โรงพยาบาลโรคจิต ภาคเหนือ คือ ชื่อเดิมก่อนเปลี่ยนมาเป็น ‘โรงพยาบาลสวนปรุง’ ที่คนภาคเหนือและคนทั่วไปคุ้นเคยในฐานะโรงพยาบาลให้บริการรักษาโรคทางจิตเวช
ซึ่งคำว่า “สวนปรุง” มีความหมายว่า เป็นสถานที่ปรุงแต่งของจิตใจของบุคคลที่เป็นทุกข์ให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น และสามารถกลับสู่สังคมได้อย่างปกติ
เหตุหนึ่งที่เปลี่ยนชื่อเพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ของคนที่มีต่อโรงพยาบาล โดยเฉพาะคำว่า ‘โรคจิต’ ที่ทำให้คนไม่กล้ามารักษา เพราะกลัวจะถูกคนอื่นๆ ไม่ต้อนรับ อาจถึงขั้นรังเกียจ
ไม่ว่าจะเพราะชื่อที่เปลี่ยนไป หรือทัศนคติของคนที่ตอนนี้การมีปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องแปลก หรือเป็นที่รังเกียจของสังคมอีกต่อไป แต่กลับกระตือรือร้นที่จะใส่ใจเช็คสุขภาพจิตของตัวเองมากขึ้น ท่ามกลางสภาพสังคมปัจจุบันที่ส่งผลให้จิตใจของเราไม่สบายบ่อยๆ

“คนเข้ามารักษาภาวะซึมเศร้าเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ Anxiety โรควิตกกังวล” ข้อมูลจากนายแพทย์กฤษณ์ติพงษ์ อรัญสิทธิ์ นายแพทย์ชำนาญการจิตเวชทั่วไป โรงพยาบาลสวนปรุง บอกเล่าสถานการณ์คนไข้ ณ วันนี้
เมื่อสังคมตอนนี้ไม่ได้เพิ่มโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าเท่านั้น แต่มีโอกาสเกิด ‘ภาวะวิตกกังวล’ ได้เช่นกัน
บทสนทนาถัดจากนี้คือการอัปเดตสภาพจิตของคนในภาคเหนือที่อาจหมายรวมถึงเราทุกๆ คน แม้อ่านแล้วจะไม่ได้ทำให้รักษาหาย แต่คงพอให้เราได้สัญญาณบางอย่าง หรือคำแนะนำที่ไม่ต้องพบแพทย์ก็สามารถทำตามได้เลย
เหตุผลของคนที่มาสวนปรุงในวันนี้คืออะไรบ้าง
ถ้าย้อนหลังกลับไป 5 ปี โรคจิตเภทจะเป็นอันดับหนึ่งที่คนเข้ามารักษา แต่ช่วงหลังๆ ด้วยสภาพเศรษฐกิจ หรือปัจจัยต่างๆ กลายเป็นว่าคนเข้ามารักษาภาวะซึมเศร้าเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมา คือ Anxiety โรควิตกกังวล ส่วนวัยที่เข้ามาจะเป็นวัยรุ่นที่เพิ่มขึ้นและผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุมาด้วยสาเหตุอะไรบ้าง?
ซึมเศร้า อาการนอนไม่หลับ วิตกกังวล ถ้าเป็นผู้สูงอายุส่วนใหญ่อาการจะไม่ตรงไปตรงมา บางคนรู้สึกไม่สบายตัวก็มาหาเรา หรือวัยเกษียณมักจะมาด้วยปัญหาปรับตัว ไม่ได้ทำงานแล้วเวลาว่างมากขึ้น จัดสรรเวลาไม่ค่อยได้ เช่น กลางวันนอน พอตอนกลางคืนก็นอนไม่หลับ หรือมีปัญหาเรื่องความจำ เพราะ Brain Training การพัฒนาสมองหายไป อวัยวะอะไรก็ตามถ้าไม่ได้ใช้ก็มีโอกาสฝ่อลงไปได้
การดูแลของเรา คือ ทำยังไงให้เขาอยู่กับครอบครัว อยู่กับผู้ดูแลได้อย่างมีความสุข เพราะคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ญาติ คนที่ต้องดูแลที่จะต้องปรับตัวยังไง
วัยรุ่นเป็นวัยหนึ่งที่มีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น
ที่สวนปรุงเราจะดูแลเด็กช่วงวัยรุ่นขึ้นไป ช่วงหลังๆ มาด้วยโรคซึมเศร้าเยอะ การปรับตัวกับสิ่งแวดล้อม ตัวเขาเองขาดทักษะที่จะรับมือกับเรื่องเหล่านี้ สื่อเองก็มีผลด้วย เช่น โฆษณาหรือแคมเปญต่างๆ ที่บอกว่าต้องใช้ชีวิตให้สุด เด็กก็จะใช้ชีวิตแบบสุดๆ พอสุดโต่งมากๆ จะไม่มีตรงกลาง ซึ่งชีวิตจริงๆ เราไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตให้สุดขั้วด้านใดด้านหนึ่งเพื่อให้รู้ว่าฉันแฮปปี้ หรือถ้าใช้ชีวิตไม่สุดแสดงว่าฉันแย่ ทำให้ตอนนี้เด็กหลายๆ คนจะเรียนรู้แค่ขาวกับดำ แต่ตรงกลางเขาไม่รู้ บางคนจัดการกับอารมณ์ตัวเองไม่ได้
ปัจจัยที่สำคัญที่สุด ผมมองว่าเป็นครอบครัวที่จะช่วยเพิ่มทักษะการใช้ชีวิต ทักษะการแก้ปัญหา ซึ่งสำคัญมากๆ เพราะช่วงหลังๆ เด็กแก้ปัญหาบางอย่างไม่ได้

การใช้ชีวิตให้สุดมันส่งผลยังไงบ้าง?
ส่วนมากจะเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ถ้าได้ไปเที่ยวก็ต้องทำให้สุด เมาสุดเลย พอไม่ได้ออกไปเที่ยว ก็จะรู้สึกแย่มาก ในขณะที่ตัวเขาเองก็ไม่ค่อยมีความภาคภูมิใจในตัวเอง ไม่มีกิจกรรมให้ทำมากนัก ทำให้บางคนรู้สึกว่าถ้าฉันได้ในสิ่งที่ฉันต้องการ มันต้องแสดงออกไปให้สุด แต่ถ้าฉันไม่ได้ ฉันก็จะรู้สึกแย่มาก ดำดิ่งไปเลย บางคนจัดการอารมณ์ไม่ได้ก็แสดงออกมาเป็นกรีดแขน มีพฤติกรรมทำร้ายร่างกายตัวเองควบคู่ด้วย ถ้าเขาปรับตัวไม่ได้ก็มีโอกาสที่อาการแบบนี้จะเกิดขึ้น ซึ่งไม่แปลก เด็กๆ พยายามหาวิธีที่ทำให้เขามีความสุข จะด้วยวิธีไหนก็ได้ บางทีก็มีเรื่องสารเสพติดเข้ามา
ผมว่าทั้งสื่อ โฆษณา แคมเปญต่างๆ ที่เขาพยายามหาจุดขายของ เช่นที่บอกว่าเราต้องใช้ชีวิตให้เต็มที่ ใช้ชีวิตให้คุ้ม แต่เมื่อไรที่คนๆ หนึ่งใช้ชีวิตสุดโต่ง ผมมองว่านั่นไม่ใช่ชีวิตแบบปกติ ชีวิตที่ปกติ คือ เราต้องไปได้เรื่อยๆ มีความสุขที่อาจไม่ต้องหวือหวามาก แต่ภาพในสื่อในโฆษณาทำให้เราเชื่อว่า เราต้องใช้ชีวิตแบบหวือหวา แบบสุดเหวี่ยง หลายคนเลยพยายามปรุงแต่งการใช้ชีวิตของตัวเองขึ้นมา ทำให้เด็กหลายคนรู้สึกว่าเขาต้องใช้ชีวิตเต็มที่ เมื่อชินชากับความหวือหวา เขาก็จะไม่ชินกับความสงบนิ่ง รู้สึกธรรมดาไม่เป็น ไม่สุขมากๆ ก็ทุกข์มากๆ ความรู้สึกตรงกลางไม่มี
เราจะหาความตรงกลางได้อย่างไร
แน่นอนว่าเป็นเรื่องยาก เพราะเรายังใช้บรรทัดฐานของคนอื่นมาตัดสินตัวเราอยู่ ผมมองว่าเป็นอะไรที่ทำให้เรามีความสุข จะเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้ เราสามารถสัมผัสสิ่งนั้นได้ เช่น เราจิบกาแฟในเวลาที่โอเค ทำให้เรารู้สึกดีก็เพียงพอแล้ว ทำให้เรารู้สึกสงบ
แต่บ่อยครั้งเราต้อง Extreme ที่หมายถึงฉันต้องได้ที่หนึ่ง ปีนี้ฉันต้องได้โบนัสถึงจะมีความสุข ซึ่งจริงๆ เราทำทุกวันให้มีความสุข ส่วนเรื่องได้ที่หนึ่งหรือโบนัสให้เป็นของแถมก็ได้
การที่เรามีเป้าหมาย หรือ Passion มีส่วนทำให้ชีวิตเราไม่สมดุลไหม?
มีส่วนครับ ถ้าเป็นเรื่องของ Passion ผมอยากให้เป็นเพียงแค่ Passion ไม่อยากให้มองว่าเป็นความคาดหวัง เพราะเมื่อไหร่ที่เราคาดหวัง เราอาจจะผิดหวังก็ได้ Passion ควรเป็นสิ่งที่เราได้ทำแล้วมีความสุข ส่วนกระบวนการแห่งความสุขที่เกิดขึ้นลากยาวถึงตอนจบผลลัพธ์ มันคือผลพลอยได้
แต่ในมุมกลับกัน ถ้าเราต้องตั้งความหวังกับเรื่องนั้นเรื่องนี้เราถึงจะมีความสุขได้ มันแตกต่างกัน ซึ่งส่วนนี้ทำให้เราควรติดตั้งทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็กยุคนี้ ให้เขาสามารถรับมือกับสถานการณ์ดูแลจิตใจไม่ให้พังลงไป
ให้เด็กเรียนรู้ตามวัยเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เรียนรู้ทักษะการแก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งจำเป็นมากในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เด็กปั่นจักยานแล้วยางรั่วจะทำอย่างไร หรือทำของตกใต้เตียง เด็กบางคนอาจจะมุดตัวลงไปเก็บของได้ แต่เด็กบางคนอาจจะนอนร้องไห้ ทักษะการแก้ปัญหาชีวิตประจำวันนี้จะทำให้เด็กรอดในอนาคตได้ เป็นเรื่องของความฉลาดในการแก้ปัญหาของเขาด้วย
แต่ทักษะส่วนนี้กำลังถูกลดทอนลงด้วยสิ่งที่เราโปรแกรมให้เด็กเรียนรู้ภายในโรงเรียนมากเกินไป เพราะทักษะที่ว่าเด็กจะได้เรียนรู้จากการเล่นทั้งหมด โดยเราต้องค่อยๆ ให้เขาได้เรียนรู้ในวัยของเขา และตามวิธีคิดของเขาเอง เขาจะได้มีประสบการณ์การเรียนรู้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
เด็กๆ เองก็ผิดหวังได้ เขาต้องฝึกเรียนรู้ที่จะผิดหวัง บ่อยครั้งความผิดหวังมันจะทำให้เขาเรียนรู้ว่า หลายๆ อย่างอาจจะไม่ได้เป็นไปตามสิ่งที่เขาคิด
การเป็นโรคซึมเศร้าหรือมีปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่อายุน้อย จะส่งผลอย่างไรในตอนที่เป็นผู้ใหญ่
ถ้าดูแลได้ทันได้รวดเร็ว อาจจะดีขึ้นได้ในอนาคต แต่ถ้าเป็นเรื้อรัง อันนี้แหละที่ทำให้เราสูญเสียทรัพยากร สูญเสียบุคคลที่มีค่าไปคนหนึ่งเลย อย่าลืมว่าคนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี สมองยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ถ้าเกิดอะไรมากระทบในช่วงนั้น จะมีผลกับความคิดและการใช้ชีวิตของเขาในระยะยาวด้วยเหมือนกัน


นอกจากคนที่เข้ามารักษาเอง ทางสวนปรุงก็ไปรักษาผู้ต้องขังในเรือนจำด้วย อยากรู้ว่าการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง
ถ้ามีผู้ต้องขังที่มีปัญหาด้านจิตเวช เบื้องต้นจะมีหมอ – พยาบาลที่นั่นที่ประเมินแล้วส่งต่อมาให้เรารักษา ก่อนหน้านี้เราใช้วิธีไปตรวจเยี่ยมเดือนละครั้ง แต่ช่วงโควิดเป็นต้นมา เราจะใช้วิธี Telepsychiatry (ระบบบริการตรวจจิตเวชทางไกล)
เมื่อไหร่ก็ตามที่คนไข้มีอาการรุนแรง ควบคุมตัวเองไม่ได้ เสี่ยงอันตรายต่อตัวเองกับคนอื่น เขาจะส่งตัวมาที่โรงพยาบาล เราก็จะมีห้องแยกที่ค่อนข้างมิดชิด มีผู้ดูแลและเจ้าหน้าที่เรือนจำเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง รักษาจนกว่าเขาจะสงบ เราก็จะส่งตัวกลับ
การรักษาผู้ต้องขังมีความแตกต่างกับคนอื่นๆ ที่คุณหมอรักษาไหม?
ส่วนตัวผมมองว่าคนก็คือคน รักษาไม่ต่างกัน จะมีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ความชอบ เป็น LGBTQ+ ผู้ต้องขัง หรือต่างด้าว ทุกคนต้องการสิ่งเดียวกัน คือ ความสุข ความรัก ความสงบ เราค่อยๆ ดูคำตอบให้เขา อะไรคือสิ่งที่เขากำลังตามหา สิ่งที่เขาต้องการ
ยาเป็นตัวช่วยหนึ่ง เป็นเรื่องของการรักษาอาการทางกายที่ช่วยให้ดีขึ้น แต่ในระยะยาวเขาเองก็ต้องปรับตัวเองเหมือนกัน
คนทั่วไปเป็นซึมเศร้าเยอะ แล้วฝั่งคนรักษาอย่างจิตแพทย์มีเป็นซึมเศร้าบ้างหรือเปล่า?
มีเหมือนกัน เรื่องการปรับตัว บางคนเป็นเรื่องของฮอร์โมนส์ในร่างกาย เช่น ฮอร์โมนส์ไทรอยด์ต่ำกว่าปกติ ทำให้อารมณ์ดิ่งลงไปด้วยได้ หรือได้รับการกระทบกระเทือนทางสมองบางส่วนที่มีผลกระทบกับอารมณ์
จิตแพทย์จะมีอาจารย์ที่ไว้ใจได้สำหรับปรึกษา ประเมินสภาพจิตใจ ถ้าเคสที่เป็นซึมเศร้าก็จะรักษาแบบคนทั่วไปเลย
แล้วการรักษาคนไข้ ส่งผลต่อหมอไหม?
เป็นคำถามที่คนจะชอบถามนะ ผมว่าเรื่องของคนอื่นก็ยังเป็นเรื่องของคนอื่น เราต้องจัดการอารมณ์หรือความคิดตัวเองให้ได้ จิตแพทย์ไม่ใช่ผู้วิเศษ สิ่งที่เราทำ คือ เราเป็นโค้ชให้เขา ส่วนที่เหลือต้องเป็นหน้าที่ของคนไข้ที่ไปปรับตัวเอง
เมื่อไหร่ที่จิตแพทย์จัดการให้คนไข้ทุกอย่าง กลายเป็นว่าเขาต้องพึ่งพิงเรา เขาจะไม่เติบโต ซึ่งเป็นวิธีการที่ผิด ถ้าเราทำให้เขาเติบโต เขาดูแลตัวเองได้ ในอนาคตเขาจะไปช่วยเหลือคนอื่นๆ ได้
ถ้าเป็นต่างประเทศ เช่น ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย จะพบว่าอากาศส่งผลต่อสุขภาพจิตคน แล้วที่ไทยเรามีเรื่องแบบนี้ด้วยไหม
ถ้าเป็นเมืองในหมอก อยู่ในหมอกควันตลอดเวลา จะเห็นหรือสัมผัสแสงอาทิตย์ได้น้อย ทำให้เราได้รับสารพิษเจือปนซึ่งมีผลต่อร่างกายในระยะยาว ร่างกายจะไม่สดชื่น ปอดกรองออกซิเจนได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หรือหมดแรง
ร่างกายและจิตใจเราจะสัมพันธ์กัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ คือ เมื่อใหร่ที่ร่างกายได้รับบาดเจ็บ พื้นที่ที่เราใช้จัดการกับความตึงเครียดด้านจิตใจเราจะลดลง แต่ในทางกลับกันถ้าร่างกายเราแข็งแรงใช้ชีวิตตั้งอยู่ในความสมดุลพื้นที่ที่เราใช้จัดการกับความเครียดในจิตใจก็จะเพิ่มมากขึ้น เราจะสามารถรับมือได้อย่างเต็มที่

ดูเหมือนการปรับตัวจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเกิดปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะอาการวิตกกังวล คุณหมอพอจะให้คำแนะนำเบื้องต้นได้ไหมว่า เราควรดูแลตัวเองยังไง วิธีรับมือกับความวิตกเบื้องต้น
สิ่งที่ผมจะคุยกับคนไข้บ่อยๆ คือ เตรียมตัวให้พร้อม แค่นั้นเอง คำว่า ‘เตรียมตัวให้พร้อม’ คือ กินให้อิ่ม นอนให้หลับ เตรียมร่างกายเราให้แข็งแรง เพราะมีเยอะที่กังวลล่วงหน้า กังวลฟรี แล้วมันไม่เกิดขึ้น หรือสิ่งที่เขากังวลไม่เกิด แต่ไปเกิดเรื่องอื่นแทน เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราทำได้ คือ เตรียมตัวเราให้แข็งแรง ถ้าร่างกายเราพร้อมปุ๊บ อะไรมาข้างหน้าเราสามารถจัดการได้
ความกังวลเป็นสิ่งที่ห้ามได้ยาก เพราะสถานการณ์ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ หลายคนคิดว่าการกังวลไปก่อนเป็นวิธีรับมืออย่างหนึ่ง
ผมมักจะคุยเล่นๆ กับคนไข้ว่า อะไรที่คิดไม่ได้เงินทองก็ไม่ต้องคิด เพราะคิดไปก็ไม่ได้อะไร มาโฟกัสสิ่งที่คิดว่าทำให้เราโอเคขึ้นดีกว่า บ่อยครั้งเรามักจะถามตัวเองว่า ‘ทำไม’ ‘อะไร’ ‘ยังไง’ แต่สิ่งที่จะทำให้ตัวเราได้คำตอบ คือ ‘แล้วเราจะทำยังไงต่อ’
“กลับมารักตัวเอง” “ใจดีกับตัวเองบ้างนะ” ประโยคที่เราจะเห็นบ่อยๆ บนโลกโซเชียลตอนนี้ ถามในมุมจิตแพทย์ การมีมายเซ็ตแบบนี้มันช่วยได้ไหม?
อาจจะเหมาะกับบางสถานการณ์ ไม่ใช่ทุกสถานการณ์ จะมีแค่บางคนที่เข้าใจบาง Wording ผมมองว่าการที่เรายิงอะไรแบบนี้ออกไป ได้ผลสัก 10% หรือ 5% กับคนฟังก็โอเคแล้ว หรือบาง Wording ที่เราคุยกับคนไข้เอง บางคำพูดถึงเวลาวันหนึ่งคนไข้จะเข้าใจเอง ถ้าทางจิตวิทยาเราจะพูดกับ Unconscious จิตใต้สำนึกของเขา เมื่อพอถึงเวลาหรือเขาเจอเหตุการณ์บางอย่าง เขาจะนึกถึงคำพูดที่เราเคยบอกได้
การรักษาทางกายอาจมีจุดที่บอกว่าการรักษามาสุดทางแล้ว ในการรักษาโรคจิตเวชมีสัญญาณบอกแบบนี้ไหม?
บางโรคก็ต้องยอมรับว่ามีความเสื่อมเกิดขึ้น เช่น โรคจิตเภท เมื่อไรเขามีอาการของโรคซ้ำๆ จะทำให้การดำเนินโรคแย่ไปเรื่อยๆ เขาจะสูญเสียความสามารถที่จะใช้ในชีวิตประจำวันไป เป้าหมายของการรักษาในแต่ละเคสจะไม่เหมือนกัน
ในคนไข้โรคลมชัก สมองเขาจะเสื่อมไปเรื่อยๆ การวางแผนระยะยาวจะเป็นการรักษารูปแบบหนึ่ง เขาสามารถกลับไปอยู่กับครอบครัวได้ อาการสงบ แต่มีบางเคสที่ญาติไม่เอาแล้ว เอามาทิ้งไว้ที่นี่ก็มี เราก็ต้องดูแลถึงที่สุดด้วยเหมือนกัน บางเคสที่ดีขึ้นได้ก็ส่งต่อสถานสงเคราะห์ต่อไป

นอกจากทำงานกับคนไข้ คุณหมอทำงานร่วมกับคนใกล้ชิดคนไข้ด้วยไหม?
มี ในบางเคสจะเป็นทั้งญาติและชุมชน บางเคสชุมชนปฏิเสธเขาก็มี เราต้องลงไปคุยกับชุมชน คุยกับญาติ ที่นี่เราจะใช้จิตเวชชุมชนร่วมด้วย เช่น คนไข้ลมชักที่ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ ใน 1 ปี เขาสามารถอยู่กับครอบครัวสัก 11 เดือน อีก 1 เดือนมาอยู่ที่โรงพยาบาล ให้ญาติได้พักบ้าง ไม่งั้นญาติจะ Burnout แทนที่คนไข้คนนี้อาจจะถูกทิ้งเลย กลายเป็นว่าเขาอยู่กับครอบครัวกับชุมชนได้
การทำงานกับญาติหรือชุมชนส่งผลกับการรักษาคนไข้อย่างไร?
สำคัญนะ เช่น คนไข้ที่เป็นโรคจิตเภท ถ้าคนไข้ไปดื่มแอลกอฮอล์อาจส่งผลให้การรักษาแย่ลง เราต้องลงไปคุยกับชุมชน เป็นสิ่งที่ชุมชนต้องร่วมรับผิดชอบ ร้านค้าทุกร้านห้ามขายแอลกอฮอล์ให้คนนี้ เพราะไม่งั้นก็วุ่นวายทั้งชุมชนถ้าอาการถูกกระตุ้น
สำหรับคุณหมอแล้ว ภาพลักษณ์ของโรงพยาบาลสวนปรุง ณ แตกต่างจากเดิมอย่างไรบ้าง?
จริงๆ เราไม่ได้ทำลายความเชื่อเดิม แต่ภาพที่ออกไปมันค่อยๆ เปลี่ยน ถ้าเป็นคนไข้ที่เรารักษาหลักๆ ยังคงเป็นคนไข้ที่มีการแสดงออกทางพฤติกรรม คนไข้ที่ได้รับผลจากสารเสพติด ภาพเหล่านี้ยังอยู่ แต่ด้านหนึ่งทำให้เห็นว่าเราช่วยเหลือเขาได้ ช่วยเหลือชุมชนได้
เราจะไม่ใช่แค่รักษาคนไข้ เราจะดูด้วยว่าชุมชนเกิดอะไรขึ้น ลงพื้นที่ไปดู เช่น มีเคสคนเมาอาละวาดในชุมชน เราก็ไปช่วยชุมชนด้วย ดูแลจนกว่าคนไข้จะนิ่ง ชุมชนจะยอมรับก็ส่งคนไข้กลับไป แล้วหาทางป้องกันต่อไป