Barbie จากตุ๊กตาขายเซ็กซี่ สู่การเป็นแรงบันดาลใจที่บอกว่าเราจะเป็นอะไรก็ได้ที่ต้องการ

 “ไม่เคยมีใครเอาของที่มีนัยทางเพศแบบนั้นยื่นให้กับเด็กผู้หญิง”

ผิวขาว รูปร่างสูงโปร่ง สัดส่วนโค้งงอน ผมยาวสลวยสีบลอนด์ ภาพจำที่คนส่วนใหญ่มีกับ ‘บาร์บี้ (Barbie)’ ต่อให้ตอนจะไม่เคยเล่น หรือเกลียดบาร์บี้เองก็ตาม แต่บาร์บี้ก็เป็นสิ่งที่อยู่ในความทรงจำของใครหลายคน วัดได้จากที่เจ้าตุ๊กตาขนาด 11.5 นิ้ว ติดอันดับของเล่นขายดีที่สุดในโลกจนถึงทุกวันนี้ 

และสโลแกนที่ติดตัวบาร์บี้มาตลอดอย่าง ‘คุณสามารถเป็นอะไรก็ได้ (You can be anything)’ ทำให้บาร์บี้ยังคงเป็นของเล่นอยู่ในใจเด็กๆ ทุกเจนเนเรชัน 

แต่กว่าจะมาเป็นบาร์บี้อย่างทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้นกำเนิดบาร์บี้มาจากตัวละครที่ชื่อว่า ‘ลิลี (Lilli)’ เป็นตัวละครในการ์ตูนที่ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์เยอรมันอย่าง ‘บิลด์ (Bild)’ ในช่วงปี 1952

ลิลีถูกออกแบบให้เป็นสาวสวยผมบลอนด์ที่มักแต่งตัวเซ็กซี่ ชอบโปรยเสน่ห์ให้เหล่าตัวละครชายในเรื่อง ทำให้เธอกลายเป็นสัญลักษณ์ของเรื่องเซ็กส์ แต่จริงๆ การ์ตูนเรื่องนี้ก็ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นอารมณ์คนอ่านที่เป็นเหล่าผู้ชาย หลังจากตกอยู่ในภาวะเครียดเพราะสงครามครั้งที่ 2 มายาวนาน เป็นธรรมเนียมว่าหากผู้ชายคนไหนเปิดหน้าหนังสือพิมพ์ที่มีการ์ตูนเรื่องนี้ให้ผู้หญิงสักคนดู ถือเป็นการเชิญชวนให้พวกเธอไปทำกิจกรรมกับเขา

แต่สำหรับ รูธ แฮนด์เลอร์ (Ruth Handler) ลิลีไม่ได้มีความหมายเช่นนั้นกับเธอ แฮนด์เลอร์ถือเป็น ‘มารดาของบาร์บี้’ เพราะเธอเป็นคนที่สร้างบาร์บี้ขึ้นมา สาเหตุก็เพราะว่าลูกสาวของเธอ ‘บาร์บาร่า’ มีของเล่นน้อยจนเกินไปเมื่อเทียบกับลูกชายอย่าง ‘เคน’ แล้วของเล่นส่วนใหญ่ก็มักติดตั้งมายเซตให้ลูกเธอว่า โตขึ้นพวกเธอเป็นได้แค่แม่บ้าน หรือความสนใจมีแค่อย่างเดียวคือแฟชั่น

แฮนด์เลอร์ที่ก่อตั้งบริษัทของเล่นอย่าง ‘แมทเทล (Mattle)’ ร่วมกับสามี พยายามพังทลายกรอบของเล่นสำหรับเด็กผู้หญิงที่มีเพียงตุ๊กตากระดาษและตุ๊กตาทารก จนกระทั่งเธอเดินทางไปพักผ่อนที่สวิสเซอร์แลนด์ แล้วได้พบกับลิลีในรูปโฉมที่เป็นตุ๊กตาขนาด 11.5 นิ้ว แฮนด์เลอร์ก็เกิดไอเดียว่านี้จะเป็นของเล่นรูปแบบใหม่ๆ ให้เด็กผู้หญิง

แฮนด์เลอร์ร่วมมือกับ แจ็ค ไรอัน หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาประจำแมทเทล ออกแบบตุ๊กตาที่มีต้นแบบจากลิลี และตั้งชื่อให้ตามลูกสาวของเธอ 

ปี 1959 บาร์บี้ก็ได้เปิดตัวสู่สายตาสาธารณชน แต่กระแสตอบรับกลับตรงกันข้ามกับที่แฮนด์เลอร์คิดไว้ ผู้ปกครองไม่สนับสนุนให้ลูกๆ เล่นบาร์บี้ หรือแม้กระทั่งในแมทเทลเอง ผู้บริหารหลายคนไม่ชอบบาร์บี้ ถึงขนาดปฏิเสธที่จะผลิตออกมา

ปัญหาใหญ่อยู่ที่ลักษณะของบาร์บี้ที่เหมือนหญิงสาวโตเต็มวัย ขณะที่มันทำหน้าที่เป็น ‘ของเล่น’ สำหรับเด็ก

 “ไม่เคยมีใครเอาของที่มีนัยทางเพศแบบนั้นยื่นให้กับเด็กผู้หญิง” เอ็ม. ลอร์ด (M. Lord) ผู้แต่งหนังสือ Forever barbie : the unauthorized biography of a real doll บอกว่า การเป็นตุ๊กตาที่มีหน้าอก เอวคอด ใบหน้าเล็ก หรือไว้ผมยาว ทุกๆ ลักษณะของบาร์บี้ยิ่งทำให้เธอถูกมองว่าไม่เหมาะสมเป็นของเล่นสำหรับเด็กผู้หญิง

“ไอเดียทั้งหมด คือ การให้เด็กผู้หญิงได้ฝันถึงการเติบโตขึ้น แล้วผู้ใหญ่ทุกคนที่เด็กพวกนั้นเห็นก็มีหน้าอกนะ” หน้าอกของบาร์บี้หรือลักษณะต่างๆ ไม่ใช่ปัญหาในมุมแฮนด์เลอร์ เพราะความตั้งใจของเธอคือทำให้เด็กผู้หญิงเข้าใกล้กับความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขา รูปร่างที่บาร์บี้เป็นคือลักษณะตามธรรมชาติที่ทุกคนต้องเจอ 

และอีกความตั้งใจสำคัญ คือ แฮนด์เลอร์อยากทำให้บาร์บี้เป็นของเล่นที่สร้างพื้นที่จินตนาการให้เด็กผู้หญิงทุกคน เด็กๆ จะเห็นว่าโลกของพวกเขานั้นกว้างแค่ไหน ไม่ได้ถูกจำกัดตามที่สังคมบอก  “บาร์บี้เป็นสิ่งที่แสดงความจริงที่ว่า ผู้หญิงมีทางเลือกเสมอ” 

บริบทสังคมในยุค 50 ที่บาร์บี้ถือกำเนิด ผู้หญิงยังคงถูกตีกรอบการใช้ชีวิต ตั้งแต่การวางตัว วิธีแต่งตัว เรียนหนังสือได้ถึงระดับไหน และปลายทางที่เขียนไว้ให้พวกเขา คือ การแต่งงานไปเป็นแม่บ้านให้ใครสักคน มีลูก และใช้ชีวิตที่เหลือดูแลทุกๆ คนในครอบครัว

แม้ว่าแฮนด์เลอร์จะไม่ได้มีเป้าหมายต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมผู้หญิงโดยสิ้นเชิง เธอเพียงแค่อยากให้เด็กผู้หญิงมีของเล่นมากขึ้น มันอาจเป็นจุดเริ่มต้นให้พวกเขามองเห็นอะไรบางอย่าง ทำให้แฮนด์เลอร์พยายามผลักดันให้บาร์บี้เป็นที่ครองใจของผู้ปกครองในตลาดของเล่น นั่นหมายความพวกเขาจะยอมซื้อให้ลูกเล่น

แฮนด์เลอร์ตัดสินใจจ้างดร.เออร์เนสต์ ดิคเตอร์ นักวิเคราะห์จิตวิทยาชาวเวียนนา ที่ได้รับฉายาว่าเป็น ‘เจ้าแห่งการปั่นหัว’ ทำการสำรวจลูกค้าพวกเขา และหาวิธีซื้อใจให้ได้ ระหว่างที่สำรวจดิคเตอร์ก็เจอจุดที่จะทำให้พ่อแม่ยอมซื้อบาร์บี้ให้ลูกเล่น

“มีแม่คนหนึ่งบอกว่าตัวเองจะเปลี่ยนใจซื้อบาร์บี้ให้ ถ้าได้ยินลูกสาวพูดว่า ‘บาร์บี้แต่งตัวเรียบร้อยจัง’”

อย่างที่บอกว่าเป้าหมายสุดสูงของผู้หญิงในยุคนั้น คือ การได้แต่งงาน เพราะ การมีสามีจะเป็นตัวการันตีว่าชีวิตอนาคตข้างหน้าเมื่อออกจากอ้อมอกของพ่อแม่แล้ว พวกเธอจะอยู่รอดปลอดภัย

การขายบาร์บี้ในยุคแรกๆ เลยมาพร้อมกับคำเชิญชวนว่า ขณะที่เล่นบาร์บี้ลูกสาวของพวกคุณจะเรียนรู้วิธีทำตัวสวยๆ เพื่อให้ได้แต่งงาน โฆษณาชิ้นแรกของบาร์บี้ เป็นบาร์บี้สวมใส่ชุดเจ้าสาว ผลปรากฏว่าพ่อแม่ต่างยินดีที่จะซื้อตุ๊กตาตัวนี้ให้ลูกเล่น แต่ข้อสำคัญ คือ เด็กๆ ได้รู้จักวิธีเล่นของเล่นแนวใหม่ การสวมบทบาทเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้ชีวิตอย่างที่เลือกเอง

บาร์บี้ค่อยๆ ถูกพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัยที่เริ่มเปลี่ยนไป พร้อมๆ กับสโกแกนเธอจะเป็นอะไรก็ได้ค่อยๆ ชัดขึ้น เริ่มจากปี 1962 ขณะที่ผู้หญิงอเมริกายังไม่สามารถเปิดบัญชีธนาคารเป็นของตัวเอง (จริงๆ ผู้หญิงสามารถเปิดบัญชีธนาคารได้ตั้งแต่ปี 1960 แต่หลายๆ ธนาคารยังมีข้อจำกัดในการเปิด พวกเขามักจะตีตกเอกสารถ้าไม่มีลายเซ็นของสามี จนกระทั่งปี 1974 รัฐบาลอเมริกาออกกฎหมายที่บังคับให้ทุกธนาคารต้องทำให้ทุกคนเปิดบัญชีธนาคารก็ได้ โดยไม่มีข้อจำกัด เช่น เพศ สถานะสมรส หรือเชื้อชาติ) 

แมทเทลตัดสินปล่อยบาร์บี้คอลเลกชัน ‘บ้านในฝัน (Dreamhouse)’ บาร์บี้มาพร้อมกับบ้านจำลองของเธอเอง เพื่อเป็นสัญลักษณ์และเสริมพลังให้เด็กผู้หญิงว่า พวกเขาเองก็สามารถมีบ้านของตัวเอง ที่จะตกแต่งแบบไหนก็ได้ จะพาเพื่อนมาจัดปาร์ตี้เมื่อไรก็ได้ ทันทีที่บาร์บี้คอลเลกชันนี้วางขาย มันก็ขายหมดภายใน 2 นาที 

ปี 1965 บาร์บี้กลายเป็นนักบินอวกาศ

ปี 1980 แมทเทลปล่อยบาร์บี้ที่เป็นผู้หญิงผิวดำคนแรก ตั้งชื่อว่า ‘คริสตี้ (Christie)’ 

ปี 1992 บาร์บี้กลายเป็นประธานาธิบดี

ตั้งแต่ปล่อยบาร์บี้ตัวแรกจนถึงทุกวันนี้ บาร์บี้ทำอาชีพไปแล้วกว่า 250 อาชีพ ความตั้งใจที่แฮนด์เลอร์ตั้งไว้ดูจะค่อยๆ ถูกติดตั้งให้เด็กผู้หญิงและสังคม แต่บาร์บี้ก็ยังเผชิญกับคำถามสำคัญ คือ ลักษณะของเธอที่มักเป็นหญิงสาวผิวขาว หุ่นนางแบบ มันเป็นอุปสรรคของเด็กๆ หลายคนที่จะเล่นบาร์บี้ พวกเขาไม่สามารถเอาตัวเองเชื่อมโยงกับบาร์บี้ได้ เพราะความต่างที่มี

กระทั่งปี 2016 แมทเทลปล่อยบาร์บี้คอลเลกชันสำคัญ คือ Barbie Fashionistas ที่บาร์บี้มีรูปร่างหลากหลายขึ้น ในคอลเลกชันดังกล่าวมีบารบี้จำนวน 33 ตัว 30 สีผม 22 ลักษณะดวงตา 7 สีผิว และ 4 ลักษณะร่างกาย ถือว่าเป็นการเปิดตัวที่เรียกความสนใจจากสังคม ภาพจำของบาร์บี้กำลังเปลี่ยนไปแล้ว และเธอก็พร้อมเปิดรับเด็กๆ ทุกคนไม่ว่าพวกเขาจะหน้าตาแบบไหน หรือเชื้อชาติใด เพื่อสนับสนุนสโลแกนที่พวกเขาบอกมาตลอด ‘you can be anything you want (คุณสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่ต้องการ)’

และปีนี้ก็ถือเป็นปีสำคัญของบาร์บี้ จากตุ๊กตาที่ติดท็อปของเล่นที่ขายดีที่สุดในโลก กำลังก้าวเข้าสู่โลกจอเงิน

มาร์โกต์ ร็อบบี้ (Margot Robbie) นักแสดงชาวออสเตรเลียรับหน้าที่ถ่ายทอดบาร์บี้เวอร์ชันจอเงิน บอกว่า ในวัยเด็กของเธอมีบาร์บี้เป็นส่วนหนึ่ง และในหนังเรื่องนี้จะยังคงแนวคิดที่ว่าบาร์บี้เป็นอะไรก็ได้ แถมมาพร้อมกับเพื่อนๆ บาร์บี้ที่มีลักษณะแตกต่างเฉพาะตัว

“ทุกคนมีความรู้สึกบางอย่างกับบาร์บี้ บางคนรัก บางคนเกลียด แต่จุดร่วมที่มีเหมือนกัน คือ ในความทรงจำของเรามีบาร์บี้เป็นส่วนหนึ่ง

“บาร์บี้เองเป็นคนที่จะใส่กระโปรงสั้น เพราะมันสีชมพูและใส่แล้วเธอรู้สึกมีความสุข ไม่ใช่เพราะเธอต้องการให้คนอื่นๆ เห็นก้นงอนๆ ของเธอ”

แต่กว่าจะบาร์บี้จะมาปรากฏบนจอเงินก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเช่นกัน แม้ว่าแมทเทลจะผลิตแอนิเมชันบาร์บี้อยู่แล้ว แต่เขาไม่อยากให้บาร์บี้ถูกสร้างเป็นหนัง เพราะกลัวว่าภาพจำของบาร์บี้จะถูกผูกติดกับนักแสดงที่มารับบท เป็นเรื่องที่พวกเขาพยายามผลักดันให้บาร์บี้มีรูปร่างและลักษณะหลายๆ แบบ

แต่สุดท้ายแมทเทลก็เปิดโอกาสให้เกรต้า เกอร์วิก (Greta Gerwig) ผู้กำกับชื่อดังมารับหน้าที่ถ่ายทอดบาร์บี้ผ่านโลกภาพยนตร์ ซึ่งเกอร์วิกก็รับรู้ความกังวลนี้ ทำให้หนังบาร์บี้ของเธอประกอบด้วยนักแสดงที่หลากหลายเชื้อชาติ สีผิว รูปร่าง ตบเท้ากันเข้ามารับบทบาร์บี้ในเรื่อง สร้างโลกของบาร์บี้ให้ความหลากหลายยังเป็นส่วนประกอบสำคัญ

“หนังดำเนินด้วยแนวคิดสตรีนิยม (Feminist) เป็นส่วนใหญ่ สำหรับฉันมันคือการพยายามทำความเข้าใจความซับซ้อนของสิ่งนี้ ไม่ได้เลือกจะวิ่งหนีไป

“เมื่อคุณมองลึกลงไปผ่านความยุ่งยากทั้งหมดที่มี สิ่งที่คุณเห็น คือ การต่อรองเพื่อให้ผู้หญิงได้เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการ ไม่ใช่กำหนดทางเดินให้พวกเขา สำหรับฉันนี้คือแนวคิดสตรีนิยม”

พรุ่งนี้ก็จะเป็นวันแรกของการเปิดฉายหนังบาร์บี้อย่างเป็นทางการ ที่รอให้ทุกคนไปพิสูจน์ด้วยตาตัวเองว่าจะเป็นอย่างไร 

Fun fact
– บาร์บี้มีชื่อจริงว่าบาร์บาร่า มิลลิเซน โรเบิร์ต (Barbara Millicent Roberts)
– เพื่อนสนิทคนแรกของบาร์บี้ ชื่อว่ามิดจ์ (Midge)
– ตุ๊กตา ‘เคน’ ถูกสร้างขึ้นหลังจากมีเด็กๆ ส่งจดหมายไปที่แมทเทลขอให้บาร์บี้มีแฟน ปี 1961 เคนจึงกำเนิดขึ้นมา ซึ่งชื่อก็ตั้งตาลูกชายของแฮนด์เลอร์
อ้างอิง