Pre old : โปรดเรียกฉันว่า วัยก่อนแก่ เอาไว้ค่อยแก่ตอนอายุ 80 ก็ได้

ที่เมืองนากาโน ประเทศญี่ปุ่น เปลี่ยนการนับอายุผู้สูงวัยใหม่  60 ไม่เรียกว่าแก่อีกต่อไป ให้เรียกว่า pre old หรือวัยก่อนแก่ แล้วสงวนคำว่านี้ไว้สำหรับประชากรตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป 

“ฉันคิดว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยธรรมชาติ เพราะว่าคนอายุ 60 สมัยนี้ดูเด็กกกว่าคนอายุ 65 สมัยก่อนอีก” ซาจิโกะ โคบายาชิที่กำลังจะอายุ 65 ปีหน้า บอกว่าตัวเองก็ไม่ได้อยากถูกเรียกว่าผู้สูงวัยเท่าไหร่ 

นอกจากอัตราการเกิดที่น้อยลงเฉลี่ยปีละ 66,400 คนแล้ว ปัจจุบัน 29 เปอร์เซ็นต์ของชาวญี่ปุ่นมีอายุ 65 ปีขึ้นไป เมื่อเทียบกับ สหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ตัวเลขอยู่ที่ 17% และ 21% ตามลำดับ 

ในฐานะด่านหน้าของสังคมสูงวัยแบบสุดยอด สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ ประชากรวัยเกษียณชาวอาทิตย์อุทัยหลายล้านคนเรียกตัวเองว่าวัยก่อนแก่ (pre old) 

มันไม่ใช่คำที่พูดขึ้นมาลอยๆ แต่แนะนำโดย Japan Gerontological Society และ Japan Geriatrics Society ที่บอกว่าควรเรียกพลเมืองวัย 65-74 ปีว่า วัยก่อนแก่ รัฐบาลเองก็เห็นชอบและได้เปลี่ยนในรายงานประจำปีหรือ annual White Paper เรื่องผู้สูงวัยว่า การเรียกคนวัย 60 กว่าขึ้นไปว่าผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องจำเป็นอีกต่อไป  

ตั้งแต่โอลิมปิกฤดูหนาว 1988 เป็นต้นมา ที่เมืองนากาโน ใช้คำว่าก่อนแก่เพื่อลดสัดส่วนประชากรสูงวัยให้เหลือแค่ 16% จากเดิม 30% เพื่อทำให้กลายเป็นเมืองที่อายุน้อยที่สุดในญี่ปุ่น 

โนริฮิโกะ ไอซาวะ พนักงานพาร์ทไทม์เมืองนากาโน่วัย 38 ปี วางแผนเอาไว้ว่าจะทำงานนี้ไปยาวๆ จนอายุเข้าหลัก 7 เลย คนอื่นๆ รอบตัวเขาก็คิดอย่างนี้เหมือนกัน

“ที่นี่เราคุยกันว่า คนอายุ 40-50 ปี ยังเป็นเด็กขี้มูกโป่งอยู่เลย แล้วคนอายุ 60-70 ปี คือกำลังหลักในการทำงาน” ไอซาวะวางแผนว่าจะกลับไปดูแลฟาร์มผักและนาข้าวของพ่อกับแม่ต่อในวันหนึ่ง แต่ตอนนี้พ่อวัยเจ็ดสิบต้นๆ ยังแข็งแรงมากและดูแลอย่างเต็มกำลัง 

สมุดปกขาวว่าด้วยเรื่องผู้สูงอายุปีที่แล้ว เผยว่า ประชากรอายุ 65-74 ปีจำนวนมากไม่ได้มีลักษณะของผู้สูงวัย มีแค่ 6% เท่านั้นที่บอกว่าต้องการการดูแลจากคนอื่น ระบุเพิ่มอีกว่าครึ่งหนึ่งของคนอายุ 65-69 และ 1 ใน 3 ของวัย 70 ต้นๆ ยังทำงานอยู่ 

ฮิโรมิ ราคูกิ ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงวัยที่มหาวิทยาลัยโอซาก้า ที่มีส่วนในข้อเสนอ ‘วัยก่อนแก่’ เผยว่า สถิติความเร็วของการเดินของคนวัย 60-70 โดยเฉลี่ยเท่าๆ กับคนที่เกิดทีหลัง 10 ปี และ 20 ปี ราคูกิหวังว่าจะได้นำเสนอแนวคิดนี้แก่องค์กรอนามัยโลกเพื่อทบทวนตัวเลขระบุวัย 

ไมโกะ ยามาโมโตะ วัย 74 ที่ทำงานโรงงาน บอกว่าเห็นด้วยที่หลายคนวัยเดียวกันยังแอคทีฟ แต่ก็ยังกังวลว่าความเข้าใจเดิมๆ ของสังคมจะนำไปสู่ผลที่ไม่ค่อยดีนัก 

“ฉันคาดว่ารัฐบาลอาจยืดเวลาการจ่ายบำนาญไปอีก” เรื่องที่ยามาโมโตะห่วง

สืบเนื่องจากนโยบายเลื่อนอายุการรับบำนาญ รัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ระหว่างผลักดันร่างกฎหมายให้เอกชนสามารถขยายระยะเวลาทำงาน หรือระยะเวลาเกษียณอายุลูกจ้างจาก 65 ปี เพิ่มเป็น 70 ปี เพื่อทำให้จำนวนประชากรวัยทำงานสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายกองทุนประกันสังคม

รัฐบาลเผยสาเหตุว่าต้องการปกป้องสิทธิของคนที่ยังทำงานอยู่และยืนยันว่าไม่ใช่การขโมยเงินของคนที่ยังทำงานอยู่อย่างแน่นอน 

ย่านชานเมืองของโตเกียวอย่างยามาโตะ ก็เปลี่ยนนิยามของผู้สูงวัยไปแล้วเช่นเดียวกัน ด้วยการขึ้นป้ายแบนเนอร์บนสะพานทางด่วน “เมืองที่ไม่เรียกคนวัยเจ็ดสิบกว่าว่าคนแก่” 

นายกเทศบาลเมืองยามาโตะ ซาโตรุ โอกิ วัย73 บอกว่าป้ายนี้ไม่ได้เป็นการขอโทษจากรัฐบาลเรืองการตัดบำนาญและผลประโยชน์ต่างๆ 

“เราแค่อยากทำลายกรอบเดิมๆ ว่า คนอายุ 60-70  ควรมีอิสระ” 

อิซาโอะ โอชิมา ชาวเมืองนากาโน่วัย 82 เข้าหมวดวัยชราเต็มตัว เขาเป็นผู้นำกลุ่มอาสาสมัครการถ่ายวิดิโองานเทศกาลต่างๆ รวมถึงใช้เวลาวันละหลายชั่วโมงในการนั่งตัดต่ออยู่หน้าคอมพิวเตอร์

“ถึงบางคนจะเรียกผมว่าคนแก่ ก็ใช่ไง ผมไม่สน” อ.ราคุกิแห่ง ม.โอซาก้า วัย63 บอกว่า ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็เรียกตัวเองว่าวัยก่อนแก่ได้ถ้าอยากเรียก 

“คำว่าแก่ อยู่อีกไกล ไว้ค่อยแก่ตอนอายุ 80-90 ก็ได้” 

ที่มา