ไม่มีกลิ่นเหม็นหรือกลิ่นหอม มีเเค่กลิ่นที่ชอบ ไม่ชอบ เเละเฉยๆ เท่านั้น’ เพราะกลิ่นไม่ใช่แค่การรับรู้ แต่คือความรู้สึกปลอดภัย และเป็นพื้นที่ความทรงจำของใครหลายคน : ปัท ปรัชญพร วรนันท์ นักศิลปะบำบัด

บางครั้ง กลิ่นคือตัวแทนของความทรงจำ

เพราะกลิ่นทุกกลิ่นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร  อีกทั้งไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะมองว่ากลิ่นที่คนอื่นชอบไม่เหมาะกับตัวเรา 

“กลิ่นไม่มีผิดหรือถูก มันเป็นเรื่องของรสนิยมของแต่ละคน และไม่ใช่เรื่องผิดที่เราจะไม่ชอบกลิ่นที่คนอื่นชอบ เพราะการเชื่อมโยงระหว่างกลิ่นกับความชอบของเเต่ละคนเป็นปัจเจก” 

‘ปัท’ ปรัชญพร วรนันท์ ในฐานะนักศิลปะบำบัดและเจ้าของ Studio Persona  สตูดิโอที่มีบริการศิลปะบำบัดรายบุคคล Expressive Arts Therapy สำหรับบุคคลทั่วไป เพื่อค้นหาศักยภาพของตนเองในการทำความเข้าใจอารมณ์ ความกังวล ความเครียด รวมถึงทบทวนปัจจัยในการใช้ชีวิตผ่านการสร้างสรรค์ศิลปะที่ไม่เน้นทักษะ เเละยังฝึกการฟังอย่างเข้าอกเข้าใจโดยไม่ตัดสิน บอกว่า ที่กลิ่นหอมของเเต่ละคนไม่เหมือนกัน มาจากรสนิยม ประสบการณ์ เเละสิ่งเเวดล้อมที่เเต่ละคนเติบโตมา

มากกว่าหอมหรือเหม็น ถูกใจหรือไม่ถูกใจ สำหรับปัท กลิ่นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจตัวเองและโลกใบนี้ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการที่จะใช้ชีวิตบนโลกใบนี้อย่างมีความสุข

“กลิ่นเป็นองค์ประกอบหนึ่งของ sensory ประสาทสัมผัสของมนุษย์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เราค้นพบตัวตนบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น ได้ยิน ลิ้มรส กลิ่น เเละการสัมผัส”

ที่ Studio Persona กลิ่นจึงถูกใช้เพื่อเปิดประตูอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง กล้าพูดและสะท้อนสิ่งที่อยู่ในใจออกมาผ่านงานศิลปะเพื่อค้นหาตัวตนและเข้าใจตัวเองมากขึ้น 

Mutual ชวนเปิดประตูค้นหาตัวตนและความทรงจำที่เราอาจหลงลืมผ่านกลิ่น เพราะกลิ่นไม่ใช่เพียงการรับรู้ แต่มันคือความรู้สึกปลอดภัยและความทรงจำที่เราไม่เคยลืม

กลิ่นเเละความทรงจำสัมพันธ์กันอย่างไร

ด่านแรกของการทำงานของกลิ่นและความทรงจำ คือ ทุกลมหายใจเข้าออก

เพราะเมื่อเราดมกลิ่น สมองจะรับรู้แล้วเปลี่ยนกลิ่นนั้นเป็นความทรงจำและความรู้สึก เรียกว่ากลิ่นเป็นตัวปลุกความทรงจำในอดีตที่อาจจางหายไปบ้างให้กลับมา และทำให้รู้ว่ากลิ่นไหนบ่งบอกความเป็นตัวเรา และกลิ่นไหนไม่ใช่

นอกจากการทำงานของสมองจะส่งผลต่ออารมณ์เเละความรู้สึกต่อกลิ่นแล้ว สภาพแวดล้อมก็มีผลต่อความชอบเรื่องกลิ่นด้วยเหมือนกัน

“การที่คนเราจะคิดถึงกลิ่นแต่ละกลิ่นมันมาจากบริบทของแต่ละคนว่าเราอยู่ในสังคมแบบไหน เติบโตในวัฒนธรรมแบบใด หรือเรามีประสบการณ์ รวมถึงเรียนรู้มาแบบไหน เพราะฉะนั้น การรับรู้เรื่องกลิ่นมันก็จะแตกต่างกันตามบริบทสังคมที่เราอยู่ในตอนนั้น” 

ชลิดา คุณาลัย นักออกเเบบกลิ่น อธิบายความสัมพันธ์ของกลิ่นและผู้คนไว้ในรายการพอดแคสต์ ‘ไม่ธรรมดา’ ของ Thai PBS ว่า กลิ่นแต่ละประเทศกลิ่นจะแตกต่างกันตามวัฒนธรรม คนจีนชอบกลิ่นหอมอ่อนๆ คนอินเดียชอบกลิ่นแรงเพราะคุ้นเคยกับกลิ่นเครื่องเทศ หรือคนไทยไม่ชอบกลิ่นเหม็นเขียวจากผัก กลิ่นจึงเป็นเรื่องของปัจเจกแต่ละพื้นที่ และสิ่งเเวดล้อมของแต่ละประเทศ

นอกจากสิ่งเเวดล้อมแล้ว ความทรงจำและประสบการณ์ในอดีตก็ส่งผลต่อการรับรู้เรื่องกลิ่น เจ้าของ Studio persona บอกว่า เมื่อกลิ่นและความทรงจำเชื่อมโยงถึงกัน กลิ่นจึงช่วยสร้างความผ่อนคลายและพื้นที่ปลอดภัย

 “แต่ละคนเชื่อมโยงกับกลิ่นบางอย่างและชอบกลิ่นไม่เหมือนกัน เช่น เครียดๆ ชอบดมกลิ่นน้ำมันเครื่อง เพราะทำให้ผ่อนคลาย แสดงว่ากลิ่นนี้กำลังทำงานอะไรบางอย่างกับคนๆ นั้น อาจจะในรูปแบบของการรับรู้แล้วสร้างความผ่อนคลาย หรือมาจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่ได้กลิ่นน้ำมันเครื่องแล้วชอบ หรือสิ่งแวดล้อมที่เติบโตมาอยู่ใกล้กับอู่ซ่อมรถเลยทำให้กลิ่นที่คนคนนี้ชอบรู้สึกคุ้นเคย และเมื่อได้ดมแล้วรู้สึกปลอดภัย” 

กลิ่นคือประตูที่เปิดไปหา ‘ความทรงจำ’

ความมหัศจรรย์ของร่างกายเรา คือ ไม่ได้มีแต่สมองเท่านั้นที่บันทึกความทรงจำ แต่อวัยวะต่างๆ ก็เก็บสิ่งนี้ไว้ อย่างจมูกของเราที่มีกลิ่นเป็นเหมือนเมมโมรี่การ์ดบันทึกความทรงจำ ไว้ กลิ่นบางกลิ่นที่เราได้ดม อาจดึงความทรงจำบางอย่างขึ้นมา เช่น กลิ่นน้ำหอมนี้ที่ดมแล้วนึกถึงช่วงเวลาที่แม่หวีผมให้ตอนเด็กๆ 

“กลิ่นเป็นประตูที่เราเปิดเข้ามาในตัวเอง ไม่ว่าจะเปิดไปหาคลังความทรงจำในวัยเด็ก กลับไปหาสัมผัสที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัย เป็นภูมิคุ้มกันทางใจของใครหลายคน หรือความสัมพันธ์ที่อยากจดจำ เมื่อเราได้กลิ่นนี้จะนึกถึงเรื่องราวทั้งดีและร้ายที่ผ่านเข้ามาในชีวิต”

“อย่างกลิ่นน้ำหอมเเม่ สำหรับเรามันไม่ได้หอมนะ รู้สึกว่าเชยจะตาย เเต่พอได้กลิ่นน้ำหอมเดียวกันจากคุณป้าที่ยืนข้างหน้า เรากลับคิดถึงเเม่ หรือกลิ่นหนังสือหนึ่งเล่มที่ทำให้เรานึกถึงหนังสือเล่มที่เคยทำหายไป  หรือได้กลิ่นน้ำอบทำให้นึกถึงตอนไปรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ในวันสงกรานต์”

กลิ่นไม่ได้บันทึกแต่ความทรงจำที่เราอยากนึกถึงเท่านั้น บางครั้งก็สามารถเก็บช่วงเวลาที่เราอยากลืมไปด้วย ปัทบอกว่า มีโอกาสที่เราอาจได้กลิ่นที่ทำให้นึกถึงความทรงจำที่ไม่อยากจำ การรู้ข้อมูลตรงนี้จะช่วยป้องกันและหาวิธีรับมือ เมื่อเราอาจมีโอกาสไปสัมผัสกลิ่นนี้โดยไม่ได้ตั้งใจ 

“มีบางคนที่เจอกลิ่นครั้งแรกอาจกระตุ้นความทรงจำที่ไม่ดี แต่พอเจอครั้งถัดๆ ไปก็ไม่เป็นไรแล้วก็มี หรือคนที่ถูกกระตุ้นด้วยกลิ่นบางกลิ่น ทำให้เกิดอาการ เช่น หวาดกลัว ไม่สบายใจ ถ้าอาการมีความรุนแรงมากขึ้น อาจหาทางออกด้วยการบำบัด เพราะการถูกกระตุ้นเสมอๆ จนเกิดเป็นความเครียด ความกลัว หรือความรู้สึกทางลบต่างๆ  อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเรา

“ปัทว่าเราต้องทำความเข้าใจถึงต้นตอประสบการณ์การรับรู้กลิ่นนี้ก่อน ที่มาที่ไปของกลิ่นนี้ในความทรงจำเราคืออะไร หรือว่าเราจะจัดการกับร่างกายให้ปลอดภัยได้ยังไง เมื่อได้กลิ่นๆ นี้ ทำยังไงให้เราไม่ถูกกระตุ้นด้วยกลิ่นนี้อีก ซึ่งการบำบัด คือ การสร้างประสบการณ์ใหม่ที่ปลอดภัย ทำให้เราผ่อนคลายได้มากขึ้น เข้าใจมากขึ้น และปล่อยวางได้มากขึ้น”

กลิ่นของพื้นที่ปลอดภัย

กลิ่นซ่อนอยู่ในหลายๆ ช่วงเวลาของเรา สำหรับปัทการได้กลิ่นชาหรือกาแฟทุกเช้าเป็นสัญญาณที่ดีต่อใจและอาจทำให้วันนั้นทั้งวันเป็นวันที่ดีของเธอ

กลิ่นจึงกลายเป็นการกำหนดหรือพื้นที่เฉพาะของตัวเอง ปัทจะชอบจุดเทียนหอมในบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เธอใช้เวลาบ่อยๆ จะเลือกกลิ่นที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย หรือเป็นกลิ่นที่เคยคุ้นเคย ช่วยสร้างพลังงานดีๆ 

“การได้กลิ่นที่เราชอบในพื้นที่ของเรามันก็คล้ายกับการเปิดเพลงโปรดเดิมๆ ซ้ำๆ เพราะไม่ว่าจะเพลงหรือกลิ่นที่เราชอบ ต่างก็ช่วยสร้างบรรยากาศในการทำกิจกรรมดีขึ้น และยังเป็นการสร้างพื้นที่ที่เรารู้สึกปลอดภัยในการเเสดงความเป็นตัวเองออกมา 

“เราว่ากลิ่นเป็นอีกความหมายหนึ่งของการเชื้อเชิญคนอื่นให้มารู้จักพื้นที่ของเราด้วย อย่างเช่น ถ้าเราจุดเทียนในบ้าน หรือในห้องนอน แล้วเรามีเพื่อนมาหา อาจจะนำไปสู่บทสนทนาใหม่ๆ ได้ เช่น เทียนกลิ่นนี้ซื้อมาจากไหนหอมจัง หรือเทียนกลิ่นอะไรทำไมหอมจัง กลิ่นก็เป็นหนึ่งในคำเชื้อเชิญให้ผู้อื่นรู้จักอาณาเขตของเรา รู้จักพื้นที่ของเรา และรู้จักตัวตนของเราเหมือนกัน” 

กลิ่นของการสื่อสาร และสร้างความสัมพันธ์

ประสาทสัมผัสการดม หรือกลิ่น อาจทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น สิ่งนี้ยังสามารถทำให้เราใช้ไปรู้จักคนอื่นๆ เป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ให้เติบโต 

“ที่ Studio Persona  จะมีการจุดเทียนหอมเป็นส่วนประกอบของกิจกรรมเสมอ เช่น กิจกรรมเเบบกลุ่มเราจะจุดเทียนไว้ตรงกลางวงกลมที่คนทุกคนหันหน้าเข้าหากัน ถ้าเป็นกิจกรรมเดี่ยวก็จะจุดเทียนไว้ที่มุมโต๊ะ เพื่อสื่อสารกับผู้ที่เข้าร่วมว่า เปลวไฟที่ถูกจุดคือแสงสว่างนำทางให้ทุกคนหาทางออกจากปัญหา เป็นเหมือนกับการจุดเเสงเพื่อไล่ความมืดมนในใจ และกลิ่นหอมของเทียนก็ยังช่วยให้บรรยากาศในการทำกิจกรรมดีมากขึ้น คนรู้สึกผ่อนคลายขึ้น”

ตัวปัทเองใช้กลิ่นเป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนาบ่อยครั้ง เช่น เหตุผลที่เธอชอบดื่ม English Breakfast Tea  เพราะชอบความหอมของกลิ่นชา ได้กลิ่นเเล้วทำให้นึกถึงอากาศหนาว หรือยามบ่ายของลอนดอน ทำให้นึกถึงตอนทเรียนที่มีเรื่องราวเต็มไปหมด“ปัทว่าเรื่องราวที่เราแชร์มันก็นำไปสู่การถามคู่สนทนาได้ เช่น ปัทชอบดื่มชากลิ่นนี้เพราะมันทำให้นึกถึงตอนที่ไปเรียนเมืองนอก เเล้วคุณล่ะมีเครื่องดื่มหรือกลิ่นที่ดมเเล้วนึกถึงเรื่องราวเหล่านี้บ้างไหม” 

“กลิ่นเป็นอีกหนึ่งภาษาที่คนเราสื่อสารกันแบบไม่รู้ตัว อย่างการเเชร์เรื่องราวเครื่องดื่มที่ชอบ ผ่านกลิ่นน้ำหอมที่เขาฉีด เราก็จะรู้ว่าคนๆ นี้เป็นคนยังไง เช่น สุขุม หรือขี้เล่น ร่าเริงหรือโลกส่วนตัวสูง ดังนั้นกลิ่นถือเป็นตัวเชื่อมให้เกิดบทสนทนาและเรื่องราวระหว่างคนได้”

สำหรับปัท บนโลกนี้จึงไม่มีกลิ่นที่หอมหรือเหม็น มีแค่กลิ่นที่เราชอบหรือไม่ชอบ ถูกใจ หรือไม่ถูกใจ ซึ่งความชอบในกลิ่นของแต่ละคนก็มาจากหลายเหตุผล อาจมาเรื่องราวของประสบการณ์ และวัฒนธรรมที่เติบโตมาไม่เหมือนกัน มันเป็นเรื่องของรสนิยมเเต่ละบุคคลมากๆ 

“น่าจะดีถ้าเราเคารพการรับกลิ่น หรือกลิ่นที่คนอื่นชอบ เพราะกลิ่นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และจำกัดความยาก เลยไม่ใช่เรื่องแปลก หรือต้องรู้สึกผิด หากเรารู้สึกว่ากลิ่นที่คนอื่นบอกว่าหอม ไม่ได้หอมอย่างที่เขาบอก  เพราะประสบการณ์ และความชอบของคนเราแตกต่างกัน” ปัท ทิ้งท้าย