“นอกจากเราจะเป็นสังคมของผู้สูงอายุแล้ว ก็ยังเป็นสังคมของคนโสดด้วย”
‘จุ๋ม’ ปนิธิตา เกียรติ์สุพิมล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ P.S. Publishing บอกเราไว้แบบนั้น
หนึ่งในเหตุผลสำคัญน่าจะมาจากรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในตอนนี้หันมาโฟกัส ‘ตัวเอง’ มากขึ้น อยากทำในสิ่งที่มีความสุข ช่วยลดความยากลำบากที่พวกเขามักเจออยู่แล้วในการใช้ชีวิต
“บางครั้งการมีชีวิตคู่มันคือปัญหา คือความรุงรัง เเค่ความสัมพันธ์กับตัวเราเองก็ยากมากเเล้ว ทะเลาะกับตัวเองก็เหนื่อยนะ การเป็นโสดมันเลยตอบโจทย์ชีวิต”
การที่คนเลือกจะเป็น ‘โสด’ จึงเพิ่มมากขึ้น แต่ทางเลือกนี้ไม่ได้มาจากการตัดสินใจของตัวเราเพียงคนเดียวเท่านั้น เเต่ยังมาจากปัจจัยด้านสังคม เเละสิ่งเเวดล้อมที่ไม่เอื้อให้คนอยากจะมีความสัมพันธ์ระยะยาวกับใครสักคน

เเต่การเป็นโสดไม่ได้เเปลว่าต้องอยู่คนเดียว ไม่มีความรัก หรือตัดขาดจากทุกความสัมพันธ์ เพราะความสัมพันธ์ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนเลือกออกแบบและนิยามความสัมพันธ์ตามความต้องการที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร
Mutual ชวนปนิธิตา ในฐานะเจ้าของสำนักพิมพ์ที่นำเสนอเรื่องความสัมพันธ์มาคุยกันว่า รูปแบบความสัมพันธ์ที่คนยุคนี้มองหาเป็นอย่างไร และคำว่า ‘โสด’ ในยุคนี้ความหมาย หน้าตาของมันอาจเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่ความโดดเดี่ยว หรือทุกข์ทรมาน แต่เป็นความสุขที่เลือกแล้วของบางคน
สังคมเเห่งการเป็นโสด
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติเเห่งชาติ ระบุว่า อัตราการจดทะเบียนสมรสของคนไทยปี 2555 – 2564 ลดลง 17 % บอกแนวโน้มความสัมพันธ์ของ คนรุ่นใหม่หรือคนเจน Y ที่มีอายุช่วง 21 – 37 ปี ได้หลายอย่าง ทั้งการเลือกเป็นโสดมากขึ้น หรืออยู่ด้วยกันโดยไม่จดทะเบียน หรือแต่งงาน รวมถึงตัดสินใจมีลูกน้อยลง
นอกจากนี้ ผลสำรวจจำนวนคน Gen Y ที่เป็นโสดเเละมีงานทำ พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปี 2561 มีประมาณ 40.2% ปี 256241.7% ปี 2563 43.1% เเละปี 2564 44.5%
ปนิธิตา ให้ความเห็นว่า การที่คนเลือกจะเป็นโสดกันมากขึ้นมีหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น สังคมไม่เอื้ออำนวยให้กับการมีชีวิตคู่ โดยเฉพาะสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่การหาเลี้ยงดูตัวเองเป็นเรื่องยาก จึงกลายเป็นการปิดประตูหาคนอื่นมาร่วมชีวิตด้วย เพราะกลัวว่าจะดูแลเขาไม่ดีพอ หรือเพิ่มภาระให้ชีวิตตัวเอง

รวมถึงเป้าหมายชีวิตของหลายคนเลือกจะทุ่มไปกับการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต เวลาเกือบ24 ชั่วโมงจึงอุทิศให้กับการทำงาน ทำให้ไม่ค่อยเหลือเวลาไปทำอย่างอื่น หรือหมดเเรงไปเสียก่อน
“บางครั้งการมีชีวิตคู่มันคือปัญหา มันคือความรุงรัง เเค่ความสัมพันธ์กับตัวเราเองก็ยากมากเเล้ว เพราะทะเลาะกับตัวเองก็เหนื่อยนะ ดังนั้น การต้องมาเเชร์ชีวิตกับคนๆ หนึ่ง หรือต้องมาทำอะไรที่ไม่ตรงโจทย์ชีวิตเรา เลยทำให้เรารู้สึกว่าการมีความสัมพันธ์กับตัวเอง รักตัวเอง ใช้ชีวิตด้วยตัวเอง เป็นสิ่งที่เราเลือก มันตรงตามความต้องการเรา”
อยากมีความสัมพันธ์นะ เเต่ก็ไม่อยากรับผิดชอบ
“ชีวิตคู่มาพร้อมกับความคาดหวังเเละภาระหน้าที่ เนื่องจากคนสองคนในความสัมพันธ์ต่างต้องมีการคาดหวังในตัวของเเต่ละฝ่าย บวกกับภาระหน้าที่ที่ต้องทำร่วมกัน ดังนั้น การมีชีวิตคู่จะมาพร้อมกับความเหนื่อยกายเหนื่อยใจ ความรู้สึกอึดอัด เเละเสียใจเมื่อความคาดหวังนั้นไม่ได้เป็นไปตามที่เราคิดไว้”
ความเห็นจาก รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในรายการพอดเเคสต์ Open Relstionship ถึงทัศนคติความสัมพันธ์ของคนบางกลุ่มในยุคนี้
บางทีความสัมพันธ์ก็มาพร้อมกับความคาดหวังในรูปแบบของ ‘หน้าที่’ เช่น ถ้าเป็นแฟนฉันเธอต้องทำแบบนี้ เพราะมันเป็นหน้าที่ของคนเป็นแฟน ทำให้บางคนรู้สึกเหนื่อยกับการต้องวิ่งตามความคาดหวังเหล่านี้
แต่ว่าการเป็นโสดก็ไม่ได้หมายความว่าต้องอยู่ตัวคนเดียว หรือตัดขาดจากคนอื่นๆ แบบที่เราคุ้นเคย เพราะการอยู่ตัวคนเดียวในตอนนี้อาจไม่ได้หมายความว่า ‘อยู่คนเดียว’ จริงๆ อีกต่อไป

ในมุมของปนิธิตา การเป็นโสดไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเรื่องน่าเศร้า หรือคนคนนั้นต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวเสมอไป เพราะคนโสดก็มีความสัมพันธ์เเบบอื่นๆ ที่มาตอบสนองความต้องการได้เหมือนกัน เช่น การมีเพศสัมพันธ์เพื่อตอบสนองอารมณ์ทางเพศ หรือหาคนคุยเพื่อให้ตัวเองรู้สึกกระชุ่มกระชวย แต่สิ่งเหล่านี้อพวกเขาอาจไม่ได้ต้องการพัฒนาให้เป็นความจริงจัง แค่มีเพื่อตอบสนองต่ออารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้นและจบไป โดยไม่มีการผูกมัด
นอกจากนี้ เมื่อสังคมเปิดกว้างเรื่องความสัมพันธ์ รูปแบบความสัมพันธ์ที่เมื่อก่อนเคยโดนมองว่าผิด หรือถูกทำให้ไม่มีตัวตน เช่น ความรักระหว่างเพศเดียวกัน ความสัมพันธ์เเบบ open relationship ไม่ใช่เรื่องที่ถูกสังคมกีดกันอีกต่อไป
“ความสัมพันธ์มันเริ่มซอยยิบย่อยขึ้น โดยคนที่อยู่ในความสัมพันธ์พยายามออกแบบมันเอง”
ชลิดาภรณ์ บอกอีกว่า รูปแบบของความสัมพันธ์จะเริ่มเฉพาะตัวมากขึ้นตามความต้องการของแต่ละคน กล่าวคือ พวกเขาไม่ต้องการลงกล่องความสัมพันธ์แบบที่สังคมสร้างไว้ นั่นคือ มีแฟน แต่งงาน สร้างครอบครัวมีลูก แต่คนเลือกออกเเบบให้ตรงกับความต้องการ เเละเงื่อนไขของชีวิต เช่น ความสัมพันธ์แบบ Friends With Benefit (คู่เพื่อนที่เลือกมีความสัมพันธ์อื่นๆ เช่น มีเพศสัมพันธ์ แต่ยังคงสถานะความเป็นเพื่อน) หรือความสัมพันธ์เเบบ One night stand (การมีเพศสัมพันธ์กับคนที่รู้หรือไม่รู้จัก) ฯลฯ

ตัวละครหญิงไม่ใช่ ‘อังศุมาลิน’ อีกต่อไป แต่เป็นจูลี่ที่มุ่งมั่นการชีวิตการทำงาน
มุมมองความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปของคนก็ส่งผลต่อการนำเสนอของสื่อ โดยเฉพาะบทบาทของตัวละครผู้หญิง ปนิธิตา อธิบายว่า ค่านิยมของผู้หญิงสมัยก่อนมักพูดถึงการรักนวลสงวนตัว เป็นเเม่ศรีเรือนอยู่บ้านเลี้ยงลูก เป็นต้น เเต่ยุคสมัยเปลี่ยนไป บริบทของผู้หญิงก็เปลี่ยนตามไปด้วย ‘ความเท่าเทียม’ เป็นจุดยืนของผู้หญิงหลายคนที่พยายามผลักดันให้เกิดขึ้น
“เราว่ากระเเสของเเนวคิดเสรีนิยมทำให้ผู้หญิงสามารถเลือกชีวิตให้ตัวเองได้ โดยที่ไม่ต้องอยู่ในกรอบ ในขนบเดิมอีกต่อไป เรื่องของความสัมพันธ์ก็เหมือนกัน ผู้หญิงสมัยนี้มีสิทธิเลือกหรือออกแบบความสัมพันธ์ของตัวเองได้ เช่น เราเลือกใช้ชีวิตเเบบเป็นคนโสด หรือเเต่งงานเเต่ไม่จดทะเบียนสมรสเพราะอยากใช้คำว่านางสาว หรือเป็นเเม่เลี้ยงเดี่ยวได้ เรื่องพวกนี้ไม่เเปลกอีกต่อไป”
“มันไม่สามารถทำละคร ซีรีส์ หรือนิยาย ในแบบที่ผู้หญิงเป็นแม่ศรีเรือนทำขนมอยู่บ้านเหมือนเป็นอังศุมาลินได้อีกต่อไปเพราะว่าคุณไม่สามารถเจอพระเอกอย่างโกโบริได้อีกแล้ว ผู้หญิงสมัยนี้สามารถเลือกเส้นทางการใช้ชีวิต เเละเส้นทางความรักของตัวเองได้แบบ ‘จูลี่’ จากเรื่อง ‘the worst person in the world’ ”

และการเสพสื่อก็เป็นการตอบสนองต่อความต้องการความสัมพันธ์อย่างหนึ่ง บางคนไม่อยากมีคนรักเอง ก็อาศัยอ่านหนังสือหรือดูซีรีส์ เสพความรักของตัวละครก็รู้สึกว่าตัวเองอิ่มเอมไปด้วย
“เมื่อประเทศนี้มันไม่ได้ทำให้คนพร้อมที่จะมีคู่ ไม่ได้ทำให้คนพร้อมที่จะมีความสัมพันธ์ระยะยาว มันก็เลยทำให้คนต้องการแค่สิ่งที่ชุบชูใจ เช่น พล็อตเรื่องที่มีพระเอกอายุน้อยทำตัวน่ารัก สุภาพอ่อนโยน กับนางเอกรุ่นพี่ เพื่อให้เรารู้สึกว่าหลังจากที่เราเหนื่อยกับการทำงานมาทั้งวัน ก่อนจะนอนขอสักชั่วโมงสองชั่วโมงที่เราจะได้รู้สึกฟิน กระชุ่มกระชวยหัวใจ หรือเขินกับพระเอกรุ่นน้องคนนี้เเทนนางเอก”
ความสัมพันธ์ไม่มีรูปร่าง หรือค่ากลางที่จะบอกว่าความสัมพันธ์ไหนดีที่สุด
แม้ว่า P.S. จะถูกมองว่าเป็นสำนักพิมพ์อันดับต้นๆ ที่นำเสนอหนังสือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ แต่สำหรับปนิธิตาแล้วความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ไม่มีใครควบคุมได้ 100% ไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่สุด แต่ในขณะเดียวกันมันก็ไม่มีผิดหรือถูก แต่เป็นเรื่องที่คนในความสัมพันธ์ต้องหาคำตอบว่าพวกเขาอยากออกแบบสิ่งนี้อย่างไร
“เราคิดว่าอย่างหนึ่งที่คนไม่สามารถจะเป็นได้ คือ ‘กูรูเรื่องความสัมพันธ์’ คุณอาจจะมีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องการลงทุน เศรษฐศาสตร์ หรือการเมืองได้ เเต่ถ้าเป็นเรื่องความสัมพันธ์มันไม่มีค่ากลาง หรือค่ามาตรฐานที่สามารถกำหนดได้ว่าสิ่งนี้คือความสัมพันธ์ที่ดีที่สุด เพราะจิตใจของมนุษย์เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เเละเปราะบาง ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงระหว่างแต่ละคู่ในความสัมพันธ์”
“เรื่องความสัมพันธ์คุณต้องจัดการด้วยตัวเอง หนังสือคู่มือมันช่วยได้แค่ระดับหนึ่ง คุณจะเอามันมาเป็นส่วนหนึ่งในกรณีศึกษาก็ได้ เพียงเเต่ว่าเมื่อคุณมีความสัมพันธ์กับใครสักคน คุณไม่จำเป็นไปกำหนด หรือหาคำตอบให้ตรงตามสิ่งที่คุณได้รู้มาจากคู่มือความรัก เเค่คุณไปทำความเข้าใจถึงความต้องการของตัวคุณเอง และคู่ของคุณ เพื่อปรับความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่ให้มันดีขึ้น”