กระแสข่าวของช่อง itv (ชื่อช่องสะกดด้วยภาษาอังกฤษตัวพิมพ์เล็กทั้งหมด) กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง และกำลังร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในโลกทวิตเตอร์ จากช่อง ‘ทีวีเสรี’ สู่การเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเส้นทางการเป็นนายกของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ พรรคเสียงข้างมาก ที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา
ช่องโทรทัศน์ itv ย่อมาจาก Independent Television เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยมีแนวคิดการจัดตั้งคือต้องการเป็นสื่อที่ไม่ถูกปิดกั้น เผยแพร่ข่าวสารได้อย่างถูกต้อง และเป็นกลาง เนื่องจากในสมัยนั้นช่องโทรทัศน์ต่างอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ดังนั้นแล้ว itv จึงกลายเป็นสื่อเสรีแห่งแรกของไทย
ช่อง Itv แบ่งเป็น 3 ช่วงใหญ่ๆ คือ
ช่วงตั้งต้น : เน้นภาพลักษณ์ของการนำเสนอข่าวสารและสาระเป็นหลัก โดยมีผู้ประกาศข่าวคู่แรกของสถานี คือ กิตติ สิงหาปัด และเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวในขณะนั้น
ช่วงเศรษฐกิจทำพิษ : ช่อง itv ขาดทุนจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง และมีการสัมปทานผู้ถือหุ้นใหม่ ทำให้ช่อง itv มีรายการบันเทิงอื่นๆ เข้ามาเติมความสนุกแก่ผู้ชม นอกจากข่าวและรายการวิเคราะห์ข่าว
ยุคสุดท้าย ก่อนกลายเป็น Thai PBS : ช่อง itv ถูกยกเลิกสัญญาสัมปทาน และเพิกถอนคำสั่งอนุญาตตุลาการกรณีมีข้อพิพาทกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) และในที่สุด itv ก็ถูกปิดช่องในปีพ.ค. 2549 โดยบริษัท itv ถูกเปลี่ยนผ่านไปเป็นโมเดลของช่อง “ไทยพีบีเอส” (ThaiPBS) ในปัจจุบัน
ตลอดเวลา 27 ปีของการดำเนินงาน ช่อง itv กลายเป็นเศษเสี่ยวหนึ่งในความทรงจำของใครหลายคน และเมื่อช่อง itv กลับมามีกระแสอีกครั้ง Mutual จึงชวนทุกคนมาสำรวจความทรงจำของคนแต่ละ Gen หลายอายุหลากอาชีพว่าที่ผ่านมาพวกเขานึกถึงช่อง itv อย่างไรกันบ้าง?

บุษบา (นามสมมติ) อายุ 66 ปี
itvในความทรงจำของ ‘บุษบา’ (นามสมมติ) วัย 66 ปี คือ ช่องโทรทัศน์ที่เน้น ‘ข่าวสาร’ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน
“ข่าวของ itv จะเล่าเรื่องที่ทำให้ผู้ชมได้คิดและวิเคราะห์ตามมากกว่าการเล่าเรื่องข่าวชาวบ้านทั่วไป”
“ข่าวชาวบ้านอาจจะมีเรื่องฆ่ากัน แต่ข่าว itv มีข่าวการเมืองด้วย เป็นความรู้ให้เราได้วิเคราะห์ว่าข่าวที่ออกมาจะเป็นอย่างไร”
ถึงแม้ว่า วันนี้จะไม่มีช่อง itv แล้ว แต่คนข่าวและเทคนิคการเล่าข่าวที่ไม่เหมือนใครก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้ชม

โบว์ (นามสมมติ) อายุ 40 ปี
โบว์ (นามสมมติ) อายุ 40 ปี กล่าวถึงภาพจำที่มีต่อช่อง itv
“นอกจากข่าว เราชอบดูพยากรณ์อากาศของคุณธนวรรณ มิลินทสูตร ชอบน้ำเสียงนิ่งๆ เย็นๆ แต่ให้ข้อมูลชัด ครบ กราฟิกลีลาไม่หวือหวาแต่น่าเชื่อถือ ก็ดูมาเรื่อยๆ จนมาอยู่ไทยพีบีเอสก็ยังดูตลอด เพราะตอนนั้นเรายังดูพยากรณ์อากาศจากแอปในสมาร์ทโฟนไม่ได้”
“กับอีกช่วงที่ต้องรีบกลับบ้านไปดูคือซีรีส์ญี่ปุ่น ช่วงนั้นไอทีวีเป็นช่องแรกๆ ที่ซื้อซีรีส์ญี่ปุ่นมาออกอากาศ และเป็นซีรีส์ที่เน้นชีวิตและความสัมพันธ์ของคนวัยทำงาน เช่น Love Generation, Long Vacation , Hero ฯลฯ ที่ไม่มีเลยในละครไทยช่วงนั้น ตอนไหนตามดูไม่ทันก็ซื้อซีดีเถื่อนเอา แต่มันเปิดโลกซีรีส์ญี่ปุ่นให้เราและชอบดูตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”

พงศ์ (นามสมมติ) อายุ 36 ปี
พงศ์ (นามสมมติ) เล่าถึงความทรงจำของตัวเองที่มีต่อช่อง itv ว่าสิ่งแรกที่นึกถึงคือการเป็นสื่อมีคุณภาพ
“itv คือสื่อใหม่มากในยุคนั้น แบบแค่เปิดตัวคนก็พูดถึงเยอะมาก”
“ต้องยอมรับว่าสื่อในสมัยนั้นจะมีการกำกับจากหน่วยงานต่างๆ แต่ itv เป็นสื่อที่เปิดตัวมาว่ามีความอิสระไม่ขึ้นกับหน่วยงานไหน ประกอบกับมีพิธีกรที่เก่งๆ ในสมัยนั้น เลยทำให้รู้สึกว่าช่องไอทีวีนี่มันคือสื่อคุณภาพมาก ทำงานซื่อตรงกล้าที่จะทำข่าว กล้าที่จะวิเคราะห์ข่าวต่างๆ และไม่มีโฆษณา”
“อีกอย่างหนึ่งคือที่จำ itv ได้แม่นเลยคือ เพลงประกอบก่อนเข้ารายการข่าว ”

ปีโป้ (นามสมมติ) อายุ 26 ปี
ถึงจะเกิดทันตอนที่ช่อง itv ยังออนแอร์ แต่สำหรับปีโป้ (นามสมมติ) มันกลับเป็นช่องที่เขาไม่ค่อยเลื่อนรีโมตไปหาสักเท่าไร
“สำหรับเรา ช่อง itv นึกถึงทีวีจอตู้สมัยก่อน เป็นช่องที่เราไม่ค่อยกดไปสักเท่าไร จำได้ว่าช่องที่กดบ่อยๆ ตอนนั้นเป็นช่อง Modernine TV เพื่อดูการ์ตูน ส่วนช่อง itv เปิดไปทีไรต้องเจอแต่ผู้ใหญ่คุยกัน แล้วคุยแบบจริงจัง เราก็จะฟังเขาไม่ค่อยรู้เรื่อง itv เลยไม่ใช่ช่องที่ดึงดูดเราในตอนนั้น”
ถึงตอนมีอยู่จะไม่อิน แต่ ณ วันนี้ที่ช่อง itv กลับมาอยู่ในกระแสความสนใจของสังคมอีกครั้ง ทำให้ปีโป้รู้สึกว่าเหมือนช่องนี้ได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
“เรารู้สึกอินกับข่าวตอนนี้นะ ยิ่งมีคนที่เคยทำงานอยู่ itv ออกมาให้สัมภาษณ์ มันทำให้ช่อง itv ที่ตายไปแล้วกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
“เรารู้สึกว่าช่อง itv มันแสดงให้เห็นถึงการเป็นสื่อที่มีความอิสระ ไม่ขึ้นตรงกับใคร แต่ในมุมเราอีกนะ ก็รู้สึกว่าการมีอยู่ของช่องแบบนี้อยู่ได้ไม่นานหรอก มันน่าจะต้องมีฐานบางอย่างสนับสนุนถึงจะอยู่ได้ยาวๆ”