“สังคมไทยเป็นสังคมกึ่งมหรสพ ทำไมยอดวิวเพลงต่างๆ เยอะ ขณะเดียวกันมันก็ต้องเริ่มตั้งคำถามเรื่องการเพิ่มสวัสดิการของคน เพิ่มวันหยุดพักผ่อนที่ทำให้คนสามารถเข้าถึงความบันเทิงเหล่านี้ได้”
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า สังคมไทยเป็นสังคมกึ่งมหรสพ คนต้องการเสพความบันเทิงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน แต่พวกเขาเลือกใช้หูเสพมากกว่าส่วนอื่นๆ เพราะต้องใช้เวลาไปกับการเรียน การเดินทาง และแบกภาระหนี้สิน ทำให้การดูหนัง หรือซีรีส์สักเรื่องหนึ่ง สำหรับบางคนอาจเลือกฟังสปอยล์มากกว่าการตั้งใจดูความบันเทิงตรงหน้า
“ผมเคยถามลูกศิษย์คนหนึ่งว่า เคยดูซีรีส์เรื่องนี้ไหม เขาบอกว่าไม่มีเวลาดู ต่อให้ดูฟรี เขาก็ไม่มีเวลา เพราะต้องเอาเวลาไปดูแลครอบครัว ทำงานพิเศษหาเงิน ความบันเทิงของซีรีส์ 16 ตอนก็เลยกลายเป็นคลิปสปอยล์ 15 นาทีในยูทูป ซึ่งมันเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากนะ”
“นอกจากสนับสนุน ถ้าอยากให้คนเข้าถึงสื่อต้องทำให้พวกเขามีเวลาและมีเงิน ถ้าคนเมืองต้องใช้เวลากับการเดินทาง ต้องผ่อนรถเป็น 30% ของค่าจ้างของตัวเอง ความบันเทิงต่างๆ ของพวกเขาหมดเลย”
เพราะจริงๆ แล้ว การดูซีรีส์เป็นเรื่องที่ต้องใช้ต้นทุนเพื่อพักผ่อนจากชีวิตที่เร่งรีบและเหนื่อยล้าในแต่ละวัน
“ในเกาหลีใต้ ประชาชนเขายังได้รับค่าจ้างที่สูง ถึงระบบสวัสดิการจะแย่ แม้แต่คนไทยที่ไปทำงานเกาหลีใต้แบบผิดกฎหมายยังได้รับเงินเดือนได้ 70,000 – 80,000 บาทในเรทยุโรป หมายความว่าอย่างน้อยที่สุดคุณก็มีเงิน แล้วพอมีเวลาในการเข้าถึงสื่อ การบริโภค และการใช้ชีวิตต่างๆ ได้”
“แต่สังคมไทย การดูซีรีส์ ดูหนัง เป็นเรื่องที่ต้องใช้ต้นทุน ถ้าเราอยากให้คนเข้าถึงสื่อที่สามารถวิพากษ์สังคมได้ นอกจากการสนับสนุนสื่อเหล่านั้น อีกด้านหนึ่งคือทำให้ผู้บริโภคมีเวลาว่างมากพอ มีเงินมากพอที่จะสามารถใช้ชีวิตแล้วก็เสพสื่อเหล่านี้ได้ด้วย”

เหตุผลที่ทำให้อาจารย์มาดูซีรีส์เกาหลีคืออะไร
จริงๆ ผมเป็นคนที่อยู่ใต้อิทธิพลของ k-wave รุ่นแรกๆ เพราะสนใจเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ แต่ช่วงนั้นยังไม่ได้มีโซเชียลหรือโปรดัคชันซีรีส์ที่หลากหลายเท่าปัจจุบัน พอหมดช่วงเรียนมหาวิทยาลัย เข้าสู่ตลาดแรงงานก็ห่างจากการดูซีรีส์เกาหลีไปจนช่วงโควิดก็กลับเข้าสู่วงการ มีโอกาสกลับมาดูอย่างจริงจังอีกครั้ง เช่น เรื่อง Itaewon Class หรือ Crash Landing on You ประกอบกับเศรษฐกิจการเมืองของเกาหลีใต้เติบโตขึ้นมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เลยทำให้มีผลงานและตอบโจทย์คนบริโภคหลากหลายกลุ่มมากขึ้น
ที่บอกว่าอยู่ใน K-wave ช่วงแรก สิ่งที่อาจารย์ดูเป็นสื่อรูปแบบไหน
ยุคนั้น คือ ช่วงต้น 2000 ที่เราเพิ่งก้าวผ่านยุคการ์ตูนญี่ปุ่น หนังจีน ไต้หวัน ฮ่องกง แล้วค่อยเป็นหนังเกาหลี การจะดูหนังก็ค่อนข้าง luxury สำหรับคนรุ่นใหม่สมัยนั้น เพราะคุณต้องมีเวลาแล้วก็ต้องมีเงิน แล้วยังไม่มีสมาร์ทโฟน แม้กระทั่งในเมือง เราใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อทำงาน ใช้หาข้อมูล แต่การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อความบันเทิงยังถือว่าจำกัด
สำหรับผม ส่วนมากจะเป็นหนังเกาหลีที่ดูอย่างจริงจัง หนังที่ผมดูและชอบ คือ เรื่อง The Classic คนแรกของหัวใจ คนสุดท้ายของชีวิต ถ้าพูดตรงๆ มันก็เป็นหนังน้ำเน่า แต่ก็น่าสนใจ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของวัยรุ่นยุค 1990 -2000 ที่สามารถพูดถึงความรักของหนุ่มสาวอย่างตรงไปตรงมาได้ โดยไม่ถูกมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ ส่วนหนังการเมือง คือ เรื่อง May 18 ตอนปี 2007 ที่พูดถึงเรื่องช่วง uprising ในเดือนพฤษภาของเกาหลี ผมก็ยังเอามาใช้สอนในปัจจุบัน พูดถึงเรื่องการต่อสู้ของประชาชน
อย่างซีรีส์กับเพลงก็ตามบ้าง แต่ไม่ได้ตามทั้งหมด ก็จะมีช่วงที่ดูตามแฟน อย่าง Boys over flower เวอร์ชันเกาหลี ก็ตามดูกันแบบจริงจัง
และสิ่งหนึ่งที่ผมอยากชี้ให้เห็น คือ แม้โปรดัคชัน มุมกล้อง ความคมชัดของภาพ หรือแสง สี เสียงต่างๆ และเทคโนโลยีจะทันยุคสมัย แต่สิ่งที่ก้าวกระโดดอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาของ K-series คือ บทละครที่วิพากษ์และสะท้อนสังคมต่างๆ เยอะมากขึ้น
การวิพากษ์และสะท้อนสังคมผ่านซีรีส์เกาหลี สำหรับอาจารย์มันส่งผลต่อคนดูอย่างไรบ้าง
บางอย่างฟังดูไร้สาระจริงๆ เช่น เรื่องกระแสโอปป้าต่างๆ จำได้ว่าช่วงแรก คนก็วิพากษ์ว่า โอปป้าที่ใจดี อบอุ่นไม่มีจริงในเกาหลี แต่ผมคิดว่าพอคุณสร้างภาพผู้ชายที่ควรจะเป็นขึ้นมา แล้วมันกลายเป็นกระแสหลัก ผู้ชายแย่ๆ ที่ฝังอยู่ในสังคมก็น้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะเขารู้ว่า ถ้าคุณอยากเป็นแบบโอปป้าต้องทำตัวยังไง ต้องไม่ใช้ความรุนแรง หรือไม่บูลลี่ ซึ่งผมคิดว่าพอมาถึงจุดหนึ่งมันก็ทำให้สังคมเข้าใจว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ปกติ แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงตามบริบทการต่อสู้ทางการเมือง
ขณะเดียวกัน หนังบางเรื่องก็สะท้อนว่า จริงอยู่ที่คนรวยในเกาหลียังได้รับอภิสิทธิ์ต่างๆ มากมาย คนมีอำนาจก็คล้ายๆ เมืองไทย แต่มีการผลิตซ้ำค่านิยมว่าต่อให้คุณสูงแค่ไหน แต่ถ้าวันหนึ่งที่กฎหมายเอื้อมไปถึงแล้ว มันก็จะต้องเป็นไปตามบทลงโทษของสังคมในช่วงเวลานั้น ผมคิดว่ามันมีการส่งต่อค่านิยมแบบนี้ แต่มันไม่ได้ส่งผลกับแค่คนนอกประเทศ แต่ส่งผลต่อความคิดของคนเกาหลีเองด้วย

ในมุมหนังอิงประวัติศาสตร์ก็น่าสนใจ เพราะในอดีต คาบสมุทรเกาหลีโดยรวมอ่อนแอทางด้านความมั่นคง อยู่ภายใต้การปกครองของจีน ญี่ปุ่น หรือช่วงสงครามเย็นก็อยู่ภายใต้อิทธิพลของอเมริกา น่าสนใจว่าในหนังประวัติศาสตร์เกาหลี เขาพูดอย่างตรงไปตรงมาในหลายประเด็น ช่วงไหนที่อยู่ภายใต้การปกครองของจีน ถูกญี่ปุ่นคุกคามก็พูดกันตรงๆ โดยพูดถึงความเหลวแหลกของชนชั้นนำในช่วงเวลานั้นซึ่งพูดได้อย่างตรงไปตรงมา ผมว่าก็เป็นมิติที่น่าสนใจ คือคุณสามารถทำให้คนสามารถเข้าใจรากเหง้าของตัวเอง โดยไม่ต้องอวยชาติก็ได้
สำหรับอาจารย์ ทำไมหนังหรือซีรีส์เกาหลีใต้ถึงสามารถพูดได้อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ต้องอวย
ผมว่าเกาหลีใต้ไม่ใช่ประเทศที่ก้าวหน้าด้านการเมือง ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ หรือวัฒนธรรมต่างๆ แต่เป็นประเทศประชาธิปไตย ส่วนหนึ่งมาจากการต่อสู้ทางการเมือง มีการควบรวมเผด็จการ ทำให้กระแสประชาธิปไตย ความยุติธรรม ความเท่าเทียมเพิ่มสูงขึ้น พูดถึงคนตัวเล็กตัวน้อยได้มากขึ้น ส่งผลให้การพูดถึงคนตัวเล็กตัวน้อยมันเป็นกระแสสังคม แมส และป๊อปปูลาร์ เพราะมันเป็นเรื่องที่คนทั่วไปรู้สึก
แล้วถึงแม้หลายอย่างยังแย่ แต่ความสัมพันธ์ของรัฐกับประชาชนในเกาหลีใต้มันค่อนข้างอยู่ในระนาบเดียวกัน ทำให้เวลาพูดถึงประวัติศาสตร์หรือพูดถึงปัญหาสังคมมันสามารถพูดได้อย่างตรงไปตรงมา ยกตัวอย่าง เกาหลีใต้ก็เป็นประเทศที่มีระบบอุปถัมภ์ที่แข็งแรง ความรุนแรงภายในครอบครัว ความรุนแรงของสามีกับภรรยา หรือคู่แฟนกันก็เยอะมาก ซึ่งอันนี้ก็เป็นสิ่งที่คนในสังคม concern แล้วคนผลิตสื่ออยากเปลี่ยนแปลงเรื่องเหล่านี้
แต่ประเทศไทย เราถูกปกครองด้วยเผด็จการและชนชั้นนำก็ครองอำนาจ ดังนั้นการที่จะทำให้คนผลิตสื่อหรือภาพยนตร์อยู่รอดได้ ก็คือการอวยชนชั้นนำ เพราะชนชั้นนำช่วยโปรโมท มีตั๋วฟรี แล้วถ้าคุณทำหนังหรือสื่อที่อวยชนชั้นนำ คุณก็จะสามารถขอทุนจากองค์กรต่างๆ ได้
ขณะเดียวกัน ซีรีส์ไม่ได้แค่สะท้อนสังคม แต่มันพูดถึงสวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่ดี ในฐานะคนที่สนใจเศรษฐศาสตร์การเมือง อาจารย์มองเห็นอะไรผ่านซีรีส์เกาหลีบ้าง
ในมุมส่วนตัว ถ้าพูดถึงสวัสดิการของเกาหลีใต้ ผมไม่ซื้อโมเดลนี้เลย เป็นโมเดลที่แย่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา ผู้สูงอายุ หรือคนทำงาน เกาหลีใต้ใช้ฐานคิดเดียวกับสหรัฐอเมริกา คือ รับผิดชอบตัวเอง แต่อาจจะมีบางอย่างที่ดีกว่า เพราะมีการต่อสู้ของกลุ่มคน เช่น สหภาพแรงงานที่อาจจะเข้มแข็งกว่าในอเมริกา
แต่แน่นอนว่า โครงสร้างพื้นฐานดีกว่าไทย เพราะเกาหลีใต้มีกลไกการกระจายอำนาจ การเมืองท้องถิ่นยังตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ ในไทยนายกเทศมนตรีหรือนายกอบต. มีอำนาจจำกัด แต่ถ้าดูซีรีส์เกาหลีจะเห็นว่าตัวละครที่เป็นนายกเทศมนตรีเขาดู powerful มาก มีบทบาทสำคัญ มีอำนาจ มีงบประมาณ เลยสะท้อนว่า ทำไมโครงสร้างพื้นฐานในเกาหลีใต้มันดี
แต่ก็ยังมีข้อควรวิพากษ์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น Parasite หรือ Squid Game ก็สะท้อนให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำในเกาหลีใต้ก็ถึงขั้นวิกฤติเหมือนกัน

แม้ว่าจะไม่ดี แต่การสะท้อนออกมาบอกอะไรเราบ้าง
มองได้สองด้าน ถ้ามองด้านด้านสื่อก็จะมองว่า มันเป็น commercialize อย่างเรื่อง Parasite หรือ Squid Game มันคือการขายความเหลื่อมล้ำ แต่สำหรับผมที่ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง มองว่า การสะท้อนปัญหาก็ยังดีกว่าไม่สะท้อนเลยเพราะมันทำให้เห็นว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ปกติ แล้วมันจะทำให้ชนชั้นนำละอาย และรู้สึกผิดกับสถานะของตัวเอง
ถ้าในหนังไทย มันจะมีการอวย แล้วทำให้ชนชั้นนำรู้สึกว่าสถานะของเขาเป็นสถานะที่ปกติ แต่ในเกาหลีใต้ คนอาจจะบอกว่ามันเป็นแค่หนังหรือซีรีส์ที่ทำมาขายให้ชนชั้นล่างหรือฝ่ายซ้ายรู้สึกฟิน แต่สำหรับผม มันมีผลต่อการสื่อสารกับสังคมว่า สิ่งที่ทำมันไม่จบแค่นั้นหรอก ทำให้ชนชั้นนำรู้สึกว่ามีบางอย่างที่เขาไม่สามารถข้ามเส้นไปทำได้
การที่ซีรีส์เข้ามาจุดประกายความคิด ถูกนำประเด็นมาถกเถียง มันสามารถทำให้เราตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้มากขึ้นไหม
มันคงไม่ได้เป็นสมการขนาดนั้น บางทีการถกเถียงก็จบแค่ตรงนั้น แต่ว่าบางครั้งมันเป็นแรงบันดาลใจการต่อสู้และการตั้งคำถามหรืออีกด้านที่เราอาจจะเห็นจากภาพยนตร์เกาหลีใต้ก็เป็นกระแส give up ในเกาหลีใต้ เป็นกระแสช่างแม่ง เลิกเก็บเงิน เลิกมีลูกมีครอบครัว รุนแรงถึงขั้นเลิกที่จะมีชีวิต เพราะว่าสังคมมันแย่เกินไป ซึ่งหลังๆ ผมเห็นว่าทางเกาหลีใต้ก็มองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ ไม่ทำให้ตอนจบมันดาร์กเกินไป เรียนรู้มากขึ้น ไม่จบด้วยภาพที่ดู hopeless เกินไป
แล้วถ้ามองย้อนกลับมาในประเทศไทย อาจารย์คิดว่าควรเริ่มต้นจากสื่อบันเทิงรูปแบบไหนเพื่อให้คนในสังคมตั้งคำถามในอนาคต
นักวิชาการอาจจะบอกว่าซีรีส์กับหนังแตกต่างจากหนังสือหรือจดหมายเหตุ เพราะหนังสือจะถูกเอามาอ่านซ้ำได้ง่ายกว่า การดูหนังเรื่องหนึ่งที่ในชีวิตเราอาจจะไม่ได้ดูหนังเรื่องนั้นซ้ำอีกเลย แต่ผมคิดว่าหนังกับซีรีส์ก็เหมือนกับจดหมายเหตุของสังคมในช่วงเวลานั้น
จริงๆ แล้ว สังคมไทยเป็นสังคมกึ่งมหรสพ ทำไมยอดยูทูปวิวเพลงต่างๆ ถึงเยอะ ด้านหนึ่งเราใช้หูมากกว่าใช้ตา ผมลองวิเคราะห์ในแง่สื่ออาจจะต้องเริ่มต้นที่เพลงก่อน ขณะเดียวกันมันก็ต้องเริ่มตั้งคำถามเรื่องการเพิ่มสวัสดิการของคน เพิ่มวันหยุดพักผ่อนของคนที่ทำให้คนสามารถเข้าถึงความบันเทิงเหล่านี้ได้ ถ้าคนเมืองต้องใช้เวลากับการเดินทางมากมาย ต้องผ่อนรถเป็น 30% ของค่าจ้างของตัวเอง ความบันเทิงต่างๆ ของเราหมดเลย
เพราะสังคมไทย การดูซีรีส์ ดูหนัง เป็นเรื่องที่ต้องใช้ต้นทุน ผมเคยถามลูกศิษย์คนหนึ่งว่า เคยดูซีรีส์เรื่องนี้ไหม เขาบอกว่าไม่มีเวลาดู ต่อให้ดูฟรี เขาก็ไม่มีเวลา เพราะต้องเอาเวลาไปดูแลครอบครัว ทำงานพิเศษหาเงิน ความบันเทิงของซีรีส์ 16 ตอนก็เลยกลายเป็นคลิปสปอยล์ 15 นาทีในยูทูป ซึ่งมันเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากนะ
ส่วนของเกาหลี ประชาชนเขายังได้รับค่าจ้างที่สูง ถึงระบบสวัสดิการจะแย่ แม้แต่อคนไทยที่ไปทำงานเกาหลีใต้แบบผิดกฎหมายยังได้รับเงินเดือน70,000 – 80,000 บาทในเรทยุโรป หมายความว่าอย่างน้อยที่สุดคุณก็มีเงิน แล้วพอมีเวลาในการเข้าถึงสื่อ การบริโภค และการใช้ชีวิตต่างๆ ได้
สำหรับสังคมไทย ถ้าเราอยากให้เข้าถึงสื่อที่สามารถวิพากษ์สังคมได้ นอกจากการสนับสนุนสื่อเหล่านั้น อีกด้านหนึ่งคือทำให้ผู้บริโภคมีเวลาว่างมากพอ มีเงินมากพอที่จะสามารถใช้ชีวิตแล้วก็เสพสื่อเหล่านี้ได้ด้วย

ถ้าคนเข้าถึงสื่อได้จริงๆ อาจารย์คิดว่า best case ที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร
ผมคิดว่าปัญหาของทุกวันนี้ เราถูกกดด้วยเศรษฐกิจมากๆ ทำให้ทางเลือกในสังคมและเส้นทางชีวิตถูกจำกัดไป ผมคิดว่า เมื่อคนเข้าถึงสื่อ best case มันอาจจะไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่โต แต่มันจะทำให้คนจินตนาการและมีความคิดทางสังคมที่หลากหลากหลาย ตั้งคำถาม คิดถึงทางเลือกใหม่ๆ ของชีวิต เริ่มทำธุรกิจ เปลี่ยนงาน เข้าถึงกลุ่มอาชีพใหม่ๆ มากขึ้น รวมถึงการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่กลุ่มตัวเองในการที่เขาจะออกจากเส้นความปกติที่เคยมีมา
เกาหลีใต้ก็พยายามทำแบบนี้อยู่ จะเห็นว่ามีซีรีส์ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นผู้ประกอบการ ทำให้คนเห็นเส้นทางการเป็นผู้ประกอบการ ตั้งคำถามกับทุนผูกขาด ใช้ดาราตัวท็อปมาเล่น เช่น Start up หรือ Itaewon Class ผมคิดว่ามันสร้างทางเลือกให้คนรุ่นใหม่ที่มาดูเยอะขึ้น
และที่สำคัญ ผมสังเกตว่าซีรีส์เกาหลีมักจะเล่าเรื่องของคนวัย 30 กลางๆ อย่าง Hometown Cha Cha Cha , Itaewon Class หรือ Start up ก็เป็นการตั้งคำถามว่า ชีวิตที่ผ่านมาเราเผชิญอะไรบ้าง ชีวิตเราควรมีทางเลือกเยอะกว่านี้หรือเปล่า หรือทบทวนสิ่งที่สำคัญกับชีวิตตัวเอง ไม่ใช่แค่ทำขึ้นมาเพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ดูอย่างเดียว
แต่นั่นแหละ ในสังคมไทย เราไม่มีเวลาที่จะย่อยสารหรือเสพสิ่งเหล่านี้ได้ ทำยังไงให้คนสามารถเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้
อย่างที่อาจารย์บอกว่า ซีรีส์เกาหลีเลือกจะเล่าเรื่องผ่านคนวัย 30 กลางๆ ที่ตั้งคำถามกับชีวิตหรือคนเปราะบางในสังคมได้อย่างตรงไปตรงมา แต่ละครไทยจะเล่าถึงคนวัย 30 กลางๆ ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต มันเกี่ยวข้องกับบริบทสังคมที่แตกต่างกันด้วยไหม
บริบทไทยก็คล้ายกับบริบทของหนังอินเดีย ทำให้พล็อตคล้ายกัน แต่นำเสนอต่างกัน เพื่อนที่ไปเรียนต่อในอินเดียเคยเล่าให้ฟังว่า หนังอินเดียเรื่องหนึ่งเป็นหนังอาร์ท มีปรัชญาลึกซึ้ง แล้วตอนจบหักมุมแบบดาร์คๆ คนดูไม่พอใจเผาโรงหนัง พวกเขาบอกว่า ชีวิตฉันก็แย่พอแล้ว อยากดูหนังที่มันฟีลกู๊ด ไม่โหดร้ายเกินไป
ในประเทศไทย ผมคิดว่าเราก็ยังต้องการหนังที่สะท้อนให้เห็นว่า ชีวิตฉันก็แย่อยู่แล้ว ฉันอยากดูชีวิตของคนรวยบ้าง เหมือนเวลาเราดูยูทูปคนพาไปเที่ยว เที่ยวแบบที่ตัวเองไม่สามารถจะเที่ยวได้ หนังไทยก็เป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นเวลาเลือกพล็อต พล็อต cinderella story พล็อตที่ตัวเองเคยลำบากตอนต้น และได้รับความโชคดีจากการแต่งงานหรือความสวยแล้วทำให้ตัวเองพ้นออกมาได้ก็เป็นสิ่งที่คิดว่าสังคมก็อาจจะยัง enjoy กับเรื่องเหล่านี้

ที่คนไทยยังชอบการดูความสำเร็จของตัวละครเป็นเพราะเราต้องการหนีความจริง มันเป็นแบบนั้นไหม
ผมว่าฟังก์ชันของหนังคือการหนีจากความจริง แต่เป็นความจริงคนละแบบ เช่น ความจริงของการสยบยอม ดูในหนังแล้วชนะ เช่น Itaewon Class ชังกาก็เหมือนฮุนได ซัมซุง ในความจริงทุนผูกขาดของเกาหลีใหญ่มาก คุณเอาชนะไม่ได้หรอก แต่หนังบอกว่าคุณสามารถทำได้ ถ้าวางแผนดีพอ มุ่งมั่นพอ แล้วก็มีคนที่ซัพพอร์ทดีพอ
ในสังคมไทยอาจจะไม่ถึงขั้นถวิลหาการต่อสู้ การเอาชนะ แต่ถวิลหาว่าธรรมะย่อมชนะอธรรม เพราะมันก็มีค่านิยมทางศาสนา ทำดีได้ดี คนดีตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ขอแค่คุณเป็นคนดี ประหยัด อดออม บวกพอเพียงแล้วคุณก็จะมีชีวิตที่ดีซึ่งต่างจากเกาหลี เกาหลีคือคุณต้องต่อสู้ถึงจะได้รับโอกาส อาจจะพ่ายแพ้ก็ได้ แต่ในหนังก็อาจจะบอกว่าสู้แล้วชนะ
ขณะที่บทละครไทยยังอยู่แค่การเอาละครเก่ามารีเมค แต่เทรนด์ของซีรีส์เกาหลีมันเป็นการดัดแปลงมาจากสื่อออื่น เช่น เว็บตูน อะไรคืออุปสรรคที่ทำให้ไทยยังสื่อสารประเด็นสังคมและความหลากหลายได้ไม่เต็มที่
ด้านหนึ่งผมคิดว่าละครไทยยังมีช่องว่างเรื่องศีลธรรม เรื่องบาปบุญ บางเรื่องคุณไม่สามารถเอามาทำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ มันก็จะกลายเป็นแค่กลุ่มเฉพาะ ตัวละครมีอาชีพไฮโซ มีลูกนายพล โดยไม่ต้องตั้งคำถามว่า คนนี้ทำงานและธุรกิจอะไร แต่เกาหลี เขาเล่าภาพคนทำงานอาชีพต่างๆ มีการทำงาน มี career path แล้วก็มีหลายเรื่องที่วิพากษ์สังคม ศีลธรรม หรือบางสถาบันอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัว องค์กรธุรกิจ หรือว่าองค์กรทางการเมือง เขาทำได้กว้างขวางและดูเรียล ดูสนุก และเป็นเรื่องของทุกคน
แต่เราก็เห็นความพยายามของคนทำสื่อไทยที่ซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์เกาหลีมาผลิตใหม่ อาจารย์เคยดูบ้างไหม
ผมไม่ได้ดูแบบจริงจัง แต่ผมคิดว่าเหตุผลที่พอมาทำใหม่ในไทยแล้วมันไม่ค่อย relate เป็นเพราะซีรีส์มีบริบทของเกาหลี เช่น การรอคอย อดทน ความเชื่อที่ชีวิตคนเราไม่ได้สมหวังทุกอย่าง แต่การเอามาทำใหม่ก็ต้องคำนึงถึงสังคมไทยด้วย กล่าวได้ว่า pain point ของคนไทยและคนเกาหลีต่างกัน อย่างคนไทยสามารถ make fun กับ pain point ของตัวเองได้
คนไทยสามารถนำปัญหาของตัวเองมา make fun ได้ ซึ่งต่างจากเกาหลี อาจารย์คิดว่ามันเกิดจากอะไร

ผมว่ามุกตลกที่ปรากฏอยู่ในสื่อมันก็ซับซ้อนตามแต่ละสังคมว่าคนเราจะขำกับเรื่องอะไร จากที่ดูหนังเกาหลีมาผมคิดว่าความตลกของเขามาจากการ make fun หรือล้อเลียนชนชั้นนำ เช่น ฉายภาพชนชั้นนำที่มีมุมงี่เง่า มุมเฮงซวย ก็จะเป็นฉาก comedy ของเขา แต่ว่าของคนไทยมันต่างกัน ความตลกของเรามาจากการ make fun ชนชั้นล่าง เช่น ตลกเด็กที่ทำพฤติกรรมเปิ่นๆ ดูตลกๆ เราจะมีคำว่าเกรียนคำว่าติ่งขึ้นมาเพื่อจะด้อยค่าเด็กหรือคนที่มีอำนาจน้อยกว่า แล้วมันดูเป็นเรื่องปกติที่เราจะ make fun สิ่งเหล่านี้
แล้วการ make fun ได้หรือไม่ได้ ส่งผลต่อแนวคิดของคนทำสื่อด้วยไหม
ส่งผลนะ ยกตัวอย่างหนังป๊าด 888 แรงทะลุนรก แสดงโดยแจ๊ส ชวนชื่น ก็จะมีการล้อเลียนปัญหาในชีวิตของคนในเรื่อง เช่น เเจ๊สคุยกับจิ๊กโก๋ ฝั่งหนึ่งบอกว่าพ่อตนเองเป็นตำรวจ แต่อีกฝั่งบอกว่าพ่อตัวเองเป็นมะเร็ง แต่ถ้าเป็นหนังเกาหลีเรื่องเหล่านี้จะถูกนำเสนอในมุมมองของซีเรียสและความเศร้า มันไม่สามารถ make fun ได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะบริบทของสังคมประเทศนั้นๆ ด้วย
ในตอนนี้ การสะท้อนสังคมผ่านสื่อบันเทิงเกาหลี ไม่ได้มีแค่ละคร แต่รวมถึงเพลงและวาไรตี้ที่อยู่ในช่องโทรทัศน์หลัก แต่ของไทย เราต้องไปดูรายการเหล่านี้ที่ช่อง youtube การที่คนเกาหลีเข้าถึงสื่อได้หลายรูปแบบ แค่เปิดโทรทัศน์สะท้อนอะไรบ้าง
ถ้าเจาะไปเรื่องทีวี ธุรกิจทีวีไทย แม้จะเปลี่ยนผ่านเป็นระบบดิจิตอลก็ยังมีเรื่องผูกขาดและอุปถัมภ์เยอะอยู่ทีเดียว ยังไม่ได้เปิดกว้างพอที่จะทำให้สิ่งใหม่ๆ จะแทรกตัวเข้าไปได้ หลังๆ ไม่รู้ว่าพัฒนาขึ้นหรือแย่ลง ละครไทยเป็นมิติใหม่ ตบจริง ด่าจริง ไม่เซนเซอร์ให้ดูเรียลมากขึ้น พูดเรื่องเซ็กส์มากขึ้น แต่พล็อตอื่นๆ มันก็ยังเหมือนเดิม
ผมคิดว่าการเซ็นเซอร์ 2 ด้าน ก็คือจากรัฐที่เซ็นเซอร์ผ่านเรื่องระบบสัมปทาน ระบบการควบคุม เซนเซอร์อีกด้านหนึ่ง คือ
เซ็นเซอร์ผ่านกลไกการตลาด ผมคิดว่าพอลงทุนสูง การที่จะไปทำอะไรที่แหวกแนวก็เป็นอะไรที่ค่อนข้างท้าทายต่อกลไกตลาดเหมือนกัน แต่ว่าของเกาหลีการ support สตาร์ทอัพมันเยอะ แล้วฐานคนดูก็หลากหลายและกว้างกว่าไทยเยอะ
คิดว่าทีวีมันคือสื่อบันเทิงกระแสหลักของคนดู แต่ปัญหาทุกวันนี้ คือ เราเปิดโทรทัศน์ แต่ไม่มีอะไรให้ดู สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมันบอกอะไรบ้าง
ด้านหนึ่งคือการที่คุณภาพ content มันดรอปลงซึ่งมันก็เป็นภาพสะท้อนของสังคมด้วยเช่น เราอยู่ในสังคมที่สืบทอดอำนาจมาเกือบ 10 ปี การวิเคราะห์ข่าวที่มีคุณภาพมันก็มีเพดาน ในเรื่องสื่อบันเทิงเช่นกัน เมื่อสังคมมันมีเพดาน ไม่ว่าจะเป็นเพดานด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ หรือจารีตต่างๆ กลุ่มทุนบ้านเราก็ยังเป็นกลุ่มทุนเครือข่ายอุปถัมภ์ เป็นกลุ่มทุนเดิม ถ้าเทียบกับกลุ่มทุนเกาหลีใต้จะเป็นกลุ่มทุนที่มาพร้อมกับสตาร์ทอัพใหม่ๆ และพร้อมจะซัพพอร์ต
แต่ถ้าเรานึกถึงกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในบ้านเรา เขากล้าวิพากษ์วิจารณ์สังคมมากน้อยแค่ไหนเลยเป็นปัญหาที่ทำให้ทีวีบ้านเราไม่มีอะไรให้ดู ทั้งๆที่มันก็ยังเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่ใช้สื่อสารกับผู้คนและราคาถูก

ในยุคที่เราพูดถึงความหลากหลายมีมากขึ้น สื่อบันเทิงกำลังทำหน้าที่อะไรในสังคม
ผมว่ามันก็กำลังทำหน้าที่ shape ความสัมพันธ์และความเข้าใจใหม่ๆ แต่ว่ามันอาจจะไม่ได้ทำหน้าที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างที่เราคาดหวัง แต่มันมีอิทธิพลแน่นอน จำได้ว่าช่วง 2563-2565 เราพบว่าศิลปินดารารุ่นใหม่ที่แสดงจุดยืนทางการเมืองก็กลายเป็นไอดอล ผมมองว่ามันเป็นการกระเถิบเส้นปกติใหม่ของการแสดงความคิดเห็น
ปกติซีรีส์กับสังคมมันต้องไปพร้อมกัน เพราะการทำซีรีส์ ละครหรือเพลงเป็นการสื่อสารกับคนหมู่มาก แต่ผมคิดว่าถ้าในบริบทสังคมไทยละครหรือเพลงยังไม่ก้าวหน้ามาก แต่สังคมก้าวหน้าไปไกลแล้ว ตอนจบของละครไทยตัวร้ายก็ยังโดนข่มขืน เป็นโรคร้าย เป็นภาพเดิมๆ แต่สังคมไทยมันก้าวหน้าไปแล้ว เช่น เรื่องบูลลี่ ยอมรับว่าการพูดถึงคนบางกลุ่มเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
แต่ผมก็ยังแอบเห็นในซีรีส์หรือละครไทยก็ยังเล่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ เช่น ปลอมตัวเป็นคนใช้แล้วทาผิวสีดำหรือพูดสำเนียงเหน่อๆหรือต้องมาจากภาคอีสาน ซึ่งมันเป็นค่านิยมที่เก่ามาก ถ้าเป็นอเมริกาคือยุค 1950 ซึ่งมันคือ 70 กว่าปีที่แล้ว แต่ประเทศไทยก็ยังมีอะไรแบบนี้อยู่
ผมคิดว่าสื่อยังทำหน้าที่ของตัวเองได้ไม่เต็มที่ จำเป็นต้องกระตุ้นฝั่งผลิตหรือฝั่งให้ทุนว่า สื่อบันเทิงมันไม่ใช่เรื่องแค่ marketing หรือการขายเท่านั้น แต่คุณต้องคิดถึงการทำสื่อที่ไม่ใช่แค่การสะท้อนสังคม แต่คาดหวังถึงการเปลี่ยนแปลงด้วย
ถ้าสื่อกับสังคมวิ่งทันกันจะเป็นอย่างไร
ถ้าสื่อกับสังคมวิ่งทันกันอาจนำไปสู่การสื่อสารของคนในวงกว้างมากขึ้น เช่น กระแสเรื่องคำว่า ‘ชายแท้’ ซึ่งตอนนี้กลายเป็นคำด่าไปแล้ว สังคมไทยก้าวกระโดดมาก คำว่าชายแท้ แต่ก่อนทำตัวเป็นพวกผู้ชาย ชายชาตรี มันคือคำชม แมนๆ ผู้ชายเตะบอลกัน แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ ชายแท้เป็นคำด่าหรือคำเสียดสีไปแล้ว ถ้าถึงจุดหนึ่งซีรีส์ทันเรื่องนี้และมองว่าการผลิตซ้ำความเป็น masculinity เป็นปัญหา ทำให้ความคิดเหล่านี้ที่เป็นต้นตอของปัญหาหลายๆ อย่าง เช่น ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การใช้อาวุธปืนการทะเลาะวิวาท มันก็มาจากปัญหาพวกนี้
ถ้าสมมติว่าสื่อกับสังคมมันทันกัน ผมเชื่อว่าปัญหาที่มันเคยเป็นปัญหาสังคมที่มันเกิดขึ้นจากการผลิตซ้ำก็จะหายไปด้วยเช่นกัน