“เรากลัวตัวเองจะรับไม่ได้ ถ้าบอกชอบไปแล้วเขาบอกว่าไม่อยากคบกับเราเพราะเราพิการ จุดนี้แหละที่ทำให้เรากังวลและรู้สึกอึดอัดจนทำให้เราไม่กล้าพูดออกไปให้เขารู้”
ความรู้สึกของ ออม – รณภัฎ วงศ์ภา เจ้าหน้าที่รณรงค์และพิทักษ์สิทธิคนพิการ ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการพุทธมณฑล
จุดเปลี่ยนของออมเริ่มจากอุบัติเหตุโดนยิงที่หลัง ทำให้ร่างกายของเขาตั้งแต่เอวลงไปไม่สามารถขยับได้ วีลแชร์ก็กลายมาเป็นเพื่อนข้างกายออมตั้งแต่ตอนนั้น
อุบัติเหตุในครั้งนั้นเปลี่ยนชีวิตออมหลายอย่าง ตั้งแต่การใช้ชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการสร้างความสัมพันธ์ และการมี ‘ความรัก’

ปรับตัวเป็นเรื่องที่ออมต้องรับมือ และความยากของสิ่งนี้อยู่ที่ทัศนคติสังคมที่มีต่อคนพิการ ความแตกต่างที่มี บางครั้งถูกมองว่าเป็นข้อจำกัดในชีวิตที่จำเป็นต้องมีคนช่วยดูแล การ ‘ดูแล’ อาจขยายไปถึงการจัดสรรและกำหนดวิถีชีวิตให้คนพิการ
และสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งสาธารณะและสถานที่ต่างๆ ก็ไม่เอื้อต่อคนพิการ รถเมล์ที่น้อยคันจะมีทางลาดสำหรับวีลแชร์ หรือฟุตบาธบางที่ก็ไม่มีทางเดินสำหรับคนตาบอด สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคในการออกไปใช้ชีวิตของคนพิการ โลกของบางคนถูกจำกัดแค่ในบ้าน
ในทางกลับกัน สิ่งอำนวยความสะดวก หรือสิ่งที่ช่วยทดแทนก็ค่อยๆ เกิดขึ้น เช่น แอปพลิเคชันหาคู่ สำหรับคนที่ไม่มีเวลาหรือออกไปข้างนอกไม่ได้ และดูเป็นเหมือนหนึ่งในตัวช่วยสำหรับคนพิการในการมองหาคนรัก สำหรับออมมองว่า แอปหาคู่เป็นเครื่องมือช่วยให้คนเข้าถึงกันง่ายขึ้น แต่สิ่งสำคัญของการสร้างความสัมพันธ์ คือ การได้ทำกิจกรรม และได้ใช้เวลาร่วมกัน ซึ่งแอปพลิเคชันอาจไม่สามารถทำได้
เพราะสำหรับออม การออกไปใช้ชีวิตข้างนอกหรือใช้ชีวิตที่เราเป็นเจ้าของ เป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด และธรรมชาติของการเป็นมนุษย์ ความแตกต่างที่เกิดขึ้นไม่ควรเป็นอุปสรรคหรือกีดกันไม่ให้พวกเขาได้รับสิ่งนี้
บทสนทนาต่อไปนี้ ไม่ต้องนั่งวีลแชร์เหมือนกันก็สามารถรับรู้ได้ว่าการมีชีวิตที่อิสระสำคัญอย่างไรต่อคนคนหนึ่ง และถ้าความรักเป็นเรื่องปกติ ความพิการก็เช่นกัน
หลังจากที่เกิดอุบัติเหตุ คุณมีวิธีรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง
ช่วงแรกๆ เราคิดอย่างเดียวว่าจะกลับไปใช้ชีวิตยังไง จากคนที่เดินได้แต่ตอนนี้ต้องมานั่งวีลแชร์ มันคิดภาพไม่ออกเลย สองปีเราใช้ชีวิตแต่ในบ้าน จนเราได้รู้จักกับศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการพุทธมณฑล ที่ทำให้เราสนใจ เพราะได้เห็นคนที่พิการมากกว่าเรา เขาสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างอิสระ เราก็เลยตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมกับศูนย์ เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิด ‘ชีวิตอิสระ’ ซึ่งเราว่ามันดีมากนะ ทำให้เรากล้าออกมาใช้ชีวิตข้างนอกมากขึ้น ได้กลับมาใช้ชีวิตอีกครั้ง
แนวคิดชีวิตอิสระเป็นอย่างไร
ชีวิตอิสระ หมายถึง คนพิการสามารถคิดและตัดสินใจเองได้ในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านร่างกายมาเป็นอุปสรรค เช่น อยากจะตื่นนอนตอนไหน อาบน้ำเมื่อไหร่ หรือกินข้าวตอนไหนก็ได้ เลือกเองเลย ซึ่งที่ศูนย์ฯ พยายามผลักดันแนวคิดนี้ ด้วยการทำงานเชิงรุก เช่น เข้าไปหาคนพิการที่นอนติดเตียง ไปพูดคุยให้เขาได้รู้จักแนวคิดนี้และได้กลับมาดำรงชีวิตอิสระอีกครั้ง
เราว่าการได้ใช้ชีวิตอิสระมันสำคัญมากสำหรับคนพิการ มีคนพิการบางคนที่อยู่กับครอบครัว ส่วนใหญ่มักจะถูกครอบครัวกดดัน โดยที่ครอบครัวเองก็ไม่รู้ด้วยนะว่า ตัวเขากำลังกดทับความรู้สึกหรือความสามารถของคนพิการ บางคนเคยเป็นคนที่ช่วยเหลือตัวเองได้ แล้ววันหนึ่งขาดอิสระในการใช้ชีวิต ซึ่งเมื่อเขารู้สึกว่าไม่สามารถทำอะไรได้ ก็จะท้อและสิ้นหวัง แต่ถ้าเขาสามารถกลับมาใช้ชีวิตอิสระได้ มีความคิดเป็นของตัวเอง เขาจะรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองมากขึ้น
ณ วันนี้ การมีชีวิตที่อิสระของคนพิการมันยากหรือง่ายขึ้นไหม?
มันเป็นเรื่องของโครงสร้างสังคม สภาพแวดล้อม ที่ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนพิการ เช่น การเดินทาง พื้นฟุตบาทบางที่ขรุขระทำให้ไม่สามารถเข็นวีลแชร์สะดวก หรือสถานที่ต่างๆ ก็ไม่มีทางลาดสำหรับวีลแชร์ ทำให้บางทีเราต้องคอยให้คนอื่นซัพพอร์ต ถ้าสภาพแวดล้อมมันเอื้ออำนวยกว่านี้ เราสามารถใช้ชีวิตด้วยตัวเอง เราก็จะใช้ชีวิตเหมือนคนอื่นๆ มีความรัก ไปเดทกับแฟน

การมีชีวิตที่อิสระเกี่ยวโยงกับการมีความรักของคนพิการอย่างไรบ้าง?
เราว่ามันคืออิสระทางความรัก เราสามารถที่จะรักใคร สามารถออกไปเดท ทำกิจกรรมต่างๆ กับแฟน โดยความพิการจะไม่เป็นอุปสรรคที่ทำให้เราไม่สามารถมีช่วงเวลาที่สนุกกับความรักได้เหมือนกับคนอื่น
การคบคนพิการมีหลายอย่างที่ต้องปรับจูนเข้าหากัน ทั้งวิธีการใช้ชีวิตหรือมุมมองทัศนคติ เราเคยคบแฟนคนหนึ่ง ยื่นข้อเสนอให้ทดลองใช้ชีวิตด้วยกัน 3 เดือน ถ้าครบ 3 เดือนโอเคก็ตกลงคบกัน แต่ถ้าไม่ ก็ยุติความสัมพันธ์
ถ้าชีวิตเราไม่สามารถมีความอิสระเป็นองค์ประกอบหนึ่ง แล้วความรักของเราจะหน้าตาเป็นยังไง?
ช่วงที่เราคบแฟนเรายังไม่มีรถส่วนตัว แฟนจะเป็นฝ่ายมาหาเราที่บ้าน ช่วงแรกมันก็โอเคนะ แต่ช่วงหลังๆ ต้องยอมรับว่ามันไม่มีความเป็นส่วนตัว เพราะที่บ้านไม่ได้มีแค่เรา ยังมีพ่อแม่ การแสดงความรักกับแฟนมันไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ เราอยากมีโมเมนต์น่ารักๆ อยากสวีทกับแฟนเราก็แอบเกรงใจพ่อแม่อยู่เหมือนกัน (หัวเราะ)
ทำให้เราอยากออกไปข้างนอกด้วยกัน แต่ก็ทำได้ยาก ไหนแม่เราจะเป็นห่วงเรื่องการเดินทาง หรือห่วงว่าเราจะออกไปใช้ชีวิตข้างนอกยังไง แล้วมันใช้เงินค่อนข้างเยอะ เพราะต้องนั่งแท็กซี่ซึ่งก็แพงเอาเรื่องอยู่นะ ถ้าเป็นคนทั่วไปเขาสามารถนั่งวิน หรือรถประจำทางได้
ถ้าเรามีชีวิตอิสระ รูปแบบความรักของเราจะไม่ต่างจากคนปกติเลย เรานัดเดทแฟน ไปเที่ยว ไปดูหนัง ทำกิจกรรมข้างนอก แต่ถ้าเราไม่มีชีวิตที่อิสระก็ต้องคอยให้คนอื่นซัพพอร์ต ไปไหนมาไหนลำบากเนื่องจากสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนพิการ มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคม สิ่งแวดล้อมสัมพันธ์กับความรัก ถ้าคนพิการอยากมีความรักเหมือนคนอื่น คนพิการก็ควรได้ใช้ชีวิตเหมือนคนอื่นๆ ในสังคมก่อน
การที่มีวีลแชร์เป็นเพื่อน ทำให้ออมกังวลหรือรู้สึกว่าการมีความรักกลายเป็นเรื่องยากไหม?
สิ่งที่ผมกังวลอย่างเดียว คือ คนพิการอย่างเราจะสามารถจีบใครได้บ้าง… เรากลัวว่าตัวเองจะรับไม่ได้ ถ้าเขาบอกว่าไม่อยากคบกับเราเพราะเราพิการ จุดนี้ทำให้เรากังวลและอึดอัด
เราไปปรึกษาพี่คนอื่นๆ ได้คำแนะนำว่าให้บอกไปเลยว่าเราพิการ เขาจะรับได้หรือไม่ได้เป็นเรื่องของเขา เราจะได้ไม่ต้องคิดมากว่าเขาจะรับเราได้ไหม จะรู้สึกอย่างไรที่เราพิการ
ผมว่าถ้าสังคมเปิดกว้างเรื่องของทัศนคติและมุมมองเรื่องความพิการมากขึ้น คนพิการก็จะกล้ามีความรักมากขึ้น โดยเฉพาะแรงกดดันของคนรอบข้างและในสังคม ผมมองว่าเสรีภาพทางความรักมีอยู่ในตัวทุกคน เพราะความรักเกิดจากมนุษย์และมนุษย์ต้องการมีความรัก

การออกไปข้างนอกอาจกลายเป็นเรื่องยากสำหรับหลายคน ‘แอปพลิเคชันหาคู่’ เลยเป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยให้เราเจอความรักได้ ออมเคยใช้วิธีนี้ไหม?
มีเพื่อนที่รู้จักแนะนำแอปให้เราเล่น เพราะเพื่อนได้แฟนจากแอป เราก็ลองเล่นดู ตั้งรูปโปรไฟล์เป็นรูปที่เรานั่งวีลแชร์เพื่อให้คนรู้เลยว่าเราพิการ แล้วก็ตั้งสเตตัสว่า “ถ้าเพื่อนๆ คนไหนสนอยากจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หรือมุมมองกับคนพิการ หรือแค่หาเพื่อนนั่งดื่มก็สามารถทักเราได้นะ” แต่ส่วนใหญ่เป็นเราที่เป็นคนทักไปก่อน นานๆ ครั้งถึงจะมีคนทักเรามาบ้าง
การเล่นแอปหาคู่ของเรา คือ ส่วนใหญ่หาเพื่อนคุย หรือนัดกันออกไปดื่มข้างนอก แล้วก็หาแฟนเราจะสังเกตที่เขาเขียนไว้บนสเตตัสว่าต้องการหาความสัมพันธ์แบบไหน บางคนเขียนว่าหาเพื่อนคุย บางคนก็ชัดเจนว่าต้องการหาแฟน
แต่สุดท้ายคนที่เราคุยด้วยก็กลายเป็นเพื่อนหมดนะ อาจจะเพราะเรานิสัยกวนๆ เลยคุยเหมือนเป็นเพื่อน มีบางคนคุยกันสักพักก็เงียบหายไป อาจจะด้วยหลายปัจจัย เช่น รู้สึกไม่คลิกกับเรา เบื่อจะคุยแล้ว หรือเรากวนเขามากไปก็ไม่รู้ (หัวเราะ)
เราว่ามันเป็นเรื่องปกติของการเล่นแอปหาคู่ คนที่เล่นแอปทุกคนต้องเคยเจอเหตุการณ์คล้ายๆ กัน เลยคิดว่าอย่าไปยึดติดกับมันมากว่าต้องหาความรัก เอาไว้หาเพื่อนคุยสนุกๆ ก็ได้
ในมุมคนพิการ แอปหาคู่ช่วยทำให้เจอความรักง่ายขึ้นไหม?
เท่าที่คุยกับเพื่อนคนพิการ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงที่หาคู่จากแอปได้มากกว่าผู้ชาย ผู้ชายจะหาได้ยากกว่า ไม่แน่ใจเรื่องเพศมีผลด้วยหรือเปล่า แต่การมีแอปหาคู่ช่วยให้คนเข้าถึงกันง่ายขึ้น เพราะบางคนไม่สะดวกออกมาข้างนอก ไม่ว่าจะเป็นเพราะการเดินทาง ครอบครัวเป็นห่วง หรือเรื่องเงิน แอปหาคู่ถือว่าเป็นเครื่องมือที่ทำให้ความรักไม่ใช่แค่ของคนพิการที่ง่ายขึ้น แต่คนทั่วไปก็ง่ายขึ้นด้วย
มันเป็นช่องทางที่ทำให้คนสองคนสานต่อความสัมพันธ์ คือ คุยกันสักพัก อาจขอช่องทางติดต่อที่เป็นส่วนตัวมากขึ้น เช่น เฟสบุ๊ค ไอจี ไลน์ เมื่อการพูดคุยเข้ากันได้ ขั้นต่อไปอาจจะนัดเดทกันข้างนอกได้
แล้วถ้าตัวออมเองล่ะ การมีแอปหาคู่ช่วยทำให้เราเจอความรักง่ายหรือเปล่า?
ผมว่าการคุยกันทางออนไลน์เหมาะกับหาเพื่อนมากกว่าหาแฟน ถ้าคุยแต่ในแชท แต่ไม่สามารถนัดเจอข้างนอกได้ ผมรู้สึกว่าพัฒนาความสัมพันธ์จะเป็นเรื่องยาก การนัดเจอกัน มันจะทำให้ความสัมพันธ์ไปกันได้ง่ายกว่า
จะมีประโยคคลาสสิกที่บอกว่า ‘ความรักสามารถเอาชนะได้ทุกอย่าง’ สำหรับคนพิการความรักมันเพียงพอที่จะข้ามสิ่งกีดขวางได้ไหม?
เราว่าแค่รักอย่างเดียวไม่พอ เพราะอย่างที่เห็นสิ่งแวดล้อมของไทยไม่ได้เอื้อต่อการใช้ชีวิตสำหรับคนพิการ ถ้าสภาพแวดล้อมดี ขนส่งสาธารณะสะดวกต่อการเดินทางของคนพิการ รวมถึงสถานที่สาธารณะต่างๆ มันเอื้อสำหรับคนพิการ เราคิดว่าปัจจัยเหล่านี้แหละที่จะช่วยให้ความรักของคนพิการราบรื่นมากขึ้น เราเชื่อว่ายังมีคนพิการหลายคนที่ต้องการออกมาใช้ชีวิตทำกิจกรรมข้างนอกกับแฟน แต่ติดปัญหาเรื่องเดินทาง
เคยมีคนพิการที่เป็น LGBTQ+ คนหนึ่ง เขาเล่าว่ารู้สึกว่าความรักถูกปิดกั้นจากครอบครัว เวลาอยู่บ้านเขาไม่สามารถคุยโทรศัพท์ หรือวิดีโอคอลกับแฟนได้ จะคุยแต่ละครั้งก็ต้องแอบคุยในห้องน้ำ เขาเคยพูดกับผมว่า ถ้าขนส่งสาธารณะบ้านเรามันสะดวก หรือรัฐมีผู้ช่วยให้คนพิการ ก็จะสามารถทำให้ความรักของเขาราบรื่นมากขึ้น

สำหรับออม ความรักที่เกิดก่อนและหลังพิการ มันแตกต่างไหม?
เราว่าความพิการไม่ได้เปลี่ยนมุมมองเรื่องความรักเรา แต่สิ่งที่มีผลต่อมุมมองความรักของเรา คือ อายุ ตอนเด็กๆ เราจะคุยกับใครก็ได้ ไม่ต้องนึกถึงเรื่องความมั่นคง แต่พอเราอายุเยอะขึ้น มีหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบ การมีความรักสำหรับเราตอนนี้จะคิดถึงอนาคต วางแผนครอบครัว หาความมั่งคงให้ความรัก ทำให้ความรักในวัยผู้ใหญ่ เราต้องคิดมากขึ้นในการรับใครสักคนเข้ามาในชีวิต
“ความรักของคนพิการไม่มั่งคง ไม่ยาวนาน” ออมคิดอย่างไรกับประโยคนี้
เราว่าอยู่ที่หลายปัจจัย เช่น คำพูดจากคนรอบข้างก็มีผล หรือนานวันเข้าความรักก็ถึงจุดอิ่มตัวเหมือนความรักของคนทั่วไป
เราเคยเจอคำพูดป้าข้างบ้านบอกว่า “เป็นไปไม่ได้หรอกที่คนพิการกับคนปกติจะอยู่ด้วยกัน มีความรักกัน อีกฝ่ายก็ต้องคอยดูแล มันจะไปตลอดรอดฝั่งได้หรอ” เราได้ยินก็รู้สึกกระแทกใจนะ แต่เราพยายามไม่เก็บมาคิดมาก ฟังหูไว้หู เพราะเราคิดว่าสิ่งไหนเราทำไหวหรือไม่ไหว เราจะรู้ด้วยตัวเราเอง
ทัศนคติสังคมไทยที่ยังมองว่า พิการแล้วจะออกมาข้างนอกทำไม หรือพิการแล้วมีครอบครัวจะดูแลใครได้ มันเป็นเรื่องของมุมมองทัศนคติ เราจะไปบอกให้ใครเปลี่ยนคงไม่ได้ แต่ถ้าอนาคตคนพิการเริ่มออกมาใช้ชีวิตกันมากขึ้น ทำให้คนในสังคมเห็นว่าคนพิการก็ดูแลตัวเองได้ สังคมก็อาจจะเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อคนพิการ
สุดท้ายแล้วมีอะไรอยากทิ้งท้ายไหม
เราอยากให้ทุกคนลองเปิดใจและกล้าที่จะลองรัก ดีกว่าเสียใจทีหลัง มันเหมือนกับความพิการทำให้เราคอยแต่กังวลว่าจะใช้ชีวิตยังไง แต่ถ้าเรายอมรับและอยู่กับมันได้ เราก็ใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ความรักก็เหมือนกัน ถ้าเรายอมรับว่าทุกความรักไม่ได้สมหวัง มีความเจ็บปวดมาคู่ด้วย เราก็จะอยู่กับความรักได้อย่างเข้าใจ
เราเชื่อว่าความรักเป็นเรื่องปกติธรรมดาในชีวิต แล้วถ้าความรักเป็นเรื่องปกติ ความพิการก็เป็นเรื่องปกติเช่นกัน