“ไม่ใช่ช้าง แต่เป็นลูกของเรา” The Elephant Whisperers สารคดีสั้นจากอินเดียเรื่องแรกที่ชนะรางวัลออสการ์ เล่าเรื่อง ‘คนกล่อมช้าง’ ที่ทำหน้าที่เป็นพ่อแม่ให้ลูกช้างกำพร้า

“การได้เห็นช้างก็เหมือนกับการได้เห็นองค์เทพ”

สำหรับ ‘ชาวกัตตุนายากัน’ การดูแลช้างถือเป็นวิถีชีวิตและธรรมชาติของพวกเขา ที่ส่งต่อมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษจนถึงยุคลูกหลานในปัจจุบัน

ช้างสำหรับพวกเขาก็เหมือนกับองค์เทพ มันอาจไม่ได้ให้พรหรือบันดาลให้ความฝันเป็นจริง แต่ทำให้บนโต๊ะมีอาหารเต็มทุกวัน จากรายได้การดูแลช้าง ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวกัตตุนายากัน

The Elephant Whisperers หรือ ‘คนกล่อมช้าง’ สารคดีสั้นที่เล่าเรื่องราวการดูแลช้างของชาวกัตตุนายากัน ผ่าน ‘บอมมันและเบลลี่’ ชาวกัตตุนายากันที่ทำงานดูแลช้าง และได้รับมอบหมายให้เลี้ยงลูกช้างกำพร้าชื่อ ‘ราฆู’

สารคดีเรื่องนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการบันเทิงอินเดียที่ชนะรางวัลออสการ์ครั้งที่ 94 (ล่าสุด) สาขาภาพยนตร์สารคดีสั้น 

“ฉันอยากให้ผู้ชมสารคดีเรื่องนี้เลิกคิดว่าเหล่าสัตว์ต่างๆ เป็นอื่น แต่หันมามองว่ามันก็เป็นพวกเดียวกันกับพวกเรา”

Kartiki Gonsalves ผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้ ให้สัมภาษณ์ถึงจุดเริ่มต้นของการทำสารคดีที่ต้องย้อนไปช่วงที่เธอยังเด็ก ครอบครัวของเธอผูกพันกับธรรมชาติ และมักพาเธอไปสัมผัสสิ่งเหล่านี้ ทำให้ธรรมชาติกลายเป็นส่วนหนึ่งของ Gonsalves 

วันหนึ่งเธอมีโอกาสไปที่เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่ามูดูมาไล ซึ่งเป็นหนึ่งในปางดูแลช้างที่ขนาดใหญ่ที่สุดในอินเดียและทวีปเอเชีย เจอเข้ากับราฆูที่อายุ 3 เดือน แวบแรกหลังได้สบตาและท่าทางของราฆูที่เป็นมิตร ทำให้ Gonsalves ตกหลุมรักและอยากบันทึกเรื่องเล่าของราฆูออกมาเป็นสารคดี 40 นาทีนี้

เบลลี่ หนึ่งในผู้ดูแลราฆู เพิ่งสูญเสียสามีและลูกสาว ทำให้เธอยังอยู่ในสภาวะเศร้า การได้ดูแลราฆู ทำให้เบลลี่รู้สึกเหมือนได้ลูกสาวกลับคืนมาสู่อ้อมกอดเธออีกครั้ง

“ตอนเจอครั้งแรกราฆูดึงเสื้อเหมือนเด็กๆ แล้วฉันก็สัมผัสได้ถึงความรักของมัน

และก็ทำให้เธอได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้งกับบอมมี่ที่ทำหน้าที่ดูแลราฆูเช่นกัน ความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาเติบโตไปพร้อมๆ กับลูกช้างราฆู 

ความตั้งใจของ Gonsalves ในการทำสารคดีเรื่องนี้ เธออยากทำให้ทุกคนได้เห็นภาพระหว่างมนุษย์กับช้างที่ไม่ได้แตกต่างกัน แต่เป็นหนึ่งเดียวและก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ทำให้บรรยากาศในเรื่องอบอวลไปด้วยความรักและความอบอุ่นที่ต่างฝ่ายต่างมอบให้กัน บทบาทของราฆูและช้างตัวอื่นๆ ไม่ใช่แค่สัตว์ที่อยู่ในความดูแล แต่เป็นสมาชิกคนหนึ่งในชุมชนที่ใช้ชีวิตร่วมกัน เป็นหนึ่งในทีมเตะฟุตบอลกับเด็กๆ หรือเป็นแขกในงานแต่ง

สารคดีฉายให้เห็นอีกมุมหนึ่ง เป็นสาเหตุที่ทำให้ราฆูต้องกำพร้า เพราะโขลงของมันไม่สามารถหาน้ำและอาหารในป่าได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ทำให้โขลงของราฆูต้องเข้ามาหาอาหารในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งถูกชาวบ้านที่ต้องการป้องกันตัวเองทำร้าย แม่ของราฆูเสียชีวิต ส่วนราฆูได้รับบาดเจ็บสาหัส และถึงแม้จะรักษาหายดี แต่โขลงก็ไม่ต้อนรับราฆูกลับไป ทำให้มันถูกส่งตัวมาที่ปางช้างแห่งนี้ 

“ปู่ผมเป็นคนดูแลช้าง พ่อก็เป็นคนดูแลช้าง ส่วนผมมาดูแลช้างในวันที่พ่อเสีย

“ช้างควรจะอยู่ในป่าเพราะเราสอนอะไรมันไม่ได้มาก มีบางเรื่องที่มีแต่พวกช้างเท่านั้นที่จะสอนกันเองได้”

บอมมี่รักราฆูเหมือนลูกคนหนึ่ง ขณะเดียวกันเขาก็มองราฆูเป็นเทพองค์หนึ่ง เทพที่ประทานความรักและความอิ่มท้องให้กับเขา

“การได้ดูแลราฆูทำให้มีอาหารบนโต๊ะทุกวัน นี่แหละคือปรากฎการณ์ขององค์เทพสำหรับผม ถ้าไม่มีมัน เราก็ไม่มีอะไร”

การดูแลลูกชายกำพร้าถือเป็นงานหิน มีลูกช้างจำนวนน้อยที่จะรอดชีวิตและเติบโตได้ แต่ราฆูเป็นหนึ่งในนั้นที่รอด หากถามว่าอะไรเป็นเคล็ดลับในการดูแลราฆู ทั้งเบลลี่และบอมมี่ไม่มีคำตอบให้ นอกจากว่าราฆูเป็นลูกพวกเขา และเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะดูแลให้ลูกรอดปลอดภัย

“พอมีราฆู เราก็กลายเป็นครอบครัว และเราคิดว่าเพราะแบบนั้นมันถึงได้รอด” เบลลี่บอกไว้แบบนั้น

คำตอบมันอาจอยู่ตรงนี้ ‘การเป็นครอบครัว’ ที่แม้จะต่างสายพันธุ์ แต่อย่างที่ Gonsalves บอกไว้ตอนต้น เราและช้าง รวมถึงสัตว์อื่นๆ ต่างเป็นพวกเดียวกัน ความแตกต่างไม่ได้ทำให้เรากลายเป็นอื่น เพราะสุดท้ายเราต่างเป็นสิ่งมีชีวิตที่หายใจและอาศัยอยู่ในโลกใบนี้ด้วยกัน

ภาพ
สารคดีThe Elephant Whisperers
อ้างอิง
bbc.com
npr.org