South Korea's Feminist 4B Movement

“พลังที่แข็งแกร่งที่สุดของผู้หญิง คือ การไม่มีลูก” การสู้กลับของออนนีทำให้เกาหลีใต้มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก

“พลังที่แข็งแกร่งที่สุดของผู้หญิง คือ การไม่มีลูก”

ประโยคนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ เดอะ โคเรีย ไทมส์ (The Korea Times) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาเกาหลีใต้เจ้าใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ข้างล่างมีประโยคสั้นๆ ระบุว่า หน้านี้ของหนังสือพิมพ์มาจากการซื้อโฆษณาซึ่งหนังสือพิมพ์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการคิดคำพูดขึ้นเองแต่อย่างใด

ถึงแม้หนังสือพิมพ์ฉบับนี้จะถูกเผยแพร่ในอเมริกา แต่ประเด็นนี้บินลัดฟ้ามาถึงเกาหลีใต้ เว็บไซต์ข่าวของเกาหลีใต้นำเรื่องนี้มาแชร์ต่อ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ประโยคสั้นๆ ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างความเห็นจากเว็บบอร์ดออนไลน์ของเกาหลีใต้เช่น 

“อย่าหลงเชื่อโฆษณาปลอมๆ การมีลูกเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด หากไม่มีเราไม่มีลูกแล้วมนุษยชาติก็จะพินาศ ผู้หญิงควรได้รับความเคารพและปฏิบัติที่ดีเพราะพวกเธอมีลูก โฆษณานี้เป็นสิ่งบ้าบอที่คนวิกลจริตสร้างขึ้น”

“งั้นพลังของผู้หญิงคือการไปเกณฑ์ทหารซะสิ” 

“ผู้หญิงที่ไม่คิดจะมีลูกก็แค่คนไร้ค่าคนหนึ่ง” 

เพราะ ‘ความเป็นแม่’ มาก่อน ‘ความเป็นคน’ ผู้หญิงในเกาหลีใต้จึงมักถูกบังคับให้แต่งงาน จากนั้นจึงลาออกและกลายมาเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกแบบเต็มตัว ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่คงอยู่และไม่เคยหายไปไหน แต่อัตราของเด็กเกิดใหม่ในประเทศกลับไม่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมนี้ 

อัตราเด็กเกิดใหม่ในเกาหลีใต้มักจะอยู่ในระดับที่ต่ำมาตลอดตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development) ทำการสำรวจอัตราของเด็กเกิดใหม่ทั่วโลก ระบุว่าในปี 2023 นี้ ตัวเลขของเด็กเกิดใหม่ในเกาหลีใต้ตกต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยในปี 2021 อยู่ที่ 0.81% ต่อ 1 ครัวเรือน ปี 2022 อยู่ที่ 0.78% และล่าสุดในปี 2023 ตกลงมาจนถึงแค่ 0.72% นั้นหมายถึง ทุก 2 ครอบครัวจะมีลูกเพียง 1 คนเท่านั้น 

เป็นเพราะเศรษฐกิจหรือเปล่าที่ทำให้คนเกาหลีใต้ไม่อยากมีลูก? คำถามที่หลายคนสงสัย เป็นไปได้ว่านี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนไม่อยากมีลูก เนื่องจากชีวิตเด็กคนหนึ่งต้องใช้เงินมหาศาลในการเลี้ยงดูให้เติบโตล่าสุดในปี 2023 ดัชนีค่าครองชีพของเกาหลีใต้เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าอาหาร ไฟฟ้า และสาธารณูปโภคมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างในปี 2023  เดอะ โชซอน เดลี่ (The Chosun Daily) เผยว่าราคาอาหารเพิ่มขึ้น 5%  ส่วนราคาไฟฟ้าและก๊าซก็เพิ่มขึ้นอีก 20% ในขณะที่ปี 2024 คณะกรรมการค่าแรงขั้นต่ำเกาหลีใต้วางแผนจะปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเพียง 2.5% เท่านั้น

ขณะที่เกาหลีใต้ถูกจัดอยู่ในประเทศที่มีรายได้มั่งคั่งโดย เวิลด์ อีโคโนมิสต์ (World Economics) แถมรัฐบาลเกาหลีใต้ก็มีนโยบายที่สนับสนุนให้คนมีลูกอย่างเต็มที่ ซึ่งทำมาตลอดหลังจากปี 2005 เช่น มีเงินสนับสนุนให้สำหรับเด็กทันทีที่ลืมตาดูโลกจนถึงอายุ 8 ขวบ เป็นจำนวน 29.6 ล้านวอน หรือราว 7 แสนกว่าบาท นอกจากนี้รัฐบาลก็สนับสนุนค่าใช้จ่ายเต็มจำนวนในการเรียนอนุบาลหรือศูนย์ดูแลเด็กให้กับทุกคน และมีนโยบายที่จะยกเว้นการเกณฑ์ทหารให้กับผู้ชายที่มีลูกอย่างน้อย 3 คนก่อนอายุ 30 อีกด้วย 

รัฐบาลเกาหลีใต้ลงทุนไปจำนวนไม่น้อยเพื่อกระตุ้นให้ทุกคนหันมามีลูกกันมากยิ่งขึ้น แต่ความพยายามนั้นยังไม่เป็นผลอัตราการมีลูกกลับน้อยลงกว่าเดิม ฉะนั้นเศรษฐกิจอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้คนมีลูกกันน้อยลง

แล้วคืออะไรกันแน่?

วัฒนธรรมกดขี่ผู้หญิงที่ทำให้คนไม่อยากมีลูก

ฟังดูรุนแรงแต่คือเรื่องจริง ‘ชายเป็นใหญ่’ คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงไม่อยากมีลูก ถ้าใครเคยอ่านหนังสือ ‘คิมจียองเกิดปี 82’ คงจะเข้าใจวัฒนธรรมของผู้ชายและผู้หญิงหลังการแต่งงานได้เป็นอย่างดี หนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับชีวิตของคิมจียอง หญิงสาวธรรมดาที่แต่งงานและมีลูกเหมือนกับคนอื่นๆ แต่แล้วสามีสังเกตได้ว่าพฤติกรรมและนิสัยของเธอดูเปลี่ยนไป จบพบว่าที่ผ่านมาเธอสูญเสียความเป็นตัวเองเพราะเธอเป็นผู้หญิงที่ถูกกดขี่และตกอยู่ในสภาวะต่อรองไม่ได้มาเป็นเวลานาน

“เพราะผู้หญิงทุกคนคือคิมจียอง” ข้อความแรกที่ปรากฏในหนังสือ ชีวิตของเธอไม่ได้แตกต่างไปกว่าใคร เพราะผู้หญิงทุกคนก็คงจะเจอสถานการณ์เดียวกับเธอ

ผู้หญิงคนไหนถ้าคิดจะมีลูกก็ต้องเตรียมใจไว้เลยว่าจะต้องออกจากงานเพื่อมาเป็นแม่บ้าน ภรรยามีหน้าที่ทำงานบ้าน ทั้งเลี้ยงลูก ซักผ้า ล้างจาน ทำกับข้าว และอีกสารพัดอย่างที่ถูกกำหนดว่าเป็นหน้าที่ของภรรยาฝ่ายเดียวแถมพวกเธอยังต้องดูแลตัวเองให้สวยตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เป็นภรรยาที่น่าอายและเพื่อนสามีจะได้ไม่เอาเธอไปนินทาต่อ ส่วนผู้เป็นสามีมีหน้าที่ทำงานหาเงินเข้าบ้านเพียงอย่างเดียว

การกดขี่ทางอำนาจไม่ได้เพียงแต่สร้างความลำบากใจ แต่ลุกลามไปถึงการทำร้ายร่างกาย ผลสำรวจที่จัดทำโดยกระทรวงเพื่อความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัว (Ministry of Gender Equality and Family) เมื่อปี 2016 พบว่าเกาหลีใต้มีปัญหาการทำร้ายร่างกายในครอบครัวสูงถึง 41.6% ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่มีอยู่ 30% นอกจากนี้สายด่วนฉุกเฉินสำหรับผู้หญิง (Korean Women’s Hotline) ได้ให้ข้อมูลว่าในปี 2019 ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากคู่รักมีมากถึง 98% จากเกือบ 10,000 คดีที่พบ 

“ฉันเคยเข้าใจว่าชีวิตแบบนี้มันก็ดี ชีวิตที่ฉันเป็นแม่ของใครบางคน เป็นภรรยาของใครบางคน แต่บางครั้งฉันก็รู้สึกเหมือนตัวเองถูกขังในที่ที่ฉันไม่รู้จักเลย” คำพูดของคิมจียองถึงชีวิตของเธอที่หายไป

ท้ายที่สุดวัฒนธรรมดังกล่าวค่อยๆ กลืนกินตัวตนของพวกเธอให้หายไป จนทุกคนจดจำเธอได้เพียงแค่ในฐานะ ‘แม่’ เท่านั้น  แน่นอนว่ามีหลายคนที่ชื่นชอบวัฒนธรรมนี้ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ในขณะเดียวกันยังมีผู้หญิงอีกหลายคนจำยอมอยู่ภายใต้ภาวะนี้เพราะพวกเธอไม่มีทางเลือกอื่น

ต่อให้เป็นหญิงสาวที่ไม่ได้แต่งงาน ก็ไม่ได้หมายความพวกเธอไม่เจอการกดขี่จากสังคมในรูปแบบอื่น กระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัวเปรียบเทียบรายได้ระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย พบว่าในปี 2022 ผู้หญิงได้ค่าจ้างราว 18,000 วอน (484 บาท) ต่อชั่วโมงในขณะที่ผู้ชายได้ค่าจ้างราว 25,886 วอน (692 บาท) ต่อชั่วโมงซึ่งมากกว่ารายได้ของผู้หญิงถึง 70%

หลังจากที่ผู้หญิงไม่เคยได้รับความเป็นธรรม กระแส #Metoo ในเกาหลีใต้จึงค่อยๆ เข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2018 มีผู้หญิงหลายคนออกมาเปิดเผยว่าพวกเธอพบเจอกับการกดขี่อย่างไรบ้างในขบวนประท้วงที่เกิดขึ้นในโซล มีผู้หญิงเข้าร่วมทั้งหมดราว 200 คนได้ออกมาเล่าเรื่องที่พวกเธอเคยถูกคุกคามทางเพศเป็นเวลาทั้งหมด 2,018 นาที กลางม็อบในปีนั้น

เราอาจตกใจกับระยะเวลาของนาทีที่เรื่องเล่านี้เกิดขึ้นเพราะมันคือราวๆ 33 ชั่วโมง แต่ที่น่าตกใจไปมากกว่านั้นคือ ทุกนาทีเต็มไปด้วยประสบการณ์อันเลวร้ายของผู้หญิงที่พวกเธอต้องเผชิญ

สิ่งที่ตามมาจากกระแสเรียกร้องสิทธิสตรี คือกระแสการต่อต้านแนวคิดเฟมินิสม์ (Feminism) อย่างรุนแรง กลุ่มต่อต้านเฟมินิสม์ในเกาหลีใต้มองว่าผู้หญิงทำเหมือนกับว่าผู้ชายเป็นตัวร้าย ทั้งๆ ที่พวกเขาก็เสียเปรียบจากการเป็นผู้ชายอย่างการต้องเกณฑ์ทหาร ในขณะที่ผู้หญิงไม่ต้องทำอะไรเลยนอกจากเลี้ยงลูก

“เราไม่ได้เกลียดผู้หญิงและเราไม่ได้ต่อต้านการยกระดับสิทธิของพวกเธอ แต่พวกเฟมินิสต์ (Feminist) คือปีศาจ พวกหล่อนคือคนวิกลจริต” เบอินกยู (Bae In-Kyu) หัวหน้ากลุ่ม New Men’s Solidarity กลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในเกาหลีใต้กล่าว

กระแสต่อต้านเฟมินิสต์ไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่บางที่ แต่ขยายไปทั่วประเทศรวมถึงโลกออนไลน์อีกด้วย เหตุการณ์อื้อฉาวของแบคอินกยูคือ การที่เขาแต่งตัวเป็นโจ๊กเกอร์จากหนังเรื่องแบทแมนเพื่อเดินตามขบวนประท้วงของกลุ่มเฟมมินิสต์เกาหลีใต้ และเอาปืนฉีดน้ำไล่ฉีดผู้หญิงที่เข้าร่วม ซึ่งในขณะนั้นก็ไลฟ์ไปด้วยและพบว่ามีคนเข้าร่วมชมและส่งเงินสนับสนุนการกระทำของเขามากถึง 9 ล้านวอน หรือราวๆ 2 แสนบาท จากการไลฟ์เพียงแค่ 3 นาที 

หลังจากที่ ยุนซอกยอล (Yoon Suk Yeol) ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี กระแสการต่อต้านเฟมินิสต์ในเกาหลีใต้ยิ่งแข็งแรงขึ้นเป็นทวีคูณ เขาเสนอให้ยุบกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัว ทั้งๆ ที่กระทรวงนี้ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างความเสมอภาคให้กับคนทุกเพศและพยายามแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่ผู้หญิงเผชิญมาเป็นเวลานาน

“กระทรวงนี้ทำให้ผู้ชายดูเป็นอาชญากรทางเพศ การยุบกระทรวงนี้จะช่วยเสริมสร้างการคุ้มครองทั้งสตรี เด็ก ครอบครัว และผู้ที่มีความเปราะบางในสังคม” ยุนซอกยอลกล่าว

ขบวนการ 4B การเคลื่อนไหวของสตรีที่อยากสู้อีกครั้ง

กระแสเฟมินิสม์ในเกาหลีใต้ยังคงดำเนินต่อเรื่อยๆ ถึงแม้หลายคนในประเทศต่อต้านแนวคิดของพวกเธออยู่  ขบวนการ 4B คือวิธีการหนึ่งที่ใช้ต่อกรกับแนวคิดชายเป็นใหญ่ 4B ย่อมาจาก บี (Bi) ที่แปลว่า ไม่ โดยมีความหมายว่า 4 อย่างที่พวกเธอจะไม่ทำ คือ ไม่แต่งงาน (Bihon) ไม่มีลูก (Bichulsan) ไม่ออกเดท (Biyeonae) และ ไม่มีเซ็กส์ (Bisekseu) ซึ่งเป็น 4 อย่างที่ท้าทายสังคมชายเป็นใหญ่อย่างมาก

สำนักข่าว เดอะ คัท (The Cut) นำเสนอเรื่องราวของ ‘ยองมี (Young-mi)’ พยาบาลสาววัย 25 ปี เหยื่อของความอยุติธรรมเพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิงและตัดสินใจใช้ชีวิตตามแนวคิด 4B

ยองมีอยู่กับพ่อและพี่สาวตั้งแต่เด็ก แม่ของพวกเธอหนีไปเพราะทนไม่ได้ที่สามีหรือพ่อของยองมีทำร้ายร่างกายเธอ ตั้งแต่นั้นมายองมีก็มีแค่พี่สาว และในวัย 5 ขวบ ยองมีรับรู้ได้ว่าพี่สาวอายุ 8 ขวบของเธอเริ่มผมร่วงเนื่องจากมี ‘อาการเครียด’ เมื่อโตขึ้นยองมีก็ไม่ได้มีความสุขกับชีวิตตัวเองเท่าไหร่ เธอไม่ใช่คนที่หน้าตาดีและไม่ใช่คนที่มีฐานะดี พ่อของยองมีกดดันให้เธอทำตัวให้สวยตามบรรทัดฐานความงามตลอดเวลา เพราะนี่เป็นวิธีเดียวที่จะหาผู้ชายมีฐานะมาแต่งงานได้ 

“ฉันรู้สึกกดดันมากที่ต้องทำตัวให้สวยและเป็นที่ต้องการตลอดเวลา” ยองมีเผย เนื่องจากเธอเองก็ไม่ค่อยมีเงินอยู่แล้ว การจะหาซื้อเสื้อผ้าเพื่อรักษาความสวยไว้ตลอดเวลามันทำให้เธอเหนื่อยเหลือเกิน จนบางครั้งเธอก็โทษตัวเองที่เกิดมาเป็นแบบนี้

กระทั่งวันหนึ่งเธอเห็นข่าวการเคลื่อนไหวของกลุ่มสตรีที่ออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ยองมีเริ่มเห็นการต่อต้านระบบบางอย่างที่ทำให้ชีวิตของเธอไม่มีความสุข ระบบที่ว่าคือวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่ฝังรากลึกเป็นเวลานาน ยองมีตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการนี้ เธอเริ่มจากการโกนผมเช่นเดียวกับผู้หญิงคนอื่นๆ เพราะเธออยากปล่อยวาง ไม่อยากถูกบังคับให้ดูสวยเพื่อให้ผู้ชายคนไหนมาสนใจอีกแล้ว

“เรื่องราวเลวร้ายที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่เพราะฉัน” วันนี้ยองมีเข้าใจแล้วว่าระบบชายเป็นใหญ่ต่างหากที่กัดกินชีวิตของเธออยู่

ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องแต่งงาน ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเป็นแม่ สิ่งสำคัญที่พวกเธอพยายามจะสื่อสารกับสังคม พวกเธออยากให้สังคมเกาหลีใต้มองเห็นเสียทีว่าพวกเธอสามารถเป็นอะไรก็ได้โดยไม่ต้องมีใครบังคับ พวกเธอคือมนุษย์คนหนึ่งที่มีความรู้สึกนึกคิดและอยากเดินตามทางชีวิตที่เลือกเอง

หมายเหตุ: ภาพนี้เป็นเพียงภาพประกอบบทความ บุคคลในภาพไม่ใช่คุณยองมี
หมายเหตุ : ภาพนี้เป็นเพียงภาพประกอบบทความ บุคคลในภาพไม่ใช่คุณยองมี

แม้ใครจะว่าเธอเป็นพวกสุดโต่ง แต่ยองมีก็ยังขับเคลื่อนขบวนการนี้ต่อ ท้ายที่สุดมันอาจจะไม่ใช่การที่เราต้องโกนหัว หรือใส่เสื้อผ้าไม่สวย เพื่อประชดประชันแนวคิดชายเป็นใหญ่ แต่มันคือการปล่อยให้ตัวเองมีผมตามที่ตัวเองต้องการ ได้ใส่เสื้อผ้าที่ซื้อมาเพราะเห็นว่ามันเข้ากับตัวเธอเองก็เพียงเท่านั้น

ทุกวันนี้อาจจะยังพูดไม่ได้เต็มปากว่าวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่สลายหายไปจากสังคมเกาหลีใต้แล้วหรือยัง แต่อย่างน้อยเราก็ได้เห็นตัวอย่างของการลุกขึ้นคัดง้างกับระบบที่ไม่เป็นธรรมของผู้หญิง ซึ่งสถานการณ์อัตราการเกิดน้อยลงของเกาหลีใต้คงทำให้คนชาติอื่นและผู้นำในประเทศเองเริ่มมองเห็นแล้วว่า ปัญหาการกดขี่ทางเพศไม่ใช่เรื่องของปัจเจก แต่คือเรื่องของส่วนรวมที่ทุกคนมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน ในฐานะที่ปล่อยให้วัฒนธรรมนี้ฝังรากลึกมาเป็นเวลานาน


อ้างอิง :