เราไม่ชอบนิทานเรื่องไหนมากที่สุด แรงบันดาลใจในการเล่าใหม่ของนิทาน 9 Folk Tales

เริ่มต้นบทสัมภาษณ์ด้วยการถามว่า ตอนเด็กๆ ไม่ชอบนิทานเรื่องไหนมากที่สุด 

หนูน้อยหมวกแดง 

“ตอนจบคุณยายโดนกินแล้วหมาป่าปลอมตัวมาเป็นคนที่เรารัก เรารู้สึกว่ามันมีแต่ความน่ากลัวเต็มไปหมด แล้วสุดท้าย นายพรานมาช่วย กรีดท้องแล้วเอาคุณยายออกมา มันโหดมากเลยนะ” 

รับขวัญ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 

ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ 

“ทำไมแม่ที่แก่มากแล้วยังต้องใช้ชีวิตแบบลำบากตรากตรำ ทำไมความทุกข์ยากหิวโหยของชาวนาที่ทำให้ลูกต้องเหนื่อยและทนหิว ผลมันไปตกที่ลูกฆ่าแม่ตาย แล้วตอนจบสอนให้คนกตัญญู”

‘ครูแนน’ ปาริชาต ชัยวงษ์ ครูผู้สอนวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดนนทบุรี 

และ พระเวสสันดรชาดก 

“การบริจาคลูกและเมียให้เป็นทาส ทำแบบนี้กับครอบครัวได้ด้วยเหรอ” 

เทพวุธ บัวทุม เจ้าของเรื่องและภาพนิทานเรื่อง ‘ควายอยากเป็นคน’

ทั้งสามคนคือหนึ่งในทีมงานของโปรเจคท์ 9 Folk Tales ที่หยิบเอา 9 นิทานพื้นบ้านมาเล่าใหม่ และนิทานเรื่อง ‘ควายอยากเป็นคน’ ก็คือหนึ่งในนั้นที่เอานิทานเรื่อง “ไม่อยากเป็นควาย” หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 ของชั้นป.4 มาลองเล่าใหม่

ครูแนน – ปาริชาต ชัยวงษ์, เทพวุธ บัวทุม และรับขวัญ ธรรมบุษดี

“ปกตินิทานจะมี ‘เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า’ แต่นิทานชุดนี้ไม่มี นิทานในโปรเจคท์นี้ เราไม่ได้อยากให้ทุกเรื่องราวมีคำตอบสุดท้าย แต่อยากให้มันชวนคิด ให้เกิดคำถามต่อไปเยอะๆ มากกว่า”  ครูแนน อธิบาย 

ในฐานะบรรณาธิการร่วม อ.รับขวัญบอกว่ามันคือการรื้อและทวงคืนเรื่องเล่า ที่จุดตั้งต้นส่วนหนึ่งมาจากการตั้งคำถามต่อคุณธรรมที่สอนท้ายเรื่องของนิทานต้นฉบับ

และมันก็กลายเป็นเหตุผลที่เราไม่ชอบนิทานบางเล่ม ไม่อยากอ่านซ้ำ พอโตขึ้นก็ไม่ได้อยากจะเล่าให้เด็กๆ ฟัง 

นิทานจึงถูกเอามาเล่าใหม่ด้วยกลุ่ม Metabolic Modules ที่ตั้งต้นจากกลุ่มคนที่สนใจในกระบวนการผลิตและส่งต่อ ”ความรู้” ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่รูปแบบของทฤษฎีและตำราแต่รวมถึงความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ ความทรงจำ และร่างกาย หลังจากการทำวิจัยภาคสนามช่วงแรกกลุ่มได้ขยายวงทำงานต่อกับกลุ่มครูเพื่อร่วมกันออกแบบแนวคิดสู้การสร้างหลักสูตรการศึกษาใหม่เพื่อสังคมที่เท่าเทียม จนส่งต่อเป็นโปรเจคต์ 9 Folk Tales ที่ตัวแทนจากกลุ่ม ได้ทำงานร่วมกับนักวาดและนักเล่าเรื่อง 12 คนที่มีน้ำเสียงและแนวทางแตกต่างกันเพื่อขุดคุ้ยและลัดเลาะความทรงจำและประสบการณ์ของผู้อ่านต่อเรื่องเล่าเดิม เพื่อเราทุกคนจะได้ตั้งคำถามและร่วมกันสร้างความเป็นไปได้ผ่านพื้นที่ของภาษาและจินตนาการไปด้วยกัน 

แก้วหน้าม้า กระต่ายกับเต่า ปลาบู่ทอง ตาอินกับตานา ฯลฯ ถูกโปรเจคท์ 9 Folk Tales เอามาเล่าใหม่ด้วยการชวนให้ตั้งคำถามต่อมากกว่ามุ่งเน้นให้จดจำคำสอนท้ายเล่ม

จุดเริ่มต้นของนิทาน 

รับขวัญที่รับตำแหน่งบรรณาธิการร่วมของนิทานชุดนี้ เปรียบเทียบการหยิบของเก่ามาเล่าใหม่ว่าเหมือนปล่อยหัวเชื้อลงไป ทำหน้าที่ปั่นป่วน เขย่า ครรลองเดิมของนิทานแต่ละเล่ม 

กบเลือกนาย ความทรงจำของแม่ปลาบู่ แก้วหน้าม้า ก่องข้าวน้อย ตาอินตานา กระต่ายกับเต่า ผีทักอย่าทักตอบ ควายอยากเป็นคน และหนูน้อยหมวกแดง คือ 9 เรื่องที่ถูกหยิบมาเล่าใหม่ เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ต้องการสื่อสารและเล่าผ่าน 9 ประเด็น ที่กลุ่ม Metabolic Modules ร่วมกันออกแบบและนิยามคำเหล่านี้เพื่อสังคมใหม่ที่ปรารถนา และ 9 คำนี้คือ ชุมชน ความฝันและจินตนาการ ความปลอดภัยและการดูแล เนื้อหนังมังสา ความหิว อยู่อย่างคน อารมณ์และความทรงจำ ทรัพย์สินและทรัพยากร และ สุ้มเสียง 

“ทั้ง 9 มาจากการเลือกคำในชีวิตประจำวัน ความหิว ความทรงจำ ร่างกาย ความปลอดภัย ฯลฯ ที่มันย่อยง่าย และเป็นธีมกว้างพอที่เราจะตีความได้อีก” 

ยกตัวอย่าง ‘ความหิว’ ครูแนน ตัวแทนของครูที่ร่วมในกระบวนการพัฒนาคำทั้ง 9 คำ และเลือกนิทานที่จะนำมาเล่าใหม่ อธิบายว่า ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยได้เรียนเกี่ยวกับอารมณ์ ความรู้สึก ที่มาที่ไป การจัดการทรัพยากรในโรงเรียน ส่วนใหญ่เรื่องที่เด็กเรียนมักจะเป็นอาหารหลักห้าหมู่ ประโยชน์คืออะไร ระบบย่อยอาหาร ฯลฯ แต่พอพูดถึงความหิวหรือความอดอยาก คำถามอย่าง ทำไมบนโลกนี้ยังมีคนที่ต้องทนหิวอยู่ ทำไมชาวนาที่ปลูกข้าวให้เรากินถึงยังมีชีวิตที่ลำบาก คำถามที่ชวนคิดไปถึงการจัดสรรทรัพยากรเพื่อเติมเต็มความต้องการพื้นฐานอย่างอาหาร

“ความหิวทำงานกับผู้คนยังไง จุดตั้งต้นอย่าง ‘ถ้าคนเรายังหิวอยู่’ มันไปต่อยังไงได้บ้าง มีเพื่อนเราคนไหนไหมที่มาโรงเรียนโดยที่ยังหิวอยู่ ทำไม สาเหตุมาจากอะไร แล้วถ้าท้องยังหิวอยู่ มันส่งผลกับร่างกายและการเรียนรู้ของมนุษย์อย่างไรบ้าง” 

ด้วยความที่โปรเจคท์นี้มีครูเป็นทีมงานสำคัญ นิทานทั้ง 9 เล่มเอาไปสอนต่อได้ในหลายๆ วิชา อย่างประเด็นเนื้อหนังมังสาที่ถูกเล่าผ่านนิทานเรื่องแก้วหน้าม้า ก็เริ่มมาจากการตั้งคำถามว่า สังคมแบบไหนที่โอบรับร่างกายทุกรูปแบบอย่างเท่าเทียม 

“เราไม่ได้สนใจจะสอนว่าเพศหญิง เพศชายต้องมีหน้าที่ยังไง หรือเพศควรถูกนิยามยังไง แต่เราสนใจว่าเราทำจะยังไงให้เด็กๆ รับรู้ว่าเขาเป็นเจ้าของร่างกายตัวเองและเขาสามารถรักมันได้อย่างไม่มีเงื่อนไข” ครูแนนอธิบาย 

หรือเป็นไปได้ไหมที่เด็กๆ จะอ่านหนูน้อยหมวกแดงอย่างไม่หวาดเสียวกับฉากกรีดท้องอีกต่อไป อ.รับขวัญที่รับผิดชอบการเอาเรื่องนี้มาเล่าใหม่ จึงใช้ประเด็น ‘ความปลอดภัย’ มาออกแบบป่าที่ไม่อันตรายแม้จะเดินหลงทาง

“นิทานโปรเจคท์นี้ เราไม่ได้อยากให้คำตอบ เราอยากให้มันเกิดคำถามเยอะๆๆๆ มากกว่า เช่น หลาน อ.รับขวัญที่อ่านหนูน้อยหมวกแดงเวอร์ชั่นนี้แล้วบอกว่าชอบมากกว่า เพราะตอนจบคุณยายไม่ได้ถูกกิน มันให้ความเป็นไปได้ใหม่ๆ และมันยังคงมีคำถามในหลายๆ เรื่อง เช่น ถ้ามันไม่เป็นอย่างนั้นแล้วมันจะเป็นยังไง มันมี what if อื่นๆ เกิดขึ้นในตัวเรื่อง ซึ่งมันจะไม่เกิดถ้าเราเล่าแบบเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอย่างนี้ไปเรื่อยๆ” 

นิทานที่รู้สึกรู้สาร่วมกัน 

การเกิดคำถาม ด้านหนึ่งมันไม่ได้แปลว่าค้าน แต่หมายความว่า มันยังเหมาะควรที่จะเล่าแบบเดิมอยู่ไหม หรือถึงเวลาเปลี่ยนแปลง

“เรามองมันมากกว่า story ‘telling’ คือเป็น story ‘doing’ มันต้องถูกเอาไปใช้ในห้องเรียนต่อ ไปคุยต่อเพื่อที่จะไขให้เห็นปัญหา เด็กๆ อาจจะไม่ลุกขึ้นมาลงถนน แต่อย่างน้อยเขาค่อยๆ เห็นว่า มันมีร่างกายแบบอื่น มีเรื่องเล่าแบบอื่น ต่อให้คุณไม่ได้ไปจมอยู่ตรงนั้น คุณก็สามารถเจ็บปวด เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้มันดีขึ้นได้ นิทานชุดนี้ทำงานแบบนั้น” อ.รับขวัญและครูแนนบอก

มันคือการสร้าง Empathy ผ่านนิทานหรือเปล่า? 

“ความเอ็มพาธี่หรือความเห็นอกเห็นใจ มันฮิตมากเลย แต่สำหรับเรา บางครั้งความเอ็มพาธี่มันน่ากลัวเหมือนกัน เมื่อมันถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อบอกว่าชั้นเห็นอกเห็นใจแล้ว แล้วก็วางไว้ตรงนั้น อ๋อ เธอเศร้าเหรอ โอเค ไม่เป็นไรนะ ชั้นเข้าใจเธอ แต่หลายครั้งการ ’แสดง’ ความเห็นอกเห็นใจมันอาจเป็นแค่เครื่องมือที่ทำให้ตัวเองปลอดภัย อยู่ที่เดิมโดยที่เราไม่ได้ไปเปลี่ยนหรือจับอะไรเลย” 

มันน่าจะเป็นการรู้สึกร่วมกัน โดยไม่ต้องอยู่ในสถานการณ์เดียวกันก็ได้ ครูแนนเสริมด้วยประโยคนี้ต่อจาก.รับขวัญ 

“เรามักจะได้ยินคนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ เวลาที่คนบอกว่าอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง แต่เราคิดว่าความเจ็บปวดเป็นอาวุธของคนที่ถูกกดขี่ เพราะยิ่งเรารู้สึกรู้สาร่วมกันเท่าไหร่ เราจะยิ่งรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ยิ่งแชร์กันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเห็นว่าหลายครั้งความเจ็บปวดที่เราได้รับมันมาจากอะไรก็ตามที่นอกเหนือหรือพ้นไปจากตัวเรา จะแก้ปัญหาแบบตัวใครตัวมันไม่ได้” 

ยกตัวอย่างความกตัญญู ซึ่งหลายครั้งถูกตั้งคำถามโดยเฉพาะกรณีของความรุนแรงในครอบครัว

“อย่างเวลาเราสอนเรื่องความกตัญญู ในทางหนึ่งมันเป็นปัญหาเวลาเด็กเจอความรุนแรงในครอบครัว เพราะสิ่งที่สอนกับสถานการณ์ที่เด็กเจอไม่ไปด้วยกัน ทำให้เขาสับสนและโทษตัวเองจนออกมาจากความรุนแรงไม่ได้ แต่พอหลายๆ คนที่เจอปัญหาเดียวกันมาคุยกัน มาแชร์ความเจ็บปวดร่วมกัน เราอาจจะพบว่ามันเป็นปัญหามาจากวัฒนธรรม เช่น ผู้ใหญ่ถูกเสมอ หรือพ่อเป็นใหญ่ในบ้าน ซึ่งมันแก้ไขแบบบ้านใครบ้านมันอย่างเดียวไม่ได้” 

เพราะการเอาตัวรอดไม่ใช่เรื่องผิด 

“ถ้าเราพูดถึงสังคมที่อันตราย สิ่งที่คนมักจะบอกคือ ระวังตัวเองสิ อย่าแต่งตัวโป๊ อย่าเดินกลางคืน ทำประกันชีวิตสิ จะได้ไม่ลำบาก ทำตัวเองให้ secure แต่พอเราเห็นว่ามันเป็นความเจ็บปวดร่วมกัน มันทำให้เห็นว่าเราสามารถสร้างสังคมที่ทุกคนปลอดภัยไปด้วยกันได้นะ สังคมที่เรารับผิดชอบด้วยกัน ไม่ใช่ผลักให้ใครต้องกระเสือกกระสนเอาตัวเองให้รอดก็พอ” 

ทว่า ด้านหนึ่งการกระเสือกกระสนหรือรับผิดชอบตัวเอง ถูกมองว่าเห็นแก่ตัว 

“บางครั้งที่เราพูดเรื่องความเห็นแก่ตัว มันมักถูกตัดสินด้วยคุณธรรม แต่บางทีความเห็นแก่ตัวมันมาพร้อมกับ อุปสรรคที่เยอะมาก แล้วมันไม่แฟร์เลยที่เราจะไปโทษว่าคนเห็นแก่ตัวแล้วจบแค่ตรงนั้น มันจึงต้องเกิดบทสนทนา ต้องมีเครื่องมือบางอย่างที่ทำให้เห็นว่าทำไมเราถึงต้องคิดถึงแต่ตัวเอง เพราะถ้าเราเสียเวลาคิดถึงคนอื่น คุณจะไม่รอดไง แต่เราไม่สามารถจินตนาการได้ว่า แล้วทำไมเวลาในการคิดถึงคนอื่น ยังเป็นสิ่งที่เรา ‘เสีย’ เลย เราไม่มีเวลาที่จะคิดถึงตนเองและคิดถึงคนอื่นไปพร้อมๆ กันจริงหรือ?” 

เช่นนั้น จินตนาการเพื่อรู้สึกร่วมกันและความเป็นไปได้ต่างๆ จึงถูกซ่อนไว้ในนิทานทุกเรื่อง 

“เพราะมันไม่มีตอนจบอันไหนที่มันเหมือนเดิม และไม่มีตอนจบให้ด้วย” 

รื้อแล้วรื่นรมย์ไหม 

“เราไม่ได้รื้อแค่เรื่อง แต่เรารื้อวิธีการเล่าเรื่องที่เด็กจะเล่นกับมันได้หลากหลายขึ้นด้วย” ครูแนนบอกถึงวิธีการทำงานของนิทานชุดนี้

คำถามต่อมาคือ รื้อแล้วเด็กๆ จะยังอ่านได้อย่างเพลิดเพลินตามฟังก์ชั่นเดิมของนิทานไหม  

“ถามว่ารื่นรมย์ไหม เราก็ตัดสินไม่ได้ แต่ถามว่ามันอยู่ในสุนทรียะที่นักวาดออกแบบมาไหม มันก็มี และมันก็ทำงานผ่านอารมณ์ อย่างเล่ม “ผีทักอย่าทักตอบ” เล่าใหม่โดย Arty Nicharee ถึงมันจะเป็นขาวดำ แต่ก็ทำงานผ่าน รูปร่าง ลายเส้น ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ทำงานกับอารมณ์และจินตนาการ สำหรับเรามันก็คือนิทานนะ” อ.รับขวัญ ตอบ

หัวใจสำคัญของการอ่านคือ ให้คนอ่านตัดสินใจ คอนเซปท์ของนิทานเซ็ทนี้มันจึงถูกรื้อใหม่ ถ้าถามว่าเด็กจะอ่านสนุกไหม ถามกลับว่าใครจะตอบแทนเด็กได้บ้าง

“หรือนิทานจะต้องแฮปปี้เอนดิ้งเสมอไปไหม เราก็คิดว่าไม่ใช่ นิทานควรเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทำให้เด็กเห็นความเศร้า เห็นความโกรธของคนอื่นได้”​ อ.รับขวัญขยายความต่อ

การที่นิทานไม่สอนว่าอะไรตรงไปตรงมาและปล่อยให้คนอ่านตัดสินใจ คือการซ่อนในแต่ละตัวอักษรและภาพว่า เราไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันทั้งหมด 

“แต่อย่างน้อยอยากให้เขาตระหนักได้ว่าทุกเรื่องราวที่เราเคยถูกสอนมา มันมีตอนจบแบบอื่นได้ มีวิธีคิด วิธีเล่าเรื่องแบบอื่นได้ เหมือนกันกับทุกๆ ความเชื่อหรือเรื่องราวที่เราเจอในชีวิต” ครูแนนเสริม

ฝั่งของคนวาด อย่าง เทพวุธ บัวทุม เจ้าของเรื่องและภาพนิทานเรื่อง ‘ควายอยากเป็นคน’ ที่รื้อเล่าบทบาทของควายในแบบเรียนใหม่ ย้ำว่า

ไม่ว่าหน้าสุดท้ายของนิทานเล่มนั้นจะจบลงว่า The end แต่เนื้อหาข้างในมันจะไม่จบและทำงานต่อของมันเอง

“จะมีคนอ่านหรือเปล่า ก็ลังเลนิดๆ อยากรู้ว่าคนที่ไม่ได้คิดเหมือนเราจะเป็นยังไง โต้แย้งแบบไหน เราไม่จำเป็นต้องให้คนคิดเหมือนกันทั้งหมด แต่อย่างน้อยให้เค้าตระหนักว่ามีคนคิดอีกแบบหนึ่ง แล้วเอาใจไปใส่กับคนที่คิดไม่เหมือนกัน พยายามยืนอยู่ในความคิดของอีกฝ่ายให้ได้ว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เราต้องเข้าใจกันเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง”

บิดเบือนนิทานหรือเปล่า มันเล่าของมันดีๆ อยู่แล้ว 

“แอเรียลที่ตอนนี้เป็นคนผิวสี มันก็เป็นการต่อสู้เพื่อช่วงชิงความหมาย สิทธิบางอย่างกลับคืนมาโดยปลูกฝังให้กับเด็กรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่าอาจแอนตี้ แต่การทำนิทานเพื่อเป็นการหาพวก วาดอนาคตที่คนเขียนอยากให้เกิดขึ้น มันเป็นการต่อสู้ที่ไม่ต้องใช้กำลัง คือการปลูกฝังความคิดผ่านการเล่าเรื่อง หรือป๊อบคัลเจอร์” ‘เทพวุธ บัวทุม’ เจ้าของเรื่องและภาพนิทานเรื่อง ควายอยากเป็นคน ตอบคำถามว่าถ้าผลงานถูกกล่าวหาว่าบิดเบือน 

ครูแนนย้ำว่า นิทานทำงานกับเด็กได้ไม่ต่างจากเพลง เช่น เพลงกล่อมเด็ก เพลงแร็ป หนังสือเรียน หรือโจทย์คณิตศาสตร์ สิ่งที่ทีมกำลังทำคือการบอกว่ามันมีจินตนาการใหม่ๆ บนเรื่องเล่าเดิม มีโลกที่ไม่ต้องเป็นแบบเดิมก็ได้ อ.รับขวัญเสริมไว้ถึงพลังของเรื่องเล่าไว้ว่า

“ประวัติศาสตร์ สังคม มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงหรือถูกแช่แข็ง แค่ด้วยกฏหมายและกระบอกปืนอย่างเดียว แต่จริงๆ สิ่งที่มันทำงานมาตลอดคือเรื่องเล่า ยกตัวอย่าง propaganda ของฮิตเลอร์ ทำไมคนเชื่อจริงๆ ว่ายิวไม่ใช่คน ยิวเป็นสัตว์ มันไม่ได้เกิดจากดีเอ็นเอว่าคนเกิดมาแล้วใจร้าย หรือ เขาไม่เท่ากับเรา แต่มันอยู่ในเรื่องเล่า ในนิทาน ในแบบเรียน สอนกันมาปากต่อปาก อยู่ในวัฒนธรรม ที่ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมาย” 

กรณีเงือกน้อยแอเรียลผิวสีในปี 2023 ก็ไม่ต่างกัน การจะบอกว่าบิดเบือนหรือเปล่านั้น คงต้องถอยหลังกลับไปดูว่าสิ่งที่ทะเลาะกันนั้นมันคือเรื่องเล่าหรือประวัติศาสตร์ 

“เรื่องดิสนีย์ เราต้องแยกให้ออกว่าการบิดเบือนประวัติศาสตร์กับการบิดเบือนนิทาน / เรื่องเล่า มันคนละฟังก์ชั่น การบิดเบือนเรื่องเล่ามันทำเพื่อรับใช้อุดมการณ์ใด อุดมการณ์นึงอยู่แล้ว แต่บิดเบือนประวัติศาสตร์เป็นคนละเรื่อง ถ้าบุคคลในประวัติศาสตร์ทำอะไรนั่นเป็นสิ่งที่เราต้องบันทึก แต่ตอนนี้เหมือนเอามารวมกันว่านิทานมันเป็นประวัติศาสตร์ ซึ่งนิทานไม่ใช่ประวัติศาสตร์ นิทานเรื่องเล่า คาแรคเตอร์ที่สร้างขึ้นมาเป็นตัวแทนของอะไรบางอย่าง 

ถ้าวันหนึ่งควายในเล่ม ‘ควายอยากเป็นคน’ ถูกรื้อหรือถูกเอาไปเล่าควายให้กลายเป็นอีกแบบ มันก็ต้องเกิด เราจะมาทวงคืนควายได้ยังไง ใครกันที่เป็นเจ้าของเรื่องเล่า”  อ.รับขวัญทิ้งท้ายด้วยคำถาม  

ติดตามรายละเอียดมากกว่านี้ที่ https://www.facebook.com/ninefolktales

9 เล่ม 9 นักวาด ของ  9 Folk Tales 
กบเลือกนาย (Narsid),ความทรงจำของแม่ปลาบู่ (ทิพย์ตะวัน & ฟ้าใส อินทรักษ์), แก้วหน้าม้า (ปิง ศศินันท์), ก่องข้าวน้อย (น้ำใส ข้าวบ่อ), ตาอินตานา โชคชะตาและปากท้อง (แพรว ลักษณาพร & เตเต้ วิริยา), กระต่ายกับเต่า (Sanprapha V), ผีทักอย่าทักตอบ (Arty Nicharee) , ควายอยากเป็นคน (เทพวุธ บัวทุม), หนูน้อยหมวกแดง (รับขวัญ ธรรมบุษดี & นิรัญชา ธันวานนท์)