ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

คุยเรื่อง ‘สติไม่ดี’ กับ ‘ยาดี’ ที่ควรอยู่ในบัญชียาหลัก กับนพ.ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาที่บอกว่า  1 ใน 3 คนไทยป่วยทางจิตเวช

“เขาแค่ป่วยเขาไม่ใช่คนไม่ดี คนไข้จิตเวชเป็นอย่างนั้น” 

เป็นประโยคสำคัญจาก นายแพทย์ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผู้อํานวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา และกรรมการสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 

หลายๆ คนคุ้นกับชื่อโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยามากกว่า แต่ที่ติดปากมากที่สุดน่าจะเป็น ‘หลังคาแดง’ ย้ำความแรงด้วยเพลง ‘บ้า’ ของคาราบาว 

“คือสถานพยาบาลอาการสมอง” เนื้อเพลงท่อนหนึ่งก็ว่าไว้อย่างนั้น 

ก่อนไปถึงหน้าห้องคุณหมอศรุตพันธุ์ เราพบว่ามีบางอาคารที่หลังคายังสีแดง ซึ่งคุณหมอก็ยอมรับว่า ด้านหนึ่งก็เป็นการตีตรา แต่อีกด้านมันกลายเป็นแบรนด์แข็งแกร่งที่สุดของสถานพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคจิตเวช 

“ไม่ใช่คนไม่ดี ฉันมีสติไม่ดี” อีกท่อนที่พี่แอ๊ด คาราบาวแต่งก็ไปพ้องกับประโยคข้างต้นของผอ.

วันนี้เราจึงมาคุยกับคุณหมอในประเด็นลงลึกเรื่อง ‘สติไม่ดี’ ว่ามีอะไรบ้าง และรวมถึงอัพเดตวิธีการรักษา ณ​ ปัจจุบันที่ไม่ได้มีแค่ยา รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่า 35% หรือกว่า 1 ใน 3 ของประชากรไทยทั้งประเทศ มีภาวะป่วยทางจิตเวชอย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะที่จิตแพทย์ปัจจุบันมี 845 คน คิดเป็นอัตราส่วน 1.28 คนต่อประชากรแสนคน

รวมถึงประเด็นยานอกบัญชีที่ประสิทธิภาพดีแต่ไม่มีอยู่ในบัญชียาหลัก

ถ้าพูดถึงโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ทุกคนไม่คุ้น แต่จะรู้จักหลังคาแดง ปัจจุบันนี้เป็นยังไงบ้าง

โรงพยาบาลก่อตั้ง พ.ศ.2412 เป็นโรงพยาบาลแห่งที่สองในประเทศไทยต่อจากศิริราช ปรากฏว่าตอนนั้น พอตั้งได้สักปีสองปี คนไข้จิตเวชเริ่มมาและมาเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนศิริราชดูไม่ไหวก็ต้องมาที่เรา ตอนแรกรพ.สมเด็จเจ้าพระยาไม่ได้อยู่ที่นี่ จะอยู่ริมแม่น้ําเจ้าพระยาเลย ต่อมาเริ่มคับแคบแล้ว เลยย้ายมาที่ตรงนี้ซึ่งเป็นของสมเด็จเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) เราก็อยู่ตรงนี้มาตลอดร้อยกว่าปี

เรื่องของหลังคาแดงเนี่ย อาจารย์โมเดอร์น คาธิวส์นะครับ เป็น ผอ. แรกของสมเด็จเจ้าพระยา สมัยนั้นชื่อว่า โรงพยาบาลคนเสียจริต 

จนกระทั่งเราเห็นว่าชื่อนี้คนไม่เข้าแน่ๆ และดูเป็นการตีตรา และตรงนี้ก็เป็นที่ของสมเด็จเจ้าพระยาเก่า ถนนสมเด็จเจ้าพระยาก็อยู่ข้างหน้า เลยขอใช้ชื่อว่าโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา 

สัก 20 ปีที่แล้วนะครับ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาเริ่มฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านก็คือหมอเฉพาะทาง เน้นหนักด้านการศึกษา รับการฝึกอบรมมากขึ้น ก็เลยเปลี่ยนชื่อมาเป็นสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาในปัจจุบัน 

คนจำโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าเป็นหลังคาแดง มาจากสื่อ โดยเฉพาะเพลงบ้าของคาราบาว  เจอปีนกําแพง เจอแบบกรีดร้อง หรือแม้แต่การล่ามโซ่ ปัจจุบันนี้การรักษาโรคทางจิตเวช ก้าวหน้าไปมากแค่ไหน

จริงๆ เมื่อ 30-40 ปีที่แล้วภาพเป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้าไปดูประวัติศาสตร์ก็ใกล้เคียงมาก คือกลุ่มคนไข้จิตเภท มีบ้างที่ต้องจำกัดบริเวณ ต้องขังนะครับ อันนี้การรักษา สมัย ร.2 ร.3 ยุโรปประมาณยุคกลาง พอไป ค.ศ. 1900 ต้นๆ เราก็พบว่าจริงๆ​ โรคจิตเวชมีวิธีรักษาแบบอื่น ซึ่งเป็นเวลาคาบเกี่ยวกับการตั้งโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา 

ต่อมาความรู้ทางการแพทย์พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ว่าคนไข้โรคกลุ่มนี้ ถ้าได้ทําอะไรที่เขาเพลิดเพลินหรือมีสิ่งยึดเหนี่ยว เขาจะดีขึ้น เป็นการบําบัดโดยใช้สิ่งแวดล้อม ใช้สวน จะเห็นว่าโรงพยาบาลจิตเวชทุกที่จะมีพื้นที่กว้าง เพราะว่าการรักษาสมัยก่อนใช้อย่างนี้ แล้วก็ใช้เกษตรบำบัด ทําสวนทําไร่ ปลูกผักกินเอง อย่างที่รพ.ศรีธัญญาสมัยก่อนปลูกข้าวกินเอง มีพื้นที่เป็นพันไร่

สมเด็จเจ้าพระยาก็คล้ายๆ กันนะ เราจะทําสวนผักสวนอื่นๆ เลี้ยงไก่ สมัยก่อนเรามีโรงเรือน แล้วพบว่าการทําอาชีพบางอย่างทำให้คนไข้ดีขึ้น แล้วก็ทําพวกอุตสาหกรรมบําบัด ต่อโต๊ะต่อเตียงต่อตู้ เพราะคนไข้บางคนอยู่รพ./ที่นี่ตลอดชีวิต ก็ทําเป็นงานฝีมือไป ช่วงหนึ่งกระทรวงสาธารณสุขใช้เตียงที่ทำโดยผู้ป่วยจากรพ.สมเด็จเจ้าพระยากับศรีธัญญา เราเคยมีโรงเหล็ก โรงช่าง แต่รื้อไปแล้ว เราผลิตป้อนทั้งประเทศด้วยฝีมือคนไข้ 

ส่วนเรื่องยา พัฒนาคุณภาพจนพอที่จะอธิบายได้ในปี 1950 จุดเปลี่ยนอีกทีหนึ่งคือช่วง 1990 เรามียาที่มันดีจริงๆ คือยากลุ่ม 2nd generation พวก Risperidone หรือ Fluoxetine หรือ Sertraline , Zoloft ซึ่งเป็นยากลุ่มที่ออกฤทธิ์จำเพาะต่อสารสื่อประสาทเพียงชนิดเดียว ยากลุ่มนี้เปลี่ยนภาพลักษณ์จิตเวชไปเลย จากยากลุ่มแรก first generation ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบประสาท ต่างจากยากลุ่ม 2nd generation ที่ผลข้างเคียงมันน้อยมาก เพราะฉะนั้นการรักษามันก็เลยทําให้ภาพลักษณ์ของคนไข้จิตเวชเปลี่ยนไป 

ไทยเอง พ.ศ.2555 กระทรวงสาธารณสุข มีโครงการปลดโซ่ตรวนผู้ป่วยจิตเวช สมัยนั้นมีคนไข้ถูกล่ามโซ่เป็นพันคนตามบ้าน สมัยก่อนมันอาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้ว ไม่อย่างนั้นอาจจะออกไปทําร้ายคน ไปเผาบ้าน บางบ้านทำอย่างนี้เพื่อดูแล แต่พอเรามียา ก็เข้าไปช่วยดูแล ตอนนั้นมียาฉีดด้วย ฉีดเดือนละเข็ม ซึ่งก็ทําให้คนไข้กลับมาดีขึ้นได้ 

เราทำโครงการปลดโซ่ตรวนอยู่หลายปี อธิบายทําความเข้าใจกับชุมชนเป็นเรื่องยากที่สุด คือให้ยาคนไข้ไม่ว่า ให้ยากินก็กิน แต่อย่าปล่อยมันออกมา เขาบอกอย่างนี้เลย เฟสแรกเราก็ให้ยารักษาก่อน ให้คนไข้ดีก่อน พอคนไข้ดีชุมชนจะเห็นเอง ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป จนหลังๆ เขาสามารถกลับมาทํามาหากินได้ปกติ เขาแค่ป่วยเขาไม่ใช่คนไม่ดี คนไข้จิตเวชเป็นอย่างนั้น เขาต้องการการดูแลและใช้เวลา 

ภาพผู้ป่วยจิตเวชค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากยาหรือการรักษามันดีขึ้นเรื่อยๆ พอมียารุ่นที่สอง รุ่นสาม รุ่นสี่ มันก็มาเรื่อยๆ กับยาฉีดที่ได้ประสิทธิภาพดี ตอนนี้เรามียาฉีดเดือนละเข็ม ยาฉีดที่ประเทศไทยใช้อยู่ตอนนี้คือยาฉีดรุ่นสามเดือนเข็ม สำหรับผู้ป่วยจิตเวช หูแว่วหลอนระแวง ฉีดเข็มหนึ่งอยู่ได้สามเดือน ภายในปีนี้ปีหน้า เราจะนําเข้ายาฉีดหกเดือนเข็ม คือหกเดือนคุณฉีดเข็มเดียวโดยไม่ต้องกินยา

อันนี้คืออยู่ในยาบัญชีหลัก? 

ยานอกบัญชีหมดเลย 

คนไข้จ่ายเองหรือว่าโรงพยาบาลรับผิดชอบ 

ยาประเภทฉีดอยู่ในการดุลยพินิจของแต่ละโรงพยาบาล  

เรามียาฉีดหนึ่งเดือนเข็ม สามเดือนเข็มแล้ว หกเดือนเข็มกำลังจะเข้ามา แน่นอนพวกนี้มันแก้ปัญหา pain point แต่ว่าราคาก็สูงตามด้วย ยาฉีดเดือนละเข็ม เดือนละประมาณ 7,000-10,000 บาท ยาฉีดสามเดือนก็ประมาณ 10,000 – 20,000 บาท

อันนี้ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เฉพาะยาจิตเวช วิวัฒนาการตัวยามันดีขึ้นเรื่อยๆ แต่เรามีระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง โรงพยาบาลไม่ได้มีอิสระขนาดจะซื้อยาเองได้ แต่เราก็พยายามอยู่ 

แต่ที่มันมากกว่านี้คือเรามีระบบบัญชีอะไหล่ หมายความว่ายาอะไรจําเป็นก็จะเอาเข้าบัญชี ซึ่งผมว่ายาที่เข้าบัญชีอยู่ตอนนี้ก็ใช้ได้ดี เพียงแต่ว่ากว่ายาจะเข้าบัญชีหลักได้ มันใช้เวลา และมีกระบวนการของมัน 

จริงๆ การรักษาทางจิตเวชทั่วโลก ที่แพงที่สุดไม่ใช่ค่ารักษา แต่เป็นค่าเสียโอกาสของคน สมมติ CEO บริษัท ก.ไก่เป็นซึมเศร้าสักคน คิดว่า productivity บริษัทนั้นจะลดไหม อันนี้คือ man-hour ที่เสียไป ไม่ตายนะแต่ทํางานไม่ได้ การซึมเศร้าที่เสียโอกาสเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องคิด แต่การคิดพวกนี้มันคิดยาก 

ในฐานะผู้อํานวยการโรงพยาบาล เราเคยคิด unit cost การรักษาคนไข้จิตเวชครั้งหนึ่งตกพันกว่าบาท แต่โรงพยาบาลเบิกได้หัวละ 700 บาท ที่เราอยู่ได้เพราะว่าเอางบประมาณส่วนอื่นมาอุด แล้วยิ่งเป็นการรักษาเคสคนไข้ใน 30,000-40,000 บาท แต่รพ.เบิกได้ 15,000 แต่ผมไม่ได้บอกว่ารพ.ต้องมีกําไรนะ แค่ ให้มันอยู่ได้

นอกจากยา การรักษาผู้ป่วยโรคจิตเวชในปัจจุบันก็ต้องรักษาทางอื่นควบคู่ไปด้วย? 

ใช่ เรื่องการใช้ยาเป็นการรักษาหลักมาร้อยกว่าปีแล้ว

การรักษาแบบที่สอง คือการบําบัด คนไข้จิตเวชไม่ใช่แค่กินยาแล้วหาย แต่คนไข้จิตเวชต้องการการดูแลอย่างอื่นด้วย เช่น การดูแลให้เขาฝึกหลายๆ อย่าง 

โรคทางจิตเวชเป็นโรคทางสมอง มันจะเสียฟังก์ชั่นหลายๆ อย่าง คือพอคนไข้พอหาย ไม่แว่วไม่หลอนแล้ว แต่เขาไม่ได้เข้าเรียน ไม่ได้เข้าสังคมมาเป็นปี การจะเข้าไปในสังคมใหม่ๆ มันใช้เวลา และมีความกลัว เพราะเขากลับมารู้เรื่องเหมือนเดิมแล้ว อันนี้เป็นสิ่งที่เขาต้องฝึก เพราะนั้นเราฝึกให้เขาเข้ากลุ่มกับเพื่อน ให้เขาฝึกช่วยเหลือตัวเอง แล้วก็ส่งฝึกอาชีพ ช่วยหางานทํา 

โรงพยาบาลมีหน้าที่รักษาโรคให้หายก่อน หายเสร็จปุ๊บมาดูว่าฟังก์ชันคุณอยู่ระดับไหน ทํางานได้ไหม หรือว่าจะกลับไปอยู่กับบ้านกับใคร ญาติที่ช่วยกันดูแลต้องมาฝึกด้วย นี่คือการรักษาคนไข้กลุ่มด้านจิตบำบัด

สาม นอกจากเรื่องยา จิตบำบัด เรามีการรักษาด้วยไฟฟ้า สักสิบปีให้หลัง เรามีกระบวนการที่เรียกว่า Modified Electroconvulsive Therapy (M ECT) เป็นการรักษาด้วยไฟฟ้าที่เราใช้ยาสลบก่อน คนไข้มาถึงก็จะให้นอน กระบวนการคล้ายๆ ผ่าตัดแบบหนึ่ง ให้ยาสลบ เมื่อคนไข้หลับ แล้วก็ใช้ไฟฟ้าไปกระตุ้นสมอง คนไข้ตื่นมาก็อาจจะมีงัวเงียง่วงนิดหน่อย 3-6 ชั่วโมงก็กลับบ้านได้ มันจะไม่ใช่เหมือนเมื่อก่อนที่ฉีดปุ๊บคนไข้เกร็งกระตุกอะไร ซึ่งอันนั้นก็เป็นอันเก่าและเลิกใช้ไปแล้ว

เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษา? 

ใช่ครับ แต่ละโรคมันมีกระบวนการวิธี บางโรคควรใช้ยา บางโรคควรใช้ไฟฟ้า หรือบางโรคก็ใช้ไม่ได้ มีกระบวนเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเรื่อยๆ เราก็ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับโรค 

ทางการแพทย์มีเกณฑ์แบ่งอย่างไรว่าคนนี้เป็นหรือไม่เป็นโรคทางจิตเวช

เรื่องนี้มันเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของการแพทย์ ถ้าเราจะวินิจฉัยว่าเขาป่วยหรือไม่ป่วย เขาจะมีข้อบ่งชี้ว่ามีอาการยังไงบ้าง ถ้าสมมติเป็นโรคจิต มีแว่ว มีหลอน มีเรื่องของการไม่รู้ตัวเอง การละเลยตัวเอง ไม่อาบน้ํา พูดไม่รู้เรื่อง อาจจะต้องมีอาการประมาณหกเดือนขึ้นไป 

เราใช้เกณฑ์การวินิจฉัยซึ่งใช้เหมือนกันทั่วโลก ยกตัวอย่าง ถ้าเกิดกรณีอย่างนี้ เป็นเวลาเท่านี้ จะบอกได้ว่าคุณเป็นโรคนี้หรือไม่เป็น เพราะฉะนั้นการฝึกอบรมจิตแพทย์ในการรักษาโรคเลยมีความสําคัญมาก ทางการแพทย์เรียกว่า Gold Standard ในการวินิจฉัยโรค สมมติโรคซึมเศร้า คุณต้องมีอาการเบื่อ หมดความสนใจสิ่งที่ชอบ ไม่อยากทําอะไร กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ ความจําไม่ดี เบื่อชีวิต คิดฆ่าตัวตาย 

การวินิจฉัยโรคจิตเวช ประเด็นแรกที่จิตแพทย์ทุกคนจะถูกสอนก็คือ คุณต้องเอาโรคทางกายออกไปก่อน เช่น การที่เรามีอาการด้านอารมณ์เหมือนซึมเศร้า เบื่อ เศร้า ท้อ จริงๆ คุณอาจเป็นไทรอยด์ต่ําก็ได้ พอกินยาไทรอยด์อาทิตย์นึงหายเลย ถึงแม้วินิจฉัยโรคทางใจแต่เราต้องคิดถึงโรคทางกายด้วย 

การรักษาทางจิตวิทยาเราทํากันเป็นทีม มีทีมสหวิชาชีพ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักกิจกรรม พยาบาลจิตเวช จิตแพทย์ ช่วยกันดูและวางแผนการรักษาโรคร่วมกัน 

โรคซึมเศร้า แพนิคนับเป็นโรคทางจิตเวชไหม

คำว่าโรคจิต มันเป็นคํากว้าง จริงๆ ถ้าให้ถูกคือโรคทางจิตเวช โรคทางจิตเวชตามที่ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทยบัญญัติไว้ โรคกลุ่มจิตเวชทั้งหมดจะมีอยู่ 3-4 กลุ่มโรคใหญ่ๆ คือโรคทางจิต หูแว่ว หลอน,  โรคทางอารมณ์ก็พวกไบโพลาร (Bipolar Disorder) หรือ Depression ก็คือซึมเศร้า,  โรคกลุ่มกังวล คือ พวกแพนิค ย้ำคิดย้ําทํา กินผิดปกติ และกลุ่มอื่นๆ 

คนไข้กลุ่มใหญ่ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาคือกลุ่มโรคทางจิต  หูแว่ว ภาพหลอน ? 

ครับ สำหรับคนไข้ใน ส่วนคนไข้นอกก็อันนี้ยังเป็นกลุ่มใหญ่อยู่ มีหูแว่ว หลอน ระแวง อันนี้เป็นโรคจิตเภท เพราะโรคจิตเภท มีอยู่ 1% ของประชากร หรือประมาณ​ 600,000 คน แค่เขาอยู่ตรงไหนแค่นั้นเอง

แต่ประเด็นสำคัญ คือ คนไข้โรคจิตเภทมีอัตราส่วนที่น้อยลงเมื่อเทียบกับโรคทางอารมณ์ โดยเฉพาะโรคซึมเศร้าที่เพิ่มขึ้น คนไข้ใหม่ตอนนี้ของเราวันละเกือบ 20 คนเนี่ย น่าจะเป็นโรคซึมเศร้าเกือบจะ 100%

ทําไมคนไข้โรคจิตเภทถึงน้อยลง

หนึ่ง คือจริงๆ ตัว ความชุกของโรค (prevalence) ไม่ต่างกัน ปัจจุบันเรามีระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชทั่วประเทศ กรมสุขภาพจิตรับหน้าที่ผลิตพยาบาลจิตเวชทุกโรงพยาบาล ตอนนี้ตั้งเรียบร้อยแล้ว 100% เพราะฉะนั้นคนไข้ที่เป็นโรคทางจิตเวช ไปโรงพยาบาลชุมชนจะมีคนดูแลแน่ๆ คนไข้กลุ่มนี้บางส่วนจึงถูกส่งไปโรงพยาบาลชุมชน

สอง นโยบายจากกระทรวงสาธาณสุข คือให้ตั้งหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลศูนย์ (tertiary care) ทั่วประเทศ แทนที่คนไข้กลุ่มนี้ต้องมาวิ่งมาสมเด็จเจ้าพระยาหรือศรีธัญญา ก็จะไปโรงพยาบาลของแต่ละจังหวัดได้

สาม คนไข้ใน 80% ของเรา มีโรคร่วม คือนอกจากเป็นโรคจิตแล้ว โรคร่วมคือใช้ยาเสพติด ยาบ้าซึ่งหนักมาก  ทําให้กระทรวงฯ ตั้ง ‘มินิธัญญารักษ์’ ในโรงพยาบาลชุมชนเพื่อบําบัดรักษาและฟื้นฟูจากยาเสพติด ดังนั้นการกระจายออกไปทั่วประเทศเนี่ย ทำให้สัดส่วนคนไข้มารพ.ส่วนกลางลดลง เพราะรพ.จังหวัดดูแลได้ นี่เป็นเหตุผลว่าทําไมคนไข้โรคจิตเภทลดลง

ประเด็นที่สอง ที่คนไข้ซึมเศร้ามีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากว่ารพ.สมเด็จเจ้าพระยาอยู่ในเขตเมือง คนในเมืองมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า ตามความชุกของโรค (prevalence) จะมี 3-5% ของประชากรทั้งหมด เพียงแต่การเป็นโรคซึมเศร้าปุ๊บเนี่ย บางคนไม่รู้นะครับ หรือบางคนไม่รักษา พอสังคมยอมรับมากขึ้น ก็รักษากัน ทําให้คนเข้าถึงการรักษามากขึ้น ตื่นตัวมากขึ้น บางคนมาถึงก็ถามว่าฉันเป็นหรือเปล่านะ หลายคนสกรีนตัวเองด้วยแบบทดสอบหรือเครื่องมือเบื้องต้นมาก่อนแล้วค่อยมาหาเรา ย้ำว่าถ้าเข้าการรักษาได้เร็วก็จะหายเร็ว นี่เป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมคนไข้ซึมเศร้าเพิ่มจำนวนมากขึ้น

ที่บอกว่าจํานวน สัดส่วน ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร ทั้งจิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาลจิตเวช ไม่เพียงพอ หมายความว่ามันไม่เพียงพอต่อโรคทางอารมณ์ ไม่ใช่โรคจิตเภทใช่ไหม

ทั้งสุขภาพจิตและจิตเภทเราถือเป็นงานใหญ่ร่วมกัน ทีมที่ทําร่วม คือแพทย์ พยาบาล นักจิตฯ นักสังคมสงเคราะห์ นักกิจกรรม นักกายภาพ  ถ้าเป็นโรคทางจิตเวชกลุ่มใหญ่มันมีอยู่ 3- 4 กลุ่มอย่างที่อธิบายไป และยังมีกลุ่มย่อยๆ เช่น ความผิดปกติทางเพศหรือปัญหาโรคทางจิตเวชเด็ก  เรื่องจิตเวชสูงอายุ อันนี้เป็นกลุ่มที่พวกเราดูทั้งหมด

การดูทั้งหมดต้องใช้ทีมพวกนี้ ถ้าคิดเปอร์เซ็นต์ทั้งหมด เอาทุกโรคมาบวกกันก็ประมาณ 35% ประชากร คือ มีภาวะป่วยทางจิตเวชอย่างใดอย่างหนึ่ง

แปลว่าประเทศไทย 60 ล้าน ก็ 1 ใน 3 ที่เป็น แต่มันอาจจะเป็นเพียงบางส่วนบางช่วงของชีวิต เช่น คุณอาจจะเป็นโรคกังวลในช่วงนี้ของชีวิต และอย่างบางโรคนี้ที่มีเปอร์เซ็นต์แน่ๆ อย่างจิตเภท 1%  ซึมเศร้า 3-5% โรคสมาธิสั้นในเด็ก 5-10% ทุกโรครวมกันเนี่ยมีตัวเลขคร่าวๆ 35% 

ไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องเป็นและเป็นตลอดไป บางคนเป็นแล้วไม่หนัก บางคนโรคกลัวหรือโฟเบีย กลัวแมลงสาบ  กลัวโฟเบียกับกลัวธรรมดาไม่เหมือนกัน โฟเบียคือใจสั่นจะเป็นลม อย่างคนกลัวเลือด  ถ้าเขาไม่เจอเยอะเขาก็ไม่ต้องรักษา หรือคนกลัวขึ้นเครื่องบิน พวกนี้ถ้าไม่ขึ้นเครื่องเขาก็อยู่ได้ แต่ถามว่าอันนี้เป็นโรคไหม ก็เป็นภาวะหนึ่ง  

ส่วนตัวเลขคนทํางาน ต้องยอมรับว่ามันต่ําจริงๆ ตัวเลขล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับทางราชวิทยาลัยจิตแพทย์และสมาคมจิตแพทย์ เรามีจิตแพทย์ทั้งประเทศพันกว่าคน แต่อาจารย์หรือคนที่ active จริงๆ ในระบบราชการเนี่ยมีอยู่ประมาณ 400-500คน ถ้านับเป็นตัวเลขก็คือ 0.7 ต่อแสนประชากร

ไม่ active แปลว่าอะไร

ส่วนหนึ่งคือเอกชน หรืออาจารย์ท่านที่อาวุโสมากๆ ท่านก็อาจจะไม่ไหวแล้ว 

น้อยมาก

น้อยมากครับ แต่เราก็ยังเป็นที่สองของอาเซียน สิงคโปร์มี 4.6 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ไทยมี 1.28 คน ข้อมูลจาก Mental Health ATLAS 2020 ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ค่ามัธยฐานของอัตราส่วนบุคลากรที่ทำงานด้านสุขภาพจิตต่อประชากรจาก 158 ประเทศอยู่ที่ 13 คนต่อแสนประชากร  

เราเลยตั้งเป้าที่เป็นไปได้จริงว่าคือจิตแพทย์ 2 คนต่อประชากร 1 แสนคน แต่ภายใน 5 ปีเพิ่มจำนวนให้ได้ก่อน ตอนนี้แต่ละปีผลิตจิตแพทย์ผู้ใหญ่ได้ปีละประมาณ 50 คน  แต่เราจะทํายังไงให้ได้เป็น 80 

อีกประเด็นสำคัญคือ นอกจากการผลิตเพิ่ม เราจะทําไงให้จิตแพทย์เหล่านี้อยู่ในระบบ เราก็มีการคุยว่า จิตแพทย์ต้องมีแรงจูงใจ เพราะต้องยอมรับว่ารายได้ของภาครัฐกับเอกชนตอนนี้มันห่างกันเยอะจริงๆ แค่คิวตรวจอย่างเดียวเนี่ย มันก็คนละเรื่องแล้ว

คิวเฉลี่ยอยู่ที่เท่าไหร่

ถ้าที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ คิวรอประมาณเกือบเดือน เพราะการตรวจมันต้องใช้เวลา ใช้คน ยกเว้นฉุกเฉินนะ ถ้า screening แล้วฉุกเฉินเราตรวจทันที 

เมื่อครู่พูดถึงแรงจูงใจ มีอะไรบ้าง 

ก็คุยกันนะครับว่าจะทําไงให้จิตแพทย์อยู่ในระบบได้  เราต้องยอมรับว่าเรื่องอัตราเงินเดือนหรือข้าราชการก็มีเรท  แต่เราจะพยายามสื่อสารว่าจิตแพทย์เป็นสาขาขาดแคลน อาจมีเงินเพิ่มพิเศษให้ตามระเบียบข้าราชการ 

และที่มีแผนจะทำภายในปีนี้คือ ปกติหมอมาเรียนต่อ เงินเดือนจะไม่ขึ้น 3 ปีตลอดการเรียน แต่เราจะปรับให้คนมาเรียนได้ขึ้นเงินเดือนด้วย อย่างน้อย 3 ปีที่มาเรียน  รวมถึงสาขาอื่นด้วยเช่น สูตินารี ศัลยกรรม ฯลฯ  เราก็พยายามกัน 

เราพบว่าปัญหาจิตเวชจริงๆ มันต้องใช้ทีม หมอคนเดียวทําอะไรไม่ได้ จะต้องมีแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักกิจกรรม เรามีพยาบาลเฉพาะทางจิตเวชหลายพันคน สำหรับประเทศไทยเนี่ยวางว่าพยาบาลจิตเวชจะเป็นกลไกหลักในการช่วยขับเคลื่อน 

ส่วนนักจิตวิทยาเราก็พยายามหาตําแหน่ง ตอนนี้เรายังไม่มีนักจิตวิทยาครบทุกโรงพยาบาล แต่เรามีกรอบแล้ว แต่ต้องใช้เวลา เราพยายามคุยกับสมาคมนักจิตวิทยาให้เปิดฝึกอบรมเพิ่ม เพราะนักจิตวิทยาพอเรียนจบ ต้องมาเทรนอีก 6 เดือนแล้วไปสอบ license

นักสังคมสงเคราะห์และนักกิจกรรม เราเปิดหลักสูตรของรพ.เอง อบรมเพื่อจะให้คนกลุ่มนี้ออกไปช่วยงานด้านจิตเวช นักสังคมสงเคราะห์มีบทบาทในงานจิตเวชเยอะมาก เพราะประเด็นการรักษา สําหรับหมอไม่ยาก  แต่ประเด็นคือตอนเขากลับบ้าน เขาจะอยู่ยังไงที่ไหน สังคมเป็นยังไง งานการเป็นยังไง  ปรับตัวได้หรือเปล่า ซึ่งตรงนี้ นักสังคมจะไปช่วยดูที่บ้านเขา จัดเตรียมชุมชน เช่นเดียวกับนักกิจกรรม ที่ช่วยฟื้นฟู ฝึกอาชีพ เพราะเขาต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่กินอยู่หลับนอนเลย แล้วค่อยๆ ไปสู่การเข้าสังคม การปรับตัวการทํางาน ซึ่งตรงนี้นักกิจกรรมไปช่วย 

แต่การให้คนกลุ่มนี้อยู่ในระบบเป็นเรื่องท้าทาย  ข้อหนึ่งเรื่องของแรงจูงใจ คงต้องใส่ไปเท่าที่ระบบราชการใส่ได้ สอง คือทํายังไงให้เขามีทีม เราจึงไปสร้างกลุ่มงานสุขภาพจิตจิตเวชทุกโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ เราต้องเติมกำลังคนกลุ่มนี้เข้าไป หมอจะทํางานได้ คนไข้จะได้มีคนดูแลครบ คนทำงานก็จะมีทีม  แฮปปี้ รันงานได้ จะทําให้คนอยู่ในระบบมากขึ้น อันนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราคาดหวังว่าอาจจะได้ 

ผอ.กำลังจะบอกว่าการบําบัด การกินยาอย่างเดียวไม่พอ มันต้องมีส่วนอื่นด้วย 

ต้องเข้าใจว่าโรงพยาบาลจิตเวช ภาพแรกที่คนคิดคือหลังคาแดงนะครับ เพลงบ้าของพี่แอ๊ด คาราบาวมีอิทธิพลมาก จริงๆ ทุกที่มีประวัติศาสตร์ เราก็พยายามทําให้ดีขึ้น อย่างเรื่องการปรับภูมิทัศน์ก็ช่วยได้ ตอนนี้เราปรับสวน ให้เข้ามาแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่โรงพยาบาล เพื่อให้คนเข้ามาไม่รู้สึกกลัว เราปรับให้เขาเข้ามาแล้วสบายใจ ให้มันโล่งๆ สว่าง ไม่อึดอัด  ในทางจิตวิทยาถ้าเราเข้ามาแล้วสิ่งแวดล้อมดีขึ้น มันก็ดีขึ้นตั้งแต่ต้น

อีกประเด็นคือ เราอยากให้คนที่ไม่ได้เป็นมาก เข้ามาปุ๊บ เจอภาพแรกที่ไม่เก่าไม่โทรม เจอภาพแรกที่สบายใจ ทั้งคนที่เป็นและญาติที่พามา เราก็พยายามทําไปเรื่อยๆ 

อีกอันที่เราคาดหวังว่าในอนาคต เราจะเป็นผู้นําของ Urban Mental Health คือสุขภาพจิตเขตเมือง ความสุขเขตเมือง เราจะทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทาง กทม. ความสุขในความหมายนี้คือการที่เราสามารถมีชีวิตอยู่ได้แบบมีความสุข เราจะหันเหจากงานบําบัดรักษาซึ่งเราทําอยู่แล้ว ไปสู่งานส่งเสริมป้องกัน ทํายังไงให้คนรู้สึกมีความสุขในเขตเมือง 

ในกระบวนการนี้ เรามีการจัดอบรม เราจะทำคล้ายๆ กับ Open House สวนของเรามีพื้นที่อยู่ 48 ไร่ ถ้ามองจากข้างบนมา พื้นที่เราเขียวที่สุดแล้วล่ะ เรามีพื้นที่สีเขียวเกิน 50% ของโรงพยาบาล 

เคยสํารวจพันธุ์ไม้ในสถาบันฯ คร่าวๆ ว่ามีถึง 60-70 ชนิด และเนื่องจากเป็นโรงพยาบาลกลางเมือง เราอยากจะเปิดให้คนเข้ามาได้ตอนเย็นๆ มาวิ่ง  แต่เนื่องจากพื้นที่เราอุดมสมบูรณ์มาก อาจมีตัวตะกวดน้อยวิ่งเต็มโรงพยาบาล ผมยังเคยโดนกัดเลย ถ้าท่านขับรถก็ระวังเหยียบมันหน่อยแล้วกัน สงสาร (ยิ้ม) 

สุดท้าย โดยส่วนตัว ผอ. รู้สึกยังไงกับคําว่าหลังคาแดง ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกด้านหนึ่งมันก็เป็นคาแรกเตอร์ที่แข็งแรง

ใช่ มันเป็นแบรนด์ที่ดีมากครับ ผมว่าแบรนด์หลังคาแดง พอพูดปุ๊บรู้จักเลยว่าที่ไหน แต่เราจะทํายังไงให้มันเป็นจุดแข็งมากขึ้น เราพยายามทำอยู่ แต่จะเปลี่ยนทุกอย่างเลยมันคงใช้เวลา สิ่งที่เราทําได้ทันทีโดยเฉพาะยุคผมคือ เราจะ open มากขึ้น ชวนให้คนเข้ามาจัดกิจกรรม เมื่อปลายปีที่แล้วเรามีดนตรีแจ๊สในสวน เราใช้จุดแข็งที่เรามีดึงชุมชนเข้ามา เรามีการบริการสาธารณะ จัดฉีดวัคซีนโควิด มีรถทําบัตรประชาชนเดือนละครั้งที่นี่  โรงพยาบาลนี้จะไม่ใช่โรงพยาบาลเฉพาะคนไข้ จะเป็นโรงพยาบาลของประชาชน ของคนเขตคลองสาน คุณมีอะไรคุณเข้ามาได้ มาจัดกิจกรรม มีงานหลายๆ อันของสมาคมหรืออะไรพวกนี้ก็จะมาใช้ที่นี่