ทำไมเด็กประถมต้นในวันนี้ ถึงมีพัฒนาการถดถอยเท่าเด็กอนุบาล?

เป็นเวลากว่า 3 ปีที่โลกต้องเผชิญกับความรุนแรงของโรคระบาด COVID-19 หลายเมืองถูกปิด เศรษฐกิจหยุดชะงัก เราทุกคนต่างหวาดกลัว เช่นเดียวกับพัฒนาการด้านเรียนรู้ของเด็กๆ โรคระบาดขโมยเวลาที่สำคัญที่สุดของพวกเขาไป 

แม้สัญญาณฉุกเฉินทางการเรียนรู้ไม่ได้ส่งเสียงดัง จนคนในสังคมได้ยินอย่างทันท่วงที แต่กลับแสดงผลชัดเจนอย่างเงียบเชียบในช่วงรอยต่อระหว่างการเปลี่ยนผ่านระหว่างเด็กอนุบาลกำลังก้าวขึ้นสู่วัยประถม รายงานฉบับพิเศษห้องเรียนฟื้นฟูหลังโควิด-19 จากสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ค้นพบข้อมูลสำคัญว่า “เด็กประถมต้นวันนี้มีพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อเทียบเท่าอนุบาล 2”

หากจำกันได้ ตลอดช่วงการระบาดของ COVID-19 เด็กไทยทุกคนต้องเรียนหนังสือผ่านข้อจํากัดหลายอย่าง การเรียนออนไลน์กลายเป็นความท้าทายใหม่ที่เด็กๆ ต้องเจอ โดยเฉพาะเด็กเล็กช่วงวัยอนุบาล (2-6 ปี) ที่พัฒนาการและการเรียนรู้จำเป็นต้องสร้างผ่านการเล่นอย่างอิสระ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พวกเขาต้องเรียนโหมข้อมูลอย่างหนัก ถูกเร่งให้อ่านออก-เขียนได้ภายใต้ตำราและทฤษฎีจากหน้าจอสี่เหลี่ยมเป็นเวลานานแทนที่จะได้ลงมือเล่นและปฏิบัติจริงในห้องเรียนและสนามหญ้ากว้างๆ

ข้อมูลจากการวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กของนักเรียน ป.2 จํานวน 1,918 คน จาก 74 โรงเรียน ใน 6 จังหวัดภาคใต้ พบว่า เด็ก 98% ที่เคยผ่านการเรียนออนไลน์มาก่อน มีแรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กในวัยเดียวกัน ส่งผลให้เขียนหนังสือช้า ควบคุมทิศทางการเขียนได้ไม่ดี การทรงตัวในการนั่งเขียนไม่ดี ทํางานเสร็จช้า ไม่สามารถเรียนหนังสือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญที่สุดคือ พวกเขาไม่มีความสุขในห้องเรียน 

COVID-19 ฉุดรั้งโอกาสทองพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก

กล้ามเนื้อมัดเล็กนับว่าเป็นอวัยวะที่สำคัญในการสร้างพัฒนาการ ความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กได้ดี จึงเป็นต้นทุนที่ดีของเด็กเล็กในการเรียนรู้และการสำรวจสิ่งต่างๆ รอบตัว ซึ่งกล้ามเนื้อมัดเล็กที่ควรให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ สำหรับเด็กในวัยนี้ นั่นคือ กล้ามเนื้อมือ กล้ามเนื้อตา และกล้ามเนื้อรอบปาก

กล้ามเนื้อมัดเล็กจึงเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางการเรียนรู้โดยตรง ช่วยส่งเสริมในเรื่องของการเขียน การเรียน การหยิบจับสิ่งของ ตลอดจนถึงความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจําวัน อีกทั้งยังมีส่วนเกี่ยวข้องต่อการพัฒนาของสมอง ระบบประสาท ส่งผลต่อการแสดงออกพฤติกรรมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการยับยั้งชั่งใจ การควบคุมตัวเอง การวัดระยะ รวมถึงการเข้าใจทิศทาง 

ยกตัวอย่าง เมื่อเด็กเล็กต้องเรียนออนไลน์เป็นเวลานาน ไม่ได้ออกไปวิ่งเล่น ไม่ได้สัมผัสกับสิ่งของ ไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อตาในการวัดระยะ ทำให้ไม่รู้จักร่างกายและความทนทานของตัวเอง ไม่สามารถประเมินพละกำลังตนเองถูก เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้เป็นเวลานาน อาจทำให้เด็กคนนั้นมีพฤติกรรมซุ่มซ่าม เดินแล้วล้ม หรือตีเพื่อนแรงเกินไป

ดังนั้นกล้ามเนื้อมัดจึงเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ ในการสร้างให้เด็กคนหนึ่งมีศักยภาพในการใช้ชีวิตของพวกเขาได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด 

ทว่าเมื่อสิ้นสุดภาคเรียนแรกของปีการศึกษา 2565 กับการเปิดเรียนเต็มรูปแบบ สัญญาณหนึ่งที่เริ่มดังออกมาจากห้องเรียนคือตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา พบว่าเด็กๆ ที่ผ่านการเรียนหนังสือด้วยระบบออนไลน์ มีโอกาสพบเจอกับภาวะ Lost Generation ตามที่องค์การยูเนสโกคาดการณ์ไว้ 

ถึงแม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์โรคระบาดทั่วโลกจะเริ่มคลี่คลายแล้วก็ตาม หากปล่อยให้ภาวะทางการเรียนรู้ของเด็กเป็นเรื่องสูญญากาศ ไม่เร่งลงมือแก้ไขฟื้นฟูการเรียนรู้โดยเฉพาะในช่วงวัยอนุบาลก้าวเข้าสู่ประถมอย่างจริงจัง โดยมุ่งจะก้าวไปข้างหน้าและทำราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ท้ายที่สุดปมเหตุนี้อาจสร้างบาดแผลให้เด็กๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจให้ ไม่ว่าในมิติด้านทักษะ ด้านพัฒนาการ และยังรวมไปถึงคุณภาพชีวิตในอนาคต 

ถดถอยแต่ไม่ซ่อมแซม เราจะเสียเด็กทั้งรุ่นไป

การเรียนรู้ด้านพัฒนาการของเด็กช่วงปฐมวัยหรือประถมต้นขาดหายไปนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคระบาด เนื่องจากการปิดสถานศึกษาและการเรียนในรูปแบบทางไกล สิ่งนี้ส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของนักเรียนทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มยากจนขาดโอกาส และกลุ่มเด็กเล็ก ทำให้เด็กๆ จำนวนไม่น้อยลืมวิธีการอ่าน และเขียน บางคนจำไม่ได้แม้แต่ตัวอักษร 

หากเราไม่สามารถหยุดแนวโน้มนี้ได้ หมายความว่าประเทศไทยจะไม่ได้อยู่ในภาวะ การเรียนรู้ถดถอยเป็นรายบุคคลเท่านั้น แต่ข้อมูลที่พบกำลังบอกเราว่าประเทศไทย อาจเข้าสู่ภาวะเสี่ยงต่อการสูญเสียเด็กทั้งรุ่น หรือ Lost Generation

นอกจากเรื่องพัฒนาของกล้ามเนื้อมัดเล็ก ผลวิจัยความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (Thailand School Readiness Survey: TSRS) ที่ทำหน้าที่ช่วยประเมินความพร้อมของเด็กปฐมวัยต่อเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพเมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาในระดับประถมศึกษา สะท้อนผลลัพธ์สำคัญไว้ว่า การปิดสถานศึกษาในช่วงการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้เกิดปัญหา ‘ภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss)’ กับเด็กปฐมวัยอย่างชัดเจน โดยพิจารณาจากผลเปรียบเทียบระดับความพร้อมฯ เฉลี่ยด้านวิชาการของเด็กปฐมวัย ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างที่สำรวจในปี 2565 ซึ่งเป็นปีหลังการปิดเรียนเนื่องจากโรคระบาดอันยาวนาน มีระดับความพร้อมฯ ตํ่ากว่ากลุ่มตัวอย่างที่สำรวจในปี 2563 (ไม่มีผลกระทบจากโควิด) และกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจในปี 2564 (ได้รับผลกระทบจากโควิดเล็กน้อย)

โดยวัดทักษะพื้นฐานของเด็กปฐมวัย ด้านภาษา ด้านคณิตศาสตร์ และ Executive Functions (EFs) เช่น ความจำ ใช้งาน (working memory) พร้อมทั้งสำรวจข้อมูลพื้นฐานของครัวเรือนและ สถานศึกษาซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อระดับความพร้อมของเด็กปฐมวัย ระดับอนุบาล 3 จำนวน 73 จังหวัด ระหว่างปีการศึกษา 2563-2565 พบว่า

  • ทักษะด้านภาษา : หลังจากต้องหยุดเรียนเป็นเวลานาน เด็กปฐมวัยจำนวนมากขึ้นไม่รู้จักตัว อักษรไทย เป็นจำนวน 9 % ก่อนการระบาดและเป็น 15 % หลังการระบาดของโควิด-19 (จาก 5 ตัว ที่เลือกมาทำการทดสอบ)
  • ทักษะด้านคณิตศาสตร์ : หลังจากต้องหยุดเรียนเป็นเวลานาน เด็กปฐมวัยจำนวนมากขึ้นไม่รู้จักตัวเลข 0-9 ได้ครบ จาก 25 % ก่อนการระบาดและเป็น 36 % หลังการระบาดของ COVID-19
  • Executive Functions (EFs) : หลังจากต้องหยุดเรียนเป็นเวลานาน เด็กปฐมวัยมีความสามารถในการจำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ลดลง ซึ่งน่าจะเป็นเพราะความจำ ใช้งานต้องสร้างผ่านการทำกิจกรรมที่กระตุ้นในการเรียนรู้อย่างสมํ่าเสมอ สมองจึงจะพัฒนาความสามารถ ในการจดจำแล้วดึงความจำนั้นมาใช้งาน เนื่องจากไม่ได้ไปโรงเรียนและผู้ปกครองไม่รู้วิธีกระตุ้น จึงเกิดภาวะถดถอยขึ้น

ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมาที่การเรียนของเด็กไทยถูกทำให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์ จึงเพิ่มโอกาสที่ทำให้พัฒนาการถดถอยของเด็กปฐมวัยและช่วงประถมอย่างร้ายแรง ข้อค้นพบดังล่าวอาจกำลังบอกถึงอัตราความเสี่ยงที่ทำให้พวกเขาหลุดออกนอกระบบการศึกษา หากเรายังไม่มีการแก้ไขที่ชัดเจน 

ถ้าเราไม่จัดการอะไรเรื่องนี้อย่างจริงจัง ประเทศจะเสียเด็กรุ่นนี้ไปทั้งรุ่น” 

สเตฟาเนีย จีอันนินี ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ด้านการศึกษา แห่งองค์กรการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กล่าวไว้ และเราต่างมีหน้าที่และทำทุกวิถีทางไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น หรือถ้ามันเกิดไปแล้วก็ควรจำกัดความเสียหายให้น้อยที่สุด 

ที่มา : รายงานฉบับพิเศษห้องเรียนฟื้นฟูหลังโควิด-19