นพ.ประเสริฐ​ ผลิตผลการพิมพ์ : บ้านเมืองที่ไม่ฟังคน ยากดีมีจน ทุกคนล้วนซึมเศร้า

“บ้านเมืองที่ฟังคน ปูพรมรักษาไปครึ่งหนึ่ง เท่ากับช่วยงานจิตแพทย์ได้ครึ่งหนึ่ง”​

ประโยคจากนายแพทย์ประเสริฐ​ ผลิตผลการพิมพ์ เชื่อมโยงถึงสภาพสังคมตอนนี้ ที่คนเหมือนไม่ถูกรับฟัง  หลายๆ คนที่ซึมเศร้าเลือกจบลงด้วยการหายไปจากโลกนี้

“ในคนวัยทำงาน ที่น่ากลัวกว่าความตายคือมันอยู่แล้วทำงานไม่ได้ มันเสียหมดเลย สมาธิสมองไปหมดเลย นี่จึงเป็นปัญหา เพราะการอยู่มันน่ากลัวกว่า เรียนไม่ได้ ฟังครูไม่รู้เรื่อง ทำการบ้านไม่ได้ ทำโครงงานไม่ได้ พนักงานออฟฟิศ เพื่อนเสนองานได้แต่เราเสนอไม่ได้ เพื่อนก้าวหน้าเราไม่ก้าวหน้า ตรงนี้ต่างหากคือความสำคัญของโรคซึมเศร้า” 

คนไข้ที่เดินมาหาคุณหมอมีตั้งแต่กลุ่มชาติพันธุ์ คนแก่ คนพิการ นักเรียน นักศึกษา ฯลฯ แต่รายที่คุณหมอเข้าไปหาถึงที่เองคือ ผู้ต้องขัง 

“เราควรให้มนุษย์ใส่โซ่ตรวนแล้วนั่งตรงนี้ (หน้าห้องแพทย์) หรือ นานด้วย คนผ่านไปผ่านมาอีกต่างหาก” คุณหมอจึงเลือกเข้าไปตรวจคนไข้จิตเวชในเรือนจำ เดือนละ  1 ครั้งตลอด 20 ปี 

บทสนทนากับนายแพทย์ประเสริฐ​ ผลิตผลการพิมพ์ ต่อจากนี้จึงไม่ใช่เรื่องครอบครัว เด็ก พัฒนาการ อย่างที่ผ่านมา แต่จะเป็นการคุยเรื่องโรคซึมเศร้า บรรยากาศบ้านเมืองที่อบอวล แปรปรวน รวน และเร้า จนทำให้หลายคนไม่อยากตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าทุกอย่างยังเหมือนเดิม 

นายแพทย์ประเสริฐ​ ผลิตผลการพิมพ์

อยากถามคุณหมอว่าจริงๆ แล้วโรคซึมเศร้ามันมีมากขึ้นจริงๆ หรือเราคิดไปเองว่ามีมากขึ้น

ผมเชื่อว่ามากขึ้นจริง เพราะตัวเองไม่มีเวลาลงไปทำวิจัย แต่เชื่อว่ามากขึ้นด้วยสายตาเฉยๆ ด้วยการดูข่าว ดูจำนวนผู้ป่วยที่โรงพยาบาลและผู้ป่วยที่มาหาผม แล้วตัวเลขก็ลดลงเรื่อยๆ จริง เฉพาะผู้ป่วยที่มาหาผมอายุน้อยลงเรื่อยๆ จริง จากวัยกลางคนเป็นนิสิตมหาวิทยาลัย ลงมาถึงม.6 5 4 3 2 1 ลดลงมาเรื่อยๆ 

กลับไปตอนที่คุณหมอยังทำงานราชการอยู่ ความแออัด ความไม่เพียงพอของจิตแพทย์กับจำนวนคนที่เข้ามารับการรักษา ตอนนั้นกับตอนนี้มันแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

ผมอยู่คนเดียวหลายปี อาจจะหลังจากนั้น 10 กว่าปีกว่าจิตแพทย์คนที่สองจะมาช่วยงาน กว่าน้องเขาจะมา เราก็มียอดผู้ป่วย 70-90 คนต่อวันอยู่แล้ว เขาก็แบ่งเบาไปบางส่วน 

ก่อนหน้านั้นผมจะตรวจทุกอย่าง แต่หลังๆ ด้วยความที่ผมเป็นคนไม่ยอมทิ้งผู้ป่วย และต้องการตรวจให้หมดในหนึ่งวัน เพราะไม่อยากให้เขาที่มาจากต่างอำเภอต้องหาที่นอน เพราะหาที่นอนมันมีค่าใช้จ่าย ผมก็เร่งตัวเองให้ตรวจให้หมด เฉลี่ยๆ วันหนึ่งจะอยู่ที่ 120-150 ต่อหนึ่งวัน ต่ำกว่าร้อยไม่เคยมีนานแล้ว

ถ้าวันไหนโชคไม่ดี ผมลา ผมพักร้อนก็วันละ 200 คนแต่ทั้งหมดนี้ ต้องออกตัวว่าเกิดจากผมทำตัวเองที่ผมไม่ยอมให้ใครกลับมือเปล่า ทุกคนต้องเจอ ไม่ยอมกำหนดโควตาการตรวจและไม่ยอมให้ใครรอนานด้วย เราขับรถเก๋งส่วนตัว แต่เรารู้ว่ามีเวลามีเที่ยวรถที่คนต้องกลับ มันเลยงานหนัก 

คุณหมอบอกว่าก่อนจะเกษียณ ยอดผู้เข้ารับการรักษาไม่ต่ำกว่าวันละ 150 คน เหตุผลอะไรที่ทำให้ยอดมันไม่ต่ำลง มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 

ข้อที่หนึ่ง โรคทางจิตเวชส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรังจริง เราลดยาได้ แต่หยุดยายาก เพราะส่วนหนึ่งก็ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งแปลว่าในสายเลือดก็ยังมีบางอย่างอยู่ ผมชอบเปรียบเทียบว่ายาก็เหมือนเสื้อเกราะ พันธุกรรมถูกเสื้อเกราะคลุมไว้ แรงกระแทกก็ไม่เข้า การศึกษาจะแย่ยังไงก็ไม่เข้า เพราะเสื้อเกราะหนา เอายาไป 4 ตัว ถ้าการศึกษาดีหน่อยเอายาไป 3 ตัว โรงเรียนทางเลือกเอายาไป 2 ตัว โฮมสคูลเอาไปตัวหนึ่ง นี่เป็นคำเปรียบเปรย เพราะฉะนั้นทางพันธุกรรมมันยังอยู่ เราล้างเลือดคนไม่ได้ แต่ยาเราเป็นเสื้อเกราะจริง

ข้อที่สอง คือ ประวัติอดีตเราแก้ไขไม่ได้ ผมทำจิตบำบัดไม่ได้ เพราะไม่มีเวลาแบบในหนังฝรั่ง เราก็แก้ไขปมอะไรไม่ได้เลย ทำได้อย่างมากคือรับฟัง ยอมรับ interpret บางอย่าง interpret แปลว่า ให้เขารู้จักตัวเอง 

กรรมพันธุ์ก็แก้ไม่ได้ อดีตก็ล้างไม่ได้ สิ่งแวดล้อมแย่ลงทุกวัน สิ่งแวดล้อมในบ้าน ถามจริงๆ ว่า มีกี่บ้านที่ไม่แย่ สิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน เอาแค่เรื่องน้ำท่วมเรื่องเดียว กว่าจะออกจากที่ทำงานกลับถึงบ้าน กี่ชั่วโมง

สิ่งแวดล้อมในสถานศึกษายิ่งสาหัส สั้นที่สุดคืออนาคตไม่มี สิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน คือ ทำให้ตายก็ไม่มีเงินซื้อบ้าน สิ่งแวดล้อมในบ้าน พ่อแม่ทุกคนปากกัดตีนถีบ ไม่มีเวลาอยู่บ้าน หนอย จะให้มาอ่านนิทานก่อนนอน แซวตัวเองเพื่อบอกว่านี่เป็นเรื่องโครงสร้างแน่ๆ การเลี้ยงลูกเป็นการเมือง แก้ไขไม่ได้ อ่านกี่เพจก็ไม่มีทางทำได้ ถ้ารัฐไม่ช่วยเหลือ 

สิ่งแวดล้อมภายนอก ไล่เลย ปัจจุบันน้ำท่วม 2 ปีที่แล้วโควิด ก่อนหน้านั้นฝุ่นควัน เศรษฐกิจนี่ 365 วัน รัฐบาลอีก 8 ปี การปฏิวัติก่อนหน้า 8 ปี สิ่งแวดล้อมยิ่งไม่มีทางออกเลย จริงๆ ทางออกสำคัญคือเรื่องเศรษฐกิจ เขาทุกข์จริง แล้วมันไม่มีทางออก ทำงานให้ตายก็ได้เงินเท่านี้ ไม่มีทางได้มากกว่านี้ 

ผมพูดเสมอว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่นั่น เพราะคุณไม่มีทางไปพ้นจากระดับความยากจนได้ เห็นมาตั้งแต่จบแพทย์ปีแรกจนวันนี้ ยิ่งสาหัสกว่าเดิม สิ่งแวดล้อมในบ้าน โรงเรียน ที่ทำงาน สังคมใหญ่ไม่ได้เรื่องสักเรื่อง แล้วคนไข้เราจะไปไหน

ตอนที่คุณหมอรับราชการมีคนไข้มาจากทุกประเภท มาจากทั่วภาคเหนือเลยใช่ไหม

ตอนที่มาทำงานใหม่ๆ ใช่ครับ เชียงรายจะเป็นที่ที่สองที่มีจิตแพทย์ต่อจากเชียงใหม่ 

ทราบว่าช่วงรับราชการคุณหมอเข้าไปตรวจคนไข้จิตเวชในเรือนจำ คุณหมอเข้าไปบ่อยแค่ไหน แล้วเจออะไรบ้างคะ

ก่อนหน้ายุคพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลหรือ HA ผู้ป่วยในเรือนจำก็จะใส่โซ่ตรวนมารอหน้าห้องตรวจเรา เราก็ไม่รู้สึกอะไร เราก็เป็นหมอธรรมดา ไม่ได้พิเศษอะไร แต่พอมี HA : Hospital Accreditation ระบบตรวจคุณภาพโรงพยาบาล ผมก็เรียนรู้ว่ามันมีสิ่งที่เรียกว่าจริยธรรมองค์กร หมายความว่า เราควรให้มนุษย์ใส่โซ่ตรวนแล้วนั่งตรงนี้หรือ นานด้วย คนผ่านไปผ่านมาอีกต่างหาก  

มันเป็นเรื่องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ก็กลับมาเรื่อง empathy ซึ่งก็ควรเป็นความรู้สึกอัตโนมัติ ก็ไม่ค่อยดี แต่อันนี้ผมไม่ได้เก่ง HA สอนเราว่า แพทย์ไม่มีไม่เป็นไร แต่องค์กรควรมีจริยธรรม เพราะองค์กรจะครอบแพทย์อีกที อันนี้เป็นเรื่องโครงสร้าง คราวนี้พอไม่ชอบให้เข้ามา วิธีเดียวคือเราต้องไป เราไปคุยกับทางเรือนจำว่าผมจะมาเดือนละครั้งพอ ด้วยความที่โรงพยาบาลมีคนไข้เป็นร้อยๆ เพราะฉะนั้นผมจะไม่ยอมให้ทั้งเรือนจำมาหาผมเป็นอันขาด 

เราขอตรวจเฉพาะจิตเภท คือ Schizophrenia เป็นโรคจิตแท้ๆ มีหูแว่ว ประสาทหลอน คลุ้มคลั่ง อาละวาด หวาดระแวง ปรากฎว่าแค่เท่านี้ก็เดือนละมากกว่า 50 รายแล้ว พยาบาลในนั้นไม่มีที่พึ่ง เขาก็จะเริ่มสอดไส้ เอารายที่เครียดกับซึมเศร้าเข้ามา แต่เกือบทั้งหมดเป็นคดียาเสพติด 

ก็บอกพยาบาลว่าถ้าพอดูเองได้ก็ดู อย่าส่งเครียดกับซึมเศร้าเข้ามาเพราะว่าผมไม่อยากให้เยอะ ผมอยากรักษาโรคจิตเภทให้ดี ให้ดีกว่าที่โรงพยาบาลเชียงราย เพราะที่นั่นมันวันละร้อยกว่า ปรากฎว่าดีมาก ดีกว่าที่โรงพยาบาลเชียงราย (หัวเราะ) เพราะวินัยการกินยาดีกว่าที่บ้าน เจ้าหน้าที่เอายาถึงปาก และผมก็ฉีดยาในคนที่จำเป็นต้องฉีด เดือนละ 1 ครั้ง อาการก็หายหมดเลยอย่างน่ามหัศจรรย์ นี่เป็นงานที่ผมภูมิใจมาก ทุกหนึ่งเดือนเข้าไปช่วยคนได้ประมาณ 50 คน ผมดีใจมาก 

สภาพแวดล้อมข้างในมีผลต่ออาการแค่ไหนคะ

ไม่ได้อยู่ (หัวเราะ) ดูจากเรือนนอนก็ไม่ดีหรอก โดยเฉพาะคุณผู้หญิง สภาพโดยทั่วไปก็หดหู่ ดูเก่าๆ โทรมๆ บางมุมก็ไม่สวยงาม ความแออัดน่าจะเยอะ ผมเองไม่ได้เห็นสภาพการนอนจริงๆ แต่ในบางกิจกรรมก็รู้อยู่ว่า แออัดมาก ยิ่งช่วงที่มีการทำยอดจับกุมยาเสพติด เราเห็นด้วยตาว่าแออัดมาก อันนี้จะอยู่ในหมวดความเครียดในบ้าน เมื่อบ้านเป็นเรือนจำ 

ถามเป็นความรู้ โรคจิตเภทเกิดจากอะไร 

พันธุกรรมมีส่วนร่วมมาก การเลี้ยงดูไม่ค่อยมีผลเท่าไหร่ อันนี้เป็นโรคทางชีววิทยาค่อนข้างแน่นอน ผู้ป่วยไม่ได้อยากเป็นโรคจิต เขาไม่ได้อยากเป็นบ้า ไม่ได้อยากพูดคนเดียว ไม่ได้อยากหูแว่ว เห็นภาพหลอน ไม่ได้อยากเอะอะ อาละวาด เขาคือผู้ป่วยจริงๆ เหมือนเบาหวาน เหมือนความดันสูง เหมือนโรคตับ เขาเป็นโรค (ย้ำเสียง) 

แล้วคุณหมอรักษาอย่างไรคะ 

มันมีขั้นตอนการรักษาอยู่แล้ว โดสยาถึงก็หายทุกราย ที่มันยากคือหายแล้วหยุดยา ต้องใช้เทคนิคคุยกับญาติเยอะมาก และต้องคุยกับผู้ป่วยนานมาก กว่าจะไปถึงจุดที่ใครคนใดคนหนึ่งยอมรับว่าชีวิตนี้ต้องกินยาตลอด ไม่ต้องหยุด มันเหมือนโรคทั่วไป แต่เป็นโรคที่คนไม่รู้จักและถูกตีตรา เรื่องพวกนี้เป็นปัญหาเยอะ 

เข้าไปหนึ่งวันต่อเดือน 

ใช่ แค่เที่ยง เพราะว่าต้องกลับมาทำงานที่โรงพยาบาล ตอนแรกก็ให้รถโรงพยาบาลเชียงรายไปส่ง ปรากฎว่าเสียเวลารอรถนานมาก สุดท้ายเรือนจำเอารถมารับ เสียเวลาหนักกว่าเดิม ตอนนี้ก็ไปเอง ขับรถเองตลอด ขับอยู่ 20 ปี หลายกิโล ไม่เคยเบิกอะไรเลย อันนี้เป็นความสุขส่วนตัว ขับไปขับมา แล้วก็ขับเร็วด้วย ทั้งแฟน ทั้งลูกน้องก็เตือนหลายรอบ เพราะต้องการทำเวลา 

ต้องการทำให้เสร็จแล้วรีบกลับมา งานนี้มีความสุข

ความสุขอยู่ตรงไหน 

ข้อที่หนึ่ง พวกเขาไม่มีครอบครัวดูแล ข้อที่สอง เจ้าหน้าที่เรือนจำก็ไม่มีเวลาดูแลทุกคน ข้อที่สาม ธุรกรรม การเอาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลผมว่าก็คงไม่ง่าย การขออนุมัติหลายขั้นตอน ข้อที่สี่ เข้าไปก็ทำให้ผมรู้ว่า มีผู้ป่วยบางคนดูเหมือนจะไม่ได้ผ่านกระบวนการอะไรเลย ผู้ป่วยโรคจิตเภทมีสิทธิบางอย่างทางกฎหมาย แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครรู้ข้อนี้ ก็จะไม่ได้ผ่านกระบวนการอะไร ถูกตัดสินไปเลย 

การที่แพทย์เข้าไปหาผู้ป่วยในเรือนจำแตกต่างจากการพาเขาออกมารักษาที่โรงพยาบาลอย่างไรบ้าง 

รักษาด้วยยาอาจจะเหมือนกัน แต่ด้วยความรู้สึก โรคทางจิตเวชการไปหาที่เรือนจำดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด เขาเป็นบุคคลที่อยู่ชั้นล่างสุดอยู่แล้ว ไม่ใช่เฉพาะผู้ป่วยในเรือนจำ ผู้ป่วยจิตเวชอยู่ชั้นล่างอยู่แล้ว เรายื่นมือลงไปเป็นเรื่องดีแน่นอน แต่ในขณะเดียวกันจิตเวชศาสตร์ก็กลับมีข้อบังคับที่เข้มงวดในเรื่องการมีสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้ป่วย เพราะฉะนั้น จิตแพทย์ที่จะทำแบบนั้นได้ก็ต้องมี intregity ที่ดี ว่าเราอยู่ในจริยธรรมที่มั่นคงมาก อะไรที่ยื่นมือไปเป็น Therapeutic เป็นการรักษาล้วนๆ ไม่มีความสัมพันธ์เชิงสังคมเกิดขึ้น ดีกรีมันมากกว่าแพทย์ทางร่างกายเฉยๆ 

ความจริงมันก็หลักการเดียวกัน แพทย์ทางด้านร่างกาย ซึ่งรวมทั้งแพทย์ทางด้านจิตเวชด้วย ผู้ป่วยมาหาเราในออฟฟิศ เป็น Sciencetific ที่ดี เพราะออฟฟิศ เรามีโต๊ะ มีเครื่องมือตรวจ มีบริบทที่เป็นออฟฟิศ ตัวแปรต่างๆ ถูกสะกัดออก การวินิจฉัยของเราจะแม่นยำตามตำรา ไม่มีพลาดโดยง่าย เพราะว่าตัวกวนต่างๆ ถูกตัดออก emotion ของเราถูกตัดออก emotion ผู้ป่วยไม่อนุญาตให้มี แต่ถ้าเราไปที่ห้องส้วมเขา ไปที่เตียงนอนเขา ที่บ้านของเขา แพทย์จะเห็นความเป็นจริงมากกว่า แพทย์จะอ่อนโยนกว่าแน่ๆ แล้วก็จะรู้ว่า อะไรที่คุณพูดที่ห้องตรวจมันใช้ไม่ได้หรอก เอาแค่กินยาให้ครบวันละ 4 ครั้ง คุณไปดูบ้านเขาซะก่อน เช้าสาม กลางวันสอง เย็นหนึ่งครึ่ง ใครจะทำคำสั่งแบบนี้ได้ในสภาพบ้านเช่นนี้ 

เพราะฉะนั้น ผมยังคิดว่าแพทย์ควรไปที่บ้าน ทุกสาขา ซึ่งแปลว่าเราต้องไปถึงระดับชุมชน แต่ว่าตัว intregity หรือ ethic code ต้องแน่นหนามาก อันนี้เป็นสิ่งที่แพทย์ศาสตร์ศึกษาต้องฝึกกันใหม่ 

ถ้าเป็นผู้ป่วยที่เป็นพี่น้องชาติพันธุ์ที่มาหาคุณหมอด้วยโรคซึมเศร้า จะมาด้วยซึมเศร้าแบบไหน 

จากประสบการณ์ โรคซึมเศร้ามันมี definition และ Criteria เกณฑ์การวินิจฉัยเฉพาะ ดังนั้น จะชาติพันธ์ไหนเราก็ใช้ Criteria เดียวกัน วินิจฉัยแล้วก็คือวินิจฉัย เขาเป็นโรค โ-ร-ค การรักษาก็เหมือนกันหมด ไม่ต่างกัน 

เรื่องชาติพันธุ์ผมความรู้ไม่มาก แต่เท่าที่คุยกับผู้ป่วยความเครียดที่พบบ่อยก็จะอยู่ที่เศรษฐกิจเป็นหลัก เขาทำมาหากินแบบเดิมไม่ได้ เขาจำเป็นต้องออกจากถิ่นที่อยู่มาทำงานข้างนอก เข้าสู่วงจรไม่มีเงินเหมือนคนไทยทั่วไป แต่เขาสาหัสกว่าตรงการผ่านด่าน ต้องการบัตรประชาชนยิ่งยากหนัก จะมีความเครียดสะสม ส่วนการถูกเลือกปฏิบัตินั่นมีอยู่แล้ว 

การศึกษาของลูกก็เป็นค่าใช้จ่ายอีก ไม่จริงที่ว่าฟรี ค่าโสหุ้ยมันไม่เคยฟรี คนชาติพันธุ์ยิ่งชัด เรียนก็ไม่ได้ดีนักทำงานแบบเดิมก็ไม่ได้ ซ้ำรอยลูกชาวนาบ้านเรา ทำนาก็ไม่ได้ เรียนก็ไม่ได้ เพราะตัวโครงสร้างมันไหลเข้าศูนย์กลางหมด 

ขอถามถึงคนพิการ เขามีโรคซึมเศร้าด้วยสาเหตุอะไรบ้าง

กรรมพันธ์ุ สิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดูในวัยเด็ก มันก็จะหมุนอยู่ 3 อย่าง เป็น interaction กัน ผู้พิการก็อยู่ภายใต้กรอบอธิบายนี้ว่า ผู้พิการทางด้านร่างกาย แต่มีกรรมพันธุ์ของโรคซึมเศร้ารึเปล่า มันก็อยู่ภายใต้กล่องนี้ ตอนเด็กๆ ใครเลี้ยง คนเลี้ยงยอมรับความพิการทางด้านร่างกายมากน้อยเท่าไหร่ เพราะว่าการที่พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงยอมรับว่าความพิการเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา เร็วเท่าไหร่ เด็กก็ยอมรับตัวเองเร็วขึ้นเท่านั้น 

เราพบว่าเป็นปัญหาจริง แม้ในพ่อแม่ที่ใจดีที่สุด ก็ยังคิดว่าความพิการเป็นกรรม มันไม่ได้โฟกัสตรงให้เด็กยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น มันไปโฟกัสที่กรรม เด็กต้องการให้พ่อแม่ยอมรับที่เขาพิการจริงๆ คำอธิบายเรื่องกรรมไม่พอ ตรงนี้เป็นปัญหา ขนาดพ่อแม่ที่ดีที่สุดก็ไปไม่พ้นเรื่องนี้ 

สิ่งแวดล้อม มันก็ไม่เอื้อ ที่นี่(เชียงราย) เดินยากกว่ากรุงเทพ มันไม่มีฟุตบาท ที่มีก็แย่พอๆ กับกรุงเทพ ผู้พิการไปไหนก็ยาก ที่นี่คือไม่ต้องไปไหน นั่งรถเข็นอยู่บ้านไง ไปไหนก็ไม่ได้ 

งานสำหรับผู้พิการก็ไม่ไปไหน องค์ความรู้เรามีหมดแล้ว ว่าสิ่งแวดล้อมแบบไหนที่เราอยู่ด้วยกันได้ งานแบบไหนผู้พิการทำได้ เรามีแม้กระทั่งว่าเราจะดูแลผู้ประกอบการอย่างไร เพื่อให้รับผู้พิการเข้าทำงาน โดยวินวินทั้งสองฝ่าย เหมือนทุกเรื่องในประเทศไทยเรารู้หมดแล้ว รวมทั้งการศึกษา เรารู้ชัดพอสมควรแล้วว่าเราควรทำอะไร แต่เราไม่ทำ 

อยากถามเรื่องผู้สูงวัย เรากำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยสุดยอด (ผู้สูงวัยมีจำนวนมากที่สุดในสังคม) คนทำงานก็จะน้อยลง ความกดดันหลายอย่าง นอกจากจะตกแก่คนทำงาน ก็ไปตกอยู่ที่ผู้สูงวัยด้วย หลายๆ คนเครียด หรือว่าเป็นซึมเศร้าด้วย ตรงนี้เราจะสามารถป้องกันได้ไหม 

ป้องกันได้สิ แล้วก็ป้องกันทัน อย่างสั้นที่สุด ผู้สูงอายุต้องการเงิน เงินมาทุกอย่างจะค่อนข้างเรียบร้อย เพราะว่าเงินซื้ออิสรภาพจากลูกหลานได้ ตอนนี้มันไม่มีเงินที่จะเป็นอิสระจากลูกหลานบางครั้งลูกหลานก็ไม่ว่าง มันก็เลยซ้ำเติมกันเป็นวงกลม เพราะฉะนั้นผู้สูงอายุต้องการเงิน 

ถามว่าเรามีองค์ความรู้เรื่องนี้มั้ย มี ต้องการกี่บาท มี ต้องทำอย่างไร รู้อีก เราไม่ทำ ถ้าเถียงกันแบบนี้แล้วไปจบที่ประเทศไม่มีเงิน ก็ไปเถียงกันอีกเรื่องหนึ่งเลยนะ เรื่องผู้สูงวัยก็เป็น Prototype ที่ผมอยากเล่า เราจะไม่จบที่ว่าให้ผู้สูงวัยทำงานอดิเรก หรือให้ผู้สูงวัยไปมหาวิทยาลัยที่ 3 หรือไปวัด เขาต้องการเงิน อันนี้พูดแบบจิตเวชศาสตร์เลยนะ

เขาต้องการเงินเพราะว่าเขาไม่อยากเป็นภาระของใคร โดยเฉพาะลูกหลาน

ใช่ เขาต้องการตัวตนที่เป็นอิสระ และพัฒนาต่อได้ อันนี้เป็นเรื่องพื้นฐาน แต่ถามว่าการซื้อตัวตนที่เป็นอิสระในสังคมนี้ต้องทำอย่างไร เงิน ในสังคมอื่นต้องทำอย่างไร ก็เงิน และบริบท สวัสดิการห้องสมุดฟรี ทางเดิน ขนส่งสาธารณะสำหรับผู้สูงอายุ ทั้งหมดนี้ก็อยู่ในหมวดเงิน แต่อยู่บนหมวดเงินส่วนที่รัฐจ่ายลงมาส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นเงินที่ผู้สูงอายุได้เองก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่แน่นอนเขาต้องการสังคมที่เอื้อให้เขาเดินทางได้ด้วย เพื่อซื้ออิสระ เขาต้องการรถไฟไปจ่ายตลาด ญี่ปุ่น ผมเห็นบ่อย คนแก่ขึ้นรถไฟ ที่เลื่อนลงมาถึงพื้นด้วยนะ ไปจ่ายตลาด อังกฤษยิ่งเยอะ ของเราไปจ่ายตลาดไม่ได้ ข้ามถนนยังไม่ได้เลย เพราะว่าถนนตัดกลางหมู่บ้าน บ้านลูกคนนู้นอยู่ฝั่งนู้น บ้านลูกคนนี้อยู่ฝั่งนี้ ไม่ไปเลย แล้วใครเป็นคนตัดสินใจเรื่องการตัดถนนผ่านหมู่บ้านเขา 

เราเห็นคำว่าโรคซึมเศร้าเต็มไปหมดในโลกออนไลน์ มีคำแนะนำบอกว่าให้หันกลับมาใจดีกับตัวเองบ้าง อยากถามคุณหมอว่า ถ้าคนที่เป็นโรคนี้จริงๆ การบอกให้กลับมาใจดีกับตัวเอง หรือกลับมารักตัวเอง มันช่วยได้ไหม

ไม่น่าจะได้ เพราะว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจริงๆ ระบบเหตุผลเสียหายไปแล้ว เสียหายเพราะตัวสารเคมีด้วย เสียหายเพราะสภาพแวดล้อมที่ไม่มีทางออก ตัวระบบเหตุผลที่ช่วยให้มองออกว่าตัวเองน่ารักตรงไหนมันไม่มี มันเห็นแต่ความไม่ดีของตัวเอง แล้วความไม่ดีมีเหตุผลรองรับตั้ง 5 ข้อ ว่าฉันไม่ดีเพราะ 1 2 3 4 5 รักษาไป 3 เดือน ไล่ใหม่เหลือ 2 ข้อ ก็ชัดว่าเขาไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองในเวลาแบบนั้น

ผมยอมรับว่าผมเป็นพวกที่เห็นด้วยว่าการใช้ยาเร็วที่สุดและปลอดภัยที่สุด 

นอกจากการฟังจากจิตแพทย์ การฟังจากคนใกล้ตัวช่วยได้ไหม

ช่วยได้ครับ การฟังคือทางออก เป็นท่อระบายน้ำ ช่วยได้เยอะ ปัญหามีข้อเดียว คนฟังต้องฟังเป็น ความจริงที่ว่าผู้ป่วยขอแค่คนฟัง ถ้าพูดให้หมาฟังได้สบายไปแล้ว แต่มันไม่ได้ เราต้องการคน ต้องการมนุษย์แชร์ริ่ง ประเด็นคือเราไม่สามารถบอกสังคมได้ว่าเมื่อเจอผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากรุณานั่งฟัง เรายังบอกไม่ได้ ฟังไปเรื่อยๆ ทุกอย่างจะดีขึ้น

แน่นอนหลายคนบอกฟังจนเบื่อแล้ว ผมจะบอกว่าที่จริงเขาพูดสั้นลงนะ ดูความถี่ ที่จริงเขาหาตัวคุณน้อยลงนะ ดูความรุนแรง เรื่องมันลดลง จาก 20 topic เหลือ 3 topic ที่จริงเขาดีขึ้นด้วยการฟังอย่างเดียว

นี่เรียกว่าฟังเป็นใช่ไหม

ใช่ ฟังเป็น หนึ่ง – คือฟังอย่างตั้งใจ มองตา พยักหน้าไปก่อน วงเล็บฟังไม่เข้าใจก็พยักหน้าไปก่อน ไม่ต้องพยายามแนะนำ คนส่วนใหญ่จะลำบากใจเพราะไม่รู้จะแนะนำว่าอะไร เราต้องคอยบอกว่าไม่ต้องลำบากใจ แค่นั่งลงฟังก็ดีมากแล้ว

ถ้าบ้านเมืองดีโครงสร้างดี โรคซึมเศร้าจะเป็นอย่างไร

ควรจะน้อยลง สภาพทางสังคมและเศรษฐกิจมีผลต่อซึมเศร้าแน่ เพราะพันธุกรรมเป็นแค่โค้ดดิ้ง มันต้องการตัวกระตุ้น ตัวกระตุ้นที่สำคัญคือการเลี้ยงดูในวัยเด็ก โดยเฉพาะสามขวบปีแรก ต่อให้ตัวกระตุ้นนี้ผ่าน ตัวกระตุ้น ณ ปัจจุบันยังมีส่วนได้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นความเครียดอย่างรุนแรงฉับพลัน หรือความเครียดเรื้อรัง ก็เป็นตัวกระตุ้นพันธุกรรม จะมีปัจจัยที่อยู่เหนือเรื่องพวกนี้อยู่เรื่องหนึ่ง คือ สภาพการใช้ชีวิตของมนุษย์ คนเราควรนอนเท่าไรจึงไม่เป็นโรคซึมเศร้าก็เป็นคำถาม พูดง่ายๆ ว่าเราปล่อยวัยรุ่นนอนไปเถอะ อย่าไปบ่นเขาเยอะ เขาจะไม่ค่อยเป็นโรคซึมเศร้า

เช่น ตื่นเที่ยงเหรอคะ 

ใช่ ตัวพันธุกรรมจะมีคู่มือกำหนดว่ามนุษย์ควรนอนเท่าไรแล้วดีที่สุดต่อสุขภาพกายและใจ ประเด็นคือสังคมเคลื่อนตัวไปสู่จุดที่นอนไม่ได้ เพราะทุกคนต้องเข้างาน 8 โมง เรียนหนังสือก็ต้อง 8 โมง อันนี้ต่างหากที่เป็นสมมติฐานว่าโรคซึมเศร้าทวีจำนวน ต่อให้เรามีสภาพเศรษฐกิจสังคมที่ดี ปัจจัยนี้ยังอยู่ ทางยุโรปบางที่เริ่มพูดเรื่องลดจำนวนการทำงานลงอีก ปล่อยการนอนมากขึ้นอีก ช่องทางระบายความเครียดเยอะขึ้นอีก คือ พิพิธภัณฑ์ศิลปะทั้งหลาย ช่วยได้จริง มีงานวิจัยรองรับ ทำสวนสาธารณะเยอะขึ้นอีก ก็มีงานวิจัยรองรับอีก พูดแล้วเศร้า ยิ่งพูดยิ่งเศร้า

ทั้งหมดนี้องค์ความรู้มีหมดแล้ว เรา establish หมดแล้ว ไม่ใ่ช่พูดลอยๆ ใครสงสัยก็ search แน่นอนว่าการพัฒนาต้องเป็นขั้นเป็นตอน การนอนสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้า คนส่วนใหญ่ไม่ทราบนะครับ กระบวนการนอน การฝัน พวกนี้มีส่วนสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้า ความยาวของคลื่นแสงอาทิตย์ โดยเฉพาะในฤดูหนาว 

ตัวแปรพวกนี้มันเปลี่ยน สภาพภูมิอากาศก็เปลี่ยน คลื่นแสงอาทิตย์เปลี่ยน นอกเหนือความสามารถรัฐบาล แต่ก็ไม่แน่ เนเธอร์แลนด์สร้างเขื่อนกันทะเลได้ อาจจะกรองแสงอาทิตย์ได้จริงๆ สักวัน ชั่วโมงการทำงานเป็นต้นเหตุหนึ่ง การศึกษาเราก็เฆี่ยนตีเด็กมากว่ามันนอนไม่ได้ น่าสงสารมากเลย ไม่มีใครลืมเต็มตาสักคน อย่างน้อยก็เด็กที่มาที่โต๊ะทำงานผม ไม่มีใครลืมตาได้เต็มตาสักคน นอนไม่พอ เพราะเรียน อย่าไปว่าเขาเล่นเกมเลย เขาไม่เล่นเกมก็บ้าไปแล้ว เล่นเกมก็ยังดีมีทางออก ถ้าไม่เล่นเกมผมว่าสาหัสกว่านี้ 

ถามว่าทำไมแต่ก่อนซึมเศร้าน้อย เพราะตื่นกี่โมงก็ได้ หรืออย่างน้อยก็ตื่นและนอนให้สอดคล้องกับดวงอาทิตย์ แต่ตอนนี้เราไม่สนใจดวงอาทิตย์แล้ว 

เวลาจิตแพทย์ให้ยาก่อนนอน เขาไม่ได้จะให้ยานอนหลับจริงๆ หรอก ขออนุญาตให้ความรู้แทนคนอื่นๆ เขาให้ยาเพื่อไปปรับกระบวนการนอนและการฝัน เพราะมันช่วยได้เยอะ จิตแพทย์ไม่มีใครอยากให้ยานอนหลับ คล้ายๆ อายุรแพทย์ไม่มีใครอยากให้ยาปฎิชีวะนะ เรามีวิธีรักษาที่ดีกว่านั้น

การรักษาของคุณหมอตอนที่เข้าเป็นหมอใหม่ๆ กับตอนนี้ที่เปิดเป็นคลินิกพิเศษ อาการโรคต่างๆ มันเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน

อย่างที่บอก ตัวโรคก็คือโรคที่อยู่ในตำรา มันมีเกณฑ์วินิจฉัยที่ชัด 5 ใน 9 ข้อ แล้วใน 9 ข้อนั้นมีรายละเอียด ส่วนที่เปลี่ยนไป คือ สภาพสังคม อันนี้เปลี่ยนไปจริงๆ เพราะรัฐแต่ละรัฐดูแลประชาชนไม่เหมือนกัน ต่อให้สแกนดิเนเวียดูแลประชาชนดีที่สุด เขาก็เจอเรื่องไม่มีแสงแดด 9 เดือน 

ประชาธิปไตยมีผลต่ออาการซึมเศร้าไหมคะ

คล้ายๆ กับมีคนนั่งฟัง ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีคนนั่งฟังก็ดีขึ้นเยอะแล้ว หายไปครึ่ง อีกครึ่งหนึ่งรอยาที่ถูกต้อง หรือการทำจิตบำบัดเต็มรูปแบบ แบบหนังฝรั่ง จิตบำบัดแบบเต็มรูปแบบโดยไม่ใช้ยาผมก็เชื่อว่าทำได้นะ เพียงแต่จิตแพทย์ไทยโรงบาลไหนมีเวลา เอกชนในกรุงเทพมีแต่ชาร์จเท่าไร คนแบบไหนจ่ายได้ด้วยความถี่เท่านั้น เราต้องคุยกันเรื่องแบบนี้ ในเมื่อคุณไม่มีเงินไปจ่ายค่าเวลาจิตแพทย์แบบในหนังฝรั่งซึ่งทำงานในกรุงเทพ 

อ้อ ความตายไม่น่ากลัวเท่ากับการมีชีวิตแล้วทำงานไม่ได้ ในคนวัยทำงาน ที่น่ากลัวกว่าความตายคือมันอยู่แล้วทำงานไม่ได้ มันเสียหมดเลย สมาธิสมองไปหมดเลย นี่จึงเป็นปัญหา เพราะการอยู่มันน่ากลัวกว่า เรียนไม่ได้ ฟังครูไม่รู้เรื่อง ทำการบ้านไม่ได้ ทำโครงงานไม่ได้ พนักงานออฟฟิศ เพื่อนเสนองานได้แต่เราเสนอไม่ได้ เพื่อนก้าวหน้าเราไม่ก้าวหน้า ตรงนี้ต่างหากคือความสำคัญของโรคซึมเศร้า 

เผด็จการกับประชาธิปไตย มันก็อยู่บนกรอบเดียวกัน บ้านเมืองที่ฟังคนก็เป็นการปูพรมรักษาไปครึ่งหนึ่งละ ช่วยงานจิตแพทย์ไปถึงครึ่งหนึ่งละ 

 พ่อแม่ที่มีเงินอยู่มากก็อ่านนิทานให้ลูกฟังใน 3 ขวบปีแรก ช่วยไปก่อน โรงเรียนอนุบาลที่เล่นอย่างเดียว ไม่ทำอะไรนอกจากเล่น จบไปอีกกองละ เด็กประถมที่ PBL (Project Based Learning) บนความเป็นอยู่ของบ้านตัวเองและชุมชนที่แท้จริง ก็จบไปอีกกองละ เด็กมัธยมที่ PBL บนระบบนิเวศการเมืองและสังคม วิธีคิดวิเคราะห์ก็พุ่งละ คำว่าคิดวิเคราะห์ก็แปลว่าทางเลี้ยวในชีวิตมีเยอะมาก ไม่จนแต้มไปกระโดดสะพานง่ายๆ หรอก มันก็จบไปอีกกองละ เป็นพนักงานออฟฟิศ เวลาทำงานเหมาะสม รายได้เหมาะสม มีสวนสาธารณะ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ครบ จบไปอีกกองหนึ่งละ ผู้สูงอายุมีเงิน เดินทางได้ ไปตลาดได้ ขึ้นรถไฟฟ้าได้ ผู้พิการขึ้นรถไฟ รถไฟฟ้าได้ ก็จบไปอีกกอง จะเหลือคนไข้ให้ผมกี่คน จะเหลือกรรมพันธุ์ แต่จะไม่ระเบิดตราบเท่าที่ไม่ถูกจุดชนวน แต่บางคนก็ถูกจุดอยู่ดีนะ เห็นไหมว่ารัฐช่วยได้เยอะมาก