที่ทุกราย เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักสากล
ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองอำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัยและการจราจรการประชุมเอเปค 2022 (กอร.) ที่รับผิดชอบต่อการชุมนุมนี้ ก็ได้เข้ามาสอบถามตูนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และบอกว่าจะไปตรวจสอบเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในครั้งนั้นด้วย แต่ปัจจุบันผ่านมาเกือบปีตูนก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าจากภาครัฐ


หมู่มวลประชาชน คนไม่เท่ากัน
“เราเห็นเลยว่า ช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมีเส้นแบ่งชัดเจนมากสำหรับประชาชนบางกลุ่ม บางกลุ่มมาชุมนุมได้รับการช่วยเหลือ อำนวยความสะดวก แต่บางกลุ่มกลับถูกขัดขวางทุกวิถีทาง”
ความคิดเห็นหรือจุดยืนที่แตกต่างกลับส่งผลต่อการทำงานของรัฐ ตูนยกตัวอย่างกรณีในปี 2564 ของ ‘วาฤทธิ์ สมน้อย’ ผู้ชุมนุมที่โดนยิงบริเวณหน้าสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ดินแดง ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ16สิงหาคมไล่ล่าทรราชเราจะเดินไปบ้านประยุทธ์ จนเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในภายหลัง
แม้ว่าจะออกหมายจับถึงสองคน และมีภาพของผู้กระทำจากกล้องวงจรปิด แต่ปัจจุบันตำรวจจับผู้ต้องสงสัยได้เพียงหนึ่งคน ทำให้สังคมบางส่วนตั้งคำถามถึงการทำหน้าของเจ้าหน้าที่ รวมถึงตัวของตูน
“เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานอย่างที่เขาควรจะทำจริงหรือเปล่า ตรงนั้นมันคือตรงข้าม สน. คุณนะ ถ้ามันเป็นสมัยสงคราม นั่นก็ตรงข้ามกำแพงเมืองแล้ว”
ปัจจุบัน กำลังอยู่ในขั้นตอนรอวันนัดสืบพยานในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2566 การตายของวาฤทธิ์ยังคงไม่ได้รับการพิสูจน์ตัดสินคนผิดมาตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ประชาชนบาดเจ็บ เป็นความรับผิดชอบของรัฐที่ต้องเยียวยา
‘…ผู้ชุมนุมถูกยิงที่ศีรษะ แล้วเอกก็หันไปเห็นพอดี… ตอนนั้นแค่รู้สึกว่าอุ้ย เราอยู่ในจุดที่อันตรายมากแล้ว ต้องออกแล้ว …เอกก็พยายามที่จะลืม จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร เรามีความรู้สึกว่า เอ๊ะ ทำไมเรานอนไม่หลับ เรานอนไม่หลับมาเกือบเดือนแล้ว รู้สึกอยากขังตัวเองไว้ในห้องน้ำ รู้สึกข้างนอกไม่ปลอดภัย..’ บทสัมภาษณ์คนทำงานสื่อส่วนหนึ่งในงานนิทรรศการ ของ เอกรัตน์ บาลโสง อดีตโปรดิวเซอร์ นักข่าวบรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ หรือ บีบีซี
นี่เป็นเพียงหนึ่งกรณีจากทั้งหมด ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางกายและใจจากความรุนแรงในม็อบ โดยมีภาครัฐเป็นผู้กระทำ
เคสของตูนถือว่าเป็นความโชคดีบนความโชคร้าย หลังพบหมอแล้วร่างกายตูนไม่ได้บาดเจ็บถึงภายใน มีเพียงแผลถลอกภายนอก แต่ด้านจิตใจตูนก็บอกว่าขุ่นมัวและอารมณ์เสียอยู่พักหนึ่ง
ตูนเน้นว่า น้อยคนนักที่จะรู้ว่าหากได้รับการบาดเจ็บจากการชุมนุม เราสามารถขอความช่วยเหลือจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ ในมุมมองของตูนคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นปัญหาที่การประชาสัมพันธ์ของรัฐ ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมารัฐให้ความสำคัญกับการที่พลเมืองจะรู้ว่าตัวเองมีสิทธิอะไรบ้างมากน้อยเพียงใด
“คุณต้องไม่ลืมว่าการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจรัฐเพื่อหยุดยั้งการชุมนุมของผู้ชุมนุมที่มาประท้วงอำนาจรัฐ แล้วพวกเขาได้รับความบาดเจ็บ รัฐในฐานะที่เป็นคนดูแลประชาชน เราตั้งรัฐมาเพื่อดูแลประชาชน การที่รัฐรับผิดชอบต่อประชาชนมันเป็นสิ่งสำคัญมากๆ”


ประชาธิปไตย คือสังคมแห่งการถกเถียงที่สร้างความเข้าใจ
“เราคิดว่าเรื่องนี้กลับไปเรื่องที่พื้นฐานมากๆ เลยครับ ก็คือฟังกันเยอะๆ และถกเถียงกันให้เยอะๆ”
ความคิดเห็นและจุดยืนที่แตกต่างเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย คำถามต่อมาคือเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ที่ไม่ทำให้มันกลายเป็นข้อขัดแย้งจนเกิดการทำร้ายอีกฝ่าย หรือส่งผลต่อการทำงานของคนที่มีหน้าที่ดูแลประชาชน
ตูนยกตัวอย่างประสบการณ์ของตัวเองที่มีความคิดบางอย่างแตกต่างจากครอบครัว การเปิดอกถกเถียงและรับฟังอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นตัวช่วยของพวกเขา
“จริงๆ แล้วเราอาจมีจุดร่วมกันมากกว่าจุดต่าง เพียงแต่คนเรามักไปขยายจุดที่ต่าง แล้วเราก็หลงลืมไปว่าจุดร่วมเรามีอะไร อันนี้เราว่าเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ต้องถึงขั้นคิดเหมือนกันทุกเรื่อง หรือฝ่ายนี้ต้องดีกับฝ่ายโน้น ฟังเยอะๆ แล้วก็คิดเยอะๆ ผิดก็ยอมรับผิด เราว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องปกติมากในวิถีประชาธิปไตย”
ข้อมูลในนิทรรศการข้างต้นยังเปิดเผยให้เห็นอีกว่า ม็อบราษฎรปี 2563 – 2565 มีผู้ปฏิบัติงานสื่อที่รายงานข่าวการชุมนุม ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 34 คน ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับสถิติในม็อบทั้งหมดที่ผ่านมา และยังไม่รวมยอดผู้ปฏิบัติงานสื่อที่โดนแก๊สน้ำตาที่ไม่ได้มีการบันทึกสถิติไว้
เคสของตูนและสื่อมวลชนอื่นๆ คงไม่ใช่กรณีสุดท้าย หากพื้นที่การชุมนุมยังคงขาดมาตรการรับรองความปลอดภัยที่ชัดเจนให้คนทำงานสื่อ และยิ่งไปกว่านั้นคือความเคารพต่อสิทธิพลเมือง ที่ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนหรือผู้ชุมนุม ในฐานะประชาชนคนหนึ่งต่างก็มีสิทธิเสรีภาพในการออกมาพูดความจริง และมีอำนาจส่งเสียงเรียกร้องต่อความผิดปกติที่เกิดขึ้นในประเทศที่พวกเขาเป็นเจ้าของ ตามหลักประชาธิปไตย
อ้างอิง
- https://thematter.co/quick-bite/year-after-dying-of-warit-somnoi/189388
- https://decode.plus/20220614/
- https://www.voathai.com/a/thai-journalists-injured-while-covering-protest-apec-2022-bangkok-thailand/6840912.html
- https://thematter.co/brief/205174/205174
นิทรรศการความท้าทายของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวการชุมนุม จัดขึ้นในวันที่ 15-20 กันยายน 2566 นี้ เวลา 12.00-20.00 ที่ 1559space บริเวณ MRT สามย่าน ฝั่งห้างสรรพสินค้าสามย่านมิตรทาวน์ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.instagram.com/beyondtheheadlines.proj/![]() |