“คุณครู ทำไมหนูทำไม่ได้” กู้ทักษะที่หายไปในห้องเรียนให้คืนมา พิสูจน์แล้วในโรงเรียนวัดศรีสำราญราษฎร์บำรุง (แช่มประชาอุทิศ)

“ติดกระดุมเสื้อ รูดซิปกางเกง ใส่ถุงเท้า ใส่รองเท้า เรื่องง่ายๆ แต่กลายเป็นว่าเด็กทำไม่ได้”

ตลอดเวลา 2 ปีที่ผ่านมาในช่วงการระบาดของโควิด-19 เด็กๆ ทุกระดับชั้นจำเป็นต้องเรียนหนังสือด้วยข้อจํากัดมากมาย หากมุ่งเน้นไปที่เฉพาะเด็กเล็ก การเรียนหนังสือผ่านระบบออนไลน์นั้นสร้างผลกระทบต่อทักษะสำคัญและพัฒนาการต่างๆ ทั้งในเชิงวิชาการและการดูแลตัวเองในชีวิตประจำวัน

ข้อเท็จจริงดังกล่าวสะท้อนผ่านโรงเรียนขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร ที่มีนักเรียน 1,294 คน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงประถมศึกษา (อ.1-ป.6) ผลกระทบจากโควิด-19 จึงเป็นบาดแผลทางการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจริงและต้องได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงทีที่โรงเรียนวัดศรีสำราญราษฎร์บำรุง (แช่มประชาอุทิศ)

โรงเรียนวัดศรีสำราญราษฎร์บำรุง

มรดกจากโรคระบาด ทำทักษะสำคัญหล่นหาย

เมื่อสิ้นสุดภาคเรียนแรกของปีการศึกษา 2565 กับการเปิดเรียนเต็มรูปแบบ สัญญาณเตือนถึงบาดแผลทางการเรียนรู้กำลังแจ้งเตือนว่า ‘เด็กในยุคโควิด-19 ต้องการความช่วยเหลือ’

ดร.วรรณกร ทวีแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดศรีสำราญราษฎร์บำรุง (แช่มประชาอุทิศ)

ดร.วรรณกร ทวีแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดศรีสำราญราษฎร์บำรุง (แช่มประชาอุทิศ) กล่าวว่า แม้วันนี้สถานการณ์โรคระบาดจะเริ่มคลี่คลายแล้ว แต่ในช่วงที่ผ่านมาพบว่าเด็กๆ แทบทุกระดับชั้นในโรงเรียนต่างได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเด็กอนุบาลที่ทักษะขั้นพื้นฐานแทบทุกมิติของพวกเขาหายไป เด็กๆ จำนวนไม่น้อยลืมวิธีการอ่าน ลืมการเขียน บางคนจำไม่ได้แม้แต่ตัวอักษร ลืมคำศัพท์ง่ายๆ หรือแม้แต่การเขียนชื่อนามสกุลตัวเองก็ทำไม่ได้ 

ที่สำคัญการเรียนออนไลน์ที่ต้องใช้เวลาไปกับหน้าจออย่างยาวนาน ยังส่งผลต่อสมาธิ ทำให้เด็กขาดปฏิสัมพันธ์กับสังคม การเรียนออนไลน์ไม่ต่างจากการสื่อสารทางเดียวที่ครูและนักเรียนถูกแยกกัน นักเรียนไม่สามารถรับความรู้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ขาดการลงมือปฏิบัติจริง ไม่ได้วิ่งเล่น ไม่ได้ฝึกใช้แขนขา ส่งผลต่อการพัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อ พัฒนาการทางด้านสติปัญญา เด็กๆ สามารถช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำได้ เช่น กิจกรรมง่ายๆ อย่างการติดกระดุมเสื้อ รูดซิปกางเกง ใส่ถุงเท้า ใส่รองเท้าให้ถูกข้าง ซึ่งหากเป็นในช่วงเวลาปกติ พวกเขาควรจะทำได้บ้าง เพราะเป็นพัฒนาการที่ดำเนินไปตามวัย

นอกจากนั้นยังพบปัญหาเรื่องความพร้อม ในช่วงการเรียนออนไลน์มีครอบครัวจำนวนมากไม่สามารถจัดสรรอุปกรณ์ให้เด็กเรียนได้ เนื่องจากผู้ปกครองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง ครอบครัวมีฐานะยากจน-ปานกลาง ช่องโหว่งดังกล่าวทำให้นักเรียนจำนวนหนึ่งต้องขาดการเรียนรู้อย่างไม่มีทางเลือก

“นี่คือภาวะ Learning loss หรือเรียกเป็นภาษาไทยว่าภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ ที่หมายถึงความสามารถของเด็กหายไปจากสถานการณ์โควิด-19 เพราะเขาไม่ได้มาเรียนที่โรงเรียน ไม่ได้เรียนรู้ในการฝึกพัฒนาการตามปกติ เขาเป็นเด็ก ป.5 แต่เมื่อเปิดเทอมมา ความรู้ความสามารถเหลือแค่ประมาณ ป.4 หรือ ป.3” ผอ. โรงเรียน กล่าว

‘คุณครู ทำไมหนูทำไม่ได้’ เกิดอะไรขึ้นในห้องเรียนหลังโควิด-19

เมื่อเด็กเล็กเริ่มเข้าเรียนอีกครั้ง แต่กลับไม่มีโอกาสได้ฟื้นฟูเรียนรู้ทักษะหรือการเตรียมความพร้อมทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา อาจส่งผลให้พวกเขาไม่มีความสุขกับการเรียนหนังสือ

ครูโอ๋ – นิศา ภู่แดง

ครูโอ๋ – นิศา ภู่แดง ครูอนุบาล 3 โรงเรียนวัดศรีสำราญราษฎร์บำรุง (แช่มประชาอุทิศ) ในฐานะผู้ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด เล่าว่า ตั้งแต่เปิดเทอมมา ปัญหาอย่างแรกที่พบคือเรื่องทักษะชีวิตต่างๆ และพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมือ เมื่อเด็กๆ กลับมาสู่ห้องเรียนอีกครั้ง หลายคนไม่มีความสุข ไม่อยากมาโรงเรียน เพราะเขาไม่สามารถทำบางอย่างได้เหมือนก่อน เช่น ลืมวิธีจับดินสอ จับดินสอผิดวิธี (กำหมัดเขียนหนังสือ) รวมไปถึงความสามารถในการลากเส้น การเขียน 

“ตามปกติในวัยอนุบาล 1 จะมีแบบฝึกหัดให้เขาได้ลองจับดินสอลากเส้นตามรอยประ แต่พอเปิดเทอมมา เด็กทำไม่ได้ ครูจึงต้องใช้เวลาฝึกใหม่ให้เขาทำซ้ำๆ โดยประมาณ 2 สัปดาห์ จนปัจจุบันมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ส่วนการฝึกในระดับอนุบาล 2-3 จะเน้นการฝึกกล้ามเนื้อมือ ผ่านกิจกรรมการปั้นดินน้ำมันและกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ เช่น งานประดิษฐ์ที่ต้องอาศัยการฉีกกระดาษ ตัดกระดาษ เพื่อให้กล้ามเนื้อมือกลับมาแข็งแรง”

ครูโอ๋ อธิบายว่า หัวใจของการเรียนการสอนของเด็กอนุบาล คือ การปูพื้นฐานให้เด็กมีความพร้อมมากที่สุดเพื่อเข้าสู่ในระดับประถมศึกษา โดยในช่วงอนุบาล 1-3 นั้น จะมุ่งเน้นไปที่การปรับพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในโรงเรียน ทักษะการใช้ชีวิตประจำวัน ทักษะเชิงวิชาการ(เบื้องต้น) และสำคัญที่สุดคือเตรียมความพร้อมของพัฒนาการร่างกายกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น ข้อมือ นิ้วมือ แขน และสายตา

ดังนั้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาจึงเป็นความท้าทายของครูอนุบาลที่ต้องออกแบบตารางเรียนของเด็กอนุบาลให้สอดรับกับสิ่งที่หายไปในช่วงโควิด-19 ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ในรูปแบบต่างๆ

เปลี่ยนตารางเรียนเป็นตารางเล่น ฟื้นฟูพัฒนาการกล้ามเนื้อให้กลับมา

เมื่อการเรียนรู้ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ โรงเรียนวัดศรีสำราญราษฎร์บำรุง (แช่มประชาอุทิศ) จึงได้รับคัดเลือกจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาครให้เข้าร่วมโครงงานพัฒนารูปแบบการจัดการรู้เรียนเพื่อลดภาวะถดถอยและฟื้นฟูการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนในจังหวัดสมุทรสาคร ดำเนินการภายใต้ชื่อ ‘โครงการ Smart Kids พิชิต Learning loss’ ซึ่งโครงการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อลดภาวะถดถอย ได้รับการสนับสนุนจาก 3 องค์กรหลัก ได้แก่ มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรี่โฮม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และองค์การยูนิเซฟประเทศไทย

ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดศรีสำราญราษฎร์บำรุง (แช่มประชาอุทิศ) อธิบายถึง กิจกรรมในโครงการที่ใช้ฟื้นฟูภาวะ Learning loss สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาล ไว้ว่า เริ่มพัฒนาตั้งแต่อนุบาล 1-3 โดยเน้นการเรียนรู้ผ่านความสร้างสรรค์ ซึ่งมอบหมายให้ครูผู้สอนได้ออกแบบกิจกรรมเป็นกลุ่มย่อยอย่างหลากหลาย โดยมีเป้าหมายคือการบูรณาการกิจกรรมให้อยู่ในรูปแบบ Active learning โดยใช้สื่อประกอบ ที่จะช่วยพัฒนาทักษะทางด้านภาษาไทย คณิตศาสตร์ และพัฒนาการด้านร่างกาย ซึ่งสอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางตามที่กระทรวงได้กำหนด

ทั้งหมดจึงออกมาเป็นกิจกรรมในแต่ละวันที่เด็กอนุบาลต้องเรียนรู้ทั้งหมด 6 กิจกรรมหลัก ได้แก่

  • กิจกรรมส่งเสริมการเคลื่อนไหวและจังหวะ : ส่งเสริมให้เขาได้ขยับร่างกาย ออกกำลังกาย เต้นประกอบเพลง รวมถึงได้ทดลองการสลับกันเป็นผู้นำ-ผู้ตาม 
  • กิจกรรมเสริมประสบการณ์ : เรียนรู้เนื้อหาในหน่วยต่างๆ โดยให้เด็กนั่งเป็นวงกลมเพื่อแลกเปลี่ยนไปพร้อมการบูรณาการร่างกาย ผ่านการ Active learning 
  • กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ : เด็กๆ จะได้เลือกทำงานศิลปะที่เขาสนใจด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการปั้นดินน้ำมัน การวาดภาพระบายสี การฉีกปะกระดาษ การร้อยเชือก
  • กิจกรรมกลางแจ้ง : วิ่งเล่นอย่างอิสระในสนามเด็กเล่นของโรงเรียน
  • กิจกรรมเกมการศึกษา เรียนรู้ในหน่วยสาระต่างๆ ในรูปแบบเกม เช่น เกมนับเลข พยัญชนะ อักษรภาษาอังกฤษ เพื่อฟื้นฟูทักษะเชิงวิชาการ
  • กิจกรรมชีวิตประจำวัน : ส่งเสริมให้เด็กสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น การแปรงฟัน พับที่นอน ใส่รองเท้า

โดยทุกกิจกรรมที่เด็กอนุบาลได้ทำในแต่ละวัน ต้องผ่านการทำการบ้านของคณะครู เพื่อนำมาเขียนแผนการสอนว่าแต่ละสัปดาห์เด็กๆ จะได้เรียนรู้อะไรบ้าง โดยโจทย์คือต้องสอดแทรกการเสริมพัฒนาการที่ตกหล่นไป ไม่ว่าจะเป็นการทำงานศิลปะที่ต้องฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กทั้งมือและสายตา การแปรงฟันด้วยตัวเอง การได้วิ่งเล่นโหนบาร์อย่างสนุกสนาน ทั้งหมดช่วยเสริมความแข็งแรงให้พัฒนาการด้านร่างกาย

เด็กอนุบาลในวันนี้คือพี่ประถมในวันหน้า 

รายงานฉบับพิเศษห้องเรียนฟื้นฟูหลังโควิด-19 จากกสศ. ระบุข้อมูลไว้ว่า วัยอนุบาลและประถมศึกษาตอนต้นคือพื้นฐานสําคัญของการเรียน การอ่าน การคิดเลข หากเริ่มต้นไม่ดี เด็กไม่สามารถเรียนตามได้ทัน มีความเสี่ยงสูงในอนาคตที่พวกเขาอาจจะหลุดออกนอกระบบ

ครูเกศ เกศกนก ตูบสันเทียะ

ครูเกศ เกศกนก ตูบสันเทียะ ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 สะท้อนถึงปัญหาที่พบระหว่างช่วงรอยต่อวัยอนุบาลและประถมตอนต้นไว้ว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมา เมื่อเด็กๆ ต้องอยู่บ้านเพื่อเรียนออนไลน์ ทำให้เขาไม่ได้ฝึกฝนทักษะที่จำเป็น เนื่องจากมีพ่อแม่ช่วยดูแลตลอดเวลา ส่งผลให้เมื่อเด็กอนุบาล (ยุคโควิด-19) เปิดเทอมมาเป็นพี่ประถม เขาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ตามที่ควรจะเป็น

“เด็กอนุบาลผู้ชายจะใส่กางเกงยางยืด แต่เมื่อเปิดเทอมกลายเป็นพี่ประถม เขาจะต้องใส่กางเกงที่มีเข็มขัด เราพบว่ามือของเด็กไม่แข็งแรง เขาไม่สามารถรูดซิปและถอดเข็มขัดเองได้ หรือถ้าทำได้ แต่จะทำได้อย่างลำบาก ทำให้มีปัญหาการเข้าห้องน้ำ และไม่มีความสุขในการมาโรงเรียน”

นอกจากนั้นเด็กหลายคนยังท้อแท้กับการเรียนรู้ เพราะทักษะด้านการอ่านเขียนไม่เป็นไปตามพัฒนาการ ครูเกศกล่าวว่า ตามปกตินักเรียนในวัยประถมต้นจะสามารถอ่านหรือท่องจำพยัญชนะ ก-ฮ ได้บ้าง แต่สิ่งที่ครูประถมต้องเจอคือ เด็กหลายคนไม่สามารถอ่านพื้นฐานเสียงหรือผสมคำในเบื้องต้นได้

ฉะนั้นสิ่งที่ครูต้องทำคือการย้อนไปสอนความรู้เบื้องต้นเสมือนที่เขายังเป็นเด็กอนุบาล เช่น การฝึกอ่าน ก-ฮ / สระ / ตัวเลขไทย / ตัวเลขอารบิก /การผสมคำ รวมถึงการฟื้นฟูเรื่องการเขียน อย่างการฝึกคัดเส้นประ และจำเป็นต้องเพิ่มชั่วโมงการเรียน โดยนำกิจกรรมของน้องวัยอนุบาลมาปรับใช้ เช่น กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ 

รวมถึงการจับคู่นักเรียนให้ฝึกอ่านเขียนกันเอง เด็กวัยประถมต้นเป็นวัยที่ให้ความสำคัญกับความสามารถของตน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนหรือการเข้ากับเพื่อนจะทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญเป็นที่พึ่งพาของคนอื่นได้และช่วยเพิ่มความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น

“การโตเป็นพี่ป.1 เด็กเขากดดันนะ ตอนอนุบาลเขาเคยได้นอนกลางวัน ได้วิ่งเล่น เคยได้เรียนอย่างอิสระ ยิ่งทักษะหายไป ทำให้เขาทำตามเพื่อนไม่ทัน เขียนหนังสือไม่ได้ ครูเองก็ต้องทำหน้าที่สังเกตและค่อยๆ เติมทักษะที่หายไปให้เขา รวมถึงสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายให้จิตใจเขาพร้อมเรียนรู้”

ครูเกศ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากทักษะเชิงวิชาการที่หล่นหายไปเนื่องจากการปิดเทอมที่ยาวนาน เด็กๆ ยังได้รับผลกระทบด้านจิตใจเช่นกัน 

“เด็กประถมบางคนมีปัญหาด้านการปรับตัวกับสังคมโรงเรียน เพราะขาดการปฏิสัมพันธ์ บางทีเขาเล่นกับเพื่อนแรงไป เพราะประเมินกำลังตัวเองไม่ถูก เช่นเดียวกันการเรียนออนไลน์ที่อยู่บ้านนาน ทำให้เด็กบางคนขี้กลัว ไม่กล้าแสดงออก เงียบ ไม่กล้าบอกครูว่าตัวเองอยากไปเข้าห้องน้ำ”

ดังนั้น ตลอดช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟู ครูเกศในฐานะครูประถมศึกษา จึงต้องทำหน้าที่ฟื้นฟูทักษะทางกายและทางจิตใจไปพร้อมกัน ผ่านการสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยให้เด็กไว้วางใจ เช่น เล่านิทาน หรือสลับเปิดเพลงในช่วงพักกลางวัน

“เด็กป.1 เป็นช่วงรอยต่อสำคัญระหว่างวัยอนุบาล ครูต้องห้ามใจร้อนกับพัฒนาการของเขา เด็กแต่ละคนมีเวลาเติบโตที่ต่างกัน บางคนไปไว บางคนไปช้า ครูต้องยินดีที่จะอดทนรอพัฒนาการของเขาให้งอกงาม การเร่งรัดเรียน เร่งเขียน ไม่ได้ช่วยให้อะไร ความสม่ำเสมอและต่อเนื่องเท่านั้นที่จะทำให้เขาเติบโตอย่างแข็งแรง” 

ทำงานเป็นทีม ผอ.รับฟังครู ครูเข้าใจนักเรียน ทักษะจึงกลับคืนมาได้

ภารกิจฟื้นฟูความถดถอยทางการเรียนรู้ที่รุนแรงนี้จะบรรลุวัตถุประสงค์ไม่ได้ หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมองเห็นภาพไม่ตรงกัน 

ดร. วรรณกร ทวีแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียน เล่าถึงเบื้องหลังความสำเร็จของโครงการฟื้นฟูภาวะ Learning loss ไว้ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสื่อสารอย่างเป็นทีม

“ผอ. ต้องสื่อสารให้ครูเข้าใจว่าเป้าหมายในการฟื้นฟูของเด็กคืออะไร เมื่อทุกคนมีเป้าหมายร่วมกันนั่นคือฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียนให้ดีขึ้น เมื่อเข้าใจตรงกัน ผอ. ไม่กดดันให้ครูเร่งทำให้เด็กมีคะแนนสูง แต่สร้างความเข้าใจให้คุณครูเข้าใจธรรมชาติ สภาพ ความรู้ ความสามารถของเด็กว่าเขาไม่เหมือนเมื่อก่อน”

“ดังนั้นเมื่อครูสอนเด็ก อาจต้องใช้ความอดทนและใจเย็นกับเขาให้มากๆ ผอ.ไม่กดดันครูแล้ว เพราะฉะนั้นครูก็อย่ากดดันเด็ก ให้เด็กได้เรียนรู้ไปตามพัฒนาการของเขาให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด นี่จึงเป็นส่วนที่ทำให้เราสามารถจัดการเรียนการสอนได้ เด็กๆ เรียนรู้ได้อย่างมีความสุข และรู้สึกปลอดภัยในโรงเรียนของเรา”

กระบวนการบูรณาการฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ จำเป็นต้องทำงานร่วมกับการเรียนการสอนในเวลาปกติ สำคัญที่สุดคือโรงเรียนจะต้องไม่ทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าเขาอยู่ในภาวะ Learning loss 

คุณครูต้องประเมินลำดับความพร้อมจากหน้างานจริงๆ หากพบว่าใครที่กำลังเผชิญกับปัญหาทักษะที่หล่นหายไป เพียงแค่หมั่นดูแลเด็กกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งผลดีของการไม่ทำงานแยกส่วนนี้ นอกจากจะทำให้เด็กไม่รู้สึกแปลกแยกหรือมองว่าตนเองมีปัญหาแล้ว ยังไม่เป็นการเพิ่มภาระให้ครูอีกด้วย เรื่องกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ จะสอดคล้องไปในเนื้องานที่ครูทำปกติอยู่แล้ว

ผลลัพธ์แห่งการโครงการฟื้นฟูทักษะในปีแรกเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น แม้ผลสัมฤทธิ์อาจไม่สูงที่สุด ทว่ายังคงจะดำเนินการพัฒนาทักษะต่างๆ ให้นักเรียนทุกระดับชั้นไม่เพียงแค่เด็กอนุบาลเท่านั้น ภารกิจต่อไปยังคงเดินหน้าต่อ

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนว่าโรงเรียนแห่งนี้มาถูกทาง คือพัฒนาการต่างๆ ของเด็กได้กลับคืนมา พวกเขาเขียนหนังสือได้ถูกต้องมากขึ้น สำคัญที่สุดคือครูสัมผัสได้ว่าพวกเขามีความสุขและอยากมาโรงเรียน

“ครูสังเกตได้ว่าช่วงหลังๆ ที่เราพาเขาทำกิจกรรม เด็กๆ เขาชอบและอยากมาโรงเรียน ทุกเช้าจะเดินมาที่โต๊ะครู มาส่องว่าครูเตรียมอะไรให้เขา มีสีน้ำ ดินน้ำมัน มีกรรไกร มีกระดาษสี เขาจะรอด้วยใจจดใจจ่อ เป็นเรื่องสนุกที่เขาอยากทำด้วยตัวของเขาเอง” ครูโอ๋ ครูอนุบาล 3 เล่า

เกิดอะไรขึ้นในห้องเรียน?
เมื่อเด็กเจอ Learning Loss หรือภาวะถดถอยทางการเรียนรู้หลังโควิด-19


เด็กอนุบาล 
พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ไม่แข็งแรง ไม่สามารถดูแลตัวเองในชีวิตประจำวันได้ ทางออกคือการจัดกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูให้เด็กๆ ใช้มือทำกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น กิจกรรมการปั้นดินน้ำมัน  การฉีกกระดาษ การใช้กรรไกรตัดกระดาษ  การนำกระดาษสีมาปะเป็นภาพงานศิลปะ  และฝึกฝนการขีดเขียน โดยใช้วิธีลากเส้นพื้นฐานง่ายๆ   รวมถึงการจับดินสอให้ถูกวิธี

เด็กประถมต้น
กระทบต่อทักษะสำคัญต่างๆ เช่น ทักษะการอ่าน ทักษะการคิดเลข ทักษะการสื่อสาร ทักษะการเขียน เช่น เด็กไม่สามารถอ่านเขียนพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ หรือคำศัพท์ง่ายๆ เด็กเขียนหนังสือไม่มีระเบียบ ไม่สามารถเขียนชื่อนามสกุลตัวเองได้ บวกลบเลขง่ายๆ ไม่ถูกต้อง จับดินสอไม่ถูกวิธี รวมถึงการดูแลตัวเองในชีวิตประวัน เนื่องจากพัฒนาการกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ไม่พร้อมสำหรับสำหรับการเรียนรู้ ทางออกคือฝึกฝนพัฒนาการและทักษะเชิงวิชาการที่หายไปผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์

ที่มา : โครงการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อลดภาวะการเรียนรู้ถดถอยและฟื้นฟูการเรียนรู้ (Learning Loss) โรงเรียนวัดศรีสำราญราษฎร์บำรุง (แช่มประชาอุทิศ)