ภาพเด็กหญิงที่ลอยอยู่บนฟ้า ข้างล่างมีหัวใจดวงโตที่มีดาบทิ่มรอบๆ เป็นผลงานล่าสุดของ Tum Ulit
ตั้ม – ณฐกร อุลิตร คือคนที่วาดภาพดังกล่าวและอยู่เบื้องหลัง Tum Ulit เปิดเพจชื่อเดียวกันที่มีคนติดตามหลักล้าน ตั้มอธิบายผลงานชิ้นนี้ว่า ต้องการสื่อว่าตัวเขารับมือกับความเจ็บปวดยังไง ซึ่งเป็นหัวใจของงานนิทรรศการ Turn Your Scars into Stars #แม้จะเจ็บปวดแต่คุณก็งดงาม ที่ผลงานของตั้มปรากฎอยู่
‘ศิลปะ’ เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถเยียวยาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นสำหรับตั้มและศิลปินคนอื่นๆ ที่มาร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการดังกล่าว แต่ละคนก็มีวิธีรับมือและวาดภาพมันออกมาแตกต่างกันไป ภาพของตั้มคือผู้หญิงที่หลุดลอยจากความเจ็บปวด เหมือนที่เขากำลังทำตอนนี้

“มันเกิดจากตัวเราพยายามทำความเข้าใจกับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น จนมาถึงจุดหนึ่งเราจะหลุดพ้นมาได้ เราแปลงสิ่งที่เรารู้สึกมาเป็นภาพเพื่อสื่อสารออกไป เป็นเกมโจรสลัด วิธีเล่นเกมนี้ คือ จิ้มมีดไปที่ตัวถัง ใครจิ้มแล้วโจรสลัดเด้งออกถือว่าแพ้
“เราตีความเจ็บปวดเป็นมีด บางทีมันยากมากที่จะจิ้มทีเดียวแล้วหลุดออกมา ต้องจิ้มซ้ำๆ ก็เหมือนชีวิตเราที่บางทีถูกคนทำร้ายโดยที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ ถึงจุดหนึ่งเราโอเค เราจะหลุดลอยมาได้ อยู่เหนือปัญหา เราก็เอาความเข้าใจในชีวิตมาเหล่านี้มาแปลงเป็นภาพเพื่อสื่อสารให้ตัวเราเอง หรือใครสักคนมาดู เราอยากให้ภาพพวกนี้เมื่อเราย้อนกลับมาดู 5 ปีข้างหน้า เราจะจำได้ว่าเคยผ่านอะไรมา ความเจ็บปวดที่เราเจอตอนนั้น แล้วเราก้าวข้ามมันมาได้ เป็นไดอารี่ในชีวิตเรา”
Colorful Daggers เป็นชื่อที่ตั้มตั้งให้กับงานชิ้นนี้ บนผืนผ้าใบนี้ก็เต็มไปด้วยสีสันตามชื่อของมัน เหมือนกับชีวิตของตั้มที่บอกว่าตัวเองผ่านอะไรมา จนตอนนี้เขาก็ยังกำลังเรียนรู้ว่าแท้จริงแล้วมนุษย์จะหาความสุขให้แก่ตนเองอย่างไร
แล้วอะไรคือความสุขของเขา?
บทสนทนาต่อจากนี้ชวนไปทำความรู้จักกับตั้ม และหาวิธีก้าวข้ามความเจ็บปวดต่างๆ ที่เราต่างเผชิญไปพร้อมๆ กัน ซึ่งตั้มบอกว่าความเจ็บปวดเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่บอกว่าเราเป็นมนุษย์
บอกก่อนว่าเมื่อถึงตัวอักษรสุดท้ายบางคนอาจไม่เจอวิธีก็ไม่เป็นไร แค่ได้ทำความเข้าใจเหมือนที่ตั้มกำลังทำตอนนี้ก็เพียงพอแล้ว
ตั้มเป็นคนที่รู้ตัวว่าชอบวาดรูปตั้งแต่ป.4 มีสัญญาณอะไรบ้างที่บอกตั้มว่า การวาดการ์ตูนจะมาเป็นสิ่งที่เราทำจนถึงทุกวันนี้
ตั้งแต่เด็กเราชอบวาดการ์ตูนเล่นกับเพื่อน แล้วเพื่อนก็ชอบสิ่งที่เราวาดด้วย ทำให้เราอยากเป็นนักเขียนการ์ตูน เราตัดสินใจไปเรียนที่ญี่ปุ่นประเทศต้นตำหรับเลย แต่พอไปถึงแล้วมันมีหลายๆ อย่างที่ไม่ได้เหมือนที่เราคิดไว้ ก็กลับมาพร้อมกับความผิดหวัง คิดว่าคงไม่ได้เป็นแล้วอาชีพนี้
แล้วนิสัยอย่างหนึ่งของเราเวลามีเรื่องเจ็บปวดในใจ เราจะใช้วิธีวาดรูป express มันออกไป มีหลายครั้งที่เราเจอเรื่องเศร้า เรื่องที่มันอิมแพคกับชีวิตเรามากๆ แต่เราเอามันไม่ออก เหมือนเราเศร้ากับอะไรสักอย่างแต่ไม่มีวิธีระบายออกไป ซึ่งเราจะเห็นสิ่งนี้เป็นภาพๆ หนึ่ง ทำให้เราระบายมันออกด้วยการเขียนเป็นการ์ตูนช่องขึ้นมา คล้ายๆ เขียนไดอารี่ แต่เขียนเป็นการ์ตูนแทน
วาดออกมาก็ได้ปล่อยมันไป เรารู้สึกว่านี่เป็นการบำบัดอย่างหนึ่ง แล้วพอเป็นรูปวาดมันสามารถสื่อสารกับคนได้วงกว้างมากขึ้น ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการทำเพจและหลายๆ อย่างของเรา
นอกจากวาดรูป เคยมองหาวิธีอื่นไหมในการระบายความเจ็บปวดที่อยู่ในใจ
จริงๆ เราเป็นคนที่ชอบโทรไปเล่าให้เพื่อนฟัง มีเรื่องไม่สบายใจสักอย่างก็จะโทรไปหาเพื่อน แต่เรื่องมันถูกเล่าซ้ำๆ จนเราคิดว่าเพื่อนเองก็คงเบื่อจะฟังเรื่องนี้แล้ว เราเลยใช้วิธีการเล่าเรื่องเป็นภาพดีกว่า
ดูเหมือนการสื่อสารกับคนอื่นเป็นสิ่งที่ตั้มให้ความสำคัญ
เราว่ามันสำคัญมากนะ ถ้าเราอยากมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น มันเป็นสกิลที่ต้องฝึก ซึ่งเราทำได้ไม่ค่อยดีในบางครั้ง แต่เรารู้สึกว่าการที่เราจะเชื่อมกับใครสักคนได้ มันต้องผ่านการสื่อสาร


แล้วการที่เราพาตัวเองไปเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ มันสำคัญยังไงกับชีวิตของเรา
คำถามนี้น่าสนใจนะ เรายกตัวอย่างคนในครอบครัวละกัน ถ้าเราไม่ได้เชื่อมโยงกับเขา เราก็จะไม่รู้สึกว่าเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือกับเพื่อนเอง ถ้าเราไม่ได้สื่อสารกับพวกเขา ไม่ได้พูดคุยกัน เพื่อนก็คงค่อยๆ หายไป ซึ่งคงไม่ดีเท่าไร
เราคิดว่าการสื่อสารที่ดีมันจะเป็นตัวรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้ ส่วนจะเพื่ออะไรเราว่ามันแล้วแต่คน บางทีเราก็แค่รักและอยากดูแลคนคนหนึ่ง เก็บความสัมพันธ์นั้นไว้ตลอดไป
นอกจากตั้มใช้ภาพวาดเป็นตัวสื่อสารกับคนอื่น เราเคยใช้มันสื่อสารกับตัวเองไหม?
จริงๆ แล้วการวาดรูปมันคือการที่เราทำความเข้าใจกับตัวเองก่อน ถึงค่อยปล่อยออกไป เวลาเราจะวาดงานสักชิ้น เราจะสตาร์ทจากตัวเอง เป็นสิ่งที่เราพูดกับตัวเอง ถ้ามีคนผ่านมาดูแล้วรับรู้สิ่งนี้ เขาได้อะไรกลับไป เราว่านั่นเป็นของแถมที่มีคุณค่ากับเราเหมือนกัน คล้ายๆ กับเราสร้างบ้านสวยๆ ให้ตัวเองอยู่ อาจจะมีคนที่ผ่านมาเห็นแล้วรู้สึกว่าสวยจัง หรือได้ไอเดียอะไรกลับไป
ได้ยินว่าตั้มชอบคำว่า Good bye มากๆ จนถึงขั้นเอามาตั้งเป็นชื่อแมว ทำไมคำคำนี้ถึงมีผลกับเรา
ตั้งแต่เด็กเราเป็นคนที่ไม่ชอบการจากลา จำได้ว่าการจากลาครั้งแรกมันเกิดขึ้นตอนที่เราเริ่มจำความได้แล้ว เรารู้สึกว่าสิ่งนี้มันกระทบกับใจเรามากๆกับเรามากๆ การต้องจากใครสักคน มันยังมีผลกับเราตลอดมา
เราอยู่กับความรู้สึกที่ไม่ชอบสิ่งนี้มาเรื่อยๆ จนมาถึงจุดหนึ่งที่เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องสามัญ เป็นเรื่องที่คนต้องเจอ เราเลยอยากทำความรู้จักกับมัน เออ มาดูสิหน้าตามันเป็นยังไง มันจะเจ็บปวดขนาดไหน เลยตั้งชื่อแมวว่า Goodbye ด้วยความหวังว่าถ้าพูดมันบ่อยๆ ก็จะชินไปเอง
เคยหาเหตุผลไหมว่า ทำไมเราถึงพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่เราไม่ชอบ กลัวมาตลอด
เพราะเวลาการจากลาเกิดขึ้น เราจะอยู่กับคำถามที่ว่าทำไม… ทำไมถึงเกิดเรื่องแบบนี้ ก่อนหน้านี้เขาก็ดีแล้วทำไมถึงเป็นแบบนี้ ตั้งคำถามกับโน่นนี่นั่น จนเรารู้สึกว่าถ้ามัวแต่ตั้งคำถามแบบนี้ มันไม่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น เราต้องทำความเข้าใจต้นตอของปัญหา การจากลามันเป็นแค่ปลายทาง
ก็เจอว่าจริงๆ เราแค่กลัวการเปลี่ยนแปลง การจากลามันสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เรากลัว เราเลยต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับสิ่งนี้ มันคือการจัดการชีวิตแหละ ต้องสู้กับมัน การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้วก็ต้องยอมรับให้ได้ว่ามันเกิดขึ้น
ซึ่งวิธีนี้เราก็ใช้ทำความเข้าใจกับคนอื่นๆ ด้วย เราอยากรู้ว่าเขารู้สึกยังไง เช่น มีเพื่อนเราคนหนึ่งอกหัก เขาก็มาเล่าให้เราฟัง เราก็รู้สึกว่าทำไมไม่ทำแบบนี้ หรือทำไมคิดแบบนั้น มันเกิดจากเราที่ไม่เข้าใจเขาก่อน จนเราอยากทำความเข้าใจว่าอะไรที่ทำให้เขาทำแบบนั้น คงมีคำถามต่อว่าเราเข้าใจแล้วเราจะได้อะไรใช่ไหม? เราไม่ได้อะไรหรอก (ยิ้ม) เราแค่เรียนรู้จากตรงนั้นว่าคนเรามันก็หลากหลาย
หรือได้ความเข้าใจกลับคืนมา?
บางทีมันก็ไม่เข้าใจนะ (หัวเราะ)

ถ้าเราทำความเข้าใจจนเข้าใจแล้ว เราเคยเอาเรื่องเหล่านี้มาสื่อสารเป็นภาพบอกคนอื่นๆ ไหม?
ไม่รู้ว่าสิ่งนี้เรียกว่าเราเข้าใจไหม แต่ส่วนใหญ่เราจะทำความเข้าใจและตีความออกมาเป็นภาพ อย่างภาพของเรา (Colorful Daggers) มันเกิดจากตัวเราพยายามทำความเข้าใจกับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น จนมาถึงจุดหนึ่งเราจะหลุดพ้นมาได้ เราแปลงสิ่งที่เรารู้สึกมาเป็นภาพเพื่อสื่อสารออกไป เป็นเกมโจรสลัด วิธีเล่นเกมนี้ คือ จิ้มมีดไปที่ตัวถัง ใครจิ้มแล้วโจรสลัดเด้งออกถือว่าแพ้
เราตีความเจ็บปวดเป็นมีด บางทีมันยากมากที่จะจิ้มทีเดียวแล้วหลุดออกมา ต้องจิ้มซ้ำๆ ก็เหมือนชีวิตเราที่บางทีถูกคนทำร้ายโดยที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ ถึงจุดหนึ่งเราโอเค เราจะหลุดลอยมาได้ อยู่เหนือปัญหา เราก็เอาความเข้าใจในชีวิตเหล่านี้มาแปลงเป็นภาพเพื่อสื่อสารให้ตัวเราเอง หรือใครสักคนมาดู เราอยากให้ภาพพวกนี้เมื่อเราย้อนกลับมาดู 5 ปีข้างหน้า เราจะจำได้ว่าเคยผ่านอะไรมา ความเจ็บปวดที่เราเจอตอนนั้น แล้วเราก้าวข้ามมันมาได้ เป็นไดอารี่ของชีวิต
เรื่องที่ตั้มจะหยิบมาทำเป็นการ์ตูน หรือสื่อสารกับคนอื่นๆ มีวิธีเลือกไหมว่าจะเล่าอะไร
เป็นเรื่องที่เราเจอในชีวิตแล้วมันอิมแพคกับเรา เพราะถ้าไม่มีผลอะไรเราคงปล่อยมันไป แต่พอเรื่องพวกนี้มันมีผล เราก็อยากแชร์ให้คนอื่นฟัง เคยมีเพื่อนในเฟสบุ๊กสักคนที่จะโพสต์อะไรตลอดเวลาไหม? งานของเรามันคงคล้ายๆ แบบนั้น แต่เราใช้การวาดรูปเอา
ประเด็นที่การ์ตูนเราจะพูด หลักๆ จะเป็นเรื่องที่ไม่ได้ไปว่าร้ายใคร ไปเหยียด หรือบอกว่าสิ่งไหนถูก – ผิด เพราะเราไม่อยากทำตัวเป็นนิทานสอนเด็กที่บอกว่า โกหกเท่ากับไม่ดี บางคำโกหกก็อาจจะดีก็ได้ เราพยายามเลือกเรื่องที่มันสากล คนส่วนใหญ่มีประสบการณ์ร่วมด้วย อยากให้คนอ่านแล้วได้อะไรกลับไป
การ์ตูนของตั้มจะไม่มีคำพูดเลย เป็นภาพล้วนๆ ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของงานตั้ม
เราไม่อยากชี้นำว่าตัวละครพูดอะไร ไม่อยากปิดกั้นคนอ่าน เราอยากให้สิ่งนี้อยู่ในหัวของคนอ่านเอง สมมติถ้าเราใส่ว่าตัวละครนี้พูดอะไร มันจะทำให้นิสัยตัวละครปรากฎ เช่น ตัวละครนี้พูดว่า “เฮ้ย” หรือพูดว่า “ทำแบบนี้สิวะ” คำพูดมันอาจชี้นำได้ว่าตัวละครนี้นิสัยเป็นอย่างไร เราอยากทำให้ตัวการ์ตูนของเราไม่มีตัวตน ไม่มีคาแรกเตอร์ชัดเจน อยากให้คนอ่านแทนตัวเองเข้าไปได้
แล้วเราพยายามวาดตัวละครไม่ให้โดดเด่น จริงๆ ตามหลักการวาดการ์ตูนให้ประสบความสำเร็จ คือ ต้องวาดให้คนจำได้ แต่เราจะพยายามให้คนจำไม่ได้ (ยิ้ม) จะวาดให้หน้าคล้ายๆ กันหมด เรารู้สึกว่าพอตัวละครเป็นเหมือนคนทั่วไป คนอ่านจะเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับตัวละครได้ง่าย
เหตุผลหนึ่งที่ไม่ใส่คำพูดให้ตัวละคร เพราะกลัวตัวละครจะถูกตัดสิน แล้วตัวคนวาดเองเคยเจอการตัดสินด้วยคำพูดไหม?
เยอะนะ เราว่ามันเป็นเรื่องปกติที่คนเราจะพูดโดยไม่ได้คิดว่าจะทำร้ายใคร เราเคยเจอคอมเมนต์ในงานเราที่ว่าไปถึงตัวนักเขียน ดูนักเขียนไม่ได้เรื่องเลย ช่วงแรกๆ เราก็รับไม่ได้ คิดว่ามันต้องพูดขนาดนั้นเลยเหรอ บางทีเขาพูดโดยที่ไม่ได้รู้จักเราจริงๆ ด้วยซ้ำ

รับมือกับเรื่องนี้ยังไง
ตอนนี้ยังไม่มีนะ (หัวเราะ) แต่เราคิดว่าถ้ามันเป็นความคิดเห็นของเขา เราก็ต้องปล่อยมันไป ปล่อยให้เขาคิดของเขา แต่ถ้าสิ่งที่เขาพูดเป็นเรื่องจริงเราก็ต้องเอามาคิด เช่น การ์ตูนที่เราวาดอาจสร้างความเข้าใจผิดหรือกระทบใจในแง่ลบต่อคนอ่าน เราก็ต้องระวังเรื่องนี้มากขึ้น
มันก็เชื่อมโยงกับงานที่เราวาด ถึงจุดหนึ่งที่เราเจ็บปวดกับมันมามากพอแล้ว เราก็จะหลุดลอย
หลุดออกมาเพราะชินกับความเจ็บปวด หรือไม่สนใจอีกต่อไปแล้ว
เราว่าคิดได้ทั้ง 2 แบบเลย สำหรับเราไม่ใช่ความชาชิน แต่คือการที่…อ้อ เราเข้าใจแล้ว ซึ่งงานเราพยายามสื่อสารเรื่องนี้ ไม่ใช่เคยชินกับการโดนทำร้าย แต่เข้าใจว่าคนเราเป็นแบบนี้ ความเจ็บปวดเป็นแบบนี้ สุดท้ายพาตัวเองออกมาดีกว่า
ในการรับมือกับความเจ็บปวดของตั้ม มีไหมที่เราทำให้มันกลายเป็นมุมบวก หรือที่คนเรียกว่าโรแมนติไซส์ (Romanticizing)
เราที่เคยผ่านความเจ็บปวดมา สำหรับเรามันก็ไม่ได้เท่ มันก็เป็นความทรมานของการเป็นมนุษย์ แต่เราเลือกหยุดดูว่าจะเอาสิ่งนี้มาทำอะไรได้บ้าง ต่อยอดกับมันยังไง
บางทีความเจ็บปวดก็ทำให้เราฮึดทำอะไรสักอย่าง ทำให้เราเรียนรู้ชีวิตตัวเอง หรืออาจจะไม่ให้อะไรเลย เป็นความเจ็บปวดเฉยๆ แต่สุดท้ายเราก็หนีสิ่งนี้ไม่พ้น ทุกวันนี้ยังมีเรื่องที่ทำให้เราเจ็บปวด เราก็หาว่าจะใช้ประโยชน์อะไรจากมันได้บ้าง วิธีของเราคือแปลงมันออกมาเป็นภาพวาด คนอื่นๆ ก็มีวิธีใช้ประโยชน์จากความเจ็บปวดแตกต่างกันไป
งานของตั้มพูดถึงมนุษย์เกือบจะ 100% ถ้าให้เราถอยหลังกลับมาเป็นอะไรสักอย่างที่ยืนมองมนุษย์เหล่านี้ คิดว่าสิ่งมีชีวิตนี้จะเป็นยังไงในสายตาเรา
เรารู้สึกว่ามนุษย์ใช้ชีวิตเพื่ออะไรสักอย่าง เรามีชีวิตเพื่อตอบสนองบางอย่าง ตอนที่เราขับรถแล้วเจอรถติด เราจะนั่งคิดว่ามนุษย์จะไปไหนกัน เราจะไปที่ไหนกัน แล้วเราได้คำตอบว่าทุกคนทำอะไรสักอย่างเพื่อตอบสนองในเชิงร่างกายและจิตใจ
เช่น เราทำงานเพื่อมีเงินมาซื้อของกิน ทำให้ร่างกายเราดำรงชีวิตอยู่ได้ มนุษย์มันก็แค่ใช้ชีวิตเพื่อดำรงอยู่ อาจจะเพื่อตัวเอง ครอบครัว หรืออะไรก็ตาม

แล้วถ้าให้มองตัวเองย้อนกลับไปช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา งานของตั้มพูดถึงอะไรบ้าง
เราไม่ได้พูดถึงความเศร้าแบบอกหักเท่าไรแล้ว เราเริ่มเขียนงานตอนอายุ 25 – 26 งานแรกๆ เราจะพูดถึงความรักซะส่วนใหญ่ ทำให้คนจำเราได้จากสิ่งนี้ ตอนนี้เราอายุ 30 มันก็เปลี่ยนไป เราเริ่มสนใจเรื่องอื่นมากขึ้น เช่น เรื่องความผิดหวังจากการดำเนินชีวิต งานมันค่อยๆ โตไปตามเรา ส่วนเราก็แค่ใช้ชีวิตนั้นแล้วเอามาสร้างเป็นงานต่อ
เด็กชายตั้มป.4 ที่วาดรูปครั้งแรกกับตั้มที่อายุ 30 ปี พวกเขาแตกต่างกันไหม?
เรารู้สึกว่าตอน 10 ขวบมันเพียวกว่า ไม่ได้มีเรื่องให้คิดเยอะตอนวาดรูป ขณะที่วัย 30 เรามีเรื่องให้คิดเยอะ ซึ่งเราก็พยายามกลับไปเป็นเด็กคนนั้นอยู่นะ เราพยายามจะกลับไปเป็นเด็กที่วาดด้วยความสุข ไม่มีเรื่องให้คิดเยอะ ตอนนั้นเราจำได้ว่าเวลาวาดรูปเราไม่ได้ร่างด้วยซ้ำ วาดช่องต่อช่องไปเรื่อยๆ มันมีความสุขมากๆ ขณะที่ตอนนี้วาดไปก็กังวลไป คนจะเข้าใจไหม จะกระทบใครหรือป่าว
แต่มีสิ่งที่เราในวัย 30 ทำได้ คือ เราสานฝันของเด็ก 10 ขวบคนนั้นให้สำเร็จได้
ความฝันของเด็กคนนั้นคืออะไร
เขียนการ์ตูนที่ดี มีคนชื่นชอบงาน เลี้ยงเป็นอาชีพได้ แต่เราในวัย 30 ก็คิดถึงเด็ก 10 ขวบที่เริ่มมีความฝันเหมือนกัน เพราะชีวิตเรามันก็ผ่านความเจ็บปวด เรื่องราวต่างๆ มามากมาย บางทีพอเรารู้สึกไม่สนุกกับการวาดรูปเท่าเดิม เราก็จะพยายามกลับไปเป็นเด็กคนนั้น
เด็ก 10 ขวบคนนั้นยังอยู่ในตัวเราไหม?
ยังอยู่นะ เราเชื่อว่าทุกคนยังมีความเป็นเด็กอยู่ เขาแค่อยู่ในลึกๆ ในตัวเรา มันเป็นสิ่งที่เราพยายามค้นหาในช่วงนี้ เพราะบางทีเราก็ไม่มีความสุขกับเรื่องต่างๆ ที่เข้ามา เลยพยายามจินตนาการว่าเราในวัย 10 ขวบจะดีลกับเรื่องนี้ยังไง หรือเรา 10 ขวบจะใช้ชีวิตอย่างไร เพื่อให้เราดึงความสามารถนั้นใช้ชีวิตต่อไปได้
ยกตัวอย่าง เมื่อก่อนเราวาดด้วยความรู้สึกแค่อยากวาด มันมีความสุขมากๆ แต่วัย 30 เราอาจจะลืมความรู้สึกนี้ไปแล้ว อาจจะสนใจแค่ว่าวาดเสร็จไหม ซึ่งตอนเรา 10 ขวบ เราไม่ได้สนใจเลยว่าจะวาดเสร็จไหม ก็แค่วาดมีความสุขแล้ว แต่วัยนี้ทำให้เราลืมไปแล้วว่าความรู้สึกระหว่างวาดเป็นยังไง เราไปคิดแต่ว่าคนจะชอบมั้ย จะขายได้มั้ย เราไปโฟกัสกับเรื่องนี้จนไม่มีความสุขระหว่างทาง
จนเราไปนั่งที่ร้านกาแฟ เจอน้องคนหนึ่งที่ยังพูดไม่ค่อยได้ แต่เขาเห็นหน้าเรา เขาก็ยิ้มแล้วหัวเราะอยู่นั้นแหละ วิ่งไปวิ่งมาทั่วทั้งร้านหัวเราะอยู่คนเดียว เราก็คิดว่า เออ มันง่ายนะ เขาไม่ต้องมีปัจจัยอื่นมาทำให้ตัวเองมีความสุข เราคิดว่าความสุขมันคงเป็นธรรมชาติของเด็ก แต่พอยิ่งโตขึ้นเรื่อยๆ ธรรมชาตินี้มันกลับหายไป ความสุขมันยิ่งยากขึ้นเรื่อยๆ แล้วเราก็ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เลยพยายามหาทางกลับไปเป็นเด็กคนนั้นอีกครั้ง