“ตอนเด็กๆ เราลายมือเละมากที่สุด ทั้งไทยและอังกฤษ” คุยเรื่องที่สำคัญมากกว่าเขียนไม่ได้ กับ นักจิตวิทยาและมนุษย์แม่ ‘ณัฐสุดา เต้พันธ์’ ในภาวะ Learning loss

ตั้งแต่เปิดเทอมหลังวิกฤตโรคระบาด พ่อแม่คาดหวังจะได้ยินเสียงหัวเราะของลูกที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน

ความดีใจถูกแทนที่ด้วยใบหน้าอันเป็นกังวล เมื่อถามไถ่กลับพบว่าลูกไม่มีความสุข เพราะจิตใจข้างในเต็มไปด้วยความสับสน ไม่มั่นคง และคำว่า “ฉันทำไม่ได้” นี่คือร่องรอยของภาวะการเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning loss ที่เกิดขึ้นจริงในห้องเรียนหลังโควิด-19 เนื่องจากเด็กๆ จำเป็นต้องผ่านความพยายามอดทนกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปโดยไม่สอดคล้องกับพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจ

Mutual คุยกับ ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักจิตวิทยาและคุณแม่ผู้มีประสบการณ์ลูกเล็กที่ผ่านช่วงเวลายากลำบากโควิด-19 เราจะฟื้นฟูจิตใจของเด็กได้อย่างไร? ร่องรอยโรคระบาดในมิติทางใจของเด็กเล็กเรื่องใดบ้างที่ยังคงปรากฏจนถึงวันนี้ และคุยให้ลึกถึงประเด็นการเขียน ที่แม้โรงเรียนจะเปิดตามปกติแล้ว แต่เรากลับไม่มีมาตรการฟื้นฟูใดๆ อย่างจริงจัง ในระยะยาวจะสร้างปัญหาให้กับพวกเขาอย่างไร?

หลังจากเกิดโควิด-19 สุขภาพจิตเด็กไทย ณ วันนี้ เป็นอย่างไรบ้าง

ช่วงโควิด-19  มันทำให้คนแยกจากกัน สำหรับทางจิตใจ เราทุกคนเหมือนว่ายน้ำกันเองเพื่อที่จะให้รอดได้ 

สำหรับช่วงเวลาที่ผ่านมา ถึงแม้ความพิเศษของเด็กเล็กจะปรับตัวเร็ว แต่เราว่าสิ่งหายไปสำหรับเด็กเล็กคือการเรียนรู้และความกล้าที่จะสำรวจโลก สิ่งนี้สำคัญมากนะ เพราะเด็กเล็กจะเรียนรู้ผ่านการสัมผัส การเล่นที่ได้ออกไปเผชิญโลกกว้าง ยกตัวอย่าง เราไม่ได้ออกไปไหน ถึงแม้พ่อแม่จะพาลูกออกจากบ้านก็ไม่ให้จับหรือสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมเลย

ดังนั้นสิ่งที่หายไปคือ Exploration และสิ่งนี้มีผลต่อ Sense of Self  หรือภาวะความรู้สึกว่าข้างนอกโลกปลอดภัย ความมั่นใจ ความรู้สึกอิสระที่จะควบคุมสิ่งต่างๆ ได้ รวมถึงช่องว่างที่มันหายไปนี้ ทำให้เด็กเล็กขาดการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ถามว่ามันสำคัญแค่ไหน ในแง่พัฒนาการสิ่งที่กล่าวไปนั่นจะเป็นตัวช่วยที่ค่อยๆ พัฒนาพวกเขา ผ่านสิ่งแวดล้อมในสังคม

นอกจากนั้นยังโควิด-19 ยังสร้างผลกระทบด้านวิชาการที่เกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ต่างๆ สิ่งนี้ทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถเรียนหรือเขียนได้เหมือนแต่ก่อน เพราะตัวเองต่อไม่ติด ก่อให้เกิดความกังวล ความกลัว ความไม่มั่นคง มั่นใจ

ถามว่าความมั่นใจสำคัญแค่ไหน ลองนึกถึงภาพเด็กตัวเล็กๆ ที่ไม่เคยแยกจากมาก่อน แล้วพอทุกอย่างเปิดตามปกติ ชีวิตเขาต้องก้าวข้ามไปเลย เขาไม่ได้เรียนรู้โลกอย่างมีขั้นตอน เป็นสิ่งที่น่ากลัวนะ เรื่องทักษะต่างๆ เราว่ามันฟื้นฟูได้ แต่ผลจากการขาดปฏิสัมพันธ์ หรือ Interact ระหว่างมนุษย์ที่พูดคุยหรือเจอหน้ากัน ในระยะยาวมันจะส่งผลอะไรตามมา

ย้อนไปตอนบังคับเรียนออนไลน์ในเด็กเล็ก เกิดร่องรอยของผลเสียใดบ้างที่ยังคงปรากฏจนถึงวันนี้ 

ประเด็นมีงานศึกษาออกมาหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Screen Time (เวลาหน้าจอ) ที่เด็กๆ ต้องเจอมากเกินไปในช่วยสถานการณ์ที่มันจำเป็นต้องมีการเรียนออนไลน์ แต่อย่างไรก็ควรต้องสอดคล้องกับพัฒนาการตามวัยเขาที่ยังต้องเน้นกิจกรรม มันไม่ควรจะเป็นการเรียนออนไลน์ที่นั่งฟังครูตลอดเวลา อาจจะวันละแค่ 10 นาที 15 นาที สลับกับการออกไปมีกิจกรรมอื่นๆ หากไม่เป็นเช่นนั้นจะก่อให้เกิดพฤติกรรมเนือยนิ่งอันเนื่องมาจากอยู่หน้าจอนานเกินไป

เพราะสิ่งสำคัญสำหรับเด็กเล็กคือการสำรวจโลกและการได้ซุกซนนั่นคือการเรียนรู้ของเขา แต่ถ้ามันบังเอิญเกิดขึ้นไปแล้วเป็นคำถามที่น่ากลัวนะว่าแบบมันจะซ่อมยังไง 

เด็กอนุบาลที่ถูกบังคับให้อยู่กับหน้าจอนานๆ ในวันที่เขาเป็นเราประถมแล้ว จะหลงเหลือพฤติกรรมอะไรที่มันเป็นเอฟเฟกต์จากช่วงเวลาเหล่านั้น 

เราคิดว่ามันน่าจะเป็นลักษณะของการขาดความมั่นใจในการที่จะออกไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น

เพราะเขาคุ้นเคยกับการมีปฏิสัมพันธ์ผ่านจอมากกว่าปฏิสัมพันธ์จริงกับมนุษย์ ซึ่งเราว่าอันนี้ต้องแก้ การพูดคุยผ่านหน้าจอมันเป็นสิ่งที่ดีในบางมิติ แต่สำหรับเด็กเล็กมันไม่ใช่ ดังนัันมันไม่มีทางจะเหมือนกัน

อย่างที่กล่าวไปว่าเราเชื่อเด็กรุ่นนี้มี Resilient หรือความยืดหยุ่นสูงมาก เราหวังว่าเด็กเขามีความสามารถในการฟื้นฟูกลับมาได้ ถ้าสมมติว่าพ่อแม่ทำความเข้าใจ คุณครูเข้าใจ โรงเรียนเข้าใจว่ามีอะไรหล่นหายไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มันไม่ใช่เพียงความรู้แต่มันเป็นสกิลการสำรวจโลกของเขา ถ้าเราเร่งแก้และฟื้นฟูมันอย่างที่ควรจะเป็น ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นไปตามพัฒนาการ เราทำให้เขาได้เจอเพื่อน ให้เขาได้สำรวจตัวเองและสิ่งที่อยู่ในโลกใบนี้มากกว่าหน้าจอ ไม่ใช่เร่งแค่ด้านวิชาการ เด็กๆ อาจจะฟื้นกลับมาได้นะ

เรารับรู้มามากพอแล้วว่าปัญหามันมีอะไรบ้างหลังจากเกิดโควิด-19 ลำดับต่อไปคือเรื่องของการฟื้นฟู เราต้องทำอะไรบ้าง

นี่คือคำถามทองเลยนะ ถ้าฟื้นฟูได้มันจะเจ๋งมากเลย แต่ตอนนี้มันยังไม่มีสิ่งที่เป็น Goal Standard ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ต้องทำหลังโควิด-19 เพราะว่าเราวิ่งตามกันมาตลอดและทุกคนยังอยู่ในช่วงเมาหมัด แต่ในฐานะทั้งนักจิตวิทยาและมนุษย์แม่ เราว่าสิ่งหนึ่งที่ทำได้คือ พ่อแม่สามารถลด expectation หรือความคาดหวังลงก่อนได้ 

การลดความหวังเป็นไปเพราะช่วงที่ผ่านมาเราเข้าใจแล้วว่าลูกได้รับผลถูกกระทบอะไรบ้าง ในแง่ตัวตน ในแง่ของการเรียนรู้ และในแง่ของสกิล ดังนั้นพ่อแม่เริ่มทำตรงนี้ก่อนเพื่อให้ลูกได้ไหม 

เราเองก็มีลูกเรียนอยู่ในวัยอนุบาลที่เน้นการเล่น ไม่เน้นวิชาการ แต่พูดอย่างตรงไปตรงมา เมื่อลูกขึ้น ป.1 ทุกคนขู่เราว่าต้องเข้มงวดกับการเรียนได้แล้ว แต่ที่ผ่านมาลูกเราเล่นอย่างเดียวมาตลอด แล้วเขาจะปรับตัวอย่างไร นี่คือสิ่งที่เรากำลังตั้งคำถามกับมาตรฐานทั่วประเทศว่า เมื่อลูกอยู่ในระดับป.1 ต้องเรียนอย่างเข้มข้นเลยหรือไม่ เพราะสิ่งสำหรับเขามันไม่ได้มีแค่การเรียน

ถ้าเกิดคุณพ่อคุณแม่อยากให้เขาประสบความสำเร็จ มีความสุข ควรจะมีโอกาสที่เขาได้มีกิจกรรมในการสำรวจตัวเขาเอง แทนที่จะเรียนตามหลักสูตร เรามีอย่างน้อยในสัปดาห์ละชั่วโมงเพื่อให้เขาได้ยังทำกิจกรรม ได้เล่นซนแบบที่เขาเคยผ่านมาได้ไหม

ลองคิดภาพว่าเด็กคนหนึ่งที่ต้องเจอกับการนั่งเรียนออนไลน์ผ่านหน้าจอมาเป็นเวลานานๆ แถมยังถูกสั่งห้ามไม่ให้ออกไปไหน ห้ามแตะข้าวของอะไรเพราะกลัวเชื้อโรค แค่นี้เขาก็ต้องอดทนและฝืนธรรมชาติมามากพอแล้ว ถ้ายังต้องกลับไปเจอการเรียนที่เข้มข้น โดยไม่มีการฟื้นฟูทักษะทั้งกายและใจ มันจะเกิดอะไรกับเขา?

เราเป็นนักจิตวิทยาที่เชื่อในเรื่อง Play Therapy หรือการบำบัดผ่านการเล่น การเล่นมันสำคัญมาก เพราะมันคือการสื่อภาษาของเด็ก

เพราะเวลาเด็กเล็กไม่สบายใจ เขาบอกไม่ได้นะว่าเสียใจมาก แต่เขากระทำผ่านการเล่นได้ ฉะนั้นหากพ่อแม่ไม่รู้จะเริ่มฟื้นฟูอย่างไร ลองเติมสิ่งที่เขาขาดหายไปอย่างการเล่นอาจจะช่วยได้ แต่คงไม่ใช่เล่นเดียว อยากให้เป็นการเล่นที่เขาได้เจอผู้คน เจอเพื่อน เขาจะได้มีการเรียนรู้ทักษะทางสังคมไปด้วยกัน 

เพื่อให้พ่อแม่เข้าใจลูกได้มากขึ้น เด็กเล็กเขาจะแสดงออกผ่านการเล่นได้อย่างไร 

ยกตัวอย่าง เวลาผู้ใหญ่จะแสดงออกถึงความรู้สึกต่างๆ เราจะทำมันได้โดยง่าย

แต่ในวัยเด็กมันซับซ้อนและเป็นเรื่องยาก กว่าเขาจะเอาความรู้สึกลงรหัสเป็นคำพูด มันซับซ้อนมากในกระบวนการทางสมองบางทีความเสียใจ โกรธ โมโห เกลียด เขาแยกไม่ออก มันกลั่นมาเป็นคำพูดไม่ได้ตามประสบการณ์ของเขา ดังนั้นภาษาที่เขาจะสื่อสารมันผ่านออกมานั่นคือการเล่น เช่น เขาอาจจะแสดงออกผ่านบทบาทต่างๆ ที่มันสื่อถึงความรู้สึกของเขา สะท้อนปัญหาของเขาออกมา หรือเล่นด้วยความรุนแรง พอเล่นเสร็จอารมณ์นั้นมันถูกจดการออกมา พ่อแม่สามารถสังเกตลูกจากตรงนี้ได้

อย่างที่อาจารย์ได้กล่าวว่าสิ่งแรกที่พ่อแม่ต้องทำ คือ บริหารความคาดหวังให้น้อยลง มันพูดง่าย แต่ทำยาก จะเริ่มต้นอย่างไรดี 

มันยากมาก อันนี้ตอบในฐานะที่เรามีลูก ตอนนี้ลูกเราอยู่อนุบาล 3 ที่ผ่านการเรียนออนไลน์และเวลาหายไป 2 ปี ยังคิดอยู่เลยว่าเราเร่งติวหนังสือให้ลูกหรือเปล่า แม้กระทั่งเราที่ทำงานด้านจิตวิทยายังคิดไม่ตกกับสถานการณ์นี้

แต่ท้ายที่สุดสิ่งเดียวที่เราตอบได้คือเราอยากให้ลูกมีความสุข ถามว่าเรากลัวไหมว่าการที่ลูกเราไม่สามารถหรือไม่เก่ง เราไม่กลัว แต่เราให้ความสำคัญกับในมุมความมั่นใจที่มันจะกระทบถึงตัวเขา 

เพราะเรารู้ว่าหากเด็กเล็กยังไม่เก่งวิชาการตอนนี้ แต่สุดท้ายเขาอาจจะตามเพื่อนได้ทัน ซึ่งมันจะเป็นไปตามพัฒนาการอยู่แล้ว ประกอบกับมีงานวิจัยชี้ชัดว่า เด็กอนุบาลที่เน้นเล่นหรือทำกิจกรรม พอถึงวัยช่วง ป.3 ทุกคนทันกันหมด ด้วยความสามารถทางวิชาการของเด็ก ดังนั้นในแง่นักจิตวิทยา การปรับความคาดหวังของพ่อแม่จึงสำคัญที่สุด ยิ่งเราคาดหวังให้ลูกเก่งเลยในวันนี้และลูกทำไม่ได้ จนลูกสูญเสียความมั่นใจและไม่มีความสุข เราคงสั่นไหวมาก เพราะเรากำลังเป็นคนลดทอน self-estreem ของลูก

กว่าตัวตนของเด็กคนหนึ่งจะสร้างขึ้น มันค่อยๆ พัฒนาตามเวลา ถ้าลูกรู้สึกว่าเขาทำไม่ได้ เขาแย่ ทำตามความคาดหวังของพ่อแม่ไม่ได้ มันมีผลกระทบมาก เราจึงไม่กล้าเสี่ยงที่จะไปเร่งเร้าอะไรกับลูก

พ่อแม่อาจจะเริ่มจากการถามตัวเองก่อนว่าเราต้องการอะไรจากลูก การฝืนให้เขาทำในสิ่งที่ไม่เป็นไปตามพัฒนาการจนลูกผิดหวังในตัวเองมันเสี่ยงสำหรับเรา เรายังเชื่อเรื่องความรัก พ่อแม่ควรถามตัวเองว่า เรารักลูกเพราะตัวเขา หรือรักลูกเพราะตัวเรา นี่คือสิ่งที่เราพอจะตอบได้ ณ ตอนนี้

พอหลังโควิด-19 มา พ่อแม่ก็ทำตัวไม่ถูก ยิ่งระบบการศึกษาทำให้รู้สึกว่าต้องเร่งเรียน เราจะตั้งหลักอย่างไร ไม่ให้กระทบจิตใจลูก

โควิด-19 เหมือนกระจกสะท้อนเรา มันเรียกความจริงให้ตื่น

งานวิจัยส่วนใหญ่บอกว่า เรามักจะเลี้ยงลูกแบบที่เราถูกเลี้ยงมา แต่โควิด-19 ทำให้ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม ทุกอย่างต้องเปลี่ยน สิ่งนี้จึงทำให้พ่อแม่ทำตัวไม่ถูกเหมือนกัน เช่น ลูกเรียนออนไลน์แล้วฉันต้องทำยังไง ฉันต้องทำงานออนไลน์ด้วย มันไม่เคยเกิดขึ้นกับฉัน 

ฉะนั้นถ้าเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่ทำตัวไม่ถูก อย่างแรกลองกลับมาดูความคาดหวัง ลองมาหายใจลึกๆ กันก่อน สิ่งที่ฉันต้องการกับลูกคืออะไรนะ ถ้าลูกไม่เก่งที่สุด แต่ลูกอาจจะมีความสามารถบางอย่าง เราโอเคมั้ย ลูกเราอาจจะไม่ใช่คนที่เรียนเลขเก่ง แต่การเคลื่อนไหวเก่งมากเลย เราส่งเสริมเขาทางนั้นดีมั้ย เราเพิ่มโอกาสให้ลูกสำรวจตัวเองหรือได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนได้มั้ย แล้วคุณพ่อคุณแม่คอยดูอยู่ใกล้ๆ คอยสังเกต คอยสะท้อนเขา โดยที่อาจจะไม่ได้เป็นคนต้องแบบว่าเธอจงทำสิ่งนั้น เราว่าสิ่งนี้น่าจะช่วยพ่อแม่ให้ตั้งหลักได้ 

แล้วคุณครูต้องเริ่มตั้งหลักอย่างไรในช่วงเวลาต่อจากนี้?

เราก็เข้าใจหัวอกครูนะ เวลาหายไป 2 ปี ครูก็ทำตัวไม่ถูก แต่มันควรเป็นคำถามเชิงระบบมากกว่าว่า ถ้าเร่งเด็กๆ แล้วจะเกิดผลกระทบอะไรขึ้น แล้วเราพร้อมรับความเสี่ยงด้านจิตใจเด็กๆ หรือไม่?

โอเค ถ้าคุณครูเร่งเด็ก อัดทุกอย่างเพื่อชดเชยเวลาที่หายไป ถามว่าเด็กเอาตัวรอดได้มั้ย เด็กบางคนก็อาจจะได้ แต่ไม่ใช่ทุกคน 

สิ่งสำคัญที่เราควรคุยกัน ไม่ว่าจะเป็นครู พ่อแม่ หรือระบบการศึกษาคือสิ่งที่เด็กขาดหายไปต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นความอิสระ การได้สำรวจโลก ความมั่นใจ ความรู้สึกว่าเขาทำได้ เราจะทำอย่างไรให้มันกลับมา เพราะอย่างที่บอกว่าในแง่ตัวตนของเด็ก มันไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็สร้างขึ้นมาได้นะ มันต้องค่อยๆ สะสมจากประสบการณ์ คุณครูอาจจะมองช่องว่างตรงนี้แล้วเสริมไปให้เขาด้วย โดยที่ไม่ทิ้งวิชาการ 

นอกจากเรื่องวิชาการ งานวิจัยของ กสศ. ผลสำรวจบอกว่าเด็กมีปัญหาเรื่องพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก ทำให้เขียนหนังสือไม่ได้ จับดินสอไม่เป็น ท้ายที่สุดเด็กไม่มีความสุขในห้องเรียน ความรู้สึกไม่มีความสุขมันสำคัญอย่างไรบ้าง

ผลกระทบจากปัญหาเรื่องพัฒนาการ มันสัมพันธ์กับความรู้สึกมั่นใจ 

ดังนั้นเมื่อเด็กๆ ทำไม่ได้ เขียนไม่ได้ แน่นอนว่าตอนนี้แปลว่ามันกระทบความรู้สึกมั่นใจของเขา แต่สิ่งที่เราอยากตั้งคำถามว่าต้องทำไมเด็กป.1 ต้องเขียนหนังสือด้วยความสวยงามแล้วละ มันถึงวัยที่เราต้องบังคับเขาแล้วหรือ กล้ามเนื้อมัดเล็กมันเป็นสิ่งฝึกได้นะ มันมีกิจกรรมตั้งหลายอย่างที่มันฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กแข็งแรงขึ้น โดยที่ไม่ใช่การบังคับให้เขาเขียน

ถ้าอ้างอิงจากงานวิจัยของกสศ. ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องเสริมให้กับเด็กที่พัฒนาการหล่นหายไปช่วงโควิด-19  จึงไม่ใช่แค่เพียงให้เขาจงนั่งจับดินสอแล้วเขียน แต่มันควรจะมีกิจกรรมที่เสริมกล้ามเนื้อมัดเล็ก เพราะนอกจากการเขาจะมีพัฒนาด้านร่างกาย มันยังส่งผ่านไปถึงความรู้สึกทางใจด้วย เพราะตอนนี้เขามีความรู้สึกว่าฉันไม่มั่นใจ ฉันไม่สามารถทำได้ 

เมื่อมองการฟื้นฟูหลังโควิด-19 เรามักโฟกัสแต่ในเชิงวิชาการ แต่จริงๆ ความรู้สึกไม่มีความสุข เพราะเขาแค่เขียนไม่ได้ ก็ต้องดูแลด้วยเช่นกัน?

ใช่ค่ะ ถ้าคลี่คลายออกมาอยากให้มองเป็น 3 ก้อน ได้แก่ 

หนึ่ง – Transition หรือการเปลี่ยนผ่านของเด็กอนุบาลมาเป็นพี่ประถม โควิด-19 ทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่มั่นใจ

สอง – เด็กที่เรียนท่ามกลางโควิด-19 โควิด-19 ทำให้ความรู้สึกที่เขาจะกล้าที่จะ explore มันน้อยลง เขาไม่คุ้นกับการแยกจากจากครอบครัว ญาติ เพื่อน ไม่คุ้นกับสิ่งแวดล้อมอื่นๆ

สาม- โควิด-19 ทำให้เราเห็นพฤติกรรมต่างๆ ที่เด็กสะท้อนออกมาว่าเขากำลังต้องการการฟื้นฟู เช่น เขาเขียนไม่ได้ เขาไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เขาทำไม่เป็น เขาจึงไม่มีความสุข ไม่อยากไปโรงเรียน เราว่าทั้งสามข้อนี้คือเรื่องที่เราต้องดูแลต่อไป ทั้งพาร์ทครูและพ่อแม่

เรามักจะเคยได้ยินคำพูดว่าเด็กเขียนหนังสือสวย = เด็กเรียนเก่ง มายาคตินี้ส่งผลอะไรในเชิงจิตใจ 

เราเห็นคำถามนี้ เราชอบมากเลย เพราะเราลายมือเละมากที่สุด ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ 

เรานึกย้อนไปตัวเองเป็นเด็ก ป.2 เราจำได้ว่าถูกอาจารย์เรียกหลังเลิกเรียน อาจารย์บอกว่าเขียนอย่างนี้ไม่ได้นะ เรายังจำฝังใจได้จนวันนี้ ฉะนั้นเราจะตอบคำถามนี้ในฐานะบุคคลที่ลายมือไม่สวย  เราคิดว่าสิ่งนี้ส่งผลกับความรู้สึกของเรานะ เราอยู่กับความรู้สึกว่าฉันลายมือไม่สวยมาตลอด แต่เราโชคดีที่ที่พ่อแม่บอกเสมอว่าลายมือไม่สวยไม่เป็นไรและเราก็รู้สึกว่าโอเคกับมัน

เราไม่ได้จะบอกว่าให้เด็กๆ จงเขียนแบบไก่เขี่ยกันเถอะ แค่เด็กๆ ตั้งใจเราก็ควรให้พื้นที่กับเขาแล้วนะ ลูกอาจจะไม่ได้เป็นคนที่ลายมือสวยสุด ยิ่งถ้าเราไปกดดันมันอาจจะกระทบเรื่อง Confident สิ่งสำคัญที่สุดของวัยเด็กเล็ก คือการเดินทางค้นหาว่า ‘ฉันสามารถทำอะไรได้บ้าง’ ทุกกิจกรรมที่เขาทำมันค่อยๆ สะสมความเป็นตัวตนของเขา

ฉะนั้นเราไม่ได้บอกว่าให้ครูอย่าบอกให้เด็กตั้งใจเขียนนะคะ แต่ถ้าเด็กเขาตั้งใจเต็มที่แล้ว อาจจะเขียนไม่สวยที่สุด แต่สะอาดเพียงพอ เราอาจจะให้คุณค่าบางอย่างกับเขาด้วย

การเปิดพื้นที่ให้คุณค่ากับเด็กทุกคน โดยที่ไม่สนใจมายาคติเดิมๆ ทำได้อย่างไร

สิ่งที่อยากจะชวนคิดคือว่าไม่ว่าจะโรงเรียน ครู พ่อแม่ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะส่งเสริมเด็กในด้านที่หลากหลาย 

ขอยกตัวอย่างผ่านเรื่องราวของตัวเอง ตามปกติโรงเรียนเราจะมีแจกเกียรติบัตรแต่งตัวเรียบร้อย ซึ่งเราไม่เคยได้ เสื้อผ้าของเรามักจะเลอะน้ำจิ้มซีอิ๊วอยู่ตลอดเวลา ลายมือเราก็ไม่สวย ผมก็เป็นเป็ด ดูไม่เรียบร้อยเอาเสียเลย แต่นอกจากประกวดแต่งกายเรียบร้อยแล้ว ยังมีการแข่งขันหัวเราะเสียงแม่มด และครูบอกว่าเราหัวเราะได้เหมือนที่สุดจนได้โชว์หน้าห้อง

ที่เรายกตัวอย่าง ไม่ได้จะบอกว่าโรงเรียนเราดี แต่การมองเห็นและยอมรับตัวตนของเด็กทุกมันเจ๋งมากนะ เมื่อโรงเรียนมีพื้นที่ให้เขา มันจะส่งผลต่อการยอมรับในตัวเขามากๆ เลย ยิ่งเฉพาะอย่างยิ่งในวัยอนุบาล-ประถม ที่โรงเรียนสำคัญมากต่อพัฒนาการของเขา เขาจะค่อยๆ พัฒนาเซนส์ของความมั่นใจไปเรื่อยๆ 

แล้วแบบนี้มันควรจะมีการประกวดลายมือสวยต่อไปไหม?

เราว่ามีได้นะ ต้องยอมรับว่ามีเด็กลายมือสวยที่เขาก็ภูมิใจกับความสามารถตรงนี้

แต่เราอยากให้การมองเห็นความสามารถด้านอื่นๆ หรือการยอมรับเด็กที่อาจจะถนัดด้านอื่นๆ ให้มันขยายและหลากหลายขึ้น ถ้าเราค่อยๆ สร้างสิ่งนี้ตั้งแต่วัยเด็ก เขาจะกล้าสำรวจ กล้าจะเป็นในสิ่งที่เป็นตัวเอง ถ้าเราเปิดโอกาสให้หลากหลายขึ้น เราว่าเราจะมองเห็นความสำเร็จที่หลากหลายจากพวกเขาแน่นอน

เหตุผลอะไรที่เราไม่ควรบังคับให้เด็กอนุบาลเขียนหนังสือ 

เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการในแง่กล้ามเนื้อ แต่ขอตอบในฐานะคนเป็นแม่และนักจิตวิทยา 

ตอนอยู่ในช่วงโควิด-19 ลูกเราอยู่อนุบาล 3 เราเห็นว่ากล้ามเนื้อเขายังไม่พร้อมจริงๆ เราไม่รู้ว่าถ้าบังคับเขาเขียนมันจะส่งผลต่อกระดูกมือหรือความแข็งแรงกล้ามเนื้อหรือไม่

กลับมาในแง่จิตใจ พ่อแม่คือบุคคลมีอิทธิพลต่อลูกมากที่สุดในวันที่เขายังเป็นเด็กเล็ก เมื่อเราที่เป็นที่สุดของเขา กลับบังคับให้เขาทำในสิ่งที่ฝืนกับพัฒนาการ โดยที่เขาไม่อยากทำ ทำออกมาได้ไม่ดี เขาไม่สามารถทำให้พ่อแม่ชื่นชม ดีใจ และยอมรับในตัวเองได้ ความรู้สึกเขาแย่มากเลยนะ

ที่สำคัญหากเราบังคับมากๆ จนเขาไม่อยากพัฒนาการเขียนของเขา หรือเขาติดอยู่ในกับดักว่าตัวเองทำไม่ได้ เขาไม่สนุกกับการเขียน ทัศนคติไม่ดีต่อการเขียนก็จะติดตัวเขาต่อไป

น่าเศร้ามากนะ เราว่าสำหรับเด็กทุกคน ยิ่งอยู่ในช่วงวัยนี้ ความรู้สึกทำได้มันสำคัญมาก แล้วถ้าเกิดเขาถูกเร่งให้ไปทำในสิ่งที่เขาควรจะทำได้ก่อนพัฒนาการของเขา เขาก็ต้องเผชิญกับความรู้สึกว่าฉันทำไม่ได้ ผลลัพธ์น่ากลัว เพราะมนุษย์เราทุกคนจะอยากทำในสิ่งที่เราทำได้ดี และจะเลี่ยงในสิ่งที่เรารู้สึกว่าทำไม่ได้ ยิ่งถ้าเกิดเรายังไมได้แก้ไขอะไรเลย ปล่อยให้ความรู้สึกนี้มันทับถมไปมากๆ ในระยะยาวคงลำบาก

ต้นเหตุของการเขียนไม่ได้ของเด็กเล็ก เกิดจากภาวะ learning loss ที่เกิดขึ้นหลังโควิด-19 สิ่งนี้ส่งผลกระทบทางจิตใจอย่างไรบ้าง

สิ่งที่เราต้องกลับมาทบทวนกัน นั่นคือ ภาวะ Learning loss ทำให้กระบวนการข้างในใจของเด็กๆ เป็นอย่างไรบ้าง?

ตอบในฐานะนักจิตวิทยา ถามว่าใช้คำว่าการบำบัดอาจจะน่ากลัวเกินไป ขอใช้คำว่าถ้ามีกระบวนการปรึกษาและพูดคุยถึงสิ่งที่มันเกิดขึ้นน่าจะช่วยให้เข้าใจเด็กมากขึ้นว่าเขากำลังรู้สึกอะไร เด็กแต่ละคน มีความแตกต่างกัน 

ภาวะ Learning loss อาจทำให้เด็กบางคนรู้สึกไม่มั่นใจ ไม่สามารถ เราจึงต้องค่อยๆ สร้างกระบวนการที่จะเสริมสร้างความมั่นใจและเสริมสร้างการรับรู้ว่าเขาสามารถทำได้ มันคงต้องทำควบคู่กับการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก 

แน่นอนว่าเราละทิ้งกระบวนการทางจิตใจไปไม่ได้ เพราะเราไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เด็กบอกว่าไม่เอา ไม่อยากทำ ทำไม่ได้แล้ว ฉันไม่อยากเขียน มันมีอะไรซ่อนอยู่มากกว่านั้น ดังนั้นเราว่าน่าจะมีทั้ง 2 กระบวนการที่ต้องดูแลควบคู่กันไป ไม่ใช่แค่การบังคับและเติมทักษะให้เด็กอย่างเดียว 

เมื่อเด็กเขียนไม่ได้ หรือ รู้สึกว่าตัวเองทำไม่ได้ ผลกระทบทางจิตใจคืออะไร

สิ่งที่น่ารักที่สุดของเด็กคือเขาแสดงออกตรงไปตรงมา ต่างจากผู้ใหญ่ที่มีกลไกที่มันป้องกันตัวเอง 

เมื่อเขารับรู้ว่าเขาไม่สามารถ หรือ เขาผิดหวังกับตัวเอง มันส่งผลต่อจิตใจแน่นอน เขาอาจไม่ได้โมโหเพราะคุณครูสั่ง ครูบังคับ หรือเพราะเขาขี้เกียจ แต่ความรู้สึกที่ทำไม่ได้รวมถึงผิดหวังในตัวเองก็ทำให้เขาโมโหเพราะเขาเสียใจได้

ฉะนั้นประโยคสำคัญที่ถ้าเกิดเห็นเด็กโมโห คงไม่ได้บอกว่าจงอย่าโมโห หรือเด็กโมโหเป็นเด็กไม่ดี แต่คงต้องบอกว่าเสียใจได้ลูก เสียใจได้ไม่เป็นไร ทำไม่ได้วันนี้ไม่เป็นไรนะ ให้เขารู้ว่าการที่เขายังเขียนได้ไม่ดี เขียนไม่สวย มันเป็นเรื่องที่ฝึกฝนได้ ถ้าเขาเต็มที่แล้ว เราควรให้กำลังใจเขา สิ่งนี้จะช่วยสร้างทัศนคติเชิงบวก เพราะถ้ายิ่งพ่อแม่หรือครูไปโมโหในสิ่งที่เด็กทำไม่ได้  มันยิ่งไปกันใหญ่เลย

พ่อแม่เองควรใจเย็นยังไง เด็กบางคนก็เรียนรู้ผ่านพ่อแม่ ยิ่งเขาเห็นพ่อแม่โมโหตัวเอง มันจะกระทบจิตใจอย่างไร

การตอบสนองทางอารมณ์ของเด็กมาจากสิ่งที่เขาเห็น ไม่ว่าจะเป็นการสังเกตพฤติกรรมของพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู

ถามว่าพ่อแม่ควรใจเย็นอย่างไรเวลาเห็นลูกทำไม่ได้แบบที่เราคาดหวัง อันดับแรกคุณพ่อคุณแม่จัดการกับอารมณ์ตัวเองก่อน ฮึบก่อน ฮึบทุกเรื่องเลยนะ คุณพ่อคุณแม่อาจจะเสียใจ โกรธ โมโห ผิดหวัง ขนาดเราเป็นนักจิตวิทยา เราก็โมโหลูก เราเข้าใจคุณพ่อคุณแม่มากๆ

แต่อยากให้กลับมาคิดก่อนว่า สิ่งนั้นอาจจะระเบิดที่ปะทุใส่กัน นึกถึงสภาพลูกของเราสิ ที่ผ่านมาเขาไม่เคยเจอกับโลกข้างนอกเลย ไม่ได้ออกไปเรียน เขาทำไม่ได้อย่างที่คนบอกว่าเขาควรจะทำได้ เขาจะรู้สึกผิดหวังในตัวเองขนาดไหน

เราว่าสิ่งสำคัญ อย่ามองเด็กเป็นเพียงแค่เขาเป็นเด็กหรือเป็นแค่สิ่งเล็กๆ ทุกความรู้สึกมันยากต่อเขานะ และมันยากกว่าเราด้วยซ้ำ บางทีด้วยวัยของเขามันไม่สามารถสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาได้

เด็กเขาอยู่ใน position ที่เป็นฝ่ายที่ต้องถูกบอกให้ทำหรือถูกกดอยู่ตลอดเวลา จนไม่มีโอกาสจะได้สำรวจและแสดงความเป็นตัวเอง บางเรื่องมันง่ายถ้าเราเป็นผู้ใหญ่ แต่เด็กเขายังไม่มีตัวตนเท่าไหร่  ถ้าลองนึกถึงเขา มันเข้าใจได้ที่เขาจะโมโหนะ คุณครูเองก็เช่นกัน ความเชื่อที่ว่าการลงโทษคือการหยุดพฤติกรรมได้ มันไม่ทำเขาได้เรียนรู้ และการโมโหกลับเด็กด้วยความรุนแรง ไม่ได้ทำให้เขาหยุดได้

ก่อนจะใจเย็นกับลูก พ่อแม่หรือครูจะปรับใจตัวเองอย่างไร

แน่นอนว่าเรากำลังจะกำกับอารมณ์ของลูก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องทำเหมือนกัน 

ขั้นแรกของการกำกับอารมณ์ คือพ่อแม่ต้อง identify ให้ได้ก่อน ระบุออกมาให้ได้ว่าตอนนี้กำลังรู้สึกอย่างไร พอเห็นลูกไม่เป็นดั่งใจ เห็นเขาทำไม่ได้ คุณรู้สึกปรี้ดแตกใช่มั้ย ก่อนอารมณ์จะพุ่ง พ่อแม่ชะลอตัวเองได้มั้ย 

สมมติสถานการณ์ว่า พ่อแม่เห็นลูกไม่ยอมเขียนหนังสือ ปาดินสอทิ้ง พ่อแม่อารมณ์พุ่งมาก แต่อยากให้ชะลอคิดว่า พ่อแม่กำลังรู้สึกอะไรกันแน่ อาย ผิดหวัง โกรธ สมมติพ่อแม่รู้สึกอาย เราจะถามว่าอายอะไร? พยายามเข้าไปคุยกับลูกดีมั้ย ถามถึงเหตุผลของการกระทำนั้น เราว่าช้าลงหน่อยได้ไม่เป็นไร ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป เพราะพ่อแม่คือตัวอย่างของลูก ถ้าเรายิ่งโมโห ลูกก็จะยิ่งโมโห

ถ้าเกิดเราไม่ทำอะไรเลย  ปล่อยให้มันผ่านไป ในอนาคตเขาจะเป็นยังไงโดยเฉพาะเด็กเล็ก 

เมื่อโลกมันถูกแยกกันมากขึ้น และเราปล่อยให้เด็กสะสมปัญหาจากเวลาที่หายไปเรื่องๆ ตอบในเชิงจิตวิทยา สุดท้ายมันอาจเกิด self centeredness (การยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง) มากขึ้น อย่างที่บอกว่าเด็กเขาไม่มีปฏิสัมพันธ์กับใครเลย อยู่กับน่าจอจนเคยชิน โอกาสที่จะเข้าอกเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือ จะยิ่งน้อยลง 

ลองนึกถึงสังคมที่เรานึกถึงแต่เพียงแค่ตัวเรา ฉันจะได้ ฉันจะเป็น ฉันต้องการ โดยที่ฉันไม่ได้นึกถึงอีกฝ่ายหรือสิ่งแวดล้อมอื่นๆ มันคงเป็นสังคมที่ไม่ค่อยน่าอยู่ เพราะธรรมชาติของมนุษย์มันต้อง related กับสิ่งอื่นเสมอ เราว่าตรงนี้จะหายไป

ในแง่จิตวิทยา พ่อแม่ยังสามารถเลี้ยงลูกเหมือนตอนเราเป็นเด็กได้มั้ย

ไม่เหมือนกันนะ เราไม่นึกเลยว่าโลกนี้จะเกิดโควิด-19 และผลกระทบระยะยาวกับเราและเด็กจะเป็นอย่างไร มันมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ทั้งความรู้สึกและสิ่งแวดล้อม

แต่สิ่งสำคัญเสมอนั่นคือ Emotional Bonding หรือพันธะทางความรู้สึกระหว่าง แม่ พ่อ กับลูก มันจะช่วยทุกอย่างได้ในอนาคต ถ้าพ่อแม่เจอปัญหาแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ลองแค่เป็นพื้นที่ปลอดภัยของลูกเสมอ เราว่าแค่นั้นก็พอ