“ทำให้เป็นกระบวนการเรียนรู้ ไม่ใช่กระบวนการตัดสิน” ภารกิจใหม่ของกทม. พัฒนาคุณภาพโรงเรียนให้เจอได้ทุกมุมเมือง

เวลาดูการ์ตูนญี่ปุ่นจำพวกโดราเอมอน โคนัน แม่มดน้อยโดเรมี เราจะมีเรื่องที่อิจฉาตัวละคร คือ พวกเขาสามารถเดินจากบ้านไปโรงเรียนได้ง่ายๆ หรือต่อให้โนบิตะจะตื่นสายจนต้องรีบไปโรงเรียนแค่ไหน ก็ยังไปทันคาบแรกอยู่ดี

ตัดมาที่บ้านเรา เอาแค่ไปโรงเรียนโดยปกติก็ต้องเผื่อเวลาขั้นต่ำ 30 นาที คนไหนโรงเรียนไกลบ้านหน่อยก็อาจต้องเผื่อเวลาเป็นชั่วโมง ต้องตื่นนอนก่อนไก่ขันเพื่อให้ทันเข้าโรงเรียน 8 โมงเช้า

ต่อให้โรงเรียนอยู่ใกล้บ้านใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 20 นาที แต่ถ้าบ้านอยู่ในย่านเศรษฐกิจก็อาจต้องเผื่อเวลาสำหรับการจราจรติดขัดยามเช้าด้วย ความหวังที่จะได้เดินไปโรงเรียนอาจกลายเป็นฝัน

เราเคยมีประสบการณ์ทั้งโรงเรียนใกล้บ้านที่ใช้เวลาเดินทางแค่ 15 นาที กับโรงเรียนไกลบ้านที่ต้องเผื่อเวลาขั้นต่ำ 2 ชั่วโมง อยากบอกว่า การต้องเร่งรีบตอนเช้าเพื่อไปโรงเรียนไม่ใช่เรื่องดีเลย เพราะมันทำให้เราหมดแรงตั้งแต่เริ่มวัน แล้วการเรียนเป็นอะไรที่ต้องใช้พลังงานสูง ไม่แปลกที่เด็กบางคนจะรู้สึกไม่สนุก หรือไม่อยากไปโรงเรียน

 โรงเรียนดีใกล้บ้านเลยเป็นความฝันของหลายๆ คน จะดีแค่ไหนถ้าเราไม่ต้องเร่งรีบ หรือเดินทางไปไกลๆ เพื่อได้เรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพ โรงเรียนทุกๆ ที่มีคุณภาพเท่ากันหมด จะเข้าโรงเรียนไหนก็ได้

“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่จำนวนโรงเรียน แต่เป็นคุณภาพ” ในสายตาของศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พื้นที่กรุงเทพฯ มีโรงเรียนจำนวนที่เพียงพอแล้ว เพียงแต่คุณภาพอาจไม่เท่ากัน ฉะนั้นเลยเป็นนโยบายที่ทีมกทม. เห็นว่า ควรปรับปรุงคุณภาพโรงเรียนให้เท่าเทียมกัน เพื่อที่เราจะมีโรงเรียนน่าเข้าอยู่ใกล้ๆ ลดการกระจุกตัวอยู่ที่โรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง

ผ่านการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ที่รองฯ ศานนท์บอกว่า ไม่ใช่ของหรูราคาแพง แต่คือมาตรฐานสำหรับการเรียนการสอนแล้ว 

นี่อาจเป็นการทำงานพื้นที่หนึ่งที่พอให้เราได้มีความหวัง ถึงรุ่นเราๆ หรือรุ่นก่อนหน้า อาจจะไม่ทันได้สัมผัสสิ่งเหล่านี้ แต่หวังว่ารุ่นต่อไปจะได้สัมผัส และเกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาจริงๆ ไม่ใช่เรื่องที่กำลังพัฒนามาหลายสิบปีเหมือนเรื่องอื่นๆ

เทคโนโลยีเข้ามาเขย่าวัฒนธรรมการสอนที่เคยมี

“ผมเชื่อการลงทุนในเด็ก ดีกว่าไปลงทุนในอย่างอื่น เราสามารถเอาคอมพิวเตอร์มาใส่คอนเทนต์อะไรก็ได้ ไม่จําเป็นต้องซื้อสื่อการเรียนการสอนมากมาย เพราะว่าโลกดิจิทัลเราสามารถค้นหาได้เกือบทุกอย่าง บางอย่างก็ฟรีด้วย”

บทสนทนาย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของการทำงานพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ ระยะนี้ยังเป็นช่วงทดลอง มีโรงเรียนเข้าร่วมประมาณ 11 โรงเรียน ก่อนจะขยายเพิ่มขึ้นเป็น 100 โรงเรียนในปีที่ 2 และสุดท้ายเข้าร่วมทุกโรงเรียนในกรุงเทพที่มี 437 โรง

นโยบายพัฒนาโรงเรียนขับเคลื่อนด้วย 3 ขาใหญ่ๆ คือ ด้านกายภาพและสวัสดิการนักเรียน เช่น เรียนฟรี ชุดฟรี ห้องเรียนปลอดฝุ่น ฯลฯ ขาที่ 2 ด้านหลักสูตร เช่น ทำเป็นหลักสูตร Active Learning หลักสูตรทักษะพลเมือง ฯลฯ และสวัสดิการครู คืนครูให้นักเรียน เช่น ยกเลิกครูเวร ลดจำนวนโครงการนอกเป้าหมาย ฯลฯ

เทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา 2 ขาแรก เริ่มจากอุปกรณ์การเรียนที่นักเรียน 1 คน คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง ศานนท์บอกว่า เพิ่มอุปกรณ์การเรียนเพียงเท่านี้ ก็เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของการเรียนการสอนที่เกิดขึ้น คือ นักเรียนได้เรียนแบบ Active learning ได้ลงมือปฏิบัติจริงๆ มากกว่าแค่ท่องจำ

เขายกตัวอย่างวิชาประวัติศาสตร์ รูปแบบการสอนที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นการอ่านหนังสือ ครูสอนด้วยการเล่าข้อมูลให้ฟัง อาจมีโอกาสที่เด็กจำไม่ได้ หรือไม่เข้าใจเนื้อหาอย่างถ่องแท้ ทำให้การเรียนประวัติศาสตร์ไม่ได้ผล หรือถูกมองว่าเป็นวิชาท่องจำ ไม่มีประโยชน์ในชีวิตจริง

เมื่อเปลี่ยนรูปแบบการสอนใหม่ ครูให้การบ้านเด็กๆ ไปอ่านข้อมูลประวัติศาสตร์สมัยหนึ่ง พอถึงคาบเรียนก็ให้โจทย์ลองเรียงลำดับประวัติศาสตร์ผ่านคอมพิวเตอร์ แล้วก็เพิ่มคำถามว่า ถ้าเราได้เป็นคนในยุคนั้น แล้วสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้สักอย่าง นักเรียนจะเปลี่ยนอะไร โจทย์นี้มองเผินๆ ให้เด็กได้สร้างสรรค์ความคิดเต็มที่ แต่เบื้องหลังที่จะทำให้คิดได้สนุก คือ ต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ก่อน เพื่อวางแผนได้ถูก แล้วโจทย์ที่ไม่มีคำตอบตายตัว ก็ทำให้คนเรียนสนุกที่จะคิดอะไรได้เต็มที่ หลุดจากกรอบ ทำให้การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ได้ใช้งานจริงๆ

“การที่เราเพิ่มเครื่องมือเข้ามา ไม่ใช่มีแล้วจบ มันคือการชาเลนจ์ระบบการเรียนรู้ในอดีต คุณครูเองก็ต้องปรับตัว ทุกอย่างมันหลอกไม่ได้ ไม่สามารถถ่ายรูป หรือทำรายงานหลอก เพราะตรวจสอบได้หมด ทุกอย่างที่เกิดขึ้นถูกบันทึกในระบบที่ทุกคนสามารถเข้ามาตรวจสอบได้ ผมว่าตรงนี้แหละ มันเป็นหัวใจของการที่เราสามารถยกระดับการศึกษาผ่านแค่คอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่อง ให้ทุกคนได้เรียนรู้ได้จริงๆ”

ศานนท์ยกมุมนักเรียนที่สามารถเข้าไปตรวจสอบการบ้านหรือข้อสอบที่เคยทำ สามารถรู้ได้ว่าเขาผิดตรงไหน ควรปรับปรุงหรือพัฒนาเรื่องไหน สามารถทบทวนความรู้ได้สะดวกด้วย

“การยกระดับคุณภาพผ่านเทคโนโลยีเป็นหัวใจของการเปลี่ยนแปลง การมีคอมหนึ่งเครื่อง ให้เด็กหนึ่งคน ไม่ใช่ความหรูหราแล้ว แต่จะเป็นมาตรฐานแล้วสําหรับการเรียนในอนาคต”

คอมพิวเตอร์ที่นำมาใช้เป็นการรับบริจาค เพียงพอต่อปริมาณนักเรียนในระยะทดลอง แต่อนาคตต่อไปที่ต้องขยายเพิ่มเป็นเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณาอีกที ศานนท์เชื่อว่านี่จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพื่อการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่

การศึกษาปฐมวัยที่ต้องให้ความสำคัญ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการ และรากฐานที่แข็งแรง

ธงชัย โคระทัต ผู้อำนวยการโรงเรียนวิชากร (ระวังอ่านผิดเป็นวิชาการนะ เพราะเราเคยมาแล้ว) เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมระยะทดลองนี้ เขาวางว่า โรงเรียนวิชากรจะเป็นต้นแบบของการจัดการศึกษาระดับชั้นปฐมวัย ถือเป็นก้าวสำคัญของการเติบโต เป็นช่วงพัฒนาการที่สำคัญ โดยเฉพาะสมองส่วนหน้า หรือ EF (Executive Function) 

แต่ก่อนอื่นผอ. ขออธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจว่า การศึกษาปฐมวัยที่ว่าไม่ใช่ให้เด็กนั่งอ่านหนังสือ หรือคัดตัวอักษรไทยอย่างที่หลายคนกลัว แต่คือการทำกิจกรรมที่เน้นให้เด็กได้ฝึกใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ และพัฒนาสมองส่วนหน้า

“ปฐมวัยมันเป็นพื้นฐานที่ต้องแน่น จะมีข้อถกเถียงกันมานานว่าอนุบาลเล่นๆ กินๆ นอนๆ พอขึ้นป.1 แล้วต้องเริ่มเรียนหนังสือจะมีปัญหา เราก็มีการปรับให้เด็กฝึกทักษะที่จำเป็น เช่น การยับยั้งชั่งใจ รู้จักการรอคอย 

“จริงๆ ให้เขาได้พัฒนาตามวัย เพราะมีกำหนดไว้แล้วว่า ช่วงนี้เขาทำอะไรได้ ลากเส้นตรงได้ เขียนเส้นหยักได้นะ แสดงว่าคุณครูต้องมีกรอบในการทํางาน เพื่อพัฒนาเด็กได้ ถ้าคุณครูมีความเข้าใจพัฒนาเด็กได้ถูกต้อง ผมว่ามันจะเป็นโอกาสในระยะยาว ไม่ใช่ว่าตามใจผู้ปกครอง เช่น ผู้ปกครองบอกว่าทําไมลูกยังเขียนหนังสือไม่ได้ เราต้องมีหลักในการอธิบายว่าวัยนี้เขาควรทําอะไร”

ถือเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ของโรงเรียน บรรดาคุณครูเรียนรู้เพิ่มเติม ทำความรู้ความเข้าใจพัฒนาการของเด็กช่วงปฐมวัย เพื่อออกแบบการเรียนการสอนที่ไม่ทำลาย แต่ส่งเสริมเด็ก โดยมีกทม. เข้ามาสนับสนุนให้เครื่องมือและความรู้ที่ต้องการ

นอกจากนี้ เป้าหมายของกทม. ที่ผอ.ก็ร่วมทำด้วย คือ การจัดห้องเรียนร่วมระหว่างนักเรียนทั่วไป กับนักเรียนที่มีเงื่อนไข เช่น เด็กที่มีภาวะ learning disorder (LD) หรือ โรคการเรียนรู้บกพร่อง เพื่อให้ทุกคนเรียนด้วยกันอย่างเป็นปกติ รวมไปถึงการเปิดห้องเรียนนักเรียน 3 ขวบ ที่ศานนท์บอกว่าจะช่วยลดภาระผู้ปกครอง

“เด็กช่วงอายุ 0 ถึง 6 ขวบ ได้รับการดูแลน้อยมาก ผลักภาระให้ครอบครัว แต่ให้สิทธิ์ลาคลอด (Maternity Leave) แค่สามเดือน เดือนที่สี่แม่ก็ต้องทํางานแล้ว คําถามคือหลังจากนั้นครอบครัวจะทำยังไง ขณะเดียวกันทรัพยากรของกทม.มีเยอะนะ เรามีศูนย์เด็กเล็กที่ชุมชนเป็นเจ้าของ แล้วเราสนับสนุนค่าใช้จ่ายประมาณ 274 ที่ เรามีโรงเรียนที่เริ่มมีเด็กนักเรียนน้อยแล้วก็มีตึกอาคารว่างร้าง พูดง่ายๆ ตึกมันพร้อมเป็นโรงเรียนปฐมวัยได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราคิดว่าควรจะทําเลย ก็คือการขยายรับเด็กจากปัจจุบันที่รับ 4 ขวบ ก็คืออนุบาล 1 และอนุบาล 2 เราก็ขยายรับ 3 ขวบด้วย” นอกจากช่วยลดภาระดูแลลูก นโยบายนี้จะทำให้เด็กๆ ได้รับการดูแลที่ส่งเสริมต่อพัฒนาการ ลดโอกาสเกิดภาวะ LD 

ทำให้เป็นกระบวนการเรียนรู้ ไม่ใช่กระบวนการตัดสิน

การเปลี่ยนแปลงก็จะมีทั้งคนที่ชอบ หรือไม่เห็นด้วย ผอ.ธงชัยแชร์ว่า นักเรียนและผู้ปกครองต่างชอบระบบใหม่นี้ เด็กๆ ได้มีอุปกรณ์มาช่วย ทำให้การเรียนสนุกกว่าเดิม ขณะที่ผู้ปกครองเองก็เกิดความเชื่อมั่นเพิ่มว่า โรงเรียนมีคุณภาพมากพอดูแลลูกๆ

ส่วนการทำความเข้าใจกับครู ถือเป็นงานสำคัญ ผอ.มองว่า ต้องสร้างความเข้าใจก่อนว่า นโยบายนี้คืออะไร จะแปลงจากนโยบายมาเป็นหลักปฏิบัติได้อย่างไร ถ้าทำแล้วจะเกิดผลดีอย่างไรบ้าง เป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่ต้องสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา

“ผมว่ามันไม่ใช่การบอกว่ามีนโยบายเรื่องนี้ ครูเอาไปทํานะ แต่ผู้บริหารไม่ได้จัดกระบวนการอะไรลงไป มันก็จะมีปัญหาได้”

สำหรับศานนท์ การทำงานพัฒนาโรงเรียนครั้งนี้ จะทำให้การศึกษากลายเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างแท้จริง ไม่ใช่กระบวนการทดสอบ หรือตัดสินถูกผิดอย่างที่เคยเป็นมา เพราะเขามองว่า วิธีที่จะทำให้คนคนหนึ่งพัฒนาคือฟีดแบ็ก รู้ผลการเรียนที่ผ่านมา เพื่อได้รับคำแนะนำต่อไป

“เหมือนเราทําอะไรสักอย่าง แล้วเราไม่รู้ว่ามันดีหรือไม่ดี ถ้าเราทําไปเรื่อยๆ โดยที่เราไม่รู้ฟีดแบ็ก เราก็ไม่มีทางพัฒนาตัวเองได้ เพราะเราไม่รู้ว่าบกพร่องตรงไหน การได้ฟังเสียงคนถึงสําคัญ โดยเฉพาะจากครู ซึ่งมีหน้าที่ในสร้างความมั่นใจ ส่งเสริมพัฒนาการศักยภาพของนักเรียนนะ การที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโต หรือพัฒนาตัวเองได้ดีขึ้น ก็มาจากสิ่งที่คุณครูต้องฟีดแบ็กให้กับเขา 

“การฟีดแบ็กไม่ใช่การด่านะ หรือทำอะไรที่เป็นพฤติกรรมเชิงลบ ใช้ไม้เรียว แต่การฟีดแบ็ก คือ การบอกว่าเราบกพร่องตรงไหน แล้วเราพัฒนาได้ดีขึ้นอย่างไร นี่คือการเรียนรู้”

โรงเรียนดีที่เข้าถึงได้ง่าย ไม่ต้องฝ่าฟันแย่งชิง

ถ้าโรงเรียนทุกที่คุณภาพเท่ากันจะทำให้ลดการแข่งขัน หรือเปลี่ยนมุมมองที่คนมีต่อระบบการศึกษาว่าใครแข็งแกร่งก็ชนะไปไหม – คำตอบของรองฯ ศานนท์ คือ อาจจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำเรื่องการเข้าถึงโรงเรียนที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงทั้งหมด การแข่งขันเข้าบางโรงเรียนอาจยังคงมีอยู่ เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่การพัฒนาโรงเรียนยังไงก็มีข้อดีที่เด็กๆ ผู้ปกครองจะได้เข้าถึงโรงเรียนง่าย มีคุณภาพ

“ในมุมผมมองว่าโรงเรียนแต่ละที่มีความแตกต่าง ความต้องการของคนที่มีต่อแต่ละโรงเรียนไม่เท่ากัน เราคงไปทำอะไรไม่ได้ ผมมองว่ามันจะลดความเหลื่อมล้ํามากกว่า ไม่กล้าพูดว่ามันจะลดการแข่งขันนะ แต่อย่างน้อยของความเหลื่อมล้ํามันจะน้อยลง คุณภาพโรงเรียนสูสีกันมากขึ้น”

ปลายทางการทำงานครั้งนี้อาจไม่ใช่แค่พัฒนาคุณภาพโรงเรียน แต่ทำยังไงให้การมีอยู่ของคำว่า ‘เรียนรู้’ ตอบสนองความต้องการของเด็กๆ มากที่สุดระหว่างเติบโต ลดการสร้างกล่องให้เขาต้องปรับตัวเองเพื่อเข้าไปได้

“อาจเป็นเรื่องที่ฟังดูนามธรรม แต่ละคนมีเป้าหมายไม่เหมือนกัน บางคนบอกเรียนไปเพื่อประกอบอาชีพ บางคนเรียนไปเพื่อรู้จักตัวเอง สำหรับผมแต่ละเป้าหมายมันไม่ควรถูกเปรียบเทียบ ถ้าพวกเราเห็นว่า การศึกษามันคือการค้นหาตัวตนของแต่ละคน เป็นการพัฒนาศักยภาพในตัวเอง 

“สําหรับผมการศึกษาที่เราพยายามออกแบบ คือ การมองแบบปัจเจกบุคคล ให้ทุกคนได้เติบโตในแบบของเขาเอง มีความถนัด มีความรู้จักตัวเองในแบบตัวเอง ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับใคร ถามว่ามันจะลดความแข่งขันได้ไหม อาจจะไม่ แต่เรามองเห็นสิ่งนี้การเข้าใจตัวเอง แล้วก็การออกแบบการศึกษา ปรับเป้าหมายของเรา”