ณัฐวุฒิ เผ่าทวี เศรษฐศาสตร์ความทุกข์

เศรษฐศาสตร์ความทุกข์ กับ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ถ้าวัดความป่วยใจเป็นจีดีพีได้ สุขภาพจิตคงเป็นวาระแห่งชาติไปนานแล้ว

“เราเข้าใจความหมายของความสุขกันจริงๆ ไหม” 

เป็นคำถามสำคัญจาก ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และสอนเรื่องเศรษฐศาสตร์ความสุข Nanyang Technological University ประเทศสิงคโปร์ ที่ถามกลับในช่วงต้นของบทสนทนาว่าด้วยเรื่องเศรษฐศาสตร์ความทุกข์ 

อธิบายให้ชัดมากกว่านั้นคือเราสงสัยว่า ความป่วยใจ ไม่ว่าจะเป็นภาวะหรือโรคซึมเศร้า ความกังวล หรือ ปัญหาสุขภาพจิตน้อยใหญ่ในทุกมิติ เอาเข้าจริงมันวัดความสูญเสียเป็นตัวเลขได้ไหม 

“7 หมื่นล้านปอนด์ Richard Layard เคยทำตัวเลขไว้” อาจารย์พยักหน้าพร้อมยกตัวอย่างของประเทศอังกฤษ 

Richard Layard คือ ศาสตราจารย์แห่ง London School of Economics (LSE)  นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษที่ศึกษาและทำรายงานความสุขโลก 

ความสูญเสียในระดับตัวเลขมหาศาลนี้ วัดทั้งจากคนที่ลางาน ลาออก ด้วยสาเหตุสุขภาพจิต และค่ารักษาพยาบาล 

“แต่ถ้าเราเริ่มวัดทุกอย่างเป็น Evidence Based เราจะเห็นได้ชัดเลยว่ามันจะมีอะไรที่ควรทำหรือไม่ควรทำ” 

แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักความทุกข์แบบ 101 จากนักเศรษฐศาสตร์ความสุขกันก่อนดีกว่า

ความสุขแปลว่าอะไร แปลว่าไม่มีความทุกข์หรือเปล่า

ก็ไม่เชิง เราต้องย้อนกลับไปก่อนว่าปกติเวลาเราพูดถึงความสุข มันคืออะไร จับต้องได้มั้ย เราอาจไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร แล้วความที่ไม่เข้าใจมันเลยทำให้ในเชิงวิชาการ มันไปไม่ค่อยรอดสักที เพราะฉะนั้นเราต้องแยกกันก่อนว่าความสุขที่เราพูดถึงจริงๆ มันคืออะไร 

ในเชิงวิชาการ มันจะมีความสุขในเชิง Cognitive ที่จะประเมินว่าเรามีความพึงพอใจในชีวิตมากน้อยขนาดไหน เช่น ว่าเรามีงานทำหรือเปล่า เรามีรายได้ดีมั้ย เราแต่งงานหรือยัง อันนี้ใช้สมองในการประเมิน ซึ่งความพึงพอใจ มันไม่ใช่ Happiness ที่แปลตรงตัวว่าความสุข 

Happiness คือความรู้สึก ซึ่งอยู่ใน Affective well-being ความสุขระยะสั้น หรืออารมณ์และความรู้สึกประจำวันที่เรามักจะรู้สึกกัน หมายความว่าในแต่ละวัน คุณยิ้มน้อยยิ้มมาก หัวเราะ เศร้าขนาดไหน ตัวแปรของ happiness และ ความพึงพอใจมันคนละเรื่องกัน และนิยามของความทุกข์ มันจะไปอยู่ใน Happiness มากกว่า ว่าวันนี้คุณรู้สึกกังวล รู้สึกร้อนใจ โกรธมากน้อยขนาดไหน อันนั้นคือ ‘ความสุข’ ที่คนไทยมักจะพูดกัน 

ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และสอนเรื่องเศรษฐศาสตร์ความสุข Nanyang Technological University ประเทศสิงคโปร์

แต่เรามักจะไม่ค่อยแยกว่าจริงๆ ความสุขมีหลายมิติ เพราะฉะนั้นความรู้สึกไม่สบายใจ ผมว่ามันเป็นอีกจุดหนึ่งของ Affective well-being คือในแต่ละวันคุณรู้สึกยังไงบ้าง นั่นคือความสุขในแต่ละวัน ส่วนความพึงพอใจ หรือ Satisfaction ที่เป็น Cognitive well-being ความหมายตรงข้ามคือ ความรู้สึกที่ว่าชีวิตเราน่าจะดีกว่านี้ ทำไมมันไม่ดีกว่านี้ แต่ระหว่างทางนั้น ในแต่ละวันคุณอาจจะมีความสุขก็ได้ 

ยกตัวอย่าง เวลาถามคนตกงานว่า คุณรู้สึกพึงพอใจในชีวิตของคุณมากน้อยขนาดไหน เขาอาจจะตอบว่า รู้สึกไม่พอใจเลย Life Satisfaction ต่ำมากๆ แต่โดยเฉลี่ยแล้วคนที่ตกงาน เขามีความสุขประจำวันพอๆ กับคนที่ทำงาน ภาษาอังกฤษคือ Dessatisfied with life but can still have a good day เพราะว่าคนที่ตกงาน วันธรรมดาเขาไม่ต้องทำงาน ใช้เวลาดูทีวี ทำอะไรของเขาไป ดังนั้น Affective well-being ของเขาในแต่ละวันมันเลยสูงกว่าคนที่ต้องทำงาน ที่ต้องเจอรถติด แต่พอมาประเมินความพึงพอใจในชีวิตเขา เขาก็อยากจะดีกว่านี้ อยากมีงานทำ

จากการสัมภาษณ์คนที่เป็นซึมเศร้า ถามเขาว่า สุขภาพจิตดีของเขาคืออะไร ไม่มีใครตอบเลยว่ามีความสุข แต่ทุกคนตอบว่า คือการรู้ว่าตัวเองกำลังรู้สึกอะไรอยู่ รู้เท่าทันความรู้สึกของตัวเอง เลยอยากถามอาจารย์ที่สอนเศรษฐศาสตร์ความสุขว่า จริงๆ แล้ว การไม่ทุกข์ มันแปลว่าอะไร 

ในเชิงงานวิจัยมันต้องแยกก่อนว่า ที่คุณบอกว่าทุกข์ มันคือทุกข์ของอันไหน ทุกข์คือคุณ Scored low (ได้คะแนนต่ำ) ในมิติไหนของความสุข อย่างที่บอกไปว่ามันจะมี Cognitive (ความพึงพอใจ), Affective (ความสุข) อีกอันหนึ่งคือ Eudaimonic (ความหมายของชีวิต) คือคุณรู้สึกว่าชีวิตของคุณมีความหมายมั้ย 

แต่เวลาเราพูดถึงมิติของความทุกข์ อย่างสุขภาพจิตจะถูกจัดอยู่ใน Affective Well Being คือสถานะปกติ (Usual State) ของคุณ คุณรู้สึกยังไง แล้วเวลาเขาวัดสุขภาพจิตของคุณ จะวัด Usual State ของคุณในตอนนี้ เช่น คุณนอนหลับเป็นยังไงบ้าง รู้สึกขาดความมั่นใจในตัวเองมั้ย วันๆ คิดถึงแต่เรื่องลบหรือเปล่า เขาจะถามว่า ‘ปกติ’ คุณรู้สึกยังไง 

ถ้าไปถามคนที่สุขภาพจิตไม่ดีแต่รวยมากๆ ว่าโดยเฉลี่ยแล้ว คุณรู้สึกพึงพอใจในชีวิตมากน้อยขนาดไหน เขาอาจจะบอกว่า ผมพอใจ ผมรวย ผมนู่นนี่นั่น ผมประสบความสำเร็จในสิ่งที่ผมเคยตั้งเป้าหมายเอาไว้

ถามต่อว่า อย่างนั้นแสดงว่าคุณมีความสุขใช่มั้ย อ๋อ ไม่ๆ ผมพอใจในความสำเร็จที่ผมทำมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ผมรู้สึก Emotionally Low (หดหู่) ตลอด มันจะแตกต่างกันแล้ว เริ่มซับซ้อนขึ้น เราจึงเห็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตหรือมีชื่อเสียง ฆ่าตัวตายเยอะมาก 

อันนี้มันอยู่ในนิยามของ Cognitive (ความพึงพอใจ) ทั้งนั้น แต่วันนี้ผมมาคุยเกี่ยวกับ Affective (ความสุข หรือ Happiness) มากกว่า อันนี้คือสิ่งที่เรายังไม่เข้าใจมาก ยังต้องวิจัยกันเยอะพอสมควร 

ถ้าเราพูดในเชิงพื้นฐานจริงๆ คือ สุขภาพจิตของคน ตัวกำหนดเรื่องนี้จุดใหญ่ๆ เลย คือ 1.Genetic คือยีน มันมีการถ่ายทอด และมีคำอธิบายเรื่องนี้เยอะมาก 2.บริบทแวดล้อม หรือ Context Environment และที่สำคัญมากคือ 3.เราใช้เวลาแต่ละวันทำอะไรบ้าง หรือ Daily Emotional Experience ประสบการณ์ในแต่ละวันของเรามีอะไรบ้าง 

ส่วนสุขภาพจิตมันจะเข้าไปเป็นตัวแปรเมื่อคุณเข้าไปทบทวนชีวิตว่าคุณมีความพึงพอใจขนาดไหน ถ้าคุณมีสุขภาพจิตไม่ดี โอกาสที่คุณไม่ค่อยพึงพอใจกับชีวิตมันก็จะสูง แต่มันก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่เราวิเคราะห์แยกออกมาได้ว่า จริงๆ แล้วมีตัวแปรอะไรบ้างที่ทำให้คนส่วนใหญ่หดหู่หรือซึมเศร้า (Low Mood) มีความผันผวนทางอารมณ์ (fluctuation) อันนี้ผมก็เพิ่งทำวิจัยเสร็จกับเพื่อนไป โดยใช้แอพพลิเคชั่นให้คนรีพอร์ตในแต่ละวันผ่านโทรศัพท์มือถือ แอพฯ จะสุ่มขึ้นมาถามว่า ตอนนี้คุณรู้สึกยังไงบ้าง เรามีข้อมูลนี้ของคนอังกฤษกว่า 40,000 คน แล้วเรามาดูว่ามันมีอะไรบ้างที่เป็นตัวแปรความขึ้นลงของอารมณ์คน เบื้องต้นพบว่าคนที่มีเงินมากจะมีความผันผวนทางอารมณ์ต่ำกว่าคนที่จน คนที่แต่งงานอารมณ์จะผันผวนน้อยกว่าคนที่ไม่แต่งงาน และคนที่มีการผันผวนทางอารมณ์สูงที่สุด คือ ผู้หญิงที่เป็นแม่ อันนี้พูดถึงอารมณ์โดยตรง

จริงๆ แล้ว สุขภาพจิตดี กับความสุข มันมีความหมายใกล้เคียงกันแค่ไหน

ถ้าเราพูดถึงความสุขกับความพึงพอใจในชีวิตมันสัมพันธ์กันค่อนข้างสูง ตรงที่ว่าถ้าคุณสุขภาพจิตไม่ดี โอกาสที่คุณจะบอกคนอื่นว่าชีวิตคุณดี มันจะต่ำมากๆ แล้วในงานวิจัยที่ผมทำกับ Richard Layard พบว่า คนที่เคยไปหาจิตแพทย์ที่ระบุความพึงพอใจของตัวเองต่ำ (Low) ในระดับต่ำกว่า 20% บอกว่าตัวเองสิ้นหวังในเชิงของความพึงพอใจในชีวิตมากกว่าคนที่ตกงาน

พูดง่ายๆ คือ สุขภาพจิตเป็นตัวแปรที่สำคัญของความสุขในชีวิต มากกว่า Objective ต่างๆ ที่เราคิดว่าสำคัญ  สุขภาพจิตเป็นหัวใจที่สำคัญมากๆ ของ Overall Life Satisfaction หรือความพึงพอใจโดยรวมในชีวิต

อาจารย์เคยเขียนในหนังสือ HAPPIEST PERSON IN THE ROOM ว่าคนในประเทศพัฒนาแล้วซึ่งควรจะมีความสุข แต่เขาดันมีไม่มาก เพราะสิ่งที่ขาดคือเวลา ในขณะเดียวกันคนในประเทศไทยที่ไม่มีทั้งเวลา เงินก็หายาก แล้วถ้าคนไม่มีทั้งเงินและเวลาในสังคมแบบนี้ เราจะไปหาความสุขจากไหน 

เราก็ต้องแบ่งก่อนว่าเราพูดถึงคนประเภทไหน ถ้าคุณจนมากๆ เราไม่ต้องพูดถึงเศรษฐศาสตร์ความสุขเลย ไม่จำเป็น คุณหากินให้ได้ก่อน มีกิน มีที่อยู่ ให้คุณเติมตรงนั้นให้เต็มก่อน แล้วคุณค่อยคิดถึงเรื่องอื่นอย่างความสุข 

ส่วนชนชั้นกลาง ถือว่าก็ดิ้นรนแต่อย่างน้อยคุณยังมีเงินเหลืออยู่นิดหน่อย ถามว่าเงินตรงนี้เอาไปทำอะไรได้บ้างที่มันจะเกิดประโยชน์สูงสุด ถามว่าเราใช้เงินตรงนั้นกับสิ่งที่ผิดๆ ที่มันไม่ได้ต่อเติมความสุขของเราอยู่หรือเปล่า ซึ่งคำถามนี้มันตอบได้ทั้งคนที่อยู่ระดับกลาง แล้วก็รวยมากๆ คนรวยมากๆ หลายคนก็ใช้เงินไม่ค่อยเป็น 

หรือชนชั้นกลางจะเป็นคนที่สุขภาพจิตเครียดที่สุด เพราะว่าแบกอะไรหลายๆ อย่าง คนจนเองก็อาจจะมีความทุกข์น้อยกว่าเพราะว่าโฟกัสอยู่ที่การหากินวันต่อวัน คนรวยเองก็มีเงิน แต่คนชนชั้นกลางมีอะไรคิดเยอะ คือ ทำยังไงให้ฉันรวยขึ้น  หรือทำให้ชีวิตไม่แย่ไปมากกว่านี้ 

มันก็เป็นสมมติฐาน ผมก็ไม่รู้ว่า จริงๆ คนชนชั้นกลางเป็นคนทุกข์ที่สุดหรือเปล่า แต่ผมพูดได้นิดนึงว่าจากงานวิจัยที่เราพบ มันมีคำถามหนึ่งว่า คนจนหลายคนที่เขาบอกว่ามีความสุข เขาสุขจริงไหม ถ้าเขาบอกว่าเขามีความสุขจริงๆ แล้วเราจะต้องทำอะไรกับเขาหรือเปล่า ทำไมเขาถึงแฮปปี้ สิ่งที่เราพบก็คือ เพราะว่าชีวิตเขาไม่มีอย่างอื่นเลย เขาก็ต้องพยายามหาเหตุผลให้ตัวเอง (Rationalize) ว่าถ้าไม่แฮปปี้ก็คือตาย เขาจึงต้องบอกกับตัวเองว่าชีวิตมันโอเค เขาไม่มีทางเลือกอื่น แต่ถามว่าเขาอยากจะรวยขึ้นมั้ย ทุกคนก็ต้องอยากรวยขึ้นแน่ๆ นั่นคืออธิบายว่าทำไมคนยากจน ถึงบอกว่าตัวเองมีความสุข 

ส่วนชนชั้นกลางน่าจะซับซ้อนมากกว่า แล้วมันคงจะสรุปไม่ได้จริงๆ ผมเปรียบหลายๆ งานวิจัยให้ฟังก่อนแล้วกัน หนึ่ง ถามว่าคนชนชั้นกลางโอเคกับการเหลื่อมล้ำมั้ย ส่วนใหญ่โอเคนะ แฮปปี้ รู้ว่ามีเหลื่อมล้ำแต่โอเค หนึ่งก็เพราะว่าเขามองว่าความเหลื่อมล้ำมันเป็นสัญญาณว่าอีกหน่อยเขาก็จะไปถึงตรงนั้นได้ คือ รวยขึ้น 

มีทฤษฎีที่เรียกว่า Tunnel Effect ว่าในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำเยอะๆ แล้วมันยังเป็นสังคมที่ Transition (ขยับชั้น) ได้ มันเหมือนกับว่าเรากำลังรถติดอยู่ในอุโมงค์ แต่เลนข้างๆ รถมันเริ่มขยับ ถามว่าตอนแรกๆ ที่เห็นรถข้างๆ ขยับ เรารู้สึกยังไง

รู้สึกว่าเดี๋ยวฉันก็ได้ไปบ้างแหละ

ใช่ มีความหวัง เพราะเรามองไม่เห็นว่าข้างหน้ามันมีอะไรเกิดขึ้น แต่คนข้างๆ เริ่มขยับ อีกหน่อยเราก็จะขยับ ดังนั้นคนชนชั้นกลางในช่วงของ Transition ใหม่ๆ มีความหวังใหม่ๆ เลือกตั้งเสร็จใหม่ๆ จะรู้สึก อีกนิดเดี๋ยวมันก็จะดีขึ้น แต่ถ้านานๆ เข้ามันไม่ขยับสักที ความหวังหรือการมองโลกในแง่ดี มันจะเปลี่ยนไปเป็นความผันผวนทางอารมณ์ 

งานวิจัยอีกอันหนึ่ง คือ ถ้าถามชนชั้นกลางว่า โอเค ถ้างั้นเราจะลดระดับความเหลื่อมล้ำให้มันเท่าๆ กันมั้ย ให้คนจนมากๆ ให้มาพอๆ กับคุณ เอามั้ย เค้าไม่เอา (หัวเราะ) คนที่ต่อต้านการยกระดับค่าแรงขั้นต่ำ (minimum wage) มากที่สุดก็คือชนชั้นกลาง

เพราะอะไร

คนเราส่วนใหญ่ไม่อยากรั้งท้าย จะต้องมีคนรั้งท้ายหลังเราอยู่เสมอ เราถึงจะรู้สึกว่าโอเค อันนี้คือคำตอบเชิงเศรษฐศาสตร์ มันมีงานวิจัยที่พบว่า ให้คนเล่นเกมกันในห้องทดลอง พอเล่นเกมเสร็จแล้วมันมี การแบ่งเงินที่เล่นได้ ก็ถามชนชั้นกลางว่า เราให้โอกาสคุณเอาเงินส่วนหนึ่งที่คุณมี บริจาคให้คนที่จนกว่าคุณกับคนที่รวยกว่าคุณ คุณจะให้ใคร ส่วนใหญ่ให้คนที่รวยกว่า เพราะว่าให้คนที่รวยกว่า ยังไงซะ position ของเขา (คนรวย) มันไม่ได้เปลี่ยน

มันดูเศร้า แต่มันจริง

เพราะว่าความสุขของคนเรา มันเกี่ยวกับการเปรียบเทียบกันเยอะมาก

อย่างนั้น ถ้าความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยมันน้อยลง ก็ไม่ได้หมายความว่าสุขภาพจิตจะดีขึ้นใช่มั้ย

ถ้าเราดูตัวอย่างของต่างประเทศ สมมติว่าวันหนึ่งเรามีประตูวิเศษเอาประเทศจากวันนี้ที่มันเหลื่อมล้ำมากๆ ไปสู่ประเทศที่มีความพัฒนาแล้ว ทุกคนจะมีความสุขโดยเฉลี่ยขึ้น มันน่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ถามว่ากว่าจะไปได้ถึงขั้นนั้น มันต้องผ่านกระบวนการที่ค่อนข้างเจ็บปวด

เช่น คนที่ไม่ยอม ไม่เอา ถามว่าทำไม คือจริงๆ มันเป็น Open a can of worm มากเลย (แปลว่า การเริ่มแก้ปัญหา หรือเริ่มทำอะไรสักอย่าง แต่มันดันนำเราไปสู่ปัญหาอื่นๆ ที่ยุ่งยากตามมา) เวลาคุยกันในเรื่องนี้ มันไม่ได้แค่เกี่ยวกับความสุข มันไปโยงกับอย่างอื่นเยอะมาก 

อาจารย์พูดเรื่องเงินกับความสุขด้วย มันส่งผลกันยังไงบ้าง โดยเฉพาะในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากขนาดนี้ 

เราคิดว่าเงินคือความสุข ต้องแยกด้วยว่าเรากำลังพูดถึงความความสุขอะไรอยู่ ความพึงพอใจในชีวิต สุขภาพจิต 

สุขภาพจิตค่ะ เงินกับสุขภาพจิต

ความสัมพันธ์ระหว่างเงินกับสุขภาพจิตแทบจะเป็นศูนย์ มันจะสัมพันธ์กันจุดหนึ่งแล้วมันก็จะหายไปเลย ส่วนความพึงพอใจในชีวิตกับสุขภาพจิต ความสัมพันธ์มันยังยาว เพราะว่ามันใช้การประเมินตัวเอง แต่จริงๆ แล้วสุขภาพจิตไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับรายได้เลย ยกเว้นคุณจนมากๆ จนใช้เวลาทั้งวันกังวลเรื่องเงิน 

หมายความว่ามันมีเรื่องอื่นเสมอๆ ที่ไม่ใช่เงิน ที่มันส่งผลกับความสุขใช่มั้ย

ก็ส่วนหนึ่งนะครับ ก็ต้องถามว่า สมมติคุณอยากจะรวยมากๆ แล้วพอมีรถ มีเงิน มีบ้าน ทุกอย่างโอเค แต่คุณบอกว่าอยากจะรวยมากกว่านั้นไปเรื่อยๆ คุณต้องเสียสละอะไรบ้างเพื่อที่จะได้เงินมา แล้วเราพบว่าคนที่รวยมากๆ ส่วนใหญ่เขาต้องทำงานหนักมากๆ เขาต้องเสียสละความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หรือ ทำงานมากๆ เข้าไปอยู่ในงานที่เครียดมาก พวกนี้ล้วนเป็นตัวแปรที่สำคัญต่อสุขภาพจิต 

แล้วทำไมคนถึงเชื่อว่าเงินวัดความสุขได้ มันมีงานวิจัยหนึ่ง ถามคนอเมริกันว่า คุณคิดว่าคนที่รวยแบบมีเงินต่อปีแสนดอลลาร์ กับคนที่มีต่ำกว่านั้นเยอะๆ ความสุขในแต่ละวันเขาแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน คนอเมริกันส่วนใหญ่คิดว่าคนที่รวยมากๆ จะใช้เวลาทุกวันมีแต่ความสุข ส่วนคนที่จนมากๆ จะใช้เวลากับความทุกข์เยอะมากๆ เช่นเดียวกัน แต่พอเรามาวัดผลจริงๆ ทุกข์สุขมันใกล้กันมากกว่าที่เราคิดเยอะ อันนี้เป็นเพราะว่าคนมีอคติทางความคิดบางอย่าง เรียกว่า Focusing Illusion คือเวลามีคนถามเราว่า ถ้าคุณรวยขึ้น คุณคิดว่าจะมีความสุขมากขึ้นมั้ย เกือบร้อยทั้งร้อยก็คงจะคิดว่า มีสิ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า เวลาเราคิดว่าถ้าเรารวย หรือถูกล็อตเตอร์รี่ เราจะนั่งเรือยอร์ช เราจะไปปาร์ตี้ทุกวัน ช่วงแรกๆ ภาพในหัวเรามีแต่ความสุขทั้งนั้นเลย ซึ่งอาจจะมีส่วนนั้นจริงๆ ก็ได้ แต่มันก็มีอีกส่วนหนึ่งคือ คนโทรมาขอยืมเงิน เพื่อนที่เราเคยสนิทด้วย ตอนนี้เราไม่แน่ใจว่ามันมาสนิทกับเราเพราะเงินหรือเปล่า มันมีสิ่งที่ไม่เด่นชัดตอนที่เรากำลังคิดถึงเรื่องเงินอยู่ตอนแรก และเพราะมันไม่เด่นชัด แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่เกิดขึ้น 

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ การมีลูก ถามพ่อแม่ส่วนใหญ่ว่าคุณคิดว่า การมีลูกทำให้คุณมีความสุขมากน้อยแค่ไหน เกือบร้อยทั้งร้อยบอกว่า Apple of my eye  หรือแก้วตาดวงใจเลย แต่ข้อมูลบอกว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ได้พึงพอใจมากกว่าคนที่ไม่มีลูก แถมแต่ละวันยังทุกข์มากกว่าด้วยซ้ำไป เพราะเวลาคนถามถึงลูก เขาจะโฟกัสไปว่าทุกอย่างมันดี เช่น ช็อตลูกยิ้มครั้งแรก เพราะนั่นคือสิ่งที่เด่นชัดที่สุดในหัวของเขา แต่ถามว่ามันมีอะไรที่ไม่เด่นชัดที่ไม่ได้พูดถึงแต่ส่งผลกับเขาไหม มี เช่น ทำไมลูกไม่กลับบ้าน ไปเที่ยวกับใครอยู่ที่ไหนรึเปล่า ซึ่งเราไม่ได้คิดถึงภาพเหล่านี้ในอารมณ์โรแมนติกของการเป็นพ่อแม่ ซึ่งก็คล้ายๆ กับการที่เรามีภาพโรแมนติกเกี่ยวกับเงิน แต่จริงๆ มันยังมีอีกหลายอย่างที่เรานึกไม่ถึง แต่มันก็เกิดขึ้นจริงๆ ในชีวิต

ความสุขมวลรวม มันเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหนกับการที่คนในประเทศสุขภาพจิตดี

สำคัญ สุขภาพจิตเป็นตัวแปรที่สำคัญมากๆ ต่อความพึงพอใจในชีวิต ถ้าเรากำลังพูดถึงความสุขมวลรวม Life Satisfaction ของคนในประเทศว่าเป็นยังไง สุขภาพจิตมันต้องมีผลกระทบมากๆ อยู่แล้ว มีคำพูดของ Richard Layard ซึ่งเป็นคนแรกๆ ที่ทำแคมเปญเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิตให้คนอังกฤษ เขาสร้าง Improving Access to Psychological Therapies (IAPT) ขึ้นมา อธิบายง่ายๆ คือสมมติคุณไปเที่ยวอังกฤษ แล้วรู้สึกสุขภาพจิตแย่ แค่ไปเสิร์ช google พิมพ์ว่า IAPT แล้วใส่ Post Code ไป มันจะบอกขึ้นมาว่าในรัศมีคุณจะไปที่ไหนได้บ้าง ฟรี มัน improve access ให้คุณสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าคุณจะรวยหรือจน ซึ่งเปลี่ยนนโยบายด้านสุขภาพจิตของประเทศมากๆ เลย

สุขภาพจิตจึงเป็นตัวแปรที่สำคัญมากๆ ของความพึงพอใจหรือความสุขโดยรวมของคน แต่คนยังไม่เข้าใจถึงความสำคัญของมัน ในฐานะที่เป็นตัวแปร

การฟังจากคนรอบข้าง หรือ empathy จากคนรอบข้าง ไม่ต้องสงสาร แต่พยายามที่จะเข้าอกเข้าใจ มันส่งผลต่อความสุขของเรามากน้อยแค่ไหน

อันนี้เป็นคำของ Brené Brown เรื่อง Sympathy ความสงสาร กับ Empathy ความเห็นอกเห็นใจ

Sympathy คือ เราพยายามจะ drive disconnection เราไม่อยากจะได้คอนเนคชันในตรงนั้น เพราะว่าอยากรักษาความสุขของเราอยู่ งั้นก็ไปสวดมนต์สิ อันนั้นคือความสงสาร แต่มึงอย่าเอาความทุกข์มาให้กู ผลักออกไป

แต่ Empathy คือ เราจะต้องหาความรู้สึกของเราที่เคยทุกข์อย่างนั้น เพื่อที่จะฟังอีกคนนึงที่เขาทุกข์ นั่นคือการ empathy drive connection ถ้าถามว่า มันจะทำให้เรามีความทุกข์หรือเปล่า ไอ้ความทุกข์ที่เราได้มาจาก Empathy มันเป็นสิ่งที่เราเลือกเอง เพราะฉันอยากจะทำให้เขารู้สึกดีขึ้น แต่ถ้าเราไม่เคยเจอหรือเคยมีความรู้สึกตรงนี้มาก่อน เราก็จะไม่มีทางเข้าใจ แต่การรับฟัง จะทำให้เข้าใจ อันนี้คือมีโอกาสที่จะทำให้เขาดีขึ้น และเราก็ดีขึ้นจากที่เขาดีขึ้น

มันมีตัวอย่างมั้ยในการใช้ empathy มาออกแบบระบบ เช่น IAPT 

หมายถึงคนที่อยู่ในตำแหน่งที่ออกแบบได้เหรอ (หัวเราะ)

ผมเคยเห็นก็มีในเมืองไทย อย่าง OOCA  แต่มันก็ยังมีปัญหาในเรื่องของความเหลื่อมล้ำตรงที่ว่ามันก็ต้องจ่ายเงินอยู่ดี 

หนึ่ง ผมว่าทางรัฐบาลจะต้องเอาสุขภาพจิตของคนเป็นวาระของชาติ แค่ตรงนี้ แค่ตระหนักก่อนว่าสุขภาพจิตเป็นปัญหาที่สำคัญระดับชาติมากๆ เพราะว่า 1 ใน 4 คน จะมีปัญหาสุขภาพจิต  มันมีผลกระทบต่อ productivity ของคน สุขภาพกายของคนเยอะมากๆ อย่างที่อังกฤษมีคิดมูลค่าเป็นเงินหลายหมื่นล้านปอนด์ 

เพราะฉะนั้นถ้าเราเริ่มจากจุดนั้นก่อน ถามว่าต้องมี Empathy มั้ย ที่จริงไม่ต้องมีก็ได้ ถ้าเป็นวาระของชาติแล้ว เพราะเรารู้ว่าสิ่งหนึ่งที่ควรต้องเริ่มทำ พัฒนา เก็บข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพจิตของคน เริ่มทำการวิเคราะห์ว่ามันมีอะไรบ้าง แต่ผมเชื่อว่ามันยากมากๆ กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ 

อันนี้เป็นประสบการณ์ที่ผมเห็น ผมเชื่อว่าเราหา easy fix เราหาแต่ทางลัด กันเกลื่อนมากๆ เช่น สายมู เราพยายามจะหาอะไรสักอย่าง เพราะว่าเราไม่ไหวแล้ว สอง สื่อ ผมเปิดทีวีไทยทีไร ช่วงเช้ามีแต่ข่าวที่เป็น Distruction ทั้งนั้น เช่น ข่าวคนฆ่ากันตาย ไม่ดี ให้คนไม่มีโอกาสได้คิดถึงว่าตัวเองมีสุขภาพจิตที่แย่ แต่พยายาม distruct เขาให้ไปนู่นไปนี่ ไปเลือก Easy Fix ไม่ได้ไปที่ต้นตอ

สภาพสังคมที่บีบให้คนโฟกัสว่าต้องรวย ชีวิตต้องดีกว่านี้  มันมีผลที่ทำให้คนสุขภาพจิตเสียแค่ไหน

ในงานวิจัยเรารู้เลยว่า คนที่ Materialistic หรือวัตถุนิยม จะมีความสุขที่น้อยกว่าที่ไม่ Materialistic โดยเฉลี่ย ซึ่งถ้าเรามาอธิบายในระดับประเทศ ก็เข้าใจกันง่ายๆ ว่าในประเทศที่คนส่วนใหญ่วัตถุนิยมมากๆ ก็คงจะไม่มีความสุขเท่ากับประเทศที่ไม่วัตถุนิยม

ก็ต้องไปดูใหม่ว่าประเทศไหนที่วัตถุนิยมก็เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง งานวิจัยหนึ่งที่ผมทำแล้วพบว่า ความสุขของคนเรา จากการเลื่อนตำแหน่ง รายได้เพิ่ม เริ่มรวยขึ้นในระดับสังคม ความสุขจากการเลื่อนตำแหน่งของเราในประเทศที่เหลื่อมล้ำจะมีมากกว่าคนที่ได้เลื่อนตำแหน่งในประเทศที่คนเท่าเทียมกัน  

เพราะในประเทศความเหลื่อมล้ำสูง ผลพลอยได้ในสังคมมันสูงมากกว่าเยอะเลย จากการที่รวยกว่าคนอื่น เราไปดูในประเทศสแกนดิเนเวีย  ถามว่ามีคนซื้อรถเฟอร์รารี่มา คนอื่นเขาจะมองว่าไอ้นี่แปลก (หัวเราะ) คือผลพลอยได้จากการที่มันรวยกว่าคนอื่น มันน้อยกว่า เพราะมันไม่มี Value ตรงนั้น

แต่เราก็ตกใจทุกครั้งที่เห็นคนที่พร้อมแล้ว รวยแล้ว สำเร็จแล้ว ฆ่าตัวตาย? 

นี่คือเรื่องวิกฤติวัยกลางคน  เขาบอกว่าคนที่รวยมากๆ มักจะทุกข์กับในช่วงวัยกลางคนมากกว่าคนที่จนกว่า เพราะหนึ่ง midlife crisis มันเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่หลายๆ คนจะต้องเจอ เราจะพบเจอ midlife crisis ในลิงชิมแปนซีเหมือนกัน เพราะฉะนั้นแสดงว่ามันเป็นเรื่องชีววิทยา  ส่วนหนึ่งมันเป็นการเปลี่ยนแปลงของช่วงวัยชีวิต แต่พอคนที่รวยมากๆ แล้วเขารู้สึกหดหู่แต่เขาอธิบายไม่ได้ มันยากสำหรับเขามากกว่าคนที่จนแล้ว หดหู่ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่าคนที่ประสบความสำเร็จมากๆ ที่กำลังผ่านช่วง Low หรือ fail จากการมีความคาดหวังสูง  จะรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจเลย

ขอโยงอีกงานวิจัย พบว่าคนในประเทศสแกนดิเนเวียมีความสุขที่สุดในโลก แต่ว่ายอดฆ่าตัวตายสูงมาก เขาเรียกว่า Happiness Suicide Paradox คำอธิบายง่ายๆ คือ เพราะคนมันมีความสุขน่ะสิ คนที่มีความทุกข์ ถ้าเขาไปทุกข์ในประเทศที่เขามีแต่คนมีความสุข มันยากนะ มันยากกว่าเยอะเลย ที่มองไปทางไหนก็มีแต่คนมีความสุข 

เพราะฉะนั้นถ้าเราอยู่ในสังคมที่เรากำลังทุกข์ แล้วมีคนบอกว่า คุณจะทุกข์ได้ไง คุณประสบความสำเร็จอย่างนั้นอย่างนี้ จริงๆ มันต้องยื่นมือไปช่วยคุณแล้ว มันเป็นคำถามวิจัยที่ผมอยากจะทำแต่ยังไม่ได้ทำ ว่าเราควรจะสงสาร  หรือให้ Empathy กับคนที่รวยมากๆ แต่เขามีสุขภาพจิตที่แย่มั้ย คนส่วนใหญ่คิดว่าไม่ ก็เขารวยอยู่แล้ว อันนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่อธิบายว่า ทำไมคนที่รวยหรือประสบความสำเร็จมากๆ จะมีความหดหู่หรือซึมเศร้า  ซึ่งทุกคนมีอยู่แล้ว แล้วเราต้องอย่าลืมว่าคนที่ประสบความสำเร็จมากๆ เขาก็ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เครียดกว่าคนธรรมดามากๆ ถูกตั้งความหวังเอาไว้สูงมากๆ มีภาพพจน์ที่ต้องรักษาเยอะ ถ้าคิดแบบนี้ มันก็ธรรมดาที่เขาจะมีสุขภาพจิตแย่ 

อย่างที่อังกฤษมีการวัดว่า คนในประเทศมีความทุกข์ในความหมายของสุขภาพจิต มันวัดได้มั้ยในทาง GDP หรือเป็นตัวเลข เพราะว่าจริงๆ ในเมืองไทยยังไม่มีการสำรวจตรงนี้ว่า ความสูญเสียเชิงตัวเลขมันคือเท่าไหร่ เรามีแต่ตัวเลขคนป่วยและฆ่าตัวตาย 

มันก็ต้องมีการทำวิจัยกันจริงๆ จังๆ เราก็ต้องมาดูว่าคนที่ Day off work เพราะสุขภาพจิตมีกี่คน แล้ว off work มันเยอะขนาดไหน หรือถ้าไม่ off work ไปทำงาน เขา Productive มากน้อยขนาดไหน เขาลาออกจากงานหรือเปล่า หรือเขาตกงานไปเลยหรือเปล่า พวกนี้เป็นคำถามที่เราต้องตอบให้ได้ พอเราตอบได้ เราก็จะมาคำนวณว่า Loss Productivity ของคน มันยิ่งใหญ่ขนาดไหน ในประเทศอังกฤษเรารู้ว่ามันเยอะมาก คนที่ Take day off work เพราะรู้สึกสุขภาพจิตแย่ หรือว่าไปทำงานแต่รู้สึกไม่ Productive ทำอะไรไม่ได้เลย มันเยอะมากๆ นี่แหละครับมันถึงจะแปลงไปถึง GDP ได้ ผมไม่รู้ว่าของไทยมันเท่าไหร่

อย่างของอังกฤษมีเท่าไหร่ 

7 หมื่นล้านปอนด์  Richard Layard เคยทำตัวเลขไว้

เยอะมาก

เราต้องรู้ว่าทำไมมันถึงเยอะมาก เพราะว่ามันไม่ได้วัดแค่การสูญเสีย Production แต่เราวัดด้วยค่ารักษา เพราะว่าสุขภาพจิตมันเป็นตัวแปรที่สำคัญของสุขภาพกายด้วย มันทวีคูณเยอะมากๆ

ถ้าเมืองไทยวัดได้ ต้องกลายเป็นวาระของชาติแน่ๆ

ใช่ เพียงแต่ว่าปัญหาคือ หนึ่งมันจับต้องยาก ผมเคยเขียนว่าทำไมประเทศเราไม่มีการวัดข้อมูลพวกนี้ ไม่ใช่แค่พวกนี้แต่ข้อมูลต่างๆ นาๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า สิ่งที่เราไม่ได้วัด มันก็กำกวม พอมันเป็นสิ่งที่กำกวม ไม่แน่นอน ใครจะพูดอะไรก็ได้หรือทำอะไรก็ได้ แต่ถ้าเราเริ่มวัดทุกอย่างเป็น Evidence Base เราจะเห็นได้ชัดเลยว่ามันจะมีอะไรที่ควรทำหรือไม่ควรทำ