ถ้าเศรษฐกิจดี ส่วนสูงเราจะเพิ่มขึ้น : ชาวเกาหลีใต้สูงขึ้น เพราะเลื่อนขั้นจากประเทศรายได้ต่ำ เป็นประเทศพัฒนาแล้ว

วันที่ 1 มิถุนายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น ‘วันดื่มนมโลก (World Milk Day)’ โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO (The Food and Agriculture Organization) เพื่อให้คนได้ตระหนักถึงความสำคัญของนม ในฐานะอาหารที่มีคุณประโยชน์หลากหลาย

ประโยชน์ของนมที่เรารู้จักกันแน่ๆ ก็คือทำให้สูงขึ้น มีงานวิจัยที่นับว่าเป็นชิ้นแรกๆ ทำให้เรารู้ประโยชน์ของนมข้อนี้มีชื่อว่า ผลของการบริโภคนมในเด็กวัยเรียนต่ออัตราการเจริญเติบโต (Influence of Amount of Milk consumption on the rate of growth of school children) เมื่อปี 1928 งานวิจัยชิ้นนี้พบว่า เด็กที่ดื่มนมมีน้ำหนักและส่วนสูงที่เพิ่มขึ้นประมาณ 20% มากกว่าเด็กที่ไม่ได้ดื่มนม 

เหตุผลที่ทำให้เราดื่มนมแล้วสูงขึ้น เป็นเพราะในนมมีแคลเซียม (Calcium) จำนวนมากที่มีส่วนช่วยให้กระดูกแข็งแรง และส่วนสูงที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งปริมาณนม 100 มิลลิลิตร จะมีแคลเซียมอยู่ประมาณ 128 มิลลิกรัม (ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา) นอกจากนี้ยังมีสารอาหารอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อการเติบโต เช่น โปรตีน โพแทสเซียม วิตามินเอ เป็นต้น

แต่การดื่มนมไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้เราสูงได้ ต้องมีการบริโภคอาหารประเภทอื่นๆ เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน เหมาะสมกับการเติบโต มีงานวิจัยที่ชื่อว่า ความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคนมและอัตราเจริญเติบโตในเด็กอายุ 6 เดือน จนถึง 6 ปี (Association between milk consumption and child growth for children aged 6-59 months) พบว่า การดื่มนมช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นภาวะแคระ (Dwarfism) ได้ 1.9% แล้วมีการพบอีกว่า เด็กที่เติบโตในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว สามารถเข้าถึงการบริโภคนมและอาหารที่มีคุณประโยชน์ได้มากกว่าเด็กในพื้นที่อื่นๆ เป็นผลให้เด็กกลุ่มนี้มีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีกว่า

ที่เกาหลีใต้ (South Koreans) ค่าเฉลี่ยส่วนสูงของประชากรเกิดใหม่มีอัตราที่เพิ่มขึ้น โดยในผู้หญิงเพิ่มขึ้น 8 นิ้ว และในผู้ชาย 6 นิ้ว ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญคิดว่ามีผลทำให้ความสูงของประชากรรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

เกาหลีใต้เคยตกอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำเมื่อช่วงปี 1920 จนมาถึงปี 1990 เกาหลีใต้ก็เข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม (industrialized country) ทำให้ค่าจีดีพีต่อประชากรรายคน (GDP Per Capita) ในประเทศจาก 158 ดอลลาร์ (ประมาณ 5,496 บาทไทย) เมื่อปี 1960 เพิ่มขึ้นเป็น 35,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 1,217,440) ในปี 2021 (ข้อมูลจากธนาคารโลก World Bank) 

ปริมาณการบริโภคอาหารของชาวเกาหลีใต้ก็สูงขึ้นด้วย ข้อมูลจากองค์กรอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UN’s Food and Agriculture Organization) เปิดเผยว่า ปริมาณการกินของชาวเกาหลีใต้ในปี 1960 อยู่ที่ 2,100 แคลอรี่ ถือเป็นตัวเลขค่าเฉลี่ยในประเทศที่รายได้ต่ำ แต่ว่าในปี 2013 ปริมาณการกินเพิ่มขึ้นต่อคนประมาณ 1,200 แคลอรี่ นอกจากนี้อัตราการตายของเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปีก็ลดลง ปัจจุบันอยู่ที่ 0.2%

หมายความว่านอกจากพันธุกรรมที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดที่มีผลต่อความสูงแล้ว การอยู่ในประเทศที่เศรษฐกิจดี ก็อาจทำให้ประชาชนมีรายได้ที่เพียงพอและเข้าถึงสารอาหารที่มีประโยชน์ เป็นผลต่อไปถึงคุณภาพชีวิตของประชากรที่เริ่มได้จากการเติบโตที่ดี

กลับมาที่ฝั่งไทยบ้านเรา ภาวะเด็กสูงต่ำกว่าเกณฑ์เป็นสิ่งที่เราเผชิญบ่อยครั้ง อย่างเช่นในปี 2562 กรมอนามัยเปิดเผยข้อมูลว่า มีเด็กวัย 6 – 14 ปีที่มีภาวะเตี้ยประมาณ 8.8% ซึ่งเกณฑ์ที่ประเทศตั้งไว้นั้นพยายามไม่ให้เกิน 5.5% ทำให้กรมอนามัยออกมารณรงค์ด้วยแนวทางการดูแลเด็กๆ เพื่อลดภาวะดังกล่าว คือ การบริโภคนมวันละ 2 แก้ว และกินไข่ 1 ฟองต่อวัน รวมถึงนอนหลับให้เพียงพอ

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็กอายุ 6 – 19 ปีเป็นชุดใหม่ เนื่องจากเกณฑ์เดิมที่ใช้ของปี 2538 ทำให้วิเคราะห์สภาพปัญหาต่ำกว่าความเป็นจริง เช่น เด็กสูงตามเกณฑ์มากเกินจริง เด็กเตี้ยน้อยกว่าความเป็นจริง เด็กอ้วนมากเกินจริง เป็นต้น เกณฑ์ชุดใหม่ที่ทำขึ้นเมื่อปี 2558 จะทำให้เห็นสภาพการเติบโตที่เป็นจริงของเด็กๆ

นพ. สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยผลสำรวจการเจริญเติบโตของเด็กๆ วัย 4 – 19 ปี จำนวน 46,587 คน ที่ทำการเก็บข้อมูลระหว่างปี 2558 – 2562 พบว่า เด็กมีแนวโน้มอ้วนเพิ่มขึ้นเกิน 10% และมีโอกาสกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบโรคอ้วนเช่นกัน ในขณะที่มีอัตราสูงต่ำเกิน 5% ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กสูงลดลง กรมอนามัยคาดการณ์ว่ามาจากการขาดสารอาหารเรื้อรัง โดยเฉพาะธาตุเหล็กที่ทำให้กระดูกไม่แข็งแรง ส่วนสูงลดลง

ความพยายามหนึ่งของภาครัฐ คือ การทำนโยบายนมโรงเรียนที่มีมาตั้งแต่พ.ศ.2535 เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กๆ จะได้รับสารอาหารที่จำเป็น อย่างโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ที่กำหนดว่าเด็กๆ ต้องได้ดื่มนม 260 วันต่อปีการศึกษา

แต่ปัญหานมโรงเรียนก็เป็นสิ่งที่เราได้ยินบ่อยๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นนมบูด หรือบางโรงเรียนที่เด็กๆ ไม่ได้รับแม้กระทั่งนม อย่างเช่นในปี 2565 เป็นปีที่อุตสาหกรรมโคนมเกิดปัญหาหลายอย่าง จนทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเลิกเลี้ยงกันไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้น้ำนมดิบในประเทศขาดแคลนหนัก กระทบกับโครงการนมโรงเรียน มีเด็กหลายพื้นที่ไม่ได้รับนมดังกล่าว เพราะว่าตามระเบียบโครงการนมที่เด็กๆ ดื่มต้องมาจากเกษตรกรในประเทศเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การเจริญเติบโตของเด็กไทยก็ทำให้กรมอนามัยตั้งเป้าหมายว่า จะเพิ่มค่าเฉลี่ยส่วนสูงของประชากรรุ่นใหม่ โดยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2569 คนที่อายุ 19 ปีอย่างผู้ชายจะมีส่วนสูงเฉลี่ย 175 เซนติเมตร และผู้หญิง 162 เซนติเมตร จากค่าเฉลี่ยตอนนี้ที่ผู้ชายสูงเฉลี่ย 170 เซนติเมตร และผู้หญิงสูง 157 เซนติเมตร

หลังจากนี้เราคงมารอดูกันว่า เป้าหมายที่ตั้งไว้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ แต่สิ่งที่ไม่ต้องรอและสามารถทำได้เลยแน่ๆ ก็คือเดินไปหยิบนมมาดื่มแล้วฉลองให้กับวันนี้กัน

สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (The American Academy of Pediatrics) ให้คำแนะนำถึงปริมาณนมที่เด็กๆ ควรดื่มว่า ไม่เกิน 500 มิลลิลิตรต่อวัน รวมถึงควรให้เด็กอายุ 1 ปีขึ้นไปก่อน ถึงจะสามารถเริ่มดื่มนมวัวหรือนมประเภทอื่นๆ ได้ ถ้าอายุยังไม่ถึงแนะนำให้ดื่มนมแม่จะดีที่สุด
อ้างอิง
worldmilkday.org
healthline.com/does-milk-help-you-grow
vox.com/south-koreans-people-getting-taller
thaipost.net/fat-thai-kid
thansettakij.com/trade-agriculture