Di Children of the Mist

Children of the Mist : ฉันจะแสบ ฉันจะขบถ ฉันจะมีความรัก และฉันจะเป็นเจ้าสาวที่ไม่โดนลักพาตัว

“ฉุดเจ้าสาว” เป็นคำตอบที่ Ha Le Diem หรือ เดียม ได้จากเด็กๆ เมื่อถามไปว่า เกมที่กำลังเล่นกันอยู่ ชื่อว่าอะไร 

เป็นซีนแรกๆ ของสารคดี Children of the Mist ที่เดียม-ผู้กำกับชาวเวียดนาม ตามติดชีวิต ‘ดี้’ เด็กสาวชาวม้งในซาปาเป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่อายุ 12 จนถึง 15 

เกมฉุดเจ้าสาวเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ เพื่อนผู้หญิงและดี้ แบ่งกันเล่นบทบาทสมมติ ไม่ว่าจะเป็น บทผู้ชายฝ่ายฉุด  บทเจ้าสาวที่ทำอะไรไม่ได้นอกจากร้องขอความช่วยเหลือ และเด็กๆ ผู้หญิงที่เหลือก็รับบทคนช่วยฉุด 

ระหว่างเล่น ดี้ที่อยู่ในวงด้วยก็เล่าอย่างสนุกสนานไปด้วยว่า ปีที่แล้วพี่สาวของเธอก็โดนฉุดไปแบบนี้เหมือนกัน – ตอนที่เล่นกันอยู่นี้ ดี้เพิ่งอายุ 12 

พี่สาวของดี้คือหนึ่งในเจ้าสาวที่ถูกลักพาตัว ประเพณีม้งที่มักเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน เมื่อเด็กผู้ชายสนใจผู้หญิงคนไหน พวกเขาสามารถลักพาตัวเธอได้ โดยได้รับความช่วยเหลือจากญาติและเพื่อนๆ เพื่อฉุดบังคับพาตัวเธอไปที่บ้าน แล้วค่อยจีบหรือทำความรู้จักกันอย่างจริงจังทีหลัง 

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ประเพณีนี้มันต้องแนบแน่นและกลืนเป็นเนื้อเดียวกับชีวิตแค่ไหนกันนะ เด็กๆ ถึงได้หยิบเอามาเล่นเป็นเกมสนุกสนานกันได้ 

แต่สำหรับดี้ เมื่ออยู่ตามลำพังกับเดียม ซึ่งน่าจะเป็นคนที่ดี้ไว้ใจมากพอสมควรถึงขั้นเข้าไปถ่ายทำในบ้านได้ ดี้กลับบอกเดียมว่า เธอจะไม่เป็นอย่างพี่สาวเด็ดขาด ยังไม่รู้หรอกว่าจะหนียังไง แต่ถ้าวันนั้นมาถึงจริงๆ ก็จะหาทางเอาตัวรอดให้ได้ 

Di Children of the Mist

เมื่อพี่สาวโดนฉุดไปตั้งแต่วัย 14 นิดๆ และตั้งท้องหลังจากนั้นแทบจะทันที ดี้กลายเป็นแรงงานหลักของบ้าน ทั้งให้อาหารหมู ถางหญ้า เก็บต้นครามสำหรับย้อมผ้า แบกฟืน ฯลฯ ควบคู่ไปกับการเรียนหนังสือ 

ดี้ทำเป็นทุกอย่างเท่าที่เด็กผู้หญิงคนหนึ่งจะทำได้ 

ถึงซาปาจะอยู่เหนือน้ำทะเล 800-1,000 เมตรแต่ดี้ก็เป็นวัยรุ่นโซเชียลไม่ต่างจากคนอื่น เธอทาลิปสติก ใส่ตุ้มหู ปัดมาสคาร่าไปโรงเรียน แชทกับเพื่อนหนุ่มโดยใช้ชื่อปลอม เธอเล่นเฟซบุ๊ก โพสต์รูปคู่แฟน แถมตอนจะเลิกก็เพราะเห็นแฟนโพสต์ถ่ายรูปคู่กับคนอื่น

ดี้อยากมีความรัก อยากมีความสัมพันธ์ที่หัวใจเต้นตึกตักเหมือนวัยรุ่นทั่วไป แต่ประเพณีต่างหากที่ทำให้รักๆ เลิกๆ ไม่ได้เหมือนชนชาติอื่น 

ในเทศกาลหาคู่อย่างวันตรุษจีนและเป็นขวบปีที่ 14 ดี้เดินจูงมือกับเด็กหนุ่มและหายไปด้วยกัน 1 คืน ไม่มีใครรู้ว่าคืนนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะผู้กำกับอย่างเดียมไม่ได้ตามไปในโลกส่วนตัวของทั้งคู่ 

Di Children of the Mist

รุ่งขึ้นดี้กลับมาพร้อมพ่อแม่ฝ่ายชาย เธอบอกว่าไม่อยากแต่งงาน เพราะอยากเรียนหนังสือ 

แต่เรื่องมันไม่ง่ายตรงที่พ่อแม่ของดี้เตรียมเรียกสินสอดไว้แล้ว 

มีหลายอย่างเกิดขึ้นมากมายหลังจากนั้น แต่การถ่ายทอดสารคดีผ่านสายตาผู้กำกับหญิงอย่างเดียม ทำให้เราเห็นทั้งการตั้งคำถาม ความไม่เข้าใจ ความโกรธต่อการลักพาตัวเจ้าสาว ผ่านมุมกล้องและแต่ละซีนที่เดียมคัดออกมา 

เหมือนเดียมที่เป็นคนเวียดนาม จะบอกคนดูผ่านหนังว่า การฉุดคือวัฒนธรรมที่ไม่ควรมีอีกต่อไป และสิ่งนี้ควรเริ่มต้นและจบที่ฝ่ายชาย 

“บ้านเรามีคำว่าหนีตามกันไป ซึ่งมันเป็นการยกภาระหรือความผิดให้ผู้หญิงที่เป็นฝ่ายหอบผ้าหอบผ่อนหนีไป แต่ฉุดของม้ง มันคือภาระและความรับผิดชอบของผู้ชายที่ฉุดเขาไป”​ รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนทนาในวงคุยหลังหนังจบ 

ลึกๆ แล้ว การฉุดในความหมายนี้ ทางพฤติกรรมไม่ใช่ฉุดกระชากลากถู แต่เป็นการเริ่มต้นจากฝ่ายชายและส่วนใหญ่มักจะจบลงง่ายๆ ด้วยความยินยอมพร้อมใจของฝ่ายหญิง

“ผู้ชายไม่มีกำลังหรือฐานะทางเศรษฐกิจ พูดง่ายๆ ว่าจน เลยอยากได้แรงงานผู้หญิงมาช่วยทำมาหากินเพิ่ม สิ่งที่เกิดขึ้นหลังฉุดคือ ครอบครัวผู้ชายยอมรับผิดและไปขอขมาอย่างเป็นเรื่องราว” อ.ยุกติ อธิบายความหมายที่ลึกกว่านั้น 

ในตอนท้ายของสารคดีเรื่องนี้ ดี้อาจใช้ความแสบหรือความพยศเลือกคำตอบให้ชีวิตตัวเอง ท่ามกลางความคัดค้านของคนรอบข้าง ยกเว้นยายที่บอกให้หลานตัดสินใจเอง 

Di Children of the Mist

“การอุ้มตัวเจ้าสาวเป็นสิ่งที่ยังเกิดขึ้นปกติในเมืองซาปา แม้ว่าทางการเวียดนามจะสั่งห้ามแล้วก็ตาม”  ตอนท้ายของหนังยังขึ้นบรรยายด้วยประโยคนี้ 

แต่ตราบใดที่เด็กๆ ม้งยังเล่นเกมฉุดผู้หญิงกันอย่างสนุกสนาน มันก็ยากที่จะบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นผิดหรือถูก 

“อย่าคิดว่าวัฒนธรรมนี้จะอยู่ตลอดไป” อ.ยุกติพูดไว้ในช่วงท้าย 

เช่นเดียวกัน สายหมอกก็คงจะจางหายไปในสักวัน  –  Children of the Mist