SCALA ที่ระลึกรอบสุดท้าย : การหายไปของโรงหนังสแตนด์อโลน และการมีอยู่ของ ‘คนทำสารคดี’ ในปัจจุบัน

“เป็นคนทำสารคดีอยู่ยากไหม?”

ฉากหนึ่งในภาพยนตร์สารคดี SCALA ที่ระลึกรอบสุดท้าย คำถามที่ถามกับ ‘อนันตา ฐิตานัตต์’ ผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้

อาจเป็นแค่ความสงสัยที่ต้องการคำตอบ หรือเป็นภาพสะท้อนของการมีอยู่ ไม่ว่าจะคนทำสารคดี หรือโรงหนังสแตนด์อโลนในยุคปัจจุบัน

สกาลาเป็นหนึ่งในสี่โรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ (กลุ่มโรงภาพยนตร์) ที่อยู่คู่ย่านสยามมายาวนาน ก่อนที่เพื่อนๆ จะทะยอยปิดตัวตั้งแต่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย สยาม ลิโด จนมาถึงคิวสกาลาScala มีความหมายว่า บันได ในภาษาอิตาลี ซึ่งตั้งชื่อตามโรงอุปรากร Teatro alla Scala ที่ตั้งอยู่ในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ตัวโรงหนังถูกออกแบบโดยพันเอกจิระ ศิลป์กนก ทำให้เมื่อมีข่าวว่าจะปิดตัวลง มีหลายคนออกมาคัดค้านและขอให้เก็บรักษาไว้แทน เพราะสถานที่นี้ถือเป็นตัวแทนของสถาปัตย์ยุคเก่าที่ยังคงเหลืออยู่

ในสายตาคนอื่น ไม่ว่าคุณค่าที่โรงหนังแห่งนี้จะมีมากแค่ไหน  แต่ปลายทางของมันก็คือการถูกทุบทำลายทิ้งเพื่อนำพื้นที่ไปสร้างอย่างอื่นต่อ 

ที่ระลึกรอบสุดท้าย เลือกที่จะเก็บบันทึกช่วงที่กำลังรื้อถอนสิ่งต่างๆ ในโรงหนังสกาลา ก่อนจะถูกทุบอาคารอย่างสมบูรณ์

อนันตา ผู้กำกับป็นคนหนึ่งที่ผูกพันกับสถานที่นี้ ในฐานะที่ครั้งหนึ่งมันเคยเป็นที่ที่เธออาศัยและเติบโต ตลอดทั้งเรื่องเธอจะสร้างบทสนทนากับคนในเรื่องซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรู้จักและคุ้นเคยที่ทำงานในสกาลา ต่างมาช่วยกันเก็บข้าวของ และพบเจอกันอีกครั้งก่อนต้องลาจาก

“เราเป็นคนไม่มีความรู้ เรียนจบแค่ป.4 ไม่มีวุฒิ ไม่รู้จะไปที่ไหน เลยมาทำงานนี้” เสียงหนึ่งของคนที่กำลังถอดเก้าอี้ในโรงฉายหนัง และอาจเป็นเสียงตัวแทนชีวิตของคนในสกาลา แม้ว่าทั้งเรื่องจะไม่ได้นำด้วยอารมณ์โศกเศร้าที่ต้องโบกมือลาสถานที่ที่ผูกพัน แต่เป็นภาพรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของคนที่ดีใจที่ได้กลับมาเจอกันอีก แต่หลังจากจบงานนี้แล้ว สิ่งที่รอพวกเขาอยู่ คือ อนาคตต่อไปจะเป็นอย่างไร

หลายคนบอกว่า ที่มาทำงานสกาลาเพราะไม่มีที่ไป ไม่ได้มีการศึกษาหรือวุฒิที่จะไปสมัครทำงานที่อื่นได้ ตัวเลือกงานเลยมีน้อยตาม ยิ่งตอนนี้หลายคนอายุมากขึ้น ก็ยิ่งเพิ่มความยากในการหางานทำใหม่ โดยเฉพาะในสังคมที่ความรู้ถูกการันตีด้วยใบประกาศหรือวุฒิต่างๆ ความสามารถที่พวกเขามีจึงถูกมองไม่เห็น

‘เทศกาลหนังและรางวัล’ ก็กลายเป็นตัวการันตีคุณค่าของภาพยนตร์ อย่าง SCALA ที่ระลึกรอบสุดท้าย ที่ได้จัดฉายในเทศกาลหลายแห่ง เช่น Berlin Film Festival ครั้งที่ 72 และคว้า รางวัล ‘Youth Eye Award’ จากเทศกาลภาพยนตร์สารคดี EBS International Documentary Festival ของเกาหลีใต้

มันไม่ผิด ถ้าจะมีการตั้งอะไรบางอย่างเพื่อเป็นตัวแทนให้คนส่วนใหญ่รับรู้คุณค่าร่วมกัน แต่คำถามคือหากสิ่งๆ นั้นมีคุณค่าด้วยตัวมันเอง เพียงแต่ไม่ได้เป็นสิ่งที่สังคมตั้งไว้จะได้หรือไม่? 

การหายไปของโรงหนังสกาลาและที่อื่นๆ อาจเป็นคำตอบหนึ่งของคำถามนี้

SCALA ที่ระลึกรอบสุดท้าย เข้าฉายในโรงภาพยนตร์วันที่ 22 ธันวาคมเป็นต้นไป สามารถเช็กโรงภาพยนตร์และรอบฉายได้ที่เพจ หนังเลือกทาง 

ภาพจากเพจ SCALA Documentary

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/property/news-793839