ชื่อเล่นเด็กไทย ชื่อเล่น ออนิว

น้องออนิว มาเฟีย เจ้าคุณ สารพัดสิ่งที่ถูกนำมาตั้งชื่อเล่นเด็กๆ วันนี้ ส่วนผสมระหว่างความพอใจของพ่อแม่ กับชีวิตของลูกที่ใช้ชื่อนี้

“ตั้งชื่อเล่นลูกว่า ‘มาเฟีย’ ดีไหม”

คำถามถูกโพสต์ลงในกลุ่มเฟซบุ๊กกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มที่สร้างพื้นที่ให้พ่อแม่มาแชร์ประสบการณ์และปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูก ‘การตั้งชื่อเล่นลูก’ เลยเป็นบทสนทนาหนึ่งที่เราสามารถพบเจอได้ที่นี่

“ชื่ออื่นดีกว่าค่ะ”

“พ่ออาจตั้งแค่เอามัน แต่ชื่อจะติดตัวลูกไปตลอดชีวิต”

“ชื่อที่พ่อแม่ตั้งให้ดีที่สุด”

“อะไรที่เกี่ยวกับลูกเป็นสิทธิ์ขาดของพ่อแม่ค่ะ”

ความคิดเห็นของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ต่อเรื่องนี้ แบ่งออกเป็น 2 ฝั่งชัดเจน ฝั่งไม่เห็นด้วยมองว่าชื่อแปลกไป ถึงชื่อเล่นจะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่มีผลกับคนถูกตั้งแน่ๆ อาจโดนล้อเลียน หรือถ้าต้องติดต่อกับชาวต่างชาติ เขาอาจงงงวย หรือเจอปฏิกิริยาที่กระทบความมั่นใจของเจ้าของชื่อ 

ส่วนฝั่งที่เห็นด้วยก็บอกว่า เป็นสิทธิ์ของพ่อแม่กับการตั้งชื่อลูก ชื่อต้องมีที่มาจากความรัก ใส่ความตั้งใจลงไป อีกทั้งชื่อลูกก็เป็นพื้นที่ให้พ่อแม่ได้แสดงตัวตน แสดงสิ่งที่ตัวเองชอบ 

ถ้าเราถอยไปมองภาพรวมของการตั้งชื่อเล่นเด็กเกิดใหม่ในวันนี้ คงแตกต่างจากชื่อที่รุ่นเราๆ มี หรืออาจพูดได้ว่า การตั้งชื่อในคนแต่ละเจนเนอเรชันก็มีหลักเกณฑ์ ปัจจัย หรือตัวแปรไม่เหมือนกัน

จากที่เราไปลองค้นดูคร่าวๆ (ด้วยสายตา) วิธีตั้งชื่อเล่นของพ่อแม่ในกลุ่มนี้ วิธีแรก คือ มีที่มาจากความชอบของพ่อหรือแม่ อาจเป็นชื่อตัวละครโปรด ชื่อเกมที่ชอบเล่น อาหารจานโปรด เป็นต้น ถ้าให้ยกตัวอย่างชื่อเพื่อเห็นภาพ ก็จะมีทั้งเอลซ่า พลูโต ชีสเค้ก ฟีฟ่า ฯลฯ

วิธีที่สอง คือ ชื่อไหน หรือสิ่งใดกำลังได้รับความนิยม ก็ขอเอามาตั้งเป็นชื่อลูกซะหน่อย วิธีนี้ถือเป็นวิธีที่ดั้งเดิมเหมือนกัน เพียงแต่ของฮิตๆ อาจเปลี่ยนไป ตอนนี้กระแส ‘น้องออนิว’ กำลังมา ก็มีคนที่ไม่พลาดหยิบมาเป็นชื่อลูก

วิธีที่สาม เป็นวิธีของสายมู ใช้ตัวอักษรมงคล หรือไม่เป็นกาลกิณีกับเจ้าของชื่อ วิธีนี้เราอาจคุ้นกับการตั้งชื่อจริงมากกว่า มีพ่อแม่บางคนหยิบมาใช้กับชื่อเล่นด้วย เพิ่มความมงคลให้ลูก หลักก็จะมีให้เลือกใช้มากมาย เช่น ใช้วันเกิด ถ้าเกิดวันจันทร์ชื่อไม่ควรมีสระ หรือให้ผู้เชี่ยวชาญอย่างหมอดูตั้งให้

วิธีที่สี่ คือ ใช้ชื่อจริงและชื่อเล่นเป็นชื่อเดียวกันเลย สะดวกสบายต่อเจ้าของชื่อ  โดยเฉพาะถ้าอยู่ในวัยเล็กๆ ชื่อมันจะเป็นสิ่งแรกๆ ที่เจ้าตัวใช้หัดพูด สะกด หรือเขียน เช่น กานต์ เจตน์ พิมพ์ ฯลฯ

“เรียกง่ายๆ โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้วน้องไม่อายค่ะ”

คำตอบของคุณแม่ท่านหนึ่งที่พิมพ์ไว้ในกลุ่ม เมื่อมีคำถามว่าพ่อแม่แต่ละคนมีหลักตั้งชื่อเล่นลูกอย่างไร คำตอบแนวนี้ถือเป็นคำตอบที่คนตอบเยอะสุด เพราะบางคนเจอประสบการณ์ที่ถูกตั้งชื่อแล้วคนมองว่าแปลก หรือถูกล้อชื่อ ทำให้เมื่อมีลูกก็อยากให้ลูกไม่ต้องเจอแบบเดียวกัน บางคนก็คิดไปเผื่ออนาคตว่า ถ้าวันใดลูกกลายเป็นคนมีชื่อเสียง ชื่อจะเป็นตัวเสริมภาพลักษณ์ให้พวกเขาเพิ่ม

เรื่องล้อเลียนก็เป็นประเด็นที่เหล่าพ่อแม่ให้ความสำคัญมากๆ ในการตั้งชื่อลูก แต่พวกเขาก็รู้ดีว่าเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก เป็นปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะระวังในการตั้งชื่อแค่ไหน หาว่าความหมายในแต่ละภาษาไม่แปลกประหลาด หรือเป็นคำแง่ลบ ก็ยังไม่วายมีโอกาสเจอการล้อได้ พ่อแม่หลายคนเลยแชร์ว่า สิ่งที่พวกเขาจะเตรียมให้ลูก คือ ความแข็งแรงภายใน โดยเฉพาะจิตใจ เมื่อเจอการล้อหรือเรื่องหนักหนาเขาจะผ่านไปได้

“ส่วนตัวก็เตรียมตัวไว้ประมาณหนึ่งว่า ถ้าลูกโดนล้อบ้างก็คงจะทำแบบเดียวกัน บอกให้ลูกสนใจแค่ตัวเอง ใครจะพูดอะไรมันสิทธิของเขา เราไม่ต้องไปสนใจ เรามีดีในแบบของเรา เราเป็นแม่ต้องเข้มแข็งจากภายในเป็นตัวอย่างให้ลูกสัมผัสให้ได้ เขาจะได้ทำตาม จะได้ไม่เป็นเหยื่อค่ะ”

นอกจากวันนี้มีวิธีตั้งชื่อเล่นยังไง แล้วชื่อเล่นมีไว้เพื่ออะไร? 

เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม เขียนบทความพูดถึงที่มาของชื่อเล่นคนไทยว่า ชื่อเล่นน่าจะเกิดขึ้นช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นวัฒนธรรมที่คนชนชั้นสูงนิยมทำ ก่อนจะค่อยๆ ถ่ายทอดมายังคนทั่วไป นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการประวัติศาสตร์ คาดการณ์สาเหตุที่เกิดชื่อเล่น หนึ่ง – เป็นชื่อที่คนใกล้ชิดเรียกได้อย่างสะดวก เพราะถ้าเรียกชื่อจริงที่นิยมตั้งอย่างเต็มยศ อาจฟังดูห่างเกิน เลยเกิดชื่อเล่นเพื่อแสดงถึงความใกล้ชิดระหว่างคนเรียกและเจ้าของชื่อ 

ส่วนข้อที่สอง – เป็นการส่งต่อและรักษาคุณลักษณะบางอย่าง คล้ายๆ กับที่คนอังกฤษหรือคนอเมริกานิยมตั้งชื่อลูกตามชื่อพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ชื่อเล่นเลยเป็นการคงลักษณะของคนคนนั้นไว้

ชื่อก็เหมือนเป็นของขวัญที่คนตั้งอยากมอบให้คนถูกตั้ง ของขวัญชิ้นนี้อาจมีหลายเหตุผลที่ประกอบสร้างมันขึ้นมา อาจจะถูกใจ หรือทำให้เจ้าของชื่อรู้สึกว่าใช้ชีวิตลำบาก ก็เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก อาจแปลได้ว่าถ้าคนตั้งมีสิทธิ์ที่จะตั้ง คนถูกตั้งก็มีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงมันหากเขามีเหตุผลที่ต้องการ

อ้างอิง