หมอเอ้ อติวุทธ กมุทมาศ เวชศาสตร์ทางเพศ

ไม่ใช่นกเขาไม่ขัน แต่ต้องพูดว่าอวัยวะเพศไม่แข็งตัว : คุยกับเพจ ‘เรื่องเล่าพี่หมอเอ้’ ทำความรู้จัก ‘แพทย์เวชศาสตร์ทางเพศ’ ที่บอกว่า ปัญหาทางเพศไม่ใช่แค่เรื่องร่างกาย แต่สังคม จิตใจ และความสัมพันธ์ก็เกี่ยวข้อง

‘จู๋ไม่แข็ง จิ๋มล็อค’

หลายๆ ครั้งเวลาเราพูดถึงปัญหาทางเพศ อาการแบบนี้มักเป็นภาพชัดที่สุด และทำให้เข้าใจว่าเกิดจากปัญหาทางด้านร่างกาย สุดท้ายหมอที่เราไปรักษาอาจเป็นแพทย์บางสาขาที่คิดว่าจะช่วยเราแก้ปัญหาได้ แต่อาจไม่ตอบโจทย์

แต่ความเป็นจริง ‘ปัญหาทางเพศ’ อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และมีวิธีการรักษาที่ตอบโจทย์มากกว่า

“ถ้าใครมีปัญหาทางเพศสักหนึ่งเรื่อง ปัญหาของเขาจะมาจากปัจจัยรอบด้าน นั่นคือกาย ใจ สังคม ความเชื่อ และความสัมพันธ์ ถ้าเกิดเราดูแลองค์รวม 4 ปัจจัยพร้อมๆ กัน ก็จะช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้อย่างสมบูรณ์”

การดูแลแบบองค์รวมและรอบด้าน เป็นหน้าที่หลักของ หมอเอ้ หรือ รศ.ดร.นพ.อติวุทธ กมุทมาศ ในฐานะแพทย์สาขา ‘เวชศาสตร์ทางเพศ’ ที่ไม่ใช่แค่รักษาปัญหาเรื่องเพศด้วยยา แต่ยังช่วยเยียวยาด้วยคำปรึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาที่มากกว่าแค่ภายในตัวคนคนหนึ่ง

หมอเอ้ – รศ.ดร.นพ.อติวุทธ กมุทมาศ เจ้าของเพจ ‘เรื่องเล่าพี่หมอเอ้’

หมอเอ้บอกว่า แพทย์สาขานี้เพิ่งได้รับรองอย่างเป็นทางการจากแพทยสภาเมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ปัจจุบันในไทยมีเปิดสอนวิชานี้เพียง 2 แห่ง คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ผลิตบุคลากรรวมกันได้ปีละ 4 คน

ความสำคัญของเวชศาสตร์ทางเพศคืออะไร การเข้ามาของมันจะส่งผลต่อบรรยากาศเรื่องเพศในไทยอย่างไร Mutual ชวนหาคำตอบไปกับเจ้าของเพจ เรื่องเล่าพี่หมอเอ้ ที่ออกมาให้ความรู้เรื่องเพศ ในฐานะแพทย์เวชศาสตร์ทางเพศที่ได้รับการรับรองเป็นคนแรกของประเทศไทย 

ดูกาย ถามใจ คุยเรื่องสังคมและความสัมพันธ์ เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพเพศ

สุขภาพกาย สุขภาพจิต อาจเป็นสองสิ่งแรกที่ทุกคนนึกถึง แต่ถ้าคุยเรื่องนี้กับแพทย์เวชศาสตร์ทางเพศ อีกคำที่เราจะได้มา คือ ‘สุขภาพเพศ’ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ แต่ยังรวมถึงเพศวิถี เพศสภาพ หรือเพศรส (รสนิยมทางเพศ) ที่มีทั้งเรื่องความรู้สึกและพฤติกรรมทางเพศที่ถูกต้อง

สมาคมเพศวิทยาคลินิกและเวชศาสตร์ทางเพศ (ประเทศไทย) ให้ความหมายเวชศาสตร์ทางเพศ (Sexual medicine) คือ วิชาทางการแพทย์ที่ดูแลปัญหาสุขภาพเพศ แพทย์สาขานี้ จะรักษาความบกพร่องทางเพศด้วยยา การผ่าตัด การทำเพศบำบัด และการให้คำปรึกษาปัญหา โดยยึดหลักการดูแลผู้รับบริการแบบองค์รวม คือ ดูแลทั้งกาย จิตใจ สังคม และปัญหาความสัมพันธ์ 

“ประเทศไทยยังไม่เคยมีแพทย์ที่ดูแลเรื่องสุขภาพเพศโดยตรง ทำให้เวลาคนมีปัญหาสุขภาพเพศจะไปหาหมอแบบกระจัดกระจาย เพื่อรักษาทีละประเด็น แต่การดูแลองค์รวมแบบเวชศาสตร์ทางเพศจะทำให้รักษาคนไข้ได้เต็มรูปแบบ”

ขั้นตอนการรักษาของเวชศาสตร์ทางเพศ มีทั้งศาสตร์ทางการแพทย์ และศิลป์ในการพูดที่ไม่ต่างจากนักจิตวิทยา โดยเริ่มตั้งแต่การชวนคุยเพื่อให้ผู้ป่วยกล้าเปิดใจ เพราะบางคนรู้สึกเขิน กลัว หรืออับอายถ้าต้องพูดเรื่องเพศ จนไม่กล้าเล่าปัญหาให้ฟัง

“เราจะเริ่มจากการทักทาย แนะนำตัว อธิบายว่าเราคือใคร แล้วชวนพูดเรื่องทั่วไปก่อนเพื่อทำให้เขารู้สึกสบายใจมากขึ้น เช่น เป็นไงบ้าง เดินทางมายากไหม ฯลฯ ต้องทำให้เขารู้สึกมั่นใจที่ตัดสินใจมาหาหมอ เพราะว่าปัญหาสุขภาพเพศมันส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ ทั้งหมดนี้ก็จะทำให้เขารู้สึกว่า ปัญหาทางเพศเป็นเรื่องปกติ เขาก็จะรู้สึกว่าพร้อมเล่าแล้ว เราก็จะค่อยๆ ถามแต่ละองค์ประกอบต่อไป

“สมมติผู้ชายคนหนึ่งอายุ 22 ปี มีปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งตัว ถ้าเป็นหมอคนอื่นเขาอาจให้ยาขยายหลอดเลือด แต่กินเข้าไปก็ไม่หาย หรือหมอบางคนอาจจะให้ฉีดฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) แต่ฮอร์โมนเขาก็ไม่ได้ต่ำซะหน่อย ตอนเช้าแข็งตัวปกติ 

“แต่การรักษาแบบเวชศาสตร์ทางเพศ เราจะดูองค์รวมทางกายทั้งหมดก่อน ถ้าพบว่าไม่มีปัญหา เราก็จะซักถามเพิ่มว่าเป็นเรื่องของจิตใจไหม มีความวิตกกังวลหรือเปล่า หรือมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ด้วยไหม หรือเป็นเพราะสังคม การปลูกฝังความเชื่อที่ทำให้เขารู้สึกว่า ฉันยังไม่อยากมีอะไรกับคนๆ นี้ เพราะฉันต้องรอแต่งงานก่อน พอจะมีก็เลยรู้สึกไม่สบายใจ อันนี้คือเหตุผลว่าทำไมต้องดูปัจจัยองค์รวมทั้ง 4 อย่างในแต่ละคน แล้วเราก็คอยซักถามเพื่อตามแก้แต่ละปมนั้น”

เรื่องเพศต้องพูด ลดความอคติ ลดปัญหาทางเพศ

สังคมและความเชื่อ ปัจจัยภายนอกเหล่านี้มักเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาทางเพศที่หมอเอ้พบจากคนไข้

“เคสที่พบบ่อยในปัจจุบัน คือ ผู้หญิงที่เพิ่งแต่งงานแล้วมีเพศสัมพันธ์เป็นครั้งแรก พบปัญหาสอดใส่ไม่เข้า หรือที่เรียกกันว่า ‘จิ๋มล็อค’ ลองย้อนซักประวัติไป 80% ของคนไทย เกิดจากการสอนเรื่องเพศศึกษา ที่สอนในเชิงศีลธรรมมากเกินไป หรือภาษาแพทย์เรียกว่า Strictly Moral Education”

ความเชื่อที่ว่า ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เป็นความเชื่ออันดับต้นๆ ที่หมอเอ้พบว่าส่งผลต่อสุขภาพคนไข้ แม้จะเป็นเพียงคำพูดจากใครสักคนที่บอกเราตอนเด็กๆ แต่อาจเป็นคำพูดที่ติดอยู่ในใจคนฟังไปตลอด จนทำให้เกิดปัญหาทางกายได้โดยไม่รู้ตัว 

อีกความเชื่อที่หมอเอ้พบรองลงมา คือ การที่ ‘เรื่องเพศ’ มักถูกจัดเป็นเรื่องไม่ควรพูด หรือพูดออกมาดังๆ อย่างไม่เขินอาย เพราะมันจะขัดกับศีลธรรมอันดีงามของสังคม แม้ว่าการกิน-ขี้-ปี้-นอน ทุกคนรู้ดีว่าเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ แต่มีเพียงแค่เรื่องเพศที่ไม่สามารถพูดได้เป็นปกติเหมือนเรื่องอื่นๆ หรือในแง่หนึ่ง มันคือการถูกสังคมห้ามพูด ไม่เหมือนกับการที่เราถามเพื่อนว่า มื้อเที่ยงวันนี้ทานอะไรดี หรือตั้งคำถามในโซเชียลมีเดียว่า นอนอย่างไรให้หลับลึกสนิท

“สังคมไทยไม่มีพื้นที่ปลอดภัยในการพูดเรื่องเพศ เพราะทุกครั้งที่ออกมาพูด มันจะมาพร้อมกับการถูกตีตราเสมอ”

มุมมองหนึ่งจาก ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักเคลื่อนไหวเรื่องเพศ 

ดร.ชเนตตี ทินนาม

การหลีกเลี่ยงไม่พูดเรื่องเพศ หรือต้องพูดอย่างอ้อมๆ สำหรับอาจารย์ชเนตตีเป็นเพราะลึกๆ แล้วคนไทยคุ้นเคยกับความจริงที่ถูกกำหนดโดยคนบางกลุ่มว่า อะไรคือสิ่งถูกผิด และไม่กล้าตั้งคำถามกับสิ่งที่ถูกบอก

“เวลาเรียนหนังสือ เราก็ต้องเชื่อในหลักสูตรที่ออกมาจากส่วนกลาง เนื้อหาการสอนเรื่องเพศก็จะเต็มไปด้วยการกดทับตีตรา ที่ไม่อนุญาตให้มนุษย์มีอิสระในการตัดสินใจบนเนื้อตัวร่างกายของตัวเองได้ แม้แต่การสื่อสารความต้องการของร่างกายในเรื่องเพศ จะไม่ใช่เนื้อหาที่ถูกส่งเสริมให้มีการเรียนรู้เกิดขึ้นในโรงเรียนต่างๆ แต่มันอาจจะถูกอนุญาตเมื่อถึงวัยที่ผู้มีอำนาจในสังคมคิดว่ามันเหมาะสม” อ.ชเนตตีเสริม

เมื่อเรื่องเพศกลายเป็นเรื่องต้องห้าม ผลที่ตามมาเราจึงไม่กล้าถามหาความรู้ที่ถูกต้องจากคนใกล้ตัวหรือผู้เชี่ยวชาญ แต่เลือกเพื่อนหรืออินเทอร์เน็ตเป็นตัวสนองความอยากรู้ที่ไม่อาจห้ามได้ จนอาจนำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และเกิดปัญหาทางเพศในที่สุด ในขณะเดียวกันวัฒนธรรมและความเชื่อเหล่านี้ ก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาทางเพศ มีหมอเอ้เป็นหนึ่งคนที่รออยู่ปลายทางเพื่อช่วย

“ในทางทฤษฎี ผู้หญิงจะมีปัญหาทางเพศมากกว่าผู้ชาย แต่ในทางปฏิบัติผู้หญิงมารักษาน้อยกว่า เพราะว่าเรื่องของวัฒนธรรม ความอายทำให้ไม่กล้ามารักษา ไม่กล้าพูดกับสามี บางคนทนไปเฉยๆ ก็จะเกิดอาการหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนเกิดการหย่าร้างกันไป

“อีกอย่างคือเรื่องสมรรถภาพทางเพศของผู้ชาย ที่ในทางทฤษฎีจะพบอาการหลั่งเร็วมากกว่าปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งตัว แต่ความเป็นจริงคนไม่ค่อยมาหารักษาเรื่องการหลั่งเร็ว อันนี้ก็วัฒนธรรมเหมือนกัน เพราะสำหรับบางคนเขาจะเขินอาย รู้สึกเสียเซลฟ์ ขาดความมั่นใจในการมาหาหมอ แต่ถ้าเป็นอาการไม่แข็งตัวเขายังมองว่าของเขาเคยแข็งดีมาก่อน เขาเลยรู้สึกว่าเป็นปัญหาที่มารักษากับหมอได้ เราจะเจอแบบนี้มากกว่า” หมอเอ้เล่าให้ฟัง

เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงปัญหาทางเพศตั้งแต่ต้นตอ หมอเอ้และ อ.ชเนตตีพูดตรงกันว่า การสื่อสารกันเรื่องเพศคือวิธีที่ดีที่สุด ที่จะช่วยให้รู้สึกว่าเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็คุ้นเคย ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และสามารถปรึกษาปัญหากับใครก็ได้โดยที่ไม่รู้สึกเขินอาย เพราะสุดท้ายแล้วเรื่องเพศก็คือหนึ่งในวงจรของสุขภาพ เป็นเรื่องธรรมชาติที่เราควรพูดถึงได้โดยทั่วไป

เรื่องเพศพูดได้ตั้งแต่เด็ก สำคัญกว่าการห้าม คือสอนว่าอะไรถูกต้อง

เมื่อเรื่องเพศคือเรื่องสำคัญที่ต้องพูดกัน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะพูดกับใครก็ได้ เพราะดุลพินิจของผู้ฟังก็ยังมีผลต่อการรับสารนั้นไปใช้ให้ถูกต้อง คำถามแรกที่เราสงสัยและถามหมอเอ้คือ แล้วอายุเท่าไหร่ที่ควรพูดเรื่องเพศ?

“เรื่องเพศพูดได้ทุกวัย ต้องพูดตั้งแต่วัยเด็กเลย ไม่ว่าจะพูดกันเองหรือพูดเป็นการศึกษา เพียงแต่ว่าต้องพูดให้เหมาะสมในแต่ละวัย” หมอเอ้ให้คำตอบ

ถ้าเป็นเด็กเล็กวัยประถม หมอเอ้บอกว่า สิ่งที่เราพูดได้คือเรื่องร่างกายที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลง หรือหากเด็กถามเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ ยังไม่ต้องพูดถึงการสอดใส่ แต่ต้องพูดข้อเท็จจริงในเชิงวิทยาศาสตร์ให้ฟังว่า เป็นการปฏิสนธิกันระหว่างอสุจิของฝ่ายชายและรังไข่ของฝ่ายหญิง เมื่อถึงวัยมัธยมที่เด็กจะมีฮอร์โมนทางเพศเพิ่มขึ้น จึงจะเหมาะกับการสอนเรื่องวิธีการมีเซ็กส์พร้อมวิธีป้องกันความเสี่ยงที่ถูกต้อง

สิ่งสำคัญที่หมอเอ้เน้นย้ำเพิ่มเติม คือ การสอนเรื่องหลักการยินยอม (Consent) บนร่างกายของตัวพวกเขาเอง ที่สามารถปลูกฝังได้ตั้งแต่เนิ่นๆ 

“สิ่งที่เด็กจะมี คือ Sexual Empowerment เป็นปราการปกป้องสิทธิ์การถูกคุกคามทางเพศได้ แล้วเขาจะมี Sexual Self-esteem ความภูมิใจเรื่องทางเพศของตัวเอง เขาจะกล้าปฏิเสธเองได้”

การเริ่มพูดกันตั้งแต่ในบ้านเป็นสิ่งที่หมอเอ้แนะนำ เพราะพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด เป็นคนแรกๆ ที่เด็กจะถามเมื่อมีเรื่องสงสัย หากสามารถสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยที่ทำให้เด็กเชื่อใจ กล้าที่จะพูดเรื่องเพศด้วย อาจช่วยลดความเสี่ยงปัญหาทางเพศ อย่างเช่นบางโรคที่สามารถเป็นได้ตั้งแต่เกิด แต่ต้องรักษาภายในอายุ 8-12 ปี ก็จะรักษาได้ทันเวลา

นอกจากนี้โรงเรียนก็เป็นอีกพื้นที่ที่เด็กมีความใกล้ชิด ห้องเรียนเพศศึกษาจึงเป็นอีกกำลังสำคัญที่จะช่วยเปิดโลกทางเพศให้กับเด็กเล็ก และให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องเพศ

“การสอนเพศศึกษาว่าไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร หรือสอนในเชิงของการห้าม ไม่ควรทำ งานวิจัยทางเพศศึกษาบอกว่านั่นเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้องแล้ว การสอนให้รู้จักทุกอย่างต่างหากที่สำคัญที่สุด มันไม่ใช่การชี้โพรงให้กระรอก เพราะกระรอกมีโพรงอยู่แล้วทั่วอินเทอร์เน็ต แต่ว่าเราต้องเป็นคนชี้ให้กระรอกเข้าโพรงที่ถูกต้อง อันนั้นคือสิ่งที่สำคัญกว่า”

เรื่องเพศต้องพูดอย่างตรงไปตรงมา และพูดแบบไม่ทำร้ายใคร

เรื่องเพศนอกจากจะต้องพูดให้เหมาะกับช่วงวัย ที่สำคัญไม่แพ้กันคือเราจะพูดอย่างไรให้ถูกต้อง และได้ผลที่เป็นประโยชน์ที่สุด

“งานวิจัยของการพูดเรื่องเพศแนะนำให้พูดศัพท์ตรงไปตรงมาที่สุภาพ เพื่อให้เรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมดาที่สุด เขาเรียกว่าการ normalize อีกอย่างคือเพื่อให้เรื่องเพศกลายเป็นเรื่องสำคัญ”

หมอเอ้ยกตัวอย่างประโยคยอดฮิตอย่างเช่น ‘นกเขาไม่ขัน’ ก็ควรสื่อสารความหมายตรงๆ เลยว่า อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ‘ปัญหาเรื่องบนเตียง’ ความหมายของมันยังกำกวมว่ารวมถึงปัญหาการนอนด้วย ก็ควรอธิบายใหม่ว่า ปัญหาเรื่องเพศสัมพันธ์ หรือตัวอย่างที่พ่อแม่มักใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการพูดเรื่องเพศกับลูกอย่าง ‘ลูกเกิดจากกระบอกไม้ไผ่’ ก็เปลี่ยนเป็นการพูดตรงๆ ตามหลักวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง

ประโยชน์ของการสื่อสารเรื่องเพศแบบที่ถูกต้อง ไม่ใช่แค่ช่วยให้เข้าใจมากขึ้น หรือคุ้นชินกับเรื่องเพศเท่านั้น แต่มันยังช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาทางเพศที่อาจเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ได้เช่นกัน เพราะคำพูดเล็กๆ น้อยๆ จากคนที่รัก ตัวแปรสำคัญที่ส่งผลทางใจได้มหาศาล

“ถ้าผู้ชายถูกตำหนิว่ามีเซ็กส์ด้วยไม่ดีเลย หรืออวัยวะของคนอื่นใหญ่กว่านี้ ครั้งต่อๆ ไปผู้ชายอาจเกิดปัญหาไม่แข็งตัว  เพราะเขารู้สึกขาดความมั่นใจ หรือถ้าผู้หญิงโดนว่า ทำไมมีเซ็กส์ทางปาก (Oral Sex) ได้ไม่ดีเลย ครั้งต่อไปอาจเกิดความกลัว ระแวง ช่องคลอดก็เลยเกิดการหดตัว ทำให้ยากต่อการสอดใส่ สุดท้ายนำไปสู่การหลีกเลี่ยงเหตุการณ์แบบนี้ ก็จะเป็นปัญหา”

“ไม่ว่าจะเป็นคู่เพศใด ถ้าไม่พูดกันเรื่องเพศ หรือพูดไม่สร้างสรรค์ อันนี้เกิดปัญหาแน่นอน” หมอเอ้ทิ้งท้าย

สำหรับใครที่อ่านมาจนจบถึงตรงนี้แล้ว รู้สึกว่าตนเองมีปัญหาทางเพศอันเกิดจากปัจจัยเรื่อง กาย-ใจ-สังคมความเชื่อ-ความสัมพันธ์ หมอเอ้คอยต้อนรับเสมอที่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และศูนย์สุขภาพเพศกรุงเทพฯ (Bangkok Sexual Health Center- BSHC)

หรือหากใครรู้สึกสนใจเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศ อยากแลกเปลี่ยนความรู้กันในเรื่องเพศ สามารถติดตามคอนเทนต์จากหมอเอ้ได้ที่ ‘เรื่องเล่าพี่หมอเอ้’ หรือ ‘doctoraestory’ ได้ทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย


อ้างอิง