สมภพ แจ่มจันทร์ : จิบกาแฟสนทนากับนักจิตวิทยา “เราระลึกในใจเสมอว่าการคุยกับใครสักคน มันอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายก็ได้”

“ปัจจุบันเรามีพื้นที่ให้แค่ความรู้สึกดีๆ ความรู้สึกอบอุ่นเท่านั้น ใครๆ ก็อยากอยู่กับคนที่อบอุ่น ส่วนใครที่เคร่งเครียดตลอดเวลาเราก็ไม่อยากอยู่ด้วย” 

เหตุผลหนึ่งที่คนมาพบนักจิตวิทยาเพราะต้องการพื้นที่ที่อนุญาตให้คนแสดงออกความรู้สึกลบ ทั้งๆ ที่ทั้งหมดเป็นธรรมชาติของมนุษย์ 

สมภพ แจ่มจันทร์ นักจิตวิทยาการปรึกษาของ Knowing Mind Center บอกว่า บางคนไม่ได้มีคนที่จะรับได้ในทุกความเป็นเรา 

“อะไรที่ไม่โอเค ต้องพยายามทำให้โอเคให้ได้” หลายคนเที่ยวบอกกับตัวเองอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง-มันโอเคที่จะไม่โอเค 

สมภพ แจ่มจันทร์

ปลายปีที่ผ่านมา Knowing Mind Center ทดลองเปิดบริการให้คำปรึกษาแบบครั้งเดียวจบในรูปแบบผ่อนคลายโดยใช้ชื่อว่า “จิบกาแฟสนทนากับนักจิตวิทยา” 

“การที่เรานัดเพื่อนมาคาเฟ่ การดื่มเครื่องดื่ม หรือกาแฟสักแก้วมันเป็นธรรมเนียมพื้นฐานในชีวิตประจำวันของมนุษย์ แต่กลับกันการมานั่งกับนักจิตวิทยาไม่ใช่สิ่งที่คุ้นเคย ดังนั้นมันจะพอมีสิ่งใดบ้างที่ทำให้ผู้รับการบำบัดผ่อนคลาย ไม่เกร็งเวลาอยู่ต่อหน้านักจิตวิทยา” 

และการคำปรึกษาแบบครั้งเดียวจบก็มีคำอธิบายในตัวของมัน 

“ถ้าพูดโดยหลักการนักจิตวิทยาหรือนักบำบัด เราจะระลึกในใจเสมอว่าการคุยกับใครสักคนมันอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายก็ได้ ดังนั้นในการพูดคุยหนึ่งครั้งมันควรจะช่วยหรือทำให้เขาได้รับอะไรกลับไปบ้าง” 

ที่มาที่ไปของจิบกาแฟสนทนากับนักจิตวิทยา มาจากไหนคะ

ก่อนทำงานผมจะดื่มกาแฟเป็นประจำ และผู้มารับบำบัดบางคนเขาก็นำกาแฟมาด้วยอยู่แล้ว ผมจึงเกิดไอเดีย เป็นไปได้ไหมว่าเราจะนำเอาสิ่งที่ผู้คนคุ้นเคยกันเป็นประจำเข้ามามีส่วนร่วมในการบำบัด ผมว่ามันมีการเชื่อมโยงนะ เพราะการที่เรานัดเพื่อนมาคาเฟ่ การดื่มเครื่องดื่ม หรือกาแฟสักแก้วมันเป็นธรรมเนียมพื้นฐานในชีวิตประจำวันของมนุษย์ แต่กลับกันการมานั่งกับนักจิตวิทยาไม่ใช่สิ่งที่คุ้นเคย ดังนั้นมันจะพอมีสิ่งใดบ้างที่ทำให้ผู้รับการบำบัดผ่อนคลาย ไม่เกร็งเวลาอยู่ต่อหน้านักจิตวิทยา ฉะนั้นการมีเครื่องดื่มเข้ามาจึงช่วยให้บรรยากาศผ่อนคลายไม่กดดัน ไม่เครียดจนเกินไป ไม่ได้ดูหน้ากลัว หรือจริงจัง  และผมรู้สึกว่าการนั่งคุยกันบางครั้งการมีเครื่องดื่มก็น่าจะดี น่าจะช่วยเบรกบรรยากาศอันตึงเครียด บางคนอาจจะพักดื่มน้ำก็ได้  

สองผมคิดว่าความคุ้นเคยมันอาจช่วยให้คนเข้าถึงกระบวนการบำบัดจิตวิทยาได้ง่ายขึ้น จริงๆ จะเป็นเครื่องดื่มอะไรก็ได้ แต่แค่กาแฟเป็นเรื่องที่ผมสนใจเป็นทุนเดิม และคิดว่าน่าจะสามารถนำสองเรื่องมาผนวกเข้ากันได้

ผมเคยอ่านเจอว่า ที่ต่างประเทศนักจิตวิทยามีมุมกาแฟไว้ให้ผู้มาปรึกษาชงดื่มระหว่างรอ นักจิตวิทยาก็ถือมาดื่มได้ในห้องปรึกษา เป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ใช่เรื่องพิเศษ ต่างจากของไทย ที่คนส่วนใหญ่มองว่ากระบวนการบำบัดจะต้องมีความจริงจังเคร่งเครียด เหมือนเราตัดเรื่องปกติธรรมดาออกไปจากการเปิดอกคุยกัน

ในทางของจิตวิทยากลิ่นของกาแฟมีส่วนช่วยด้วยหรือไม่

ผมว่ามันมีผลนะ โดยตามธรรมชาติแล้วกลิ่นกาแฟจะช่วยกระตุ้นให้ตื่นตัว ฉะนั้น คนที่มีอาการง่วงๆ เศร้าๆ เนือยๆ เมื่อได้กลิ่น หรือ จิบกาแฟจะช่วยให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว นี่คงเป็นตัวช่วยให้ผู้คนรู้สึกกระฉับกระเฉง กลิ่นของกาแฟช่วยได้ มันเป็นผลพลอยได้มากกว่าที่จะไปคำนึงว่าคนที่มาปรึกษาเดินเข้ามาจะได้กลิ่นแล้วรู้สึกสดชื่น 

ในทางกลับกันการดื่มกาแฟมีผลต่อนักจิตวิทยาอย่างไร

การทำอะไรในกระบวนการบำบัด ไม่ได้ส่งผลต่อผู้มาบำบัดเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อตัวนักจิตวิทยาเองด้วย ถ้าการดื่มกาแฟทำให้ผู้มาบำบัดรู้สึกผ่อนคลายขึ้น กดดันน้อยลง ประหม่าน้อยลง มันก็จะสร้างบรรยากาศในการพูดคุยให้เกิดความสบายๆ ผ่อนคลายเป็นกันเอง ซึ่งนักจิตวิทยาก็จะผ่อนคลายไปด้วย

การปรึกษาแบบครั้งเดียวจบ ช่วยใคร เหมาะกับใคร แบบไหน

ถ้าพูดโดยหลักการนักจิตวิทยาหรือนักบำบัดทุกคน ที่มีความเข้าใจในกระบวนการบำบัด เราจะระลึกในใจเสมอว่าการคุยกับใครสักคนมันอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายก็ได้ ถึงแม้ว่าเราอาจจะมีกระบวนการที่ต่อเนื่อง แต่ในความจริงแล้วมันอาจจะไม่ได้ต่อเนื่องขนาดนั้น ดังนั้นในหนึ่งครั้งของการพูดคุย โดยพื้นฐานแล้วมันควรจะช่วย หรือทำให้เขาได้รับอะไรกลับไปบ้าง แต่ในกระบวนการจริงๆ เราต้องชี้แจ้งให้เข้าใจก่อนว่ากระบวนการบำบัดไม่ใช่ครั้งเดียวจบ มันมีกระบวนการสำรวจปัญหา ทำความเข้าใจ และร่วมกันแก้ไข 

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีปัญหาแล้วสามารถนั่งคุยได้ยาวๆ ปัญหาบางลักษณะต้องการเพียงแค่ความเข้าใจเฉพาะเจาะจงบางอย่าง ซึ่งเหมาะกับคือคนที่มองว่าตัวเองไม่ได้มีปัญหามากมายแค่มีความไม่สบายใจ แค่ต้องการหาคำตอบบางอย่าง หรือแค่ต้องการพูดคุยกับใครสักคนเพียงแค่เขาไม่มีพื้นที่ 

ประเมินจากอะไรบ้าง 

หนึ่งประเมินจากระดับปัญหา หากปัญหาอยู่ในระดับไม่รุนแรง เขาไม่จำเป็นต้องพูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือนักบำบัดเลยก็ได้ แค่พูดคุยกับเพื่อนหรือคนที่เข้าใจก็เพียงพอแล้วแต่บางครั้งการหาคนเหล่านั้นที่พร้อมรับฟังเราเป็นชั่วโมง ๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งถ้าเป็นชีวิตวัยทำงานการจะยกหูโทรไปขอคำปรึกษากับเพื่อนสักคนเป็นชั่วโมงๆ คงเป็นเรื่องยาก

ดังนั้นการมีพื้นที่ให้คนเหล่านี้ได้มีเวลาทบทวนความไม่สบายใจเล็กๆ น้อยๆ แบบครั้งเดียวจบ ก็จะตรงกับความต้องการของพวกเขา เพราะหากเขาไปหานักจิตวิทยาหรือนักบำบัดแบบต่อเนื่องทั่วไปเขาไม่สามารถประเมินได้เลยว่ากระบวนการจะยาวนานแค่ไหน บางที่ระบุด้วยซ้ำว่าจะต้องนัดคุยสิบ หรือ สิบสองครั้ง เพื่อการันตีว่าจะได้ผล บางคนเลยรู้สึกว่ากระบวนการนั้นไม่เหมาะกับฉัน แต่ยังต้องการคุยกับใครสักคนอยู่ ดังนั้นกระบวนการนี้จึงเหมาะกับคนกลุ่มที่มีปัญหาไม่รุนแรง เพียงแค่อยากคุยปัญหากับใครสักคนที่เข้าใจ

กลุ่มที่สอง กลุ่มคนที่ต้องการบำบัด แต่ไม่แน่ใจว่ากระบวนการนี้จะเหมาะกับตัวเองหรือไม่ ถ้าคุยแล้วช่วยได้ ก็จะได้เปลี่ยนเป็นการบำบัดระยะยาว แต่ถ้าคุยแล้วไม่ช่วย ก็จะได้เปลี่ยนนักจิตวิทยาหรือไปหากระบวนการอื่นที่เหมาะสมกว่า

ดังนั้นคนที่เหมาะกับการปรึกษาแบบครั้งเดียวจบคือคนสองกลุ่มนี้ คือกลุ่มที่มีปัญหาในระดับไม่รุนแรง ต้องการใครสักคนเพื่อพูดคุย เพื่อให้เกิดความสบายใจ และกลุ่มที่สองคือกลุ่มที่ต้องการปรึกษาหรือบำบัดระยะยาว แต่ไม่แน่ใจว่านักจิตวิทยาที่มาเจอเหมาะกับเขาหรือเปล่า จึงเลือกมาปรึกษาแบบครั้งเดียวจบ เพราะถ้ามันใช่ก็ไปต่อ แต่ถ้าไม่ก็หยุด เท่านั้นเอง

นักจิตวิทยาก็คล้ายกับนักจัดบ้าน ถ้างานของนักจัดบ้านคือการช่วยให้คนเราจัดบ้านให้เป็นระเบียบ ทิ้งข้าวของที่ไม่จำเป็น เพื่อให้การอาศัยในบ้านทำให้จิตใจเราสงบและผ่อนคลาย ผมคิดว่างานของนักจิตวิทยาก็คงเป็นการจัดใจที่ยุ่งเหยิงให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อให้คนเราเกิดความเข้าใจตัวเองมากขึ้น ปล่อยวางการยึดติดที่ไม่จำเป็น และสามารถอยู่กับชีวิตไม่แน่นอนได้ดีขึ้น

งานของนักจัดบ้านคืองานจัดการพื้นที่ทางกายภาพ เพื่อปรับเปลี่ยนสภาวะภายในจิตใจของผู้อยู่อาศัยให้ดีขึ้น ส่วนงานของนักจิตวิทยาคือการจัดการพื้นที่ภายในใจของคนเรา เพื่อให้สามารถดำรงอยู่กับสถานการณ์ภายนอกได้ราบรื่นขึ้น

ในการปรึกษาครั้งเดียวจบ สิ่งที่คาดหวังได้คงไม่ใช่การแก้ปัญหาหรือจัดการความไม่สบายใจทั้งหมดที่ผู้มาปรึกษาเผชิญอยู่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุด การนั่งคุยกันในช่วงเวลาหนึ่งชั่วโมงกว่าๆ จะช่วยจัดระเบียบความคิดและทำความเข้าใจความรู้สึกที่ยุ่งเหยิงและคลุมเครืออยู่ในใจ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและเข้าใจมันได้มากขึ้น รวมถึงมองเห็นทางเลือกและความเป็นไปได้ในการรับมือกับสิ่งที่ค้นพบ แล้วปล่อยให้ผู้มาปรึกษาตัดสินใจเอาเองว่าจะเลือกจัดการกับปัญหาหรือความไม่สบายใจเหล่านี้อย่างไร

เคยอ่านโพสต์ที่คุณเอกเขียนไว้ว่า จุดที่ตัวเองพอใจคือไม่ได้ต้องการมากไปกว่าสิ่งที่มี ไม่ได้อยากหลีกหนีจากสิ่งที่ต้องเผชิญหน้า หรือสิ่งที่ไม่รู้ล่วงหน้า และไม่ได้อยากเป็นใครนอกจากตัวเอง แล้วเราจะตระหนักถึงจุดนั้นได้อย่างไร

เราต้องเห็นก่อนว่าเราทุกคนต่างมีช่วงเวลาเหล่านี้อยู่แล้ว มีช่วงมีเวลาที่เราไม่ได้ต้องการอะไร หรืออยากจะเป็นใครนอกจากตัวเรา ผมว่าเรามีช่วงเวลาแบบนั้น ช่วงเวลาที่เราไม่กลัวอะไรเลย กล้าจะเผชิญหน้าด้วยสิ่งที่เรามี เพียงแต่ว่าอาจจะมีในช่วงเวลาสั้นๆ หรือช่วงเวลาจำกัด ดังนั้นประเด็นมันไม่ใช่ว่าเราจะไปหาช่วงเวลานี้จากที่ไหน แต่ประเด็นมันอยู่ตรงที่เราจะขยายช่วงเวลาที่เรามีให้เพิ่มมากขึ้นได้อย่างไร เพรามันแตกต่างกันนะ ระหว่างการที่ไม่มีแล้วไปตามหา กับการที่เรารู้ว่ามีแล้วบ่มเพาะพัฒนาขึ้นมา 

ผมว่ามนุษย์เรามีศักยภาพที่จะทำหรือเป็นอะไรได้มากมายเลย เพียงแค่เราต้องตระหนักว่ามันเกิดขึ้นช่วงเวลาไหน คือช่วงเวลาไหนกันนะที่เรารู้สึกว่าเราไม่อยากเป็นใคร ไม่ได้ต้องการอะไร ผมว่ามันอาจจะช่วยให้เราเห็นภาพมากขึ้นว่าเราจะขยายให้มากขึ้นได้อย่างไร มีปัจจัยใดบ้างที่ช่วยให้เรามีสิ่งนี้มากขึ้น หรือมีปัจจัยใดที่ทำให้ชีวิตเราไม่มีช่วงเวลาเหล่านี้เลย ดังนั้นจุดเริ่มต้นคือตระหนักว่าเรามีสิ่งเหล่านั้นตรงไหน ตอนไหน และก็ค่อยๆ ขยายให้เพิ่มมากขึ้น

อย่างตัวผม ผมตระหนักถึงช่วงเวลานี้ตอนที่ผมทำงาน ไม่ว่าคนที่เข้ามาคุยกับผมจะเป็นใคร ผมไม่ได้อยากเป็นเหมือนเขาเลย ไม่ว่าเขาจะเป็นเศรษฐีพันล้าน ศิลปินดารา ผมรู้สึกว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ต่างกับผม และผมไม่ได้รู้สึกว่าผมเหนือกว่าพวกเขาเพียงเพราะว่าตัวเองเป็นนักจิตวิทยาที่เข้าใจชีวิตมากกว่า ผมมองว่าทุกคนที่เข้ามาคุยกับผมก็ไม่ต่างกัน พวกเขาต่างดิ้นรนขวนขวายตามหาอะไรบางอย่าง แต่เมื่อไม่ได้ตามที่หวังเราก็รู้สึกว่ายากที่จะรับมือ

ตอนที่ผมโพสต์ เป็นช่วงเวลาที่ผมรู้สึกว่าชีวิตมันโอเคแล้ว เราก็เป็นตัวเราในแบบของเรา เราไม่ได้อยากเป็นอะไรนอกจากนักจิตวิทยาซึ่งเป็นอาชีพที่วิเศษมากๆ  มันคือโมเมนต์ที่เราไม่ได้อยากจะเป็นอะไรเป็นใครหรือไม่ต้องกลัวเผชิญสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เมื่อผมตระหนักก็ทำให้ผมรู้แล้วว่าอะไรที่ทำให้เรามีช่วงเวลาเหล่านี้ได้ ถ้างานทำให้เรารู้สึกเหล่านี้ได้ก็จงให้ความสำคัญกับงานเพิ่มมากขึ้น ถ้าการเล่นกับลูก อยู่กับครอบครัวทำให้เรารู้สึกแบบนี้ได้ก็ให้เวลากับครอบครัวเพิ่มมากขั้น แต่บางครั้งเราก็ทำตรงกันข้ามเพื่อหามัน เช่น ฉันต้องไปเข้าคอร์ส ไปปฏิบัติธรรม ไปทำอะไรโดยที่เราไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะช่วยเราได้หรือไม่ ทั้งๆ ที่เรามีสิ่งที่สามารถช่วยเราได้อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ตระหนักเท่านั้นเอง

มันคล้ายกับกระบวนการทางจิตวิทยา หลายคนอาจนึกภาพว่า การมาหานักจิตวิทยาเป็นการหาคำตอบจากคนที่น่าจะมีคำตอบ แต่ไม่ใช่ นักจิตวิทยาเพียงแค่ชวนคุณกลับมาดูว่าที่ผ่านมาตอนที่คุณรู้สึกแย่ เมื่อคุณได้เจอกับใคร เมื่อเกิดอะไรขึ้น หรือเมื่อคุณได้ลงมือทำอะไร แล้วช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้น แม้คุณจะรู้สึกว่าปัญหามันหนักหนาจนแก้ไม่ได้ แต่ในชีวิตที่ผ่านมาจากที่คุณได้เจอมาแล้วได้สัมผัสมาแล้ว มันช่วยให้คุณตระหนักว่าควรจะแก้ปัญหาอย่างไร มันคือการย้อนกลับไปดูชีวิต เพราะชีวิตมันมีคำตอบให้คุณอยู่แล้ว คำตอบมันไม่ได้มาจากข้างนอก แต่คำตอบในเรื่องของจิตใจมันมาจากข้างในซึ่งคุณได้เจอมันอยู่แล้ว แต่เพียงคุณไม่ได้ตระหนักเท่านั้น

คุณเอกก็เคยบอกอีกว่าผลของการบำบัดขึ้นอยู่กับสามส่วน คือ เวลา ความเชื่อ และการลงมือทำ  แต่ในสถานการณ์ที่สังคมไม่ได้อนุญาตให้เรามีเวลามากพอที่จะทำให้ครบทั้งสามส่วน จะทำอย่างไร

มีองค์ประกอบสามส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา ปัญหาบางประเภทมันอาจต้องรอ เวลาให้คลี่คลาย เมื่อถึงเวลาปัญหาเหล่านั้นก็จะหายไป แต่แน่นอนว่ามันต้องมีราคาที่ต้องจ่ายระว่างที่คุณรอคอยให้ปัญหาคลี่คลาย ระหว่างทางมันอาจจะมีปัญหาลูกใหม่เกิดขึ้น แต่คุณมั่นใจได้ว่าเมื่อถึงเวลาปัญหาประเภทนี้ก็จะสิ้นสุดลง ฉะนั้นหากเราประเมินแล้วว่าปัญหาบางอย่างมันเป็นเรื่องของเวลา คุณก็แค่รอเวลาไปเท่านั้นเอง แต่ปัญหาคือ ปัญหาบางอย่างรอเวลาเฉยๆ ไม่ได้ เพราะยิ่งรอปัญหายิ่งหนักขึ้น จากปัญหาเล็กน้อย แต่พอรอไปกลับใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และหนักขึ้นจนเราไม่อาจแก้ปัญหาแล้วก็ได้ ดังนั้นกรณีหลังการรอเวลาเพียงอย่างเดียวคงไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง

ส่วนที่สองคือความเชื่อ การเชื่อว่าปัญหาที่เรากำลังเจอตอนนี้มันมีทางออกหรือมีทางแก้ไข มันมีตัวช่วยเรานะ ซึ่งสำคัญเหมือนกัน มันเป็นเรื่องของความหวัง ฉันมีความหวังหวังว่าปัญหานี้น่าจะสามารถแก้ไขได้นะ ถึงคุณไม่รู้หรอกว่าสุดท้ายมันจะสามารถแก้ไขได้หรือไม่ แต่พอคุณเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าตัวเองสามารถแก้ไขปัญหาได้ ถึงที่สุดแล้วมันอาจจะผ่านไปได้เพราะคุณมีกำลังใจ และเชื่อมั่นในตนเอง ซึ่งต่างจากความเชื่อด้านตรงกันข้ามที่เชื่อว่าตัวเองคงไม่สามารถแกไข้ปัญหาเหล่านี้ได้แน่ ชีวิตของฉันมาถึงสุดสิ้นสุดแล้ว คุณก็จะรู้สึกห่อเหี่ยวใจ ซึมเศร้า รู้สึกหมดอะไรตายอยาก มันก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาจริง ๆ ก็ได้ 

ความเชื่อหรือการมีความหวังว่าปัญหานี้แก้ได้เป็นสิ่งสำคัญ แต่บางครั้งการที่มนุษย์จะผลิตความหวังขึ้นมาก็เป็นเรื่องยากเหมือนกัน ดังนั้น การมีตัวช่วย อย่างครอบครัวหรือเพื่อนๆ ที่ให้กำลังใจเรา จึงเป็นสิ่งจำเป็นในบางครั้งที่เราไม่สามารถสร้างมันได้ด้วยตัวเอง หรือถ้าไม่ได้มีคนรอบข้าง การมาพบนักจิตวิทยาอาจเป็นความหวังก็ได้ แม้ยังไม่เห็นปลายทางของปัญหา แต่อย่างน้อย ก็ได้เริ่มลงมือทำอะไรแล้ว เหมือนคนที่ป่วยแล้วถึงมือหมอ ถึงแม้ไม่รู้ว่าการผ่าตัดครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ แต่อย่างน้อยความหวังที่จะสำเร็จก็เกิดขึ้นมาเเล้ว 

แต่ในบางสถานการณ์การมีความหวังเพียงอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ เพราะในหลายๆ สถานการณ์ก็เรียกร้องให้เราลงมือทำ ลงมือแก้ปัญหาคิดวิเคราะห์ หรือเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับปัญหา หากคิดแค่ว่าฉันน่าจะแก้ปัญหานี้ได้ หรือเดี๋ยวปัญหาก็ผ่านไป มันอาจจะไปผ่านไปก็ได้ถ้าคุณไม่ลงมือทำ หรือคุณไม่ได้เลือกสิ่งที่เหมาะสมกับคุณจริงๆ ฉะนั้นในส่วนที่สามคือการลงมือทำบางอย่างที่เหมาะสมที่สอดคล้องกับปัญหา 

สามส่วนที่กล่าวมาจึงมีความเกี่ยวข้องกัน ปัญหาบางอย่างใช้แค่บางส่วนก็พอ แต่ปัญหาบางอย่างต้องใช้หลายๆ ส่วนรวมกันถึงจะแก้ได้

แต่มีเวลาน้อยจะทำอย่างไร ผมว่าอันดับแรกต้องทำความเข้าใจก่อนว่าอะไรจัดการเองได้ อะไรจัดการเองไม่ได้ เพราะประเด็นไม่ได้อยู่ที่คุณต้องมาบำบัด แต่มันอยู่ตรงที่คุณต้องลงมือแก้ปัญหาและต้องเข้าใจปัญหาของตนเองว่าต้องใช้อะไรบ้างในการแก้ไข ฉะนั้น การมาคุยกับนักจิตวิทยาไม่ได้หมายความว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ แต่คือการมาทบทวนว่าองค์ประกอบทั้งสามส่วนในการแก้ปัญหาของคุณเป็นอย่างไร

การทบทวนตัวเองต้องอาศัยอะไรบ้าง

ต้องอาศัยเวลาที่คุณจะได้อยู่นิ่งๆ กับตัวเองคุณมีเวลาเหล่านั้นบ้างไหมผมว่ามันเป็นเรื่องที่ยากกับการที่เรานั่งอยู่เฉยๆ ได้ไตร่ตรองความคิดของตัวเอง เนื่องจากถ้าเราได้นั่งนิ่งๆ เราคงหยิบโทรศัพท์ออกมาเล่น ฟังเพลง ไม่ก็อ่านหนังสือไป เวลาที่เราอยู่กับตัวเองน้อยมากแต่สิ่งนี้แหละคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราได้ทบทวนตัวเอง 

เมื่อเรามีเวลาแล้ว อย่างที่สองที่ต้องมีคือ “ความเข้าใจ” ในเรื่องความคิดและความรู้สึก เพราะในปัจจุบันคนเรายังแยกแยะยากอยู่เลยว่าอะไรที่เรียกว่าความคิด และอะไรที่เรียกว่าความรู้สึก ฉะนั้นความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราได้ทบทวนตัวเรามากขึ้น แต่วิชาที่สอนว่าความรู้สึกเหล่านี้เรียกว่าอะไร ความรู้สึกมีกี่แบบ แต่ละแบบส่งผลต่อเราอย่างไรบ้าง และเราจะสังเกตมันอย่างไร จากประสบการณ์ของผมเอง ผมว่าเราไม่ได้มีความรู้ที่จะเข้าใจในเรื่องนี้อย่างจริง ๆ จัง ๆ เราเรียนรู้จากประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน พ่อแม่ก็ไม่มีความเข้าใจจะสอนลูกอย่างไรว่าลูกโกรธจะรู้ได้ไงว่าตัวเองโกรธ แค่จะรู้ว่าแต่ละอารมณ์หน้าตามันเป็นอย่างไรก็ยากมากแล้ว เพราะองค์ความรู้มันถูกจำกัด 

สังคมแบบไหนที่เอื้อให้เราหันกลับมาทบทวนตัวเอง

ผมว่าต้องเป็นสังคมที่มีพื้นที่สำหรับคนที่ไม่สมบูรณ์แบบ จะเครียดก็ได้ จะเศร้าก็ได้จะเหงาก็ได้ เป็นสังคมที่ให้พื้นที่กับทุกความรู้สึก แต่ปัจจุบันผมมองว่าเรามีพื้นที่ให้แค่ความรู้สึกดีๆ ความรู้สึกอบอุ่นเท่านั้น ใครๆ ก็อยากอยู่กับคนที่อบอุ่น ส่วนใครที่เคร่งเครียดตลอดเวลาเราก็ไม่อยากอยู่ด้วย

ซึ่งเข้าใจได้ มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ผมว่าเราไม่ได้มีพื้นที่ให้คนได้ยอมรับความรู้สึกได้จริงๆ ว่ามันรู้สึกแบบนี้ได้นะ และต้องไม่เป็นอะไรที่จะรู้สึกด้วย บางคนโชคดีอาจมีเพื่อนที่รับได้ในทุกความเป็นเรา แต่ก็ไม่ใช่คนทุกคนที่จะมีเพื่อนแบบนั้น บางคนอาจมีคนในครอบครัวที่พร้อมรับฟังทุกอย่าง แต่ก็มีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่คาดหวังว่าลูกต้องเป็นคนดี ต้องเชื่อฟัง ต้องมีอารมณ์ที่ดี ถ้าลูกไม่โอเคก็ต้องพยายามทำให้โอเคให้ได้

แต่เราไม่ได้มีพื้นที่ที่อนุญาตให้คนแสดงออกความรู้สึกทางลบ หรือรู้สึกว่าฉันรู้สึกไม่โอเคก็ได้

ฉะนั้น คนที่มาพบกับนักจิตวิทยาส่วนหนึ่งพวกเขาแสวงหาพื้นที่เหล่านี้ เพราะไม่รู้ว่าจะพูดเรื่องนี้กับใครดี พูดไปจะมีใครรู้สึกโอเคกับฉันบ้าง ดูเหมือนทุกคนจะได้รับผลกระทบทั้งหมดเลย และยิ่งพูดไปก็จะยิ่งกระทบคนอื่น เราก็จะรู้สึกแย่เข้าไปอีก งั้นเก็บไว้ไม่ต้องพูดดีกว่า เลยเลือกที่จะขีดคั่นความรู้สึกตรงนี้ไว้ ในขณะที่ความรู้สึกที่เราขีดทิ้งมันออกไปก็สำคัญเหมือนกัน

บางคนบอกว่าเราไม่ต้องไปนิยาม หรือไม่ต้องไปชัดเจนกับความรู้สึกขนาดนั้น แต่อีกทางเราก็ต้องทบทวนมัน  มันมีความย้อนแย้งกันอยู่? 

มันเหมือนจะย้อนแย้งแต่ไม่ย้อนแย้ง เพราะมันมีคำว่าบางอย่าง แต่พอเรานิยามมันทุกอย่าง ตีกรอบมันทั้งหมด ตรงนั้นต่างหากที่เป็นปัญหา ตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาองค์ความรู้เกี่ยวกับจิตในมนุษย์มันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทฤษฎีนี้ว่าแบบนี้ บางทฤษฎีว่าอีกแบบ ผลิตคำศัพท์ขึ้นมาแปลกๆ ใหม่ๆ ขนาดผมเป็นนักจิตวิทยาผมยังตามไม่ทัน แต่เราเคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่าสิ่งเหล่านี้มันมีจริงหรือเปล่า

มันอาจไม่มีจริงก็ได้นะ แต่ถ้าหากมันมีจริง อะไรที่มันจริงมากกว่ากันระหว่างสิ่งที่มีอยู่แล้ว หรือชื่อเรียกสิ่งเหล่านั้น แน่นอนว่าสภาวะบางอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวเรา มันคงมีอยู่แล้วแหละแต่การพยายามไปนิยามมัน คือการตีกรอบ คือการกำหนดขอบเขต เมื่อเรามีนิยามที่ตายตัวเกินไป สิ่งที่เกินจากขอบเขตของนิยามนั้นก็จะไม่ถูกนับว่าใช่สิ่งนั้น การนิยามสิ่งที่ไม่ตายตัวอย่างความรู้สึกหรือเรื่องทางจิตใจนั้นสร้างปัญหาได้เหมือนกัน

เหมือนการนิยามความรักว่ามีกี่แบบ คุณอาจจะตอบว่าความรักมีแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งคือการตีกรอบให้ความรัก แต่ส่วนที่คุณไม่ได้นิยามก็อาจจะถือเป็นความรักได้เหมือนกันฉะนั้นมันเป็นปัญหาในแง่ของการนิยามแต่ไม่ใช่ปัญหาในแง่ของความรู้สึก เช่น หากคุณรักใครรักคนคุณจะตอบด้วยความรู้สึกได้เองว่ามันใช่ แค่คุณรู้ว่าความรู้สึกมันประมาณนี้แหละ แต่ปัญหาของแนวคิดทางจิตวิทยาคือเราพยายามจะนิยาม พยายามจะตีกรอบ คุณลักษณะทางจิตใจอย่างตายตัว เช่น ถ้าคุณเป็นคนมีอีคิว คุณต้องมีพฤติกรรมแบบนี้ มีความรู้สึกแบบนี้ ถ้านอกเหนือจากนี้แสดงว่าคุณไม่มีอีคิว ซึ่งก็ถกเถียงกันได้ในเชิงทฤษฎี แต่ในความเป็นจริง มันไม่มีความหมายเลย คุณแค่เป็นคุณ ไม่ว่าคุณจะถูกมองว่ามีอีคิวหรือไม่มี แต่เราจะเข้าใจตัวเองอย่างไรดีให้เป็นประโยชน์กับตัวเรา ไม่ใช่เข้าใจแค่ในเชิงทฤษฎี

การตีตรา การตีกรอบมันส่งผลอย่างไรบ้าง

สมมติว่าคุณทำแบบทดสอบ แล้วมันบอกว่าคุณเป็นคนไม่ชอบเข้าสังคม มีเพื่อนชวนไปงาน แต่คุณยืนยันว่าตัวเองไม่ชอบเข้าสังคม หรือฉันเป็นคนที่ชอบทำงานเบื้องหลัง และมีงานที่ต้องไปพรีเซนต์ แต่ก็ยังยืนกรานว่าตัวเองโอเคกับงานเบื้องหลังมากกว่า ซึ่งถามว่าผิดไหมก็ไม่ผิดนะ แต่มันไม่สอดคล้องความเป็นจริงตรงที่ว่าตัวคุณก็เปลี่ยนเพราะบางครั้งคุณก็รู้สึกว่างานนี้น่าลองแม้จะเป็นงานที่ไม่ได้ตรงกับตัวเอง ตรงกับสิ่งที่ฉันเชื่อว่าฉันเป็น แต่มันดูท้าทาย แต่ไม่ได้นะ เดี๋ยวขัดแย้งกับตัวเอง 

ดั้งนั้นถ้าเราไปยึดติดมากๆ มันก็สร้างข้อจำกัดที่เราจะอธิบายตัวเอง ที่ยกตัวอย่างอาจเป็นเรื่องทั่วไป ซึ่งไม่ส่งผลมาก แต่หากเป็นเรื่องความผิดปกติทางจิตใจมันอาจส่งผลเสียมากๆ  เช่นคุณเป็นโรคซึมเศร้า คุณอาจรู้สึกเศร้าไม่อยากทำงาน คุณใช้นิยามนี้เพื่อบอกหัวหน้าให้เข้าใจตัวเองว่าก็ฉันเป็นซึมเศร้า ขอหยุดทำงานนะ เข้าใจฉันหน่อย ผมไม่ได้บอกว่าคนที่เป็นซึมเศร้าทุกคนใช้ข้ออ้างนี้นะ แต่มันมีโอกาสที่เราจะไปยึดติดกับคำนี้ กระบวนการมันกลับหัวกลับหาง คุณไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า คุณเลยทำสิ่งนี้ แต่เพราะคุณทำสิ่งนี้ต่างหาก คุณจึงถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า เรากำลังทุกทุกอย่างย้อนแย้งกันไปหมด

ลึกๆ แล้วหลายคนอาจรู้สึกปลอดภัยเมื่อมีนิยามให้  เพราะยังไม่รู้จักตัวเองดีพอ 

ผมว่าการที่มีชื่อเรียก หรือการที่เราเข้าใจอะไรสักอย่างมันดูมั่นคงดี โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เราอยากที่จะเข้าใจสิ่งต่างๆ เราอยากเข้าใจโลกรอบตัวเรา เราอยากเข้าใจตัวเราเอง เราอยากอธิบายหรือเรียกมันได้ว่าสิ่งนี้คืออะไร แต่เราลืมไปว่าสภาวะแปลกๆ บางอย่างมันอยู่นอกเหนือคำนิยาม และเมื่อเราไปนิยามก็จะยิ่งห่างจากความเป็นจริงมากขึ้น ซึ่งบางครั้งเราไม่ยอมหยุดที่จะอยู่กับมัน เช่น เราอาจอธิบายไม่ได้ชัดเจนว่าความรู้สึกแบบนี้คืออะไร เพราะต้องใช้เวลา เมื่อเราอธิบายไม่ได้ก็จะรู้สึกไม่โอเค หรือไม่มั่นคง เราจะรู้สึกสูญเสียการความคุม เราเลยจำเป็นต้องตั้งชื่อเรียกมัน ซึ่งมันอาจไม่ตรงกับสิ่งที่เป็นอยู่ก็ได้ เพราะเราต้องการเวลาที่จะเข้าใจมัน

แต่ผมไม่ได้มองว่าการมีชื่อเรียกหรือคำอธิบายไม่ดีซะทีเดียว เพราะการที่เราคุยกันก็ต้องผ่านภาษาซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ สิ่งที่ผมพูดอาจไม่ตรงกับสิ่งที่ผมให้ความหมายทั้งหมดก็ได้ ในใจผมอาจมีความหมายมากกว่านี้ แต่มันสื่อสารด้วยคำพูดได้ประมาณนี้ แต่สิ่งที่ผมจะบอกก็คือ เราอย่าไปยึดติดกับมันมากว่าสิ่งต่างๆ ควรจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่ต้องมองว่าในความเป็นจริงมันอาจมีอะไรที่มากกว่านั้น

ยกตัวอย่าง คนที่เข้ามาคุยกับผม เขาก็จะมีความเข้าใจในความรู้สึกประมาณหนึ่ง บางคนมาด้วยอารมณ์เศร้าแต่เมื่อได้คุยกันกลายเป็นว่าแท้จริงแล้วเป็นอารมณ์โกรธ เพียงแต่ไม่รู้ตัวเท่านั้นเอง 

ในภาษาไทยเรามักจะใช้คำว่าอารมณ์หรือความรู้สึกในความหมายเดียวกันไปหมดมีชื่อเรียกเหมือนๆ กัน แต่ในวงการวิชาการอารมณ์ความรู้สึกมีคำเรียกหลากหลายมาก มีคำว่า Feeling ,Emotion ,Mood แต่ความจริงแล้วทั้งสามคำมีความหมายที่แตกต่างกันมาก มีระดับชั้น มีน้ำหนักที่แตกต่างกัน 

ถ้าพูดถึง Feeling เรากำลังพูดถึงความรู้สึกที่เรารู้ตัว เช่น ฉันกังวล ฉันเศร้า ฉันอึดอัด ซึ่งเราก็รู้ตัวเราเองว่าเรารู้สึกอย่างไรในขณะนี้ แต่ทั้งนี้ก็มีความรู้สึกที่อยู่นอกเหนือขอบเขตจากการรู้ตัวอีก มันคือความรู้สึกที่เราอาจไม่รู้ตัวว่ามีอยู่ด้วยแต่มันแสดงออกผ่านทางร่ายกายเรา ที่เรียกว่า Emotion ที่เราไม่สามารถพูดถึงมันได้แบบรู้ตัว แต่มันคือปราฏการณ์ที่แสดงความเป็นตัวเราทั้งหมดในขณะนั้น เช่น เราไม่ได้รู้สึกเครียดหรือกังวล แต่ร่างกายเรามันแสดงออกออกว่าตอนนี้ขณะนี้เรากำลังเครียด กำลังกังวลอยู่ อาจแสดงออกผ่านสีหน้าหรือผ่านพฤติกรรมที่แสดงออกทางร่างกายก็ได้ 

ส่วนคำว่า Mood คืออารมณ์ที่กินเวลา สืบเนื่อง ยาวนาน และเป็นพื้นหลังชีวิตเราในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น ตอนที่คุณมาคุยกับผมคุณรู้สึกสบายๆ แต่มี Mood เบื้องหลังด้วยความกังวลว่ามีงานที่ต้องรีบส่ง เพียงแต่ว่าตอนนี้Mood นี้ไม่ได้ทำงาน เป็นเพียงพื้นหลัง แต่เมื่อมีอะไรบางอย่างมาสะกิดมันก็จะพาอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างของ Mood นั้นออกมา ซึ่งเราแต่ละคนต่างก็มี Mood ซึ่งเป็นพื้นหลังของชีวิตในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน

นี่เป็นระดับความรู้สึกที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นมันไม่ง่ายเลยในการที่จะทำความเข้าใจ 

และนี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ว่าทำไมการทบทวนตัวเองจึงเป็นเรื่องยาก ก็เพราะเราไม่สามารถมองเห็นมันได้ทั้งหมด ซึ่งที่จริงแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องเห็นทั้งหมดก็ได้ แค่เห็นในสิ่งที่จำเป็นต้องเห็น และตระหนักรู้ว่าสิ่งที่เรารู้เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้น เหมือนมีคนมาบอกว่าเราเป็นคนอย่างไร ก็ขอให้ตระหนักว่านั่นเป็นแค่ส่วนเดียวของตัวเราเท่านั้น เมื่อเราไปยึดติดว่าฉันต้อเป็นแบบนั้นแบบนี้เท่านั้น ต่างหากที่เป็นปัญหา เพราะเราไปตีกรอบความเป็นตัวเราซึ่งตีกรอบไม่ได้ตั้งแต่แรก