“โอกาสและเงินมันหายากพอๆ กับการรีดความหวานออกจากทะเล”  คุยกับ มินนี่ Deadline always exists มนุษย์เจน Z ที่อยากเป็นแม่

“อยากบอกคนทั้งโลกว่าฉันไม่ใช่แค่เรื่องชั่วคราว ฉันจะอยู่กับคนๆ นี้ทั้งชีวิต” มินนี่ เมธาวจี สาระคุณ หนึ่งในผู้ก่อตั้งเอเจนซี Inside the sandbox และเพจ Deadline always exist ตอบคำถามว่าทำไมอยากแต่งงานแล้วในวัย 26 ปี 

ก่อนเริ่มบทสนทนา มินนี่บอกว่าเพิ่งกลับจากไปเยี่ยมลูกเพจ Deadline always exist ที่กินยาฆ่าตัวตายแต่ปลอดภัยแล้ว 

“เฉลี่ย 2 เดือนครั้งนะ” เมื่อถามถึงความถี่ที่ต้องไปโรงพยาบาลด้วยสาเหตุนี้ มินนี่เองเคยเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้าและ PTSD (Post Traumatic Stress Syndrome) และคนที่อยู่ข้างๆ คอยดูแลมินนี่เสมอคือแฟนคนปัจจุบัน 

“เรารักผู้ชายที่อยู่กับเรามากๆเลย แล้วเรารู้สึกว่าความรักที่มีมันมั่นคงมากพอที่จะเป็นคําว่าครอบครัว ซึ่งพอมันเป็นคําว่าครอบครัว เราอยากแก่ด้วยกันไปเรื่อยๆ”  

มินนี่ เมธาวจี สาระคุณ

แผนอันใกล้ของมินกับแฟนคือแต่งงานและจดทะเบียนสมรส 

“มินรู้สึกว่ามันคือ commitment คือกระบวนการหนึ่งของการบอกคนทั้งโลกว่าฉันไม่ใช่คอนเทมโพรารีนะจ๊ะ ฉันไม่ใช่แค่เรื่องชั่วคราว ฉันจะอยู่กับคนคนนี้ทั้งชีวิต” 

เพราะปลายทางคือ การมีลูก 

ถ้าเป็นยี่สิบสามสิบปีก่อน การที่ผู้หญิงวัย 26 สักคนอยากมีลูก ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่วันนี้ วันที่อัตราการตายของประชากรน้อยกว่าการเกิด การอยากมีลูกน้อยลงเรื่อยๆ เจน X Y Z เลือกที่จะอยู่คนเดียวมากขึ้น 

แต่เจน Z คนนี้บอกอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า มิน-อยาก-มี-ลูก ในสังคมที่มินเองก็บอกว่า “โอกาสและเงิน” หายากพอๆ กับการรีดความหวานออกจากทะเล 

ทําไมถึงอยากมีลูก

เอาจริงปะ มันเป็นความเห็นแก่ตัวของเราเลยเว้ย มันมีแต่ความอยากของเรา เราอยากมีเด็กคนหนึ่งที่เป็นตัวแทนของเราและแฟน 

กับลูก เราอยากเห็นมนุษย์คนหนึ่งอยู่กับเราตั้งแต่เดย์วันและโตไปเรื่อยๆ กับเรา เราค่อยๆ พัฒนาครอบครัวนี้ไปด้วยกัน  อาจจะเรียกว่าหัวโบราณก็ได้นะ แต่รู้สึกว่าสุดท้ายแล้วลูกก็เป็น element หนึ่งของครอบครัวที่สร้างการเติบโตให้พ่อแม่ มันเป็นความรู้สึกพิเศษที่คงไม่ได้รู้สึกอีกแล้วถ้าเราไม่ได้เป็นพ่อแม่

แต่สุดท้ายมันเป็นความอยากของเราไปหมดเลย เราไม่เคยถามเด็กที่เกิดมาว่าเขาอยากเกิดมาหรือเปล่า แต่สุดท้ายเราอยากมีเด็กคนนี้ในชีวิต เรารู้สึกว่าเด็กคนนี้จะช่วยเติมเต็มชีวิตคู่เราได้ ซึ่งทุกครั้งที่คิดแบบนี้ ทุกครั้งที่คุยกับแฟนก็รู้สึกว่า เรารู้สึกผิดว่ะ เรารู้สึกผิดที่เราเอาเด็กคนนึงมาเติมเต็มชีวิตคู่ของเรา เราให้เขาเกิดมาอย่างมีพันธกิจหรือเปล่า 

มินรู้สึกว่าความรับผิดชอบของเราต่อมนุษย์คนหนึ่งที่จะเกิดมา คือเราต้องสามารถให้เขาได้เท่าที่เขาอยากได้ อาจจะไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์แต่อย่างน้อยเราสามารถตอบโจทย์ขั้นพื้นฐานเขาได้ทุกอย่าง มันมีหลายเรื่องเลยที่พ่อแม่ต้องกังวล ทั้งเรื่องสุขภาพจิต  โรงเรียน การศึกษาอนาคต ความฝัน

มันควรพร้อมเรื่องอะไรบ้าง

สําหรับมินเอง เรื่องเงินสําคัญมาก เพราะรู้สึกว่าการเลี้ยงเด็กคนนึงในยุคนี้ มันแพงมาก พอไปดูค่าเทอมโรงเรียน เชี่ย เงินเดือนคนทั่วไปมันจ่ายไม่ได้ แล้วก็รู้สึกว่าต้องพร้อมในเชิง mentally (สภาพจิตใจ) ด้วย เพราะเราไม่ได้อยู่ในยุคที่เดี๋ยวลูกจะมากตัญญู ลูกรักเรา by choice เขาไม่ได้ถูก force ให้มารักเราอีกแล้ว

เราต้องพร้อมที่จะให้ความรักกับมนุษย์คนหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเราจะไม่คาดหวังกับเขาเลยสักเปอร์เซ็นต์เดียว ซึ่งการไม่คาดหวังเลยมันยากมากเลยนะ พูดกับแฟนตลอดว่าถ้าเรายังคาดหวังว่าลูกจะเป็นยังไง ถ้าเรายังคาดหวังว่าลูกจะน่ารัก ก็ไม่ต้องมีลูก เราจะมีลูกเมื่อเราพร้อมที่จะรักร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าต่อให้เด็กคนนี้เป็นยังไงเราก็จะรักเขา

พร้อมของมิน มันต้องพร้อมไปถึงแค่ไหน

พูดตรงๆ เลยนะ รู้สึกว่าถ้ารายได้ (หลังหักค่าใช้จ่าย) ต่ำกว่าปีละสี่ล้าน เก็บกับแฟนคนละสองล้าน เลี้ยงลูกไม่ได้ อันนี้สำรวจแบบจริงจังเลย เปิดค่าใช้จ่ายตั้งแต่อนุบาล ถามคนที่มีลูกแล้ว คิดค่านม ค่าอาหาร ค่าเรียนพิเศษ ถ้าอยากให้ครอบครัวอยู่ได้แบบมีเงินเก็บ 

จริงอยู่ที่คนเป็นแม่จะเลี้ยงเด็กได้อย่างมีความสุขในทุกชนชั้นแหละ แต่เรารู้สึกว่าเงินมันซื้อใบเบิกทางได้หลายอย่าง เราไม่ได้อยากวางรากฐานที่อ่อนแอให้เขา เราไม่อยากให้เขาต้องมานั่งห่วงว่าเรียนจบไปทําอะไรดี  อาจจะดูเป็น overprotective mom นะ แต่เรารู้สึกว่าอยากให้เขามีความฝันอะไรก็ทํา ไม่ต้องห่วงเรื่องเงิน เพราะว่าที่บ้านซัพพอร์ตให้ สุดท้ายมันคือการมีฟูกที่เราไม่เคยมี 

ตอนเราเรียนจบเรารู้สึกว่า การลงมือทําอะไรสักอย่างมันเสี่ยงมากเลย สุดท้ายเราไม่ได้เลือกมันจากความอยากจริงๆ  ดังนั้นการที่ลูกเราได้เลือกทำจากความอยากโดยไม่ต้องคิดเรื่องเงิน มันดีมากเลย 

ไม่อยากให้ลูกไปเรียนรู้สู้ชีวิตเองเหรอ 

ชีวิตไม่ต้องสู้มากก็ได้ สู้มากมันเป็นซึมเศร้า 

ประสบการณ์ครอบครัวภูมิหลังของมิน มันทําอะไรกับมินบ้างทําให้มินต้องคิดว่าลูกฉันไม่ต้องสู้บ้างก็ได้ 

บ้านมินเคยมีช่วงที่ไม่มีเงินเลย  มีหนี้ มันทําให้มินกลายเป็นคนที่กลัวการไม่มีเงินตลอดเวลา แล้วครอบครัวกดดันมาก ต้องเข้าโรงเรียนที่ดีที่สุดเท่านั้น สําหรับมินวัยเด็กคือวัยที่แบบทุกข์ที่สุด เพราะว่าไม่มีสิทธิ์ทําอะไรเอง ไม่มีสิทธิ์เลือกอะไรเองทั้งนั้น 

เรารู้สึกว่าคนไทยไม่ได้อยากได้เงิน ไม่ได้อยากรวยเพื่อไปซื้อเครื่องบินเจ็ต ไม่ได้อยากรวยเพื่อซื้อแบรนด์เนม มันอาจมีคนแบบนั้น แต่สุดท้ายแล้วเราแค่อยากรวยเพื่อซื้อสิทธิขั้นพื้นฐานให้มันพอที่เราจะอยู่ได้ เราแค่ต้องการอาหารที่ดีและสุขภาพไม่แย่ เราต้องการไปหาหมอ เราต้องการฉีดวัคซีน เราต้องการโรงเรียนที่ดี ทุกอย่างมันใช้เงินหมดเลย รัฐบาลมันไม่ได้มีให้เลย มันจึงไม่แปลกที่คนๆ หนึ่งจะบอกว่าอยากรวย

มินบอกว่ามีครอบครัวควรจะเป็นฟูก ฟูกแบบไหนบ้างที่สังคมควรจะมีให้ โดยเฉพาะกับคนๆ หนึ่งที่กําลังชั่งใจว่าฉันจะเป็นแม่ดีหรือเปล่า

อย่างแรกการศึกษา ตอนมินคิดจะมีลูกสิ่งที่ห่วงมากๆ คือการศึกษาและการรักษาพยาบาล เราไม่สามารถจริงๆ ที่จะให้ลูกไปรับยาจากหมอแล้วเป็นยาชนิดที่เราต่อรองไม่ได้หรือไม่สามารถจริงๆ ที่จะให้ลูกเรียนโรงเรียนไหนก็ได้ การศึกษามันไม่เท่าเทียมขนาดนั้น มันมีโรงเรียนที่ดีโรงเรียนที่ไม่ดี  มันมีโรงพยาบาลที่หมอเก่งกับหมอไม่เก่ง โรงพยาบาลที่เราต้องรอคิวกับไม่ต้องรอคิว ไม่อยากให้ลูกตื่นตีสี่มารอคิวเป็นร้อย  ถ้าลูกป่วยก็ควรมีหมอที่ดี ส่วนโรงเรียนที่ดีก็จะมีสังคมที่ดี เลยรู้สึกว่าถ้าฟูกคือสองเรื่องนี้ จะสบายใจกว่านี้เยอะเลย

มินอยากเป็นแม่แบบไหน

อยากเป็นแม่แบบไหนก็ได้ที่ลูกรัก มินต้องการความรักจากลูกมากเว้ย สิ่งที่เราต้องการมากกว่าการมีลูกคือ อยากให้ลูกรักเรา เราคาดหวังมากๆ ว่าคนๆ หนึ่งเกิดมาต้องรักเรา เพราะเรารู้สึกว่าการถูกรักมันดีจังเลย การที่เรามีคนๆ หนึ่งที่รักเราโดยไม่มีเงื่อนไข คนๆ หนึ่งที่แค่กอดเราเขาก็หยุดร้องไห้ มันดีจังเลย แต่มันก็คงเป็นแค่ช่วงวัยเด็กมั้ง ถ้าโตขึ้นเขาคงมีความรักของเขา มีชีวิตของเขา

 มินรู้สึกว่า แม่ยุคทุกสมัยแม้กระทั่งยุคนี้ ขาดสองอย่าง คือความสุขกับความมั่นคง พอต้องเป็นแม่คน สิ่งแรกที่รู้สึกเลยคือเรารู้สึกว่าเราเป็นตัวเองไม่ได้แล้ว สังคมนี้มันมีความเชื่อกับคําว่าแม่มากเกินไป มีคําว่า แม่ที่ดีควรเป็นยังไงและแม่ที่ไม่ดีเป็นยังไง ซึ่งทุกคนไม่อยากไปตกกล่องแม่ที่ไม่ดี 

ทุกคนมองว่าแม่ Perfect เป็นพระในบ้าน มินรู้สึกว่าสิ่งนี้มันคาดหวังกับผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ มากเกินไป ทําไมเราถึงคาดหวังให้ผู้หญิงคนหนึ่งที่ป็นมนุษย์เหมือนกัน ให้เป็นพระในบ้านด้วยล่ะ 

ทุกคนก็เป็นแม่ครั้งแรก อย่างแรกที่มินรู้สึกเลยคือ เราทุกข์จากการเป็นแม่เว้ย อย่างที่สองคือเรารู้สึกไม่มั่นคง เรารู้สึกไม่มั่นคงว่าสามีจะเลิกเมื่อไหร่ การเมืองจะเป็นยังไง ครอบครัวฉันจะปลอดภัยไหม ฉันจะหาเงินมาเลี้ยงลูกได้ไหม  มันรู้สึกไม่มั่นคงเลย มินรู้สึกว่าความไม่มั่นคงและความกดทับในฐานะที่ฉันต้องเป็นแม่ที่ดี ฉันเป็นผู้หญิงที่ต้องเข้มแข็งเพื่อลูก มันกดทับผู้หญิงมากเกินไป

มินรู้สึกว่าความเป็นแม่ไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น สิ่งที่มัน burden (ภาระ) คือคําว่าครอบครัวมากกว่า มินรู้สึกว่ามันยากจังเลย แต่การเป็นแม่ของมินก็คือการเป็นผู้หญิงให้กําเนิดลูก แค่นั้นคือเรียกว่าแม่แล้ว แต่แม่ที่ดีกับแม่ที่ไม่ดี อันนี้เป็นปัญหาที่จะแยกย่อยแล้ว มินไม่สามารถหลุดออกจากกรอบของสังคมได้ ปัญหาหนึ่งของมินเลย คือมินไม่สามารถออกจากกรอบได้ว่าแม่ที่ดีเป็นยังไง เช่น สมัยเด็กๆ มินอยากให้แม่แต่งตัวเรียบร้อย แต่แม่มินเปรี้ยวมากเพราะว่าแม่ที่ดีในละครเป็นแบบนั้น ซึ่งมินไม่รู้เอามาจากไหนแต่ถ้าลูกเราคาดหวังให้เราแต่งตัวเรียบร้อย เราจะทําได้หรือเปล่าวะ เราคาดหวังให้แม่เราไม่กินเหล้า เพราะว่าผู้หญิงต้องไม่กินเหล้า เราจะทําได้เปล่าวะ แหม เรากลัวความคาดหวังที่สังคมจะมีให้เรา 

แล้วมายาคติไหนของความเป็นแม่ที่มินไม่ซื้อเลย

แม่เป็นพระในบ้าน ไม่ซื้อเลย ทําไมต้องมีพระในบ้าน อยากได้พระก็ไปเช่าสิ เพราะเวลาเรามองใครเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เราจะรู้สึกว่าเขาผิดไม่ได้ แต่แม่ทุกคนผิดได้ 

เช่น ลูกทะเลาะกับเพื่อนมา ไปต่อยกับเพื่อนที่โรงเรียน ลูกกลับบ้านมา เราควรปลอบลูกที่ลูกโดนต่อย หรือควรด่าลูกที่ไปต่อยคนอื่น เฮ้ย ตอบไม่ได้ว่ะ ต้องรอวันเกิดเหตุการณ์จริง แม่ทุกคนแม่งเคยเกิดเหตุการณ์นี้ครั้งแรก ทุกคนเคยเป็นแม่ครั้งแรก หรือต่อให้มีลูกมาหลายคนแล้วเราก็เป็นแม่ของเด็กคนนี้ครั้งแรก การบอกว่าแม่คือพระในบ้านมันเป็นการชูแม่แบบแม่ไม่ผิด แม่ไม่พลาด แม่รู้กระจ่างแจ้งทุกอย่างเลย 

จริงๆแล้วความรักมันยังสําคัญอยู่ใช่ไหม

มินรู้สึกว่าความรักสําคัญ ความรักเป็นจุดเริ่มต้นก็จริง แต่การที่จะไปรอดในประเทศนี้มันต้องมีเงิน ถ้าถามว่าอะไรสําคัญกว่าระหว่างทํางานกับเงิน ตอบเงินนะ ถ้าคุณรักกัน ต้องมีเงินเติมค่าเน็ต  ถ้าไม่มีเงินเติมเน็ต คุยกันไม่ได้นะ ถ้าไม่มีเงิน จ่ายค่าน้ํามันขับไปหาไม่ได้นะ หรือเอามาอยู่บ้านเดียวกัน ถ้าไม่มีเงินจ่ายค่าห้องไม่ได้นะ อยู่ด้วยกันไม่ได้ สุดท้ายแล้วเราต้องยอมรับว่าการมั่นคงทางเงินมันทําให้เราอยู่ด้วยกันได้ 

โจทย์ที่สังคมวางมาให้เรามันเยอะมากเลย แล้วมันรีดเอเนอร์จีเราจนกระทั่งเราไม่มีแรงมาใช้ชีวิต  เราไม่มีแรงไปรักใครสักคน ซึ่งความรักมันคือชีวิตของเรา มันก็ทําให้เรารู้สึกว่าความรักเป็นเรื่องยาก ประเทศที่ไม่ทําให้เรารู้สึกหมดแรงกับการใช้ชีวิต  ความเป็นมนุษย์ ความรักมันจะเติบโตได้ง่ายกว่า 

ในกลุ่มต่างๆ ทางโซเชียลที่พ่อแม่คุยกัน เราจะเห็นแม่หมดแรงเยอะมาก

แต่มินรู้สึกว่าการเลี้ยงเด็กคนนึงมันต้องไม่ไหวแล้วนะ มินรู้สึกว่าแบบ it’s take a whole village  to raise a child  การเลี้ยงเด็กคนนึงมันยากอยู่แล้ว มันเหนื่อยอยู่แล้ว มันจะไม่ไหวก็ไม่แปลก

แต่การที่เขารู้สึกว่ามันไม่ไหวแล้วโว้ย คุณต้องเป็นคนทํางานด้วยแล้วก็เป็นแม่ด้วย

มันมีเรื่องของหน้าที่ของผู้หญิงที่ต้องเป็นคนเลี้ยงลูก ถ้าเราหลับตา เราเห็นคนๆ หนึ่งยืนล้างจานอยู่ในครัว คนคนนั้นจะเป็นผู้หญิงเสมอเว้ย เราจะไม่เห็นผู้ชายยืนล้างจาน พราะเรารู้สึกว่าหน้าที่ในบ้านในครัวจะเป็นผู้หญิง ซึ่งมันไม่แปลกที่ผู้หญิงหลายคนมันจะไม่ไหวแล้วโว้ยเลย มันมีความเครียดความกดดันหลายอย่างที่เราคอนโทรลไม่ได้แล้ว ไม่ได้ดูแค่เด็กคนเดียวแต่เราเลี้ยงเขาและเรารับผิดชอบ  

พ่อกับแม่รู้ไหมว่ามินอยากมีลูก

รู้แล้ว แต่พ่อกับแม่ก็ห้ามว่า อย่ามีลูก ยังไม่พร้อม

คําว่าไม่พร้อมของพ่อแม่คืออะไร

คือเรื่องเงิน ต้องรวยกว่านี้อีกนะถึงจะมีลูกได้ อืม แล้ววันที่เขามีมิน เขารู้ไงว่าเขาไม่พร้อมแล้วมันเป็นยังไง มัน fuck up ยังไง  ดังนั้นเขาเลยรู้สึกว่ามันต้องพร้อมเท่านั้น มินรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ได้มองว่าการแต่งงานของมิน การมีลูกของมินเป็นเรื่องของมิน แต่พ่อแม่มองว่ามันเป็นโอกาสให้เขาแก้ไขความผิดพลาดที่เขาเคยพลาดเมื่อเขาเป็นหนุ่มสาว

เขาไม่อยากให้ลูกพลาดซ้ำ เราเลยไม่โกรธ  โอเค ห้ามก็ฟัง เพราะมันคงเป็นความสบายใจของเขา หลายๆ ครั้งที่พ่อแม่ห้ามอะ มันมีเหตุในการห้ามจริงๆ นะ 

ทําไมถึงคิดที่จะเลี้ยงมีลูก ในสภาพสังคมที่ยังเป็นแบบนี้ ในประเทศที่ยังเป็นแบบนี้ 

เรายังรู้สึกว่าการย้ายประเทศไม่เคยเป็นช้อยส์ในชีวิตและ เรารู้สึกว่าบ้านฉันอยู่ที่นี่ ฉันโตมาที่นี่ ฉันจะทําให้ที่นี่ดีขึ้น แล้วฉันจะอยู่ที่นี่ 

มินบอกว่าปัญหาเรื่องเงินนำมาซึ่งปัญหาทุกอย่าง?

จากประสบการณ์ที่คุยกับลูกเพจ (deadline always excist) มาเลยนะคือครอบครัวที่เริ่มมีปัญหากัน ปัญหามันจะเริ่มยิ่งใหญ่และคอนโทรลไม่ได้เมื่อมีเรื่องเงินเข้ามา 

สรุปคือเป็นแม่ต้องมีเงิน 

ไม่จริงเหรอ จริง โคตรจริงนะ เป็นแม่ต้องมีเงิน ค่าน้ํานมคือเงิน ของที่เรากินไปเพื่อกลั่นออกเป็นน้ํานมมันต้องใช้เงิน แล้วถึงจุดหนึ่งเมื่อแม่ไม่มีเงิน ลูกก็ต้องหาเงิน

คิดจะให้ลูกหาเงินไหม 

ไม่คิดเลย เพราะรู้สึกว่าการหาเงินในประเทศนี้ลําบาก  รการหาเงินในประเทศนี้ เหมือนรีดเลือดออกจากปู เหมือนรีดความหวานออกจากทะเลอะ มันหาเงินยากมากเลยอะ ทั้ง opportunity ความเติบโต มันเคยมียุคที่เราจ่ายเงินร้อยนึงโดยที่ไม่ต้องคิด  ตอนนี้ห้าสิบบาทกูยังคิดเลย