เพราะเรื่องราวของทุกคนมีค่า ไม่ว่าคุณจะเป็นแค่คนเดินดินธรรมดา หรือคนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เรื่องราวของทุกคนควรได้รับการบันทึกและส่งต่อให้คนอื่นๆ รับรู้ ในวันที่เราจากไปแล้ว
ไอเดียที่ทำให้เกิดเว็บไซต์ SHARESOULS พื้นที่ออนไลน์สำหรับการไว้อาลัยคนที่จากไป
มิ้น – นภสวาสดิ์ ปัญญจเร Project management ของทีม SHARESOULS เล่าว่า เว็บไซต์นี้เกิดจากกลุ่มเพื่อน 5 คน ได้แก่ ฐิติกร วิศวาภิวงศ์, สริญธร ขาวสุวรรณ, มงคล อายิกุ, ธีทัต ปัญญจเร และมิ้นที่รวมตัวกันสร้างเว็บไซต์นี้ขึ้นมา
“พวกเราเป็นกลุ่มเพื่อนที่รู้จักกันมานานแล้ว เป็นเพื่อนของเพื่อนบ้าง เพื่อนของน้องบ้าง ความพิเศษของกลุ่มเรา คือ คุยกันได้ทุกเรื่อง แบบทุกเรื่องจริงๆ เวลาที่เราคุยกับเพื่อนอาจมีบางเรื่องที่คุยไม่ได้ ไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้ แต่กับกลุ่มนี้เราคุยกันได้ทุกเรื่อง ถกกันเรื่องข่าวสารบ้านเมืองตลอด”
การพูดคุยแต่ละหัวข้อก็มีโอกาสพัฒนาเป็นบางอย่างตามความสามารถของสมาชิกในกลุ่ม ที่ต่างทำงานอยู่ในวงการไอที คุ้นเคยกับทำทำซอฟต์แวร์หรือสร้างเว็บไซต์ เช่นโปรเจค SHARESOULS ที่กลายเป็นอนุสรณ์ออนไลน์ให้คนในยุคปัจจุบัน

นอกจากต่อเติมสร้างพื้นที่ขึ้นมา การทำโปรเจคท์นี้ก็ทำให้ทุกคนเข้าถึงบางอย่าง อาจเรียกว่าเป็น ‘ความเข้าใจชีวิต’ ที่เยียวยาทั้งคนมาใช้งานและคนที่อยู่เบื้องหลัง
“ประสบการณ์ต่างๆ ที่เราเจอจากระหว่างทำ SHARESOULS ก็เยียวยาคนทำได้เหมือนกันนะ ทำให้เราเข้าใจชีวิตประมาณหนึ่ง รู้ตัวว่าพวกเรากำลังทำอะไรอยู่ เราเพิ่งจะ 30 เอง ไม่จำเป็นคิดทำอะไรยิ่งใหญ่ เพราะสุดท้ายทุกคนตายกันหมด ไม่ว่าเราจะทำสำเร็จหรือไม่ก็ตาม
“ ‘ชีวิตมันก็แบบนี้แหละ’ เป็นคำพูดที่ทุกคนในทีมพูดบ่อยมากหลังจากทำ SHARESOULS เราอาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่ แต่เราก็ทำอะไรดีๆ ไว้ได้เหมือนกัน ฉะนั้น ไม่ต้องไปเครียดมาก หรือกดดันตัวเองเลย”
SHARESOULS เกิดขึ้นมาได้ยังไง
โปรเจคท์ SHARESOULS เกิดขึ้นช่วงโควิดปี 2564 ช่วงนั้นพวกเราว่างกันมากๆ (เน้นเสียง) ก็คุยกันว่าแต่ละคนทำอะไรกันบ้าง ส่วนใหญ่ก็ไถแต่โซเชียล ไม่ได้มีอะไรให้ทำมาก แต่สิ่งที่เราเจอเหมือนกัน คือ เจอคนตายทุกวัน แล้วเราก็เห็นร่วมกันอีกว่าคนที่สูญเสียคนที่รักหรือคนรู้จัก เขาจะมาโพสต์ลงโซเชียล อาจจะเป็นรูปคู่ หรือบรรยายว่าเขารู้สึกยังไง มีคนอื่นๆ ที่รู้จักมาคอมเมนต์ต่อ
ตัวมิ้นรู้สึกว่าสิ่งนี้มีพลังและคุณค่ามากๆ แต่มันน่าเสียดายที่โพสต์เหล่านี้จะถูกดันหายไปด้วยโพสต์ใหม่ๆ ที่เกิดในโลกโซเชียลตลอดเวลา เรามาคุยกันว่าจริงๆ พวกเราสามารถทำได้นะ สร้างพื้นที่ที่เก็บสิ่งเหล่านี้ไว้บนโลกออนไลน์ ให้คนสามารถกลับเข้ามาดูได้ตามที่ต้องการ เกิดเป็น SHARESOULS
วิธีไว้อาลัยยอดนิยมของคนตอนนี้คงเป็นการแชร์ลงโซเชียล
ใช่ๆ เราก็มีมาแลกเปลี่ยนกันในทีมนะว่า แล้วคนสมัยก่อนเขาไว้อาลัยกันยังไง มันก็จะมีพิธีต่างๆ ตามวัฒนธรรม หรือศาสนา เช่น วันเชงเม้งของคนจีน รวมตัวกันไว้อาลัยคนที่จากไป แต่ปัจจุบันการทำสิ่งเหล่านี้มันยากขึ้นนะ ให้คนมารวมตัวกันทีเดียวลำบาก โซเชียลมีเดียเลยกลายเป็นพื้นที่ไว้อาลัยของคนยุคนี้แทน
ในทีมใครทำหน้าที่อะไรกันบ้าง
ทีมเราจะมีคนพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software developer) 2 คน สร้างเว็บตั้งแต่ต้นจนจบ วางระบบหลังบ้านต่างๆ ตัวมิ้นเป็นคนวางแผนว่าคนที่เข้ามาใช้งานจะเจอกับอะไรบ้าง แล้วก็มีคนที่ดูแลการเงิน ทำบัญชี และคนสุดท้ายทำเรื่องการตลาด สร้างช่องทางต่างๆ ให้คนติดตามเรา จริงๆ เรากะทำเว็บไซต์นี้เล่นๆ นะ แต่ไปๆ มาๆ มันจริงจังมาก (หัวเราะ)

ก่อนจะลงมือสร้างเว็บจะมีขั้นตอนที่ต้องหาข้อมูล อยากรู้ว่าในขั้นตอนนี้พบอะไรระหว่างทางบ้าง
ถ้าเป็นเรื่องมุมมองต่อการไว้อาลัย หรือการสูญเสีย เท่าที่มิ้นเจอจะเป็นคนสุดกู่ 2 ทาง คนที่รู้สึกเศร้ากับสูญเสียจนเป็นโรคซึมเศร้าก็จะเกลียดไปเลย ไม่อยากรับรู้อะไรแล้ว กับคนที่ระลึกถึงคนที่จากไปแล้วมาตลอดและมีความสุขที่ได้คิดถึง
มุมคนที่ไม่อยากรับรู้ มิ้นยกตัวอย่างเพื่อนมิ้นที่เสียคุณพ่อไปอย่างกระทันหัน เขาทำใจไม่ค่อยได้เลย คว่ำรูปพ่อในบ้านเพราะไม่อยากเห็น มิ้นเคยถามเขานะว่าวิธีนี้มันโอเคกับเขาใช่ไหม เพื่อนตอบว่าไม่ใช่วิธีที่ดีหรอก แต่ช่วงเวลาแบบนี้เพื่อนขอเซฟตัวเองก่อน แต่ปัจจุบันเพื่อนทำใจได้แล้วนะ พูดถึงคุณพ่อได้แล้ว
ส่วนคนที่มีความสุขที่ได้คิดถึง มิ้นมีเพื่อนที่เสียคุณย่าไปตอนอายุ 11 ปี คุณย่าเป็นคนสำคัญของเพื่อนมากๆ เขาบอกว่าที่ยังมีชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะเขายังมีคุณย่าอยู่ในใจเสมอ ถ้าเขาคิดว่าย่าเสียไปแล้ว ไม่มีย่าอยู่ในชีวิตแล้ว เขาคงไม่สามารถต่อสู้มาจนถึงทุกวันนี้ได้ เขามาถึงได้เพราะรู้ว่าย่ายังมองดูเขา เอาความรักและคำสอนจากย่ามาทำให้เขามีชีวิตที่ดีจนถึงทุกวันนี้
มิ้นว่าเวลาเป็นปัจจัยสำคัญเหมือนกันนะ บางคนที่เพิ่งสูญเสียก็อาจจะยังรับไม่ไหว แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปนานประมาณหนึ่ง ความเจ็บมันจะอยู่ไม่ได้นาน แต่เป็นความสุขและความผูกพันที่เขามีร่วมกันต่างหาก
แล้วอายุมีผลต่อการรับมือเรื่องนี้ไหม หรือมุมมองที่มีต่อการสูญเสีย
มิ้นคุยกับคนอายุน้อยไม่ค่อยเยอะ ด้วยขอบเขตอายุมิ้นและคนในทีมเอง คนที่มิ้นไปเก็บข้อมูลอายุอยู่ที่ 25 – 40 ปี ก็มีทั้งคนอายุ 40 ที่ทำใจได้เร็ว กับคนที่ทำแบบเดียวกันกับเพื่อนมิ้นที่คว่ำรูปพ่อ อย่างที่บอกว่าปัจจัยที่มีผลจริงๆ ที่มิ้นรู้สึก คือ รูปแบบการสูญเสีย ถ้าเขาป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ก็มีโอกาสที่คนใกล้ตัวจะมีเวลาทำใจได้ แต่ถ้าคนที่เพิ่งเสียไป เช่น มีน้องที่แฟนเสียช่วงโควิด เขาก็รับเรื่องนี้ไม่ค่อยไหว

จากข้อมูลทั้งหมดที่เราได้ ดีไซน์ออกมาเป็นเว็บไซต์นี้ยังไงบ้าง
มิ้นตั้งต้นจากคำถามที่มิ้นใช้ถามทุกๆ คนที่เราไปเก็บข้อมูลว่า เขาเก็บความทรงจำที่มีต่อคนที่จากไปยังไง คนส่วนใหญ่จะตอบว่าเก็บตามพิธีกรรมต่างๆ ที่เขานับถือ เช่น มีโกศที่ใส่กระดูกไว้ หรือมีหิ้งตั้งรูปไว้แล้ววางดอกไม้ มิ้นเอามาดีไซน์เป็นหน้าที่เรียกว่า Memorial (อนุสรณ์) ก็จะมีรูปภาพ ดอกไม้ แล้วก็มีเทียนให้คนที่มาเห็นได้จุดเพื่อแสดงความไว้อาลัย
แต่มีคำตอบบางคนที่มิ้นได้ยินแล้วก็ช็อกนะ คือ เขาไม่ได้เก็บอะไรไว้เลย มิ้นเคยถามอาม่าว่าเก็บเรื่องราวของบรรบุรุษยังไง อาม่าบอกก็จำได้ เล่าให้เราฟัง แต่ถ้าวันหนึ่งอาม่าเสีย เรื่องราวของคนเหล่านั้นจะยังอยู่ หรือหายไปเลยด้วยไหม เป็นจุดที่มิ้นรู้สึกว่าไม่ได้แล้ว คนรุ่นหลังๆ อาจจะไม่รู้จักญาติผู้ใหญ่ของตัวเองแล้ว ยิ่งทุกวันนี้เราไปเจอกันเพื่อไว้อาลัยใครสักคนน้อยมากด้วย ดังนั้น ในอนุสรณ์ก็จะมีช่องที่ให้เขาใส่ข้อมูลอะไรก็ได้ที่เก็บเรื่องราวคนที่จากไป หรือใส่เพลงที่เขาชอบ นอกจากเก็บความทรงจำ ก็รักษาตัวตนหรือบรรยากาศของคนคนนั้นไว้ด้วย
ทำไมถึงตั้งชื่อว่า SHARESOULS
ทีมมิ้นเราค่อนข้างจะชอบคำว่าแชร์ (Share) เพราะเราก็แชร์ความคิดเห็นต่างๆ ประสบการณ์ชีวิตด้วยกัน ส่วนคำว่าโซล (Soul) มิ้นมองว่าคนเรานอกจากมีร่างกาย ข้างในเราก็มีจิตวิญญาณ สิ่งนี้สำหรับมิ้นเป็นตัวตนของเรา สมมติมิ้นสลับร่างกับใครสักคน มิ้นจะยังคิดว่ามิ้นเป็นมิ้น แม้จะตื่นมาในร่างใครก็ตาม เพราะข้างในยังเป็นจิตใจมิ้น ซึ่งไม่ได้ตายหรือหายไปตามธรรมชาติ ตราบเท่าที่มีคนรับรู้และจำตัวตนของคุณได้ เราจะยังคงอยู่ เลยเอา 2 คำนี้มารวมกันเป็น SHARESOULS
พอเว็บ SHARESOULS เปิดใช้งานแล้ว คนที่เข้ามาเป็นใครกันบ้าง
เราเพิ่งปล่อยเว็บไซต์เมื่อต้นปี วันที่ 4 มกราคม มีคนเข้ามาใช้ประมาณ 3,000 – 4,000 คน ก็ผิดจากที่มิ้นคาดไว้ตอนแรกนะว่าคนที่มาใช้ SHARESOULS จะเป็นผู้ใหญ่รุ่นปู่ย่า ป้าน้าอา ที่คิดถึงบรรบุรุษ อยากเก็บเรื่องราวให้ลูกหลานรู้ เพราะคนที่จะเข้าใจความตายได้ น่าจะผ่านประสบการณ์ชีวิตมาระดับหนึ่ง แต่ว่าไม่เลยค่ะ คนที่เข้ามาใช้เว็บเยอะสุด คือ คนอายุ 18 ปี รองลงมา 25 ปี รุ่นผู้ใหญ่น้อยมาก เพราะเขาเปิดรับสิ่งใหม่ๆ น้อย เคยให้ญาติผู้ใหญ่เราลองเล่น เขาบอกทุกวันนี้แค่เล่น Line ก็ปวดหัวแล้ว (หัวเราะ)
มันเซอร์ไพรส์มิ้นเหมือนกันนะที่คนใช้เยอะอยู่ในวัย 18 ปี แต่จริงๆ เด็กสมัยนี้เข้าใจความตายเข้าใจชีวิตมากกว่าที่เราคิดซะอีก
จุดไหนที่ทำให้มิ้นรู้สึกว่าคนอายุเท่านี้เข้าใจเรื่องนี้
มิ้นเจอคนหนึ่งที่มาเขียนไว้อาลัยให้สัตว์เลี้ยงตัวเอง มิ้นจำรายละเอียดที่เขาเขียนไม่ได้เป๊ะๆ นะ เขาเขียนประมาณว่าน้องเข้ามาเป็นความสุขในช่วงชีวิตหนึ่งของเขาแล้วก็จากไป แต่ยังทิ้งความสุขไว้ให้เขาอยู่ มิ้นรู้สึกว่าเขาเข้าใจโลกประมาณหนึ่งว่า ความตายมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ไม่ได้มองเฉพาะแง่ลบ แต่คิดว่าจะเก็บความทรงจำไว้ยังไง เก็บความสุขไว้

แล้วเสียงตอบรับจากคนใช้งานคนอื่นๆ เป็นยังไงบ้าง
มี 2 กลุ่ม ถ้าเป็นเพื่อนๆ มิ้นหรือคนที่รู้จักเรา เขาจะบอกว่าเราทำได้มากกว่านี้ อยากให้เพิ่มฟังก์ชันนี้ๆ แต่ถ้าเป็นคนทั่วไปเลย เขาไม่ได้สนใจมากว่าในเว็บเรามีอะไร สิ่งที่เขาสนใจ คือ มีกลุ่มสังคมที่ทำให้เขาได้แชร์ความรู้สึกออกไป ในมุมคนที่สูญเสียจะรู้สึกว่ามีแต่ตัวเขาที่ต้องเผชิญสิ่งนี้ ตั้งคำถามกับมันว่าทำไมต้องเป็นเขา แต่การที่เขาได้เข้ามาในเว็บไซต์ เห็นว่ามีคนอื่นๆ ที่เผชิญกับความสูญเสียเหมือนกัน หรือมีคนเข้ามา condolences (ขอแสดงความเสียใจ) ที่หน้าอนุสรณ์ของเขา มันทำให้เขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่ได้กำลังเผชิญความเจ็บปวดอยู่คนเดียว ได้รับการปลอบใจไปด้วย
มิ้นเข้าใจพวกเขานะ เวลามีคนมาปลอบเราที่กำลังเศร้า ถ้าเขาไม่ได้เผชิญสิ่งเดียวกันกับเรา หรือมีชีวิตที่ดีมากๆ เราอาจคิดว่าเขาจะไปเข้าใจอะไร อย่ามาพูดเลย กลับกันถ้าคนที่มาปลอบเราก็กำลังเผชิญสิ่งเดียวกับเรา เราอาจจะรู้สึกได้รับกำลังใจมากกว่า
อันนี้ก็เป็นจุดที่ผิดจากที่มิ้นคาดไว้ตอนทำเว็บแรกๆ มิ้นคิดว่าคนน่าจะเข้ามาเพื่อสร้างอนุสรณ์ของตัวเองโดยเฉพาะ คงสนใจของคนอื่นๆ น้อย แต่ปรากฎว่าคนไปดูอนุสรณ์ของคนอื่นๆ เยอะนะ คนที่เขาอาจจะไม่ได้รู้จักด้วยซ้ำ แต่ก็เข้าไปแสดงความเสียใจด้วย
สิ่งที่คนไว้อาลัยในเว็บมีอะไรบ้าง
ตอนแรกมิ้นวางไว้ว่าเป็นคนเท่านั้น แต่พอใช้งานจริงๆ มันมีเยอะมาก ตอนนี้เลยแบ่งกลุ่มคร่าวๆ เป็นคน สัตว์เลี้ยง และอื่นๆ ซึ่งส่วนนี้มิ้นสร้างฟังก์ชันให้มีการเก็บข้อมูลไว้ เพื่อไปพัฒนาสร้างกลุ่มใหม่ต่อในอนาคต
แต่ว่ามีคนหนึ่งนะที่การไว้อาลัยของเขาเกิดความคาดหมายของมิ้น คือ เขาไว้อาลัยให้ตัวเองคนเก่า เขาเขียนไว้ว่าเขาเวอร์ชันคนเก่าเป็นคนที่ไม่มี work – life balance ทำงานถวายหัวอย่างเดียว เขาจะไม่เป็นคนแบบนั้นอีกแล้ว แต่ก็ขอบคุณเขาเวอร์ชันเก่าที่ทำให้ได้เป็นเขาในวันนี้ เป็นสิ่งที่มิ้นก็คิดไม่ถึงจริงๆ ว่าจะมีในเว็บเรา

เท่าที่ฟัง SHARESOULS เป็นกึ่งๆ คอมมูนิตี้ให้คนที่เผชิญสิ่งเดียวกันมาคุยและเยียวยาใจไปด้วยกัน
ประมาณนั้นเลย มิ้นรู้สึกว่าคนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยกล้าแชร์ความรู้สึก หรือความเศร้าของตัวเองให้คนอื่นรู้ เขาอาจจะรู้สึกว่าความใส่ใจที่ส่งมามันน้อย
ทุกวันนี้พอเป็นคอมมูนิตี้ก็จะเป็นแบบหางาน หาเงิน ทำคอนเทนต์ยังไงให้ปัง เหมือนทุกคนไม่ได้ใส่ใจในความรู้สึกขนาดนั้น แต่ SHARESOULS คือ การแชร์เรื่องตัวเองเพื่อรักษาความรู้สึกกันและกัน
แล้วการแชร์เรื่องนี้มันส่งผลยังไงกับคนแชร์หรือคนที่เห็น เพราะความสูญเสียก็เป็นเรื่องปัจเจก
ฝั่งคนที่แชร์ เขาได้บันทึกเรื่องราวของคนที่จากไป เป็นวิธีเก็บความทรงจำอย่างหนึ่งของเขา ส่วนการได้เห็นอนุสรณ์ของคนอื่นๆ มันก็ทำให้เขาไม่ได้รู้สึกโดดเดี่ยว รักษาใจให้กันและกัน
คำแนะนำหนึ่งที่เราได้รับเมื่อเผชิญการสูญเสีย คือ ให้เดินหน้าต่อไป move on อย่าจมหรือยึดติดกับสิ่งนี้ มิ้นมองเรื่องนี้ยังไง
มิ้นเห็นด้วยนะ ตัว SHARESOULS มิ้นก็ไม่ได้อยากทำให้เป็นพื้นที่ที่คนต้องเข้ามาทุกวัน มิ้นอยากให้เขาเข้ามาเมื่อนึกถึงใครสักคน ตัวมิ้นเองมองว่าการ move on ไม่ใช่การลืม หรือพยายามไม่คิดถึง เพราะมันจะมีช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตที่เรารู้สึกเหนื่อย หรือท้อ เหมือนอยู่ตัวคนเดียวบนโลกใบนี้ มิ้นก็อยากให้การที่เขาได้เข้ามาที่ SHARESOULS ได้เห็นหน้าคนที่รักถึงแม้ว่าจะจากไปแล้ว ได้สัมผัสบรรยากาศที่ยังหลงเหลือเพื่อเยียวยาตัวใจ มิ้นอยากสร้างที่ที่หนึ่งให้ทุกคนกลับมาได้ เมื่อรู้สึกคิดถึงใครสักคนที่จากไป
สำหรับมิ้นการ move on กับการไว้อาลัย เป็นเรื่องเดียวกัน หรือต่างกัน?
มิ้นคิดว่ามันเป็นการ move on อย่างยั่งยืนมากกว่า แต่ละคนมีวิธี move on ไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะบอกว่า การ move on ของฉัน คือ ไม่จมปลักกับคนที่จากไปแล้ว พยายามลืมเขาไป แต่มิ้นรู้สึกว่าความเป็นจริงเราทำไม่ได้หรอก เพราะมิ้นเห็นมากับตาเพื่อนมิ้นที่คว่ำรูปพ่อ สุดท้ายเขาก็หนีไม่พ้น เพราะพ่อเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเขาไปแล้ว เขาจะหนีช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตได้ยังไง ยกเว้นว่าเดินออกไปให้รถชนให้ความจำเสื่อมเหมือนในละคร (หัวเราะ)
การที่คุณหนีตลอดเวลามันไม่ได้ช่วยอะไร มิ้นมองว่าการไว้อาลัยหรือระลึกคิดถึงใครสักคน มันเป็นการ move on อย่างยั่งยืนมากกว่า ถ้าเราก้าวข้ามความเสียใจที่เกิดขึ้น มันจะทำให้ทุกครั้งที่เรานึกถึงเขาเหลือแต่ความสุข ช่วงเวลาที่ดี มิ้นคิดว่านี่แหละเป็นการ move on ที่ยั่งยืนที่สุด

แล้วการจดจำคนที่จากไปมันสำคัญยังไง เพราะตัวมิ้นเน้นย้ำสิ่งนี้ในช่วงแรกๆ ของการทำ SHARESOULS
มิ้นคิดว่าเป็นการทำเพื่อคนที่จากไปว่า เฮ้ย ไม่ต้องกลัวว่าชีวิตเราที่สร้างมาขนาดนี้ ตัวตนที่เราทำมามันจะหายไปถ้าเราตาย เพราะยังมีคนที่รัก เพื่อน ครอบครัว ที่ยังจดจำเราได้ เราจะยังอยู่
สำหรับการที่คนยังอยู่ การได้ระลึกถึงคนที่จากไป มันทำให้เขาไม่ต้องสูญเสียคนคนนั้นไปจริงๆ อาจจะฟังดูใกล้เคียงกับคำว่าไม่ move on แต่อย่างที่บอกว่า move on สำหรับมิ้น คือ การอยู่ร่วมกับความทรงจำของคนคนนั้นได้อยากเป็นสุข
ตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน หนึ่งในความทุกข์ของมนุษย์ คือ การสูญเสีย มิ้นอยากให้การที่เรายังจดจำตัวตนของใครสักคนไว้ มันช่วยลดความรู้สึกเจ็บปวดที่เกิดจากการสูญเสีย เพราะคุณไม่ได้สูญเสียเขาไปทั้งหมด คนที่จากไปจะยังมีชีวิตอยู่ในความทรงจำของใครสักคนเสมอ
อนาคต SHARESOULS ถูกวางไว้ยังไงบ้าง
มีไอเดียในหัวเต็มไปหมด (หัวเราะ) เพราะยิ่งทำมันก็ยิ่งมันส์อยากทำไปเรื่อยๆ จากที่เราทำมันเพราะเราอยากฝึกฝีมือ ถ้าเป็นหนังจีนก็คือเราอยากประลองยุทธ์ทดสอบความสามารถตัวเอง แต่พอได้ทำไปเรื่อยๆ ทำให้เราสนุกกับมัน อยากทำให้มันเติบโตขึ้นอีก
แผนคร่าวๆ ในตอนนี้ มิ้นอยากให้ SHARESOULS อยู่ได้ด้วยตัวเอง มีรายได้ไว้จ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดจากการทำเว็บไซต์ มิ้นวางแผนว่าอาจจะขาย item กับ ของตกแต่งอนุสรณ์ใน SHARESOULS เล็กๆ น้อยๆ เพื่อหล่อเลี้ยงให้มันอยู่ได้ไปเรื่อยๆ
ขณะที่ SHARESOULS เติบโตขึ้นเรื่อยๆ คนที่อยู่เบื้องหลังฟูมฟักมันขึ้นมาเป็นไงบ้าง
คนทำก็รู้สึกเติบโตนะ อย่างตัวมิ้นเองเมื่อก่อนเราไม่ได้เข้าใจชีวิตขนาดนั้น เราก็ใช้ชีวิตด๊อกแด๊กของเราไปวันๆ ตอนนี้เรารู้สึกว่าทุกคนล้วนต้องเจอกับความตาย เราหนีสิ่งนี้ไม่พ้น วันที่เราจากไป สิ่งที่หลงเหลือไว้ก็อาจไม่ใช่เงินทอง หรือความยิ่งใหญ่ แต่เป็นความทรงจำและความรู้สึกดีๆ ให้คนที่เหลืออยู่
มิ้นชอบตัวเองที่เวอร์ชันนี้นะ มากกว่าตัวเองที่เคยคิดว่าฉันจะเป็นที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก ทุกคนต้องจดจำเรา มันไม่จำเป็นหรอก ไม่ต้องบันทึกเราในพงศาวดาร ขอแค่มีใครสักคนหนึ่งที่ยังอยู่ ยังจำช่วงเวลาดีๆ ที่มีร่วมกับเรา แล้วทำให้เขามีความสุขได้ มิ้นว่านี่ก็เป็นสมบัติที่มีค่าที่คนคนหนึ่งสามารถหลงเหลือไว้ได้หลังจากที่จากไปแล้ว
แล้วคนอื่นๆ ในทีมละ
ทุกคนรู้สึกตรงนี้เหมือนกัน เวลาเราทำ SHARESOULS เราไม่ได้คุยเฉพาะว่า ได้รับฟีดแบ็กนี้มาต้องสร้างฟีเจอร์นี้นะ เราคุยเรื่องอื่นๆ ด้วย เอาความรู้สึกที่ได้รับจากการทำงานมาแชร์กัน คุยกันในเชิงชีวิต ระหว่างการทำงานมันมีจุดที่ทำให้เราได้เติบโต เพราะทุกคนในทีมก็กำลังอยู่ในช่วง mid-life crisis ค่อนข้างเครียดกับชีวิต ไม่รู้ว่าฉันเกิดมาทำไม ฉันทำอะไรอยู่เนี่ย
ประสบการณ์ต่างๆ ที่เราเจอจากระหว่างทำ SHARESOULS ก็เยียวยาคนทำได้เหมือนกันนะ ทำให้เราเข้าใจชีวิตประมาณหนึ่ง รู้ตัวว่าพวกเรากำลังทำอะไรอยู่ เราเพิ่งจะ 30 เอง ไม่จำเป็นต้องคิดทำอะไรยิ่งใหญ่ เพราะสุดท้ายทุกคนตายกันหมด ไม่ว่าเราจะทำสำเร็จหรือไม่ก็ตาม
‘ชีวิตมันก็แบบนี้แหละ’ เป็นคำพูดที่ทุกคนในทีมพูดบ่อยมากหลังจากทำ SHARESOULS เราอาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่ แต่เราก็ทำอะไรดีๆ ไว้ได้เหมือนกัน ฉะนั้น ไม่ต้องไปเครียดมาก หรือกดดันตัวเองเลย