เติบโต เจ็บปวด และผ่านพ้นของ ‘เด็ก’ :  ฟัง 4 เสียงเยาวชน จาก TEDxBangkok Youth 2023 

ไม่มีวัยไหนไม่เจ็บปวด และไม่มีวัยไหนไม่มีเรื่องราวของตัวเอง เราเชื่อว่าพลัง และเรื่องราวของเด็กสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกับคนในช่วงวัยอื่นๆ หากพวกเขาไม่ถูกตีกรอบเอาไว้ด้วยความเป็นเด็ก TEDxBangkok Youth 2023 : UnleashXpression คืองานที่ชวนทุกคนมาตั้งคำถามกับช่วงวัย และปลดปล่อยความเป็นเด็กในตัวของทุกคนอีกครั้ง 

Mutual ดึงเอาเรื่องเล่าจากเยาวชน 4 คน ‘เอิน’ เยาวชนพิการทางการได้ยิน ‘จิรัล’  ตัวแทนแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ ‘เฟรม’ หนึ่งใน TRAINEE รายการ 789SURVIVALและ ‘โอ๋’ นักศึกษา “ไร้สัญชาติ” ที่จะมาบอกเล่าการเติบโต ความเจ็บปวด และการผ่านพ้นของเด็กนั้นเป็นอย่างไร

พวกเค้าปลดปล่อยสิ่งเหล่านี้ออกมาได้ เพราะเค้ารู้ว่าตรงนี้คือพื้นที่ปลอดภัยและมีคนฟัง

โลกที่มีแต่คำถาม – ‘เอิน’ นางสาวชนิดาภรณ์ มาตรวังแสง อายุ 15 ปี เยาวชนพิการทางการได้ยิน 

เอินเป็นคนหูหนวก เอินไม่สามารถสื่อสารได้ด้วยการพูด เอินเกิดมาเป็นคนหูหนวก ซึ่งหมายความว่าเอินไม่ได้ยินเสียง ออกเสียงไม่ได้ เสียงที่เอินได้ยินมันไม่ชัดเจน เอินอาจจะอ่านปากเป็นคำได้ แต่ก็เป็นคำสั้นๆ 

สำหรับคนอื่น การสื่อสารในครอบครัวอาจเป็นเรื่องที่ง่ายดาย แต่สำหรับเอินมันเป็นเรื่องที่ยากมาก เอินลูบท้องบอกแม่ว่าเอินหิวข้าว แต่แม่กลับเข้าใจว่าเอินปวดท้อง แล้วให้ยาเอินมา เอินก็งงมากกว่าทำไมเราได้ยามากินทั้งๆ ที่เราหิวข้าว 

เอินไปซื้อของที่เซเว่นกับแม่ หยิบขนม แต่แม่พูดว่า พอได้แล้ว แต่เอินอ่านปากได้ว่า เอามาอีก แม่โกรธเอินว่าทำไมเอินไม่เข้าใจ เอินเองก็ไม่เข้าใจค่ะว่าทำไมแม่ถึงโกรธเอิน 

แม้แต่เรื่องการกินง่ายๆ อย่างเช่น เอินอยากกินก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก ก็ได้ก๋วยเตี๋ยวราดหน้ามากิน 

การสื่อสารที่ไม่ตรงกันและยากแบบนี้ บางทีเอินต้องหารูปต่างๆ มาอธิบายให้แม่เข้าใจ จนคิดว่าคงไม่ต้องอธิบายแล้วล่ะ ได้อะไรก็กินแบบนั้น 

ทำไมทั้งโลกนี้มีแต่คำถาม คำถามสำหรับคนอื่นๆ คนที่เรียกเอินว่าเป็นคนใบ้ คนใบ้คือคนที่ไม่สามารถพูดได้ ต้องใช้ท่าทางต่างๆ ในการสื่อสาร สำหรับคนหูหนวกเองแล้ว เราไม่ได้รู้สึกแบบนั้นค่ะ เราภูมิใจที่เราเป็นคนหูหนวก เราใช้ภาษามือสื่อสาร แต่เอินก็เหมือนกับทุกๆ คนนะคะ เวลาเรานั่งรถไฟฟ้า เอินชอบใช้หูฟังฟังเพลง แต่การฟังเพลงของเอินอาจจะรบกวนทุกๆ คน เพราะเสียงที่เอินฟังต้องดังมาก แต่เสียงเพลงก็เป็นความสุขของเอินเหมือนกับทุกคน แต่เอินก็ฟังเพลงแบบที่เอินก็ไม่รู้หรอกนะคะว่าเนื้อหามันเป็นยังไง 

ถ้าละครหรือหนังที่มีบทพูดมากๆ เอินก็ไม่ได้ดู เพราะการดูซับแล้วดูละครไปมันดูไม่ทัน ถ้าจะขอให้มีล่ามภาษามือในนั้น ทุกคนก็จะบอกว่า จะเอาล่ามไว้ตรงไหน มีซับแล้วไม่พอหรือ จนเรารู้สึกว่ามันยากหรืออย่างไร ทำไมโลกใบนี้มีแต่คำถาม ทำไมกิจกรรมต่างๆ ที่เราอยากทำเพื่อจะออกไปสู่โลกที่ไม่มีคำถาม มันจะเป็นไปได้มั้ย 

เอินลองใช้กิจกรรมศิลปะ แต่กิจกรรมศิลปะยังไม่สามารถทำให้พลังงานบวกในชีวิตของเอินเพิ่มขึ้น แล้วเอินก็ลองมานาฏศิลป์ แต่นาฏศิลป์สำหรับคนหูหนวกไม่ได้ง่ายเลยค่ะ เอินต้องจำว่าต้องเดินอย่างนี้กี่ครั้ง ต้องอยู่ตำแหน่งใด ต้องหันทางไหน เพราะเอินไม่ได้ยินเสียงเพลง มันยากเกินไปสำหรับคนหูหนวกอีกแล้ว 

จนเอินได้มาทำกิจกรรมโคดดิ้งและเทคโนโลยีเพราะครูชวน เอินได้รู้ว่าถ้าเอินได้ทำกิจกรรมนี้ เอินสามารถทำโครงงานเพื่อช่วยเหลือคนอื่นได้ แล้วก็ได้ลองดูว่า ถ้าเราลองช่วยคนสูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และเป็นคนหูหนวก เค้าไม่สามารถโทรหาใครที่จะมาช่วยเหลือเค้าได้ เค้าจะทำยังไง เอินคิดว่านี่น่าจะเป็นปัญหาสำคัญ 

เอินได้ลองทำโครงงานช่วยเหลือผู้สุงอายุ ได้เข้าร่วมการประกวด ซึ่งการประกวดนั้นไม่ได้มีแค่คนหูหนวก มีเพื่อนๆ หูดีเข้าร่วมด้วย ความกลัวในใจยังอยู่ค่ะ แต่ถึงเวลาเราต้องไปทำ ตอนที่นำเสนอ เอินนำเสนอด้วยภาษามือ  เอินไม่กล้าสบตากรรมการเลย เพราะเอินกลัวมากแต่กรรมการใจดีกับเอินมากๆ ค่ะ ทำให้เอินมีกำลังใจ นำเสนอโครงงานที่ช่วยเหลือคนสูงอายุที่อยู่บ้านคนเดียวและสื่อสารกับคนอื่นไม่ได้ ให้ได้รับการช่วยเหลือด้วยเทคโนโลยีต่างๆ 

เอินได้รับรางวัลชนะเลิศมาค่ะ 

สิ่งที่เอินอยากบอกคือ เอินใช้ความคิดลบต่างๆ ปัญหาต่างๆ เป็นบันไดก้าวสู่ความสำเร็จ เอินโชคดีที่หากุญแจเปิดประตูโลกใบใหม่ได้ แต่คนหูหนวกอื่นๆ ล่ะ เค้าจะทำได้มั้ย เค้าจะหากุญแจที่จะเปิดประตูสู่โลกใบเดียวกันกับพวกคุณเจอหรือเปล่า เอินอยากขอให้ทุกคนช่วยเพราะทุกคนมีกุญแจที่เรียกว่ากุญแจแห่งความเข้าใจ 

อยากจะขอให้ทุกคนโปรดเข้าใจว่าล่ามภาษามือมีประโยชน์ในการรับรู้ข่าวสาร สาระ เนื้อหาต่างๆ แต่ในภาพยนต์ เพลง ซึ่งเป็นความบันเทิงและเป็นความสุข ก็มีประโยชน์กับคนหูหนวกนะคะ โปรดเข้าใจว่าคนหูหนวกใช้ภาษามือในการสื่อสาร ซึ่งต้องมีสีหน้า ท่าทางหรือเราอาจจะออกเสียงแปลกๆ ไปบ้าง โปรดอย่ารังเกียจและมองเราเป็นตัวประหลาดเลยนะคะ

 โปรดเข้าใจว่า คนหูหนวกอยู่ในโลกแห่งคำถามใบนี้มานานแสนนาน เขาอาจจะกลัว อาจจะไม่กล้าออกไป ขอให้ทุกคนช่วยยิ้มกว้าง และให้กำลังใจคนหูหนวกด้วยนะคะ 

เป็นที่รักสำคัญกว่าเป็นที่โหล่ –  ‘จิรัล’ ด.ช.ดุลชยธร บูลภัทร อายุ 12 ปี ตัวแทนแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ 

จิรัลแปลว่าอะไร-เป็นคำถามที่ผมถูกถามมาตลอดตั้งแต่เกิดมา เมื่อก่อนผมก็ไม่รู้คำตอบ เลยลองไปถามแม่ แม่ก็ไม่รู้เหมือนกัน เลยตกลงกันตั้งแต่วันนั้นว่าชื่อผมแปลว่าเป็นที่รัก มันเมคเซนส์ เพราะตัั้งแต่เกิดมาผมได้รับความรักจากทุกคนเต็มเปี่ยม ผมเป็นลูกคนแรก เป็นหลานคนแรก ได้ความรักจากทุกคน 24 ชั่วโมงต่อวัน 

ตอนสี่ขวบผมได้ของขวัญชิ้นแรกเป็นเลโก้ ผมชอบมาก สนุกมาก เล่นมันทุกวัน ต่อทุกอย่างตามจินตนาการ พอผู้ใหญ่มาเห็นก็จะบอกว่า หูว เก่งจังเลย ฉลาดจังเลย พอผมได้คำชม ก็ดีใจมาก ยิ่งเล่นเลโก้เข้าไปอีกเพราะคำชมพวกนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าผมพิเศษ ผมเก่งกว่าคนอื่น 

พอ 9 ขวบ ผมได้แข่งหุ่นยนต์ครั้งแรก และผมชอบการแข่งขันทุกอย่าง แข่งกิน แข่งวิ่ง แข่งครั้งแรกก็ชนะเลย ทีมผมได้ไปแข่งรอบนานาชาติ แล้วก็ชนะอีก พอกลับมา ทีมผมถูกเอาไปขึ้นป้ายหน้าโรงเรียนเกือบ 2 ปี ไปไหนใครก็พูดว่าเก่งจังเลย ฉลาด ผมชอบคำชมพวกนี้

ปีต่อมา ผมได้แข่งแมตช์ที่ถือว่าเป็นโอลิมปิกของการแข่งหุ่นยนต์ แล้วผมก็ชนะอีก ได้เหรียญทองมาเต็มคอ แต่นั่นมันไม่ได้เกิดขึ้นจริง ใช่ครับ ผมแพ้

หลังจากนั้น การแข่งของผมก็ค่อยๆ ตกลง จนแทบไม่ชนะแล้ว ชีวิตผมเหมือนเจอทางกั้น ผมรู้สึกกลัว ผมรู้สึกโกรธ รู้สึกเศร้า ผมร้องไห้แต่ไม่ใช่เพราะว่าผมไม่ได้รางวัลนะครับ ผมร้องไห้เพราะกลัวว่าแม่ผมจะไม่รักผมเหมือนเดิม ครูอาจจะโกรธที่ผมแพ้ เพื่อนอาจจะไม่ชื่นชมผมเหมือนเมื่อก่อนแล้ว 

ถ้ามันเป็นปัญหาความรู้สึกของผม ผมรู้สึกว่าแป๊บเดียวมันอาจจะแก้ได้ แต่พอมันเป็นปัญหาความรู้สึกของคนอื่น ผมก็หมดทางแล้วล่ะครับ 

คนเราพอเจอทางกัน มักจะไม่เดินทางต่อ และมักเดินถอยหลัง ผมก็เหมือนกัน หลังจากนั้น แทนที่ผมจะซ้อมเพื่อเตรียมตัวไปแข่ง ผมหาทางออกด้วยการเล่นเกม เพราะอยากได้ข้ออ้างเวลาผมแข่งแพ้ ว่าผมแพ้ไม่ใช่เพราะผมไม่เก่ง แต่เพราะผมไม่ได้ซ้อม 

แต่พอผมทำแบบนี้ ผู้ใหญ่ก็มักจะเรียกว่า คนขี้เกียจ คนไม่เอาไหน คนติดเกม คนผลัดวันประกันพรุ่ง

ต่อมา ถึงผมจะลงแข่งอยู่เรื่อยๆ ผมก็ไม่ซ้อมเหมือนเดิม มันก็ไม่ชนะ ผมโกรธตัวเอง รู้สึกผิดเวลาไม่ซ้อม ผมกลัวว่าคนรอบตัวจะรักผมไม่เท่าเดิม ผมกลัวว่าตัวเองจะไม่พิเศษเพราะผมไม่ชนะ ถ้าไม่ชนะผมก็ไม่พิเศษ ถ้าไม่พิเศษ แล้วผมจะมีอะไรให้รักล่ะ มันไม่มีเหตุผลอะไรที่จะรักผม

ครั้งหนึ่ง ผมทะเลาะกับแม่ แม่พูดมาประโยคหนึ่งว่า ทำไมถึงชอบเล่นเกมขนาดนี้ ผมเลยลองไปคิดดูแล้วได้สามคำตอบสั้นๆ 

หนึ่ง เกมเป็นการแข่งขัน ถ้าแพ้ก็สามารถกลับมาที่เดิมได้ 

สอง เกมแพ้แล้ว กลับไปแก้ความผิดที่ทำได้ 

สาม แพ้ในเกม ไม่ได้แปลว่าคนรอบตัวผมจะรักผมน้อยลง 

“พอได้คำตอบ ทำให้ผมคิดว่ามันก็เหมือนในชีวิตจริง ตอนผมเล่นเกม ผมใจดีกับตัวเองมากกว่าในชีวิตจริง  แล้วทำไมผมไม่ทำอย่างนี้กับชีวิตจริงล่ะ แล้วผมไปค้นเจอหนังสือพิมพ์เก่าที่ผมเคยให้สัมภาษณ์ว่า ผมไม่แคร์ว่าผมจะแพ้หรือชนะแมตช์นี้ ขอให้ผมสนุกกับมันก็พอ เต็มที่ก็พอ แล้วผมก็คิดว่า เอ๊ะ ทำไมหลักการผมถึงเปลี่ยนไปล่ะ ขอแค่ผมกลับมาเป็นเด็กน้อยที่ทำทุกอย่างที่ผมอยากทำ แทนที่ผมจะถูกขับเคลื่อนด้วยเหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง  แล้วสักวันหนึ่ง ผมก็จะทำสิ่งที่ผมทำได้” 

พอได้หลักการนี้ การแข่งขันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ และผมก็ได้ลองทำอีกหลายอย่าง

ไม่นานมานี้ ทีมผมส่งโปรเจคท์ไปแข่งรอบไทยก็ชนะ แต่พอไปถึงรอบต่างประเทศ ก็ไม่ชนะ ได้แค่รางวัล rising star แปลเป็นไทยว่า ยังไม่ดีพอ ปีหน้าเอาใหม่ 

อย่างที่สอง ผมเข้าสู่วงการร้องเพลง ผมก็สนุกกับมันแต่ผมยังไม่ชนะ 

สุดท้าย ผมเข้าสู่วงการ Public Speaking ที่พาผมมาถึงเวทีนี้ แต่ก่อนผมจะมาถึงจุดนี้ มันมีรอบสัมภาษณ์ ออดิชั่น มีคำถามว่า ถ้าไม่เข้ารอบ จะเศร้ามั้ย ผมตอบ เศร้าดิ ก็ผมใช้เวลาออดิชั่นนี้มานาน แต่ผมก็คิดว่าตอนผมส่งออดิขั่น ผมอายุ 12 เอง แต่เวทีนี้รับจนถึงอายุ 22 ผมยังมีเวลาสิบปีก่อนผมจะหมดเขต แล้วถ้าผมส่งออดิชั่นไปเรื่อยๆ พี่ๆ อาจจะลองให้โอกาสผมก็ได้ 

สำหรับผม เวทีนี้ไม่มีใครแพ้หรือชนะ มันเป็นแค่เวทีที่ส่งไอเดียให้ทุกคน ถ้ามันทำให้คุณยิ้มหรือหัวเราะได้ มันก็เป็นโบนัสของผมแล้วครับ

ตอนนี้ผมรู้แล้วครับว่าแม่หรือคนที่ผมรักจะอยู่กับผมเสมอ ผมรู้แล้วว่าตอนเดินออกมาจากสนามแข่ง ไม่ว่าผมจะแพ้หรือชนะ แม่ผมจะยืนอยู่ตรงนั้นเสมอ เค้าก็เศร้าเหมือนผมแหละครับ แต่มันก็ไม่ได้แปลว่าเค้าจะรักผมน้อยลง

ความหมายของชื่อผมมันเปลี่ยนไปแล้วครับ มันแปลแค่ว่า เป็นที่รัก แต่แปลเพิ่มว่าความรักไม่ต้องเริ่มจากคนอื่น ไม่ต้องเริ่มจากญาติ ไม่ต้องเริ่มจากเพื่อนๆ แต่มันเริ่มจากผมเอง 

เติบโตได้โดยที่ไม่ต้องละทิ้งความเป็นเด็ก – ‘เฟรม’ ธนันณัฐ สิทธิพันธุ์กุล อายุ 14 ปี หนึ่งใน TRAINEE รายการ 789SURVIVAL

วัยรุ่น วัยเด็ก วัยทํางาน วัยเรียน หรือวัยผู้ใหญ่ ทุกคนใช้อะไรตัดสินกันครับว่าเราอยู่ในวัยไหนกัน?

เฟรม ธนันณัฐ สิทธิพันธุ์กุลหนึ่งใน TRAINEE รายการ 789SURVIVAL กล่าวเริ่มต้นทอล์คของตัวเองด้วยการตั้งคำถามว่าแต่ละคนใช้อะไรเป็นเกณฑ์วัดวัยของตัวเอง 

“ใช้ตัวเลข ใช้อายุ รูปร่างหน้าตา ส่วนสูง ทัศนคติ หรือประสบการณ์ ให้เฟรมตอบด้วยตัวเลขอายุเฟรมก็ตอบได้ง่ายๆ เลยครับว่า เฟรมอายุ 14 แต่ถ้าถามว่าจริงๆ แล้ว เฟรมอยู่วัยไหนกันแน่ เฟรมเองก็ไม่รู้เหมือนกันครับ งั้นเฟรมขอเรียกมันว่าวัยของเฟรมนะครับ” 

สำหรับวัย 14 ปี เฟรมนิยามว่าวัยที่เฟรมกำลังเป็นอยู่มันคือวัยแห่งการค้นหาตัวเอง ได้พิสูจน์อะไรบางอย่าง บางทีก็ได้ทําตามหาความฝัน วัยของเฟรมสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่วัยของเฟรมย้อนกลับมาไม่ได้

“ในวัยของเฟรม มีทั้งสัดส่วนของความเป็นเด็ก ความเป็นวัยรุ่น และเฟรมได้เรียนรู้ความเป็นผู้ใหญ่ อย่างแรกเลยมีใครในนี้เคยใช้ชีวิตวัยเด็กกับการวิ่งเล่น โดยที่ไม่คิดอะไรไปวันๆ ไหมครับ เฟรมเองก็เป็นคนนึงครับที่ได้ใช้ชีวิตวัยเด็กแบบนั้น” 

เฟรมมีประสบการณ์วัยเด็กแบบที่เด็กคนหนึ่งมีทั้งการล่าท้าผี ลิ่งไล่หมา ปั่นจักรยานล้มจนหินแทงเข้าไปในมือ และเฟรมยังมีงานอดิเรกคือการเต้น 

ความชอบของเฟรมตอนนั้นคือการได้เต้นครับ เฟรมชอบเต้นมาตั้งแต่เด็กๆ ก็เลยได้มีโอกาสไปเรียนเต้นที่โรงเรียนหนึ่งเจอเพื่อน เจอสังคม คนที่ชอบในสิ่งที่เหมือนกัน ทําอะไรในสิ่งที่ชอบ โดยที่ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องคิดอะไร ว่าเราจะทําผิด หรือบางทีทําผิด เต้นผิด สอบเต้นไม่ผ่าน ผมก็เสียใจครับ แต่เฟรมก็แค่ร้องไห้โดยไม่คิดอะไร จนวันนึงครับ การเต้นของเฟรมมันเริ่มจริงจังมากขึ้น

เพื่อนและเฟรมก็เริ่มโตขึ้นมากด้วย เราต่างมีความฝันความฝันของเฟรม ณ ตอนนั้นก็คือ การได้เป็นศิลปินไอดอลครับ เฟรมเริ่มเสพวงการ k pop วงการ t pop ชอบดูยูทูป ชอบฟังเพลง จนเฟรมมั่นใจครับว่า ความฝันของเฟรมจะต้องเป็นศิลปินไอดอลแน่ๆ

เฟรมบอกว่าวันหนึ่งตอนที่เขากำลังเล่นเกม เขาได้รับข้อความติดต่อมามีใจความว่าน้องเฟรมสนใจที่จะมาเป็นศิลปินฝึกหัดในค่ายของเราไหม? 

มันคือข้อความที่พี่ทีมงานใน 789 ได้ทักมาให้โอกาสกับเฟรมครับ มันเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ สําหรับเฟรมมากๆ มันเข้ามาโดยที่เฟรมไม่ทันตั้งตัว เพราะเฟรมก็กําลังเล่นเกมอยู่ แล้วมันก็เข้ามาไม่ทันตั้งตัวจริง ๆ เฟรมก็รู้สึกว่าโอกาสนี้ครับ มันคงเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่แน่ๆ ถ้าเฟรมได้ตัดสินใจลองเข้าไปในเมื่อความฝันของเฟรมก็คือการเป็นศิลปินไอดอลใช่ไหมครับ

789 survival คือจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของเฟรมที่นําพาทั้งโอกาสในการทําตามความฝัน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งเดียว เพราะ 789 มาพ่วงกับความรับผิดชอบ ภาระหน้าที่ ความกดดัน เหมือนกับดีดนิ้วพลิกชีวิตเด็กธรรมดาคนหนึ่ง แล้วเฟรมก็เปิดภาพเปรียบเทียบตารางการใช้ชีวิตปกติและช่วงเวลาของการเป็น TRAINEE รายการ 789SURVIVAL

“ทุกคนดูด้านซ้ายสิครับ นี่เป็นตารางหลังจากเฟรมได้เข้าจาก 789 จากตอนแรกเฟรมตื่นนอนไปโรงเรียนตอน 8 โมงเช้าไปเรียน 3 โมง เฟรมก็เลิกแล้ว จากนั้นเฟรมก็ได้มีเวลาไปเล่น ไปเจอเพื่อน ไปปั่นจักรยาน แต่ทุกคนดูอีกครั้งสิครับ เฟรมแทบไม่ได้มีเวลาได้พัก ได้วิ่งเล่นเหมือนแต่ก่อน ไปเยี่ยมญาติที่สุโขทัย หรือแม้กระทั่งไปปั่นจักรยานกับเพื่อนครับ เพราะว่าเฟรมจะต้องเสียสละเวลานั้นเพื่อมาทําตามความฝันของเฟรมแต่นั่นก็เป็นสิ่งที่เฟรมอยากทํานะครับ” 

จุดเปลี่ยนที่เจอหลังจากเข้า 789 อีกอย่างหนึ่งก็คือสภาพแวดล้อมสังคม พี่ๆ ที่โตกว่าเฟรมหมดเลยทั้งพี่เทรนนี และก็ทีมงานครับ จากเฟรมที่เป็นเด็กไม่คิดอะไร วิ่งเล่นไปวันๆ ชอบปั่นจักรยานออกเวลาไปหาเพื่อนไม่ได้มีความคิดที่โตมาก แล้วก็ใช้ชีวิตกับความเป็นเด็กของตัวเอง แต่พอมาเจอพี่ๆ ทุกๆ คน ทั้งทัศนคติของเขา ความคิด การแบกรับหน้าที่ของเขา เหมือนสถานการณ์เหล่านี้ มัน fast track ให้เฟรมจะต้องปรับตัวให้โตขึ้น พยายามที่จะมีความคิด ทัศนคติแบบเขา

มีคำพูดของทีมงานหนึ่งที่ส่งผลมากคือ จะไม่มีคําว่าน้องยังเด็กในการทํางานที่นี่แล้วนะ พี่จะมองว่าทุกคนคือคนทํางานคนนึง

“​​คงเป็นเพราะว่าเฟรมเจอกับความกดดันต่างๆ ไหนจะเรื่องตารางชีวิตที่เข้ามา ภาระหน้าที่ ยังจะต้องปรับตัว ปรับความคิดที่จะให้โตเพื่อที่จะเข้าใจคนอื่นได้อีก ตอนนั้นในหัวเฟรม เฟรมคิดแค่ว่าจะต้องโต โต และโต เพื่อที่จะไปเป็นผู้ใหญ่ และเข้าใจทุกคนให้เร็วที่สุด จนเฟรมก็เครียด แล้วก็มีบางวันที่แบบว่า ไม่อยากจะทําอะไรเลยเพราะว่ารู้สึกเหนื่อยกับการที่จะต้องพยายามโตเพื่อเป็นผู้ใหญ่”

เฟรมตัดสินใจปรึกษากับพี่ทีมงานรายการอีกครั้ง

เฟรมได้ไประบายความรู้สึกของเขาว่า พี่ครับ เฟรมเหนื่อยจังกับการที่จะต้องโตไปเป็นผู้ใหญ่ เฟรมจําเป็นจริงๆ เหรอ? พี่เขาก็ตอบกลับมาหาเฟรมว่า ไม่นี่ พี่พูดตอนไหนว่าเฟรมจะต้องโตไปเป็นผู้ใหญ่ตอนนี้ ไม่ได้มีใครบังคับน้องเลยว่าจะต้องรีบโตไปเป็นผู้ใหญ่ตอนนี้ ที่เขาสื่อเขาแค่อยากจะให้เด็กเทรนนีทุกคนได้รับผิดชอบต่อหน้าที่ของเขา ได้โดยไม่ต้องสนอายุว่าเราอายุเท่าไหร่ ทํางานได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งคําว่าน้องยังเด็ก มันก็ทําให้เฟรมปลดล็อคกับดักความคิดของตัวเองได้ครับว่าจริง ๆ แล้วที่เฟรมคิดว่าเฟรมจะต้องโตไปเป็นผู้ใหญ่มันเป็นสิ่งที่เฟรมสร้างเองหมดเลย

เฟรมได้ปลดล็อกว่าจริงๆ แล้วเฟรมก็สามารถเติบโตได้โดยที่ไม่ต้องละทิ้งความเป็นเด็ก ความทรงจำวัยเด็กของเฟรมมีอิทธิพลสําหรับเฟรมมากๆ

“เพราะว่าทุกคนก็คงใช้ชีวิตวัยเด็กได้แค่ช่วงๆ หนึ่งในชีวิตใช่ไหมครับ ทุกคนคงไม่สามารถกลับมาย้อนที่จะมาเป็นวัยเด็กอีกได้แล้ว เฟรมก็คิดว่าช่วงเวลาวัยเด็กเป็นช่วงวัยที่ทุกคนสามารถมีความสุขได้ง่ายที่สุดแล้ว แค่เจอผีเสื้อตอนเด็ก ตอนนั้นมีความสุขแล้ว ดังนั้นการที่เฟรมได้ย้อนคิดถึงความทรงจําในวัยเด็กมันก็ทําให้เฟรมมีความสุขครับ เฟรมเลยเปรียบความทรงจํานี้ว่าเหมือนกับสมบัติ เป็นสมบัติความทรงจําของเฟรมซึ่งสมบัตินี้ไม่ได้มีเพียงแค่ชิ้นเดียว เฟรมและทุกคนก็อาจจะเก็บมันไปได้เรื่อยๆ ทั้งในวัยตอนนี้ และในอนาคต 

เฟรมในตอนนี้ที่อายุ 14 ก็ยังตื่นเต้นกับการเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่นะครับ และเฟรมก็จะไม่ละทิ้งความเป็นเด็กด้วย แต่เฟรมเองก็ไม่แน่ใจครับว่าโตไปเฟรมจะยังคิดอย่างนี้หรือเปล่า เพราะวัยของเฟรมสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่วัยของเฟรมย้อนกลับมาไม่ได้ครับทั้งหมดนี้แล้วล้วนเป็นเส้นทางชีวิตวัยของฟิล์มทั้งหมดเลยครับ

ความหวังในการเข้าสู่ระบบการศึกษา  – ‘โอ๋’ หญิงสาวไร้นามสกุล อายุ 23 ปี นักศึกษา “ไร้สัญชาติ”

หนูคือเด็ก หนูเดิน หนูวิ่งหนูล้ม นี่คือธรรมชาติของเด็กทุกคนที่จะเรียนรู้และเติบโตได้อย่างเป็นอิสระ แต่ช่วงวัยเด็กของโอ๋ถูกสังคมช่วงชิงไปยังน่าเศร้า

โอ๋ โยนเข้าถามกับผู้ที่มาฟัง TEDxBangkok Youth 2023! ในฮอลล์ว่าก่อนทุกคนเข้าร่วมงาน ต้องลงทะเบียน และแสดงตัวตนผ่านบัตรประชาชนใช่ไหม 

“หลายคนอาจจะลืมไว้ หลายคนอาจจะทําหาย แต่ไม่เป็นไรค่ะ ทุกคนสามารถทําใหม่ได้ แต่โอ๋ไม่มีสิทธิ์นั้นค่ะ

วันนี้โอ๋จะพาทุกคนมารู้จักกับโลกของเด็กไร้สัญชาติ สวัสดีค่ะ หนู เด็กหญิงโอ๋ (ไม่มีนามสกุล) ” 

โอ๋พูดต่อว่าถ้าใครที่กำลังสงสัยว่าทำไมเธอถึงมีชื่อแค่ตัวเดียว

จริงๆ แล้วโอ๋ก็เคยมีชื่อที่อยากใช้ อยากเปลี่ยนชื่อเหมือนที่ทุกคนเปลี่ยน แต่โอ๋ไม่มีสิทธิ์นั้น โอ๋ เดิน วิ่ง ล้ม สะดุด อยู่บนเส้นทางของความไร้สัญชาติ มายาวนานกว่า 22 ปี และกําลังจะก้าวสู่ปีที่ 23 ทําไมกันคะ ทําไมการขอรับรองสัญชาติถึงได้มีระยะเวลายาวนานเช่นนี้ 

โอ๋เกิดในครอบครัวธรรมดามีพี่น้อง 3 คน พ่อเป็นชาติพันธุ์มอญ แม่เป็นคนเมียนมาร์ อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานกว่าสามสิบปี หาเช้ากินค่ำ เลี้ยงปากท้องเหมือนอย่างที่มนุษย์คนนึงทํา

โอ๋เป็นเด็กธรรมดาค่ะ มีความฝัน ความเชื่อ ความหวังโอ๋เข้าสู่ระบบการศึกษา เหมือนอย่างที่ทุกคนทําค่ะ

ความฝันในตอนนั้น จําได้ว่าแค่ฝันอยากกิน kfc มันแสนธรรมดามากค่ะ

กระทั่งเวลาผ่านไปผ่านไปเรื่อยๆ ความฝันใหญ่ขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่การกิน KFC หรือ ไก่ทอดธรรมดาอีกต่อไปแล้ว ตอนม.3 พ่อป่วย เป็นเรื่องธรรมดาของความเป็นคนค่ะ หาเงินได้น้อยลง ทํางานได้น้อยลง ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่ต้องเลือกค่ะ เลือกว่าใครจะไปต่อ หรือใครจะลาออกมาแบกรับความหวังของครอบครัวให้ทายค่ะว่าจะต้องเป็นใคร

“แน่นอนว่าจะต้องเป็นพี่คนโตหรือเปล่า ไม่ใช่ค่ะ น้องสาวโอ๋ หลุดออกจากระบบการศึกษา ด้วยคําพูดที่ว่า พี่ใกล้ถึงเป้าหมายแล้ว” 

ทําไมน้องจะต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา นั่นเป็นสิทธิเด็กหรือเปล่า นั่นเป็นสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า ทําไมกันคะ เพราะความยากจน และความไร้สัญชาติที่ไม่สามารถเข้าถึงกองทุนกู้ยืมใดๆ ได้ เพราะทุกกองทุนกําหนดไว้ว่าจะต้องมีเงื่อนไข ว่าจะต้องมีคุณสมบัติไทย ซึ่งน้อยมากค่ะ ที่จะมีกองทุนที่ให้กับเด็กไร้สัญชาติ 

ย้อนกลับมาค่ะถึงเวลาแล้วหรือเปล่าที่เราจะพัฒนาระบบการศึกษา พัฒนาระบบสวัสดิการเรียนฟรี 15 ปี เรียนฟรีที่ทุกคนเคยอยู่ในระบบการศึกษา หรือตอนนี้ที่ทุกคนกําลังอยู่ เรียนฟรีจริงไหม 15 ปีที่พูดถึง มันครอบคลุมและตอบโจทย์บริบทที่พวกคุณเป็นอยู่หรือเปล่า ฝากไว้เป็นคําถามในใจค่ะ

พอตอนโอ๋ม.5 พอใกล้เรียนจบ พูดเรื่องความฝัน ความหวัง ที่ใหญ่โตขึ้น อยากเป็นหมอ พยาบาลวิศวะ ข้าราชการ ที่ผู้ใหญ่ใครต่อหลายคนบอกว่ามั่นคง และทําให้อนาคตของเราดีขึ้นได้ ใช่ค่ะ โอ๋เคยฝันเหมือนกับทุกคน เคยฝันอยากเรียนพยาบาล โอ๋เรียนห้องคิงค่ะ

แต่ก็ไปไม่ถึงค่ะ สะดุดล้ม เพราะทุกสายอาชีพที่กล่าวไปเมื่อครู่ หมอ วิศวะ พยาบาล ข้าราชการ ทุกอาชีพเหล่านั้นจะต้องมีคุณสมบัติเป็นคนไทย ซึ่งโอ๋ยังไม่ได้รับการรับรองสัญชาติไทย ดังนั้นกระเป๋าเป้ที่แบกความฝันความหวังเหล่านั้นก็ต้องวางลง และเลือกใหม่ค่ะ

เพราะรสชาติของการเติบโตมันไม่ได้หอมหวานเสมอไป มันขมขื่นสําหรับเด็กคนนึงที่ต้องผิดหวัง เพราะไม่สามารถทําตามความฝันตัวเองได้ โอ๋ตัดสินใจค่ะ สมัครเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่เป็นเอกชน เหตุผลง่ายมากค่ะ เราจน เรากู้ยืมไม่ได้ ชิงทุน ชิงทุนเอกชน แต่ไม่ใช่คณะที่เราอยากเรียน โอ๋ละทิ้งความฝันและทางเลือกนั้นไป และตัดสินใจอีกครั้งโดยการก้าวข้ามขีดความสามารถที่ตัวเองมี สมัครเรียนในระบบการศึกษาของรัฐบาล ระบบการรับเข้าตอนนั้นเป็นระบบการรับเข้าที่ให้กรอก นามสกุล แต่โอ๋ไม่มี กรอกไม่ได้ ให้กรอกเลขพาสปอร์ต เลขบัตรประชาชน คิดว่าโอ๋กรอกได้มั้ยคะ ไม่ได้ค่ะ

“ไม่ว่าจะซ้าย หรือขวา ตรงกลาง เดินหน้า ถอยหลัง ไม่มีจุดยืนสําหรับโอ๋ค่ะ” 

สถานศึกษาที่ที่ใครต่อใครหลายคนบอกว่า คือสถานที่ของการขัดเกลาขัดเกลาให้กลายเป็นคนดี จริงไหมคะ แล้วถ้าเด็กกลุ่มนี้ที่ไร้สัญชาติและตัวโอ๋ ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ คุณว่าอะไรคือการขัดเกลาคะ ครอบครัว สังคม สภาพแวดล้อม มันคือหน้าที่ของใครกัน ผู้ใหญ่มีหน้าที่อะไรคะ ให้โอกาสเด็ก ชี้ทางให้เด็ก หรือผลักเด็กลงไป หน้าที่ในที่นี้ หรือผู้ใหญ่ที่กล่าวถึงอาจจะเป็นภาครัฐ อาจจะเป็นเจ้าหน้าที่ที่ทํางานหน้าที่ด้านสัญชาติ สถานะบุคคล หรือใครที่เป็นผู้มีอํานาจทางสังคม ที่เขาจะต้องตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต คุณค่าของความฝัน มันอาจจะดูเป็นนามธรรมค่ะ แต่มันคือนามธรรมที่ทรงคุณค่า นามธรรมที่พรากจิตวิญญาณความฝัน

“มูลค่าของบัตรประชาชนที่ทุกคนถืออยู่มีค่าเท่าไหร่ โอ๋ไม่ทราบค่ะ แต่สําหรับโอ๋ มูลค่าทั้งหมดที่โอ๋ได้จ่ายไปให้กับบัตรประชาชน 1 ใบ คือ จิตวิญญาณ ความเชื่อ ความฝัน ครอบครัว และนั่นคือมูลค่าทั้งหมดที่โอ๋ได้จ่ายไปค่ะ”

ที่มาภาพ : TEDxBangkok Youth 2023