“ถ้าเป็นคลิป ผมจะไม่พูดแบบนี้” The Best Version of  ‘ฌอน POEM ’  ชวนล ไคสิริ

“ถ้าเป็นคลิป ผมจะไม่พูดแบบนี้”  ‘ฌอน’  ชวนล ไคสิริ แห่งห้องเสื้อ POEM พูดประโยคนี้หลายครั้งในบทสนทนาที่แน่ใจแล้วว่ามีการบันทึกผ่านเครื่องอัดเสียงและกล้องถ่ายภาพนิ่งเท่านั้น

ในวัย 40 ปีที่ทำงานดีไซเนอร์มา 16 ปี รันเวย์วันนี้ของ POEM มาพร้อมกับแนวคิด Magical Duality พูดถึง Diversity ที่ไม่ได้แปลแค่ความหลากหลายทางเพศ 

“เวลาพูดเรื่องนี้คนจะมองแค่ LGBTQ+ อันนี้มันเป็นการมองด้านเดียว เรื่องอายุก็ใช่  beauty standard ก็ใช่ มุมมองทางการเมืองก็ใช่ นายแบบนางแบบในวันนั้น หลายคนเราไม่รู้จัก บางคนสูงไม่ถึง 160 cm. บางคนสะโพก อก เอว ไม่ได้อยู่ในหมวดไซส์ S และหลายคนหาตัวได้ในแบคสเตจ” 

แต่ฌอนบอกว่าทุกคนคือ Real Beauty ที่ไม่ได้จำกัดแค่เรื่องไซส์ 

“แฟชั่นโชว์ที่เพิ่งจบไป เราไม่ได้ทำ size ใหญ่ขึ้นมาเพื่อขายคนที่ไซส์ใหญ่ แต่เรากำลังให้คุณค่ากับความหลากหลาย เรามองว่าสังคมมันกำลังเปลี่ยนทิศทาง ซึ่งสิ่งเดียวที่เรายึดถือได้คือการให้คุณค่าบนความแตกต่างและเคารพความหลาก หลาย มันเป็นสิ่งที่ถ้ามองหยาบๆ อาจจะเหมือนกัน แต่พอเราขึ้นรันเวย์แล้ว มันบอกว่าสิ่งที่เราคิดนั้นไม่หมือนกับคนอื่น” 

และยืนยันว่าแฟชั่นกับการเมืองคือเรื่องเดียวกัน

“มันอยู่รอบตัวเรา มันก็คือเรื่องเดียวกัน” 

ถึงจะรู้ดีว่ามีความพยายามจากเสียงข้างมากสายอนุรักษ์นิยมที่พยายามแยกมันออกจากกัน และถ้าความคิดนั้นจะให้ POEM เสียลูกค้าไป….

“ถ้าคุณไม่ชอบ POEM  เพียงแค่เพราะคุณเห็นต่าง มันก็บอกชัดเจนแล้วว่าคุณจัดอยู่ในคนประเภทไหน ฉะนั้นคุณก็ไม่ควรเดินเข้ามาแล้วใส่ชุดของผม” 

บทสนทนาตั้งแต่บรรทัดล่างเป็นต้นไป สำหรับเรา มันจึงเป็นThe Best Version of ฌอน 

วัยเด็กของคุณฌอนเป็นแบบไหน

เราเกิดปี 2526 บ้านเป็นเจน 2 อากงอาม่าอพยพมาจากซัวเถา เราจะโดนค่านิยมว่าต้องเรียนได้คะแนนดีๆ เพื่อไปสอบสายวิทย์ จบมามีรายได้สูง โดนกรอกหู ใส่หัวมาตั้งแต่เด็ก ว่าเราจะเป็นคนที่มีคุณค่าในสังคมได้ ต้องเป็นคนอาชีพนี้ ด้วยการเรียนแบบนี้ ต้องไปเรียนพิเศษแบบนี้ เพราะสุดท้าย goal มันเป็นแบบนี้  แม่บอกไม่หมอก็วิศวะ แต่สิ่งที่เราจะเถียงอย่าง compromise ได้คือสถาปัตย์ฯ นั่นเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับความฝันวัยเด็ก

ช่วงแรกที่ผมมาทำแฟชั่น แม่ก็เป็นช่างตัดเสื้อ แม่มองตลอดว่าอาชีพตัวเองไม่ได้เป็นอาชีพที่ได้รับการยกย่องจากสังคม ช่างเสื้อก็คือช่างเสื้อ ทำไมไม่ไปเป็นหมอ วิศวกร ผู้พิพากษา

ตอนเรียนที่อัสสัมชัญบางรัก เพื่อนๆ เป็นลูกจีนเกือบทั้งโรงเรียน ลูกจีนเจน 3 หมดเลย  ส่วนใหญ่เพื่อนจะเป็นลูกนักธุรกิจ มีคนขับรถ มีรถเบนซ์มารับมาส่งที่โรงเรียน ในขณะที่บ้านเราแม่เป็นช่างตัดเสื้อ พ่อเป็นคนทำมาค้าขายไม่ได้เป็นนักธุรกิจ เราเคยแอบคิดลึกๆ ในใจว่าตัวเองเป็นเหมือนประชากรระดับล่างในโรงเรียน 

แม่ก็บอกตั้งแต่เด็กว่าอาชีพช่างเสื้อไม่ใช่อาชีพที่ได้รับการนับหน้าถือตาหรอก ตอนนั้นแม่ก็ไม่รู้ว่ามันมีอาชีพแฟชั่นดีไซเนอร์บนโลกใบนี้ หรือแม่อาจจะรู้ก็ได้ แต่เป็นสิ่งที่เขาหรือลูกไม่น่าจะไปถึงอาชีพอันหรูหราได้ แต่ก่อนเราเองยังมองว่า GianniVersace เป็นสิ่งที่ไกลเกิน สื่อยุคที่เราเด็กๆ กระจายข่าวสารไปฝังหัวคนเบบี้บูมเมอร์ว่า แฟชั่นดีไซเนอร์เป็นความหรูหราไม่สามารถไปถึงได้ แต่ทุกวันนี้เราสร้างแบรนด์ เรารู้แล้วว่านี่เป็นภาพลวงตาของการทำแบรนด์พีอาร์  มันสามารถสร้างความเชื่อให้คนทั่วไปที่มองจากภายนอกคิดว่าเป็นความจริง 

แต่กว่าจะถึงวันนี้ เราคือเด็กที่ต้องทนเรียนหลักสูตรมัธยมปลายให้จบภายใน 2 ปี ในโครงการที่คัดเฉพาะเด็กวิทย์ผลการเรียนดี เรียนตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น พักเที่ยงกินข้าวแค่ 1 ชั่วโมง  เพื่อให้เข้าหมอ,วิศวะได้ทุกคน  

มันเป็นสิ่งที่ถ้าย้อนกลับไปได้เราจะไม่เรียนหลักสูตรนั้น ตอนแรกที่เข้าโครงการนี้ได้ เกรดตอนม.3 ต้อง 3.7 ขึ้นไป พ่อแม่ดีใจมาก เข้าใกล้ความเป็นชีวิตดี ได้เป็นหมอ ได้เป็นอะไรที่ลูกคนจีนอยากเป็น

ถามว่าเลิกเรียนไปไหนต่อ อาจารย์อุ๊(เคมี)หนึ่งทุ่มถึงสี่ทุ่มจ้า เพราะมึงไม่รู้ว่าจะเข้าหมอหรือวิศวะ เรียนไว้ก่อน สี่ทุ่มกลับถึงบ้าน ห้าทุ่มอาบน้ำเพื่อตื่นตีห้า มาเรียนให้ทันตอนหกโมงเช้า ถามว่ามีความสุขไหม ? ไม่ !!! แต่ถ้าถามว่าทำได้ไหม ? ได้ !!!

ทุกวันนี้เรามองว่ามันเป็นสิ่งที่ผิดพลาดของระบบการศึกษาที่ปลูกฝังและให้ค่ากับเรื่องที่ไม่ควรให้

มีคำถามไหมระหว่างที่เราทำแบบนี้

ไม่มี สิ่งที่น่ากลัวคือตอนเด็กเราไม่มีคำถามเลย เราแอบมีความเชื่อเล็กๆ ว่าถ้าเราเรียนเก่ง เราจะเข้าจุฬาฯ เข้าแพทย์ศิริราชได้ เพื่อนในรุ่น 100 คนคือแพทย์ศิริราช 10 คน วิศวะจุฬา 30 คน 

ตอนสอบเข้าสถาปัตย์ฯ จุฬา เราได้คะแนนอันดับที่ 60  

ความยากก็คือเราทำได้ แต่เราไม่รู้ว่าทำไปทำไม เด็กอายุเท่านั้นเราไม่มีข้อมูล เราคิดว่าทำได้ก็ทำไปก่อน น่าจะมีชีวิตที่ดีรออยู่

เกี่ยวกับความรู้สึกว่าเราเป็นชนชั้นระดับล่างในโรงเรียนด้วยหรือเปล่า

(นิ่งคิด) มันเป็นคนละชนชั้นในสังคม นี่คือสิ่งที่เรารู้สึก ซึ่งเพื่อนไม่ได้ปฎิบัติกับเราแตกต่างเลยนะ แต่เราก็รู้ว่ามันไม่ใช่ เราไม่ใช่คนที่จะมีปากมีเสียงได้ในสังคมตอนนั้น เรารู้สึกถึงเรื่องแบบนี้มาตลอด

คิดไปเองก็ใช่ แม่บอกว่าเป็นช่างเสื้อมันลำบาก แต่มันเป็นสิ่งที่ทำเพราะว่ารัก ถ้าย้อนดูจริงๆ อาชีพช่างเสื้อในประเทศไทยหายไปตอนฟองสบู่เยอะมาก หลังปี 40 แทบจะไม่มีช่างเสื้อเหลืออยู่ในกรุงเทพแล้ว ไปขายของ ไปขับแท็กซี่ เพราะคนไม่ได้ให้คุณค่างานฝีมือ มันจึงไม่มีเหตุผลที่ชีวิตจะทนทำในสิ่งที่ไม่มีความสุขและไม่ได้เงิน

พอผมเรียนจบแล้วเอาช่างแม่มาทำเสื้อผ้าขายตอนร้านแรกที่สยามสแควร์ ก็ขายดีแบบที่ตัวเลขกำไรในแต่ละเดือนมันเยอะกว่าเงินเดือนสถาปนิก ก็บอกแม่ว่าถ้าขายแล้วได้เงินเดือนเท่านี้จะไปเป็นสถาปนิกทำไม  ช่วงฟองสบู่อาชีพสถาปนิกแย่มาก ออฟฟิศปิดหมดเลย จำได้ว่าตอนเรียนจบ เพื่อนทำ a49 เงินเดือนประมาณหมื่นนิดๆ ไม่ถึงหมื่นสอง 

พอปี 2549 จำได้เลยวันที่ 19 กันยายน  ที่ประกาศรัฐประหารแล้วต้องเคอร์ฟิว เป็นวันที่ผมต้องเดินหาทำเลให้เช่าที่สยามแควร์ อยู่ๆ วันนั้นทุกคนกลับบ้านหมดเลย แต่เราเดินต่อ จนเราก็เจอห้องว่างให้เช่าแล้วก็เปิดเป็น POEM วันที่ 12 ตุลาคม 2549 

ตอนเด็กๆ มีความทุกข์อะไรบ้างไหม 

ตอบยาก ปัญหาคือมันไม่มีความทุกข์กับอะไรเลย

แต่มีความรู้สึก?

เราไม่ได้รู้สึกว่าระบบที่เราอยู่เป็นปัญหา อันนี้คือปัญหาใหญ่ ซึ่งคนสมัยนี้ตีโจทย์ออก แต่ทุกวันนี้เราหลุดจากกรอบนั้นได้แล้ว เรามั่นใจ เราทำในสิ่งที่เลือกจะทำและรู้ว่าเป็นสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุข 

มีน้อยคนที่จะทุบกระจกที่เรามองไม่เห็นอันนี้ แล้วออกมาจากกรอบสังคมที่ขังเราอยู่ได้

คิดว่ามีเรื่องที่ตัวเองแปลกแยกหรือแตกต่างจากคนอื่นไหม 

ไม่ใช่ว่าแปลกแยกหรือแตกต่าง ปัญหาคือเรามองไม่เห็นอะไรเลย อาจเพราะเราโตในสังคมซึ่งมีกรอบที่มองไม่เห็นแต่แน่นมากๆ 

เราไม่ใช่เด็กซึมเศร้าจากการไปโรงเรียนแล้วไม่มีเพื่อนคบ แต่จะตรงข้ามในอีกมิติหนึ่ง  เราตามระบบไปเรื่อยๆ เหมือนเป็นร่างที่ไร้วิญญาณ ไม่มีความคิดอะไรเป็นของตัวเอง แต่ไม่เคยรู้สึกแปลกแยกจากสังคมที่อยู่ เบลนด์อินได้ แต่รู้สึกว่าไม่มีพลัง อันนี้คือปัญหาอย่างหนึ่งของคนที่มองไม่เหมือนกัน 

บางทีความแปลกแยกอาจจะเป็นข้อดีก็ได้ที่ทำให้เขามีพลังงานบางอย่าง

ตรงไหนที่ทำให้ตัวเองรู้สึกว่าแตกต่าง มันเป็นเชื้อบางอย่างที่ทำให้คุณฌอนมาทำงานนี้ด้วยไหม

การเข้ามาในวงการแฟชั่นทำให้เรารู้สึกว่า… ไม่รู้ว่าใช้คำว่าแปลกแยกได้หรือเปล่า 

หลายๆ คนเข้ามาในวงการนี้ จากการเป็น celebrity ก่อน แล้วค่อยเริ่มต้นสร้างแบรนด์ แต่เราเริ่มต้นสร้างแบรนด์จากการเป็น unknown มาจากไหนไม่รู้ แล้วค่อยๆ สร้างแบรนด์ขึ้นมาจากศูนย์  มันสวนทางกัน 

นี่เป็นอย่างหนึ่งที่เราใช้ในการตีโจทย์ว่าจุดยืนของแบรนด์คืออะไร เราเชื่อในเรื่องการทำงานที่เป็นรูปธรรม  

เพราะเราเชื่อว่าผลงานจะเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ตัวเรามีคุณค่าได้ เราต้องไม่เอาตัวเองไปสร้างคุณค่าให้งาน 

นี่อาจเป็นมุมมองในเชิงนามธรรมที่เป็นจุดเริ่มต้นที่เราใช้ในการสร้างแบรนด์ #TheDressSpeaksItself มันเป็นแฮชแท็กครั้งหนึ่ง และผมให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า ชุดของ POEM  มันต้องเล่าเรื่องตัวมันเองได้ในแบบที่ไม่ต้องอาศัยดีไซเนอร์หรือพีอาร์ เราคิดว่าคำอธิบายแบบนั้นมันเป็น value ที่ไม่จริง 

มันเป็นความคิดที่คุณฌอนมาพบระหว่างทางหรือเป็นความตั้งใจตั้งแต่ต้น

 มันไม่ได้เป็นสิ่งที่เราตั้งใจแต่มันเป็นสิ่งที่เราเป็น เพราะเราไม่ได้เลือกให้เป็นแบบนี้  เราเกิดมาในครอบครัวแบบนี้ ใน timeframe แบบนี้ ในมิติสังคมที่เป็นแบบนี้ มันกำหนดเรา เราไม่ได้เป็นคนเลือกแต่เราทำสิ่งที่เป็นให้ออกมาดีที่สุด และนี่เป็นสิ่งที่ทำให้เราเข้ามายืนอยู่ในวงการแฟชั่นได้

ถามเป็นความรู้ การที่ดีไซเนอร์เป็นที่รู้จักก่อนเสื้อผ้า มันช่วยได้จริงๆ ไหม

มันช่วยได้ ไม่ปฏิเสธ คนที่ชัดที่สุด คือ Victoria Beckham แต่พอมาทำแบรนด์เสื้อผ้า เขามี awareness ที่ชัดเจนว่าไม่อยากเอาชื่อเสียงในฐานะ Spice Girls ภรรยาของ David Beckham มาทำพีอาร์ให้แบรนด์เสื้อผ้า เขาเน้นเรื่องคุณภาพการตัดเย็บ การออกแบบ สไตล์ direction ของแบรนด์ที่ชัดเจน และ Victoria เป็นคนที่ทำการบ้านเรื่องนี้หนักมาก 

บางทีชื่อเสียงที่มาก่อน ก็เป็นเหมือนดาบสองคม มันอาจจะบอกว่าคุณทำธุรกิจง่ายก็ได้ แต่บางคนเขาก็อยากให้คุณค่ากับงานออกแบบจริงๆ สังเกตดีๆ ในช่วง Bangkok Fashion Week ของ POEM เราไม่ได้ใช้ Celebrity Endorsement (การสนับสนุนหรือใช้ชื่อเสียง) ทั้งๆ ที่เราเป็นแบรนด์ที่ celebrity centric (เป็นลูกค้า) แน่นมาก ช่วงก่อนโควิด ภาพญาญ่าเดินแฟชั่นโชว์  10 ปี POEM ดาราทั้งวงการมาคือภาพจำ แต่เราพยายามลบภาพนั้นออกไป

ช่วงโควิดทำให้เราตกตะกอนความคิด ผมมองว่าคนให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไป แล้วสิ่งเดียวที่เรารู้สึกว่าแบรนด์เรามีคุณค่าจริงๆ คือ เสื้อผ้าที่เราทำ เพราะฉะนั้นอย่ามาดู celebrity ให้เขาดูเสื้อผ้าก่อน แล้วค่อยไปดูว่าใครใส่ 

value จริงๆ ของดีไซเนอร์ควรจะอยู่ที่เสื้อผ้า เหมือนกับเราเข้ามาในวงการนี้ เพราะเราเป็นลูกของช่างเสื้อ เรามีดาบที่คม เราอย่าเผลอไปกับเทรนด์โซเชียลมีเดียในปี 2015-2016 ที่มาพร้อมกับ culture Celebrity Endorsement กลายเป็นดีไซเนอร์ที่มีเพื่อนเป็น celebrity ก็จะแห่แหนมากัน ตบเท้ามางานแฟชั่นโชว์ POEM ถามหน่อย ใช้คำว่าตบเท้า เพื่ออะไรวะ? ตบเท้า (ตบเท้าให้ดู) 

เทียบกับตัวเองใน 5-7 ปีที่แล้ว มันคือความไม่รู้ประสีประสา ถามว่าในเชิงธุรกิจมันซัพพอร์ตเราไหม มันซัพพอร์ตเราจริง แต่มันเป็นภาพลวงตาในเชิงให้คุณค่าในความเป็นตัวตนของดีไซเนอร์

ที่บอกว่าช่วงโควิดมองเห็นคุณค่าบางอย่าง คุณค่านั้นคืออะไร

ช่วงเวลาล็อคดาวน์ 2 ปี มันเป็นช่วงเวลาของ soft power หลายอย่าง ความเคลื่อนไหวของเด็กๆ ไม่ว่าจะในวงการนางงาม บันเทิง มีเดียต่างๆ การแสดงออกทางการเมือง แสดงออกทางการให้คุณค่าของการอยู่ร่วมกันในสังคม เดิมทีก่อนโควิดเราพิมพ์อะไรยาวๆ ในโซเชียลมีเดียจะไม่ค่อยมีคนอ่าน แต่พอโควิดแล้ว เหมือนคนตั้งใจอ่านในสิ่งที่เราคิด ซึ่งมันมาจากความเชื่อของเรามากขึ้น เพราะฉะนั้นการให้คุณค่ามันเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว

ช่วงปี 2020 เริ่มติดตามวงการนามงาม เฌอเอมประกวดมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส เราจะรู้ว่านางงามที่สวยกับนางงามที่ฉลาด บางทีคนจะให้คุณค่ากับนางงามที่ฉลาดมากกว่า แล้วนางงามหลายๆ คนก็แสดงจุดยืน แสดงแนวความคิดที่จะทำให้สังคมมันดีขึ้นได้ยังไง อันนี้เป็นข้อมูลที่เราเก็บเกี่ยวและเอามาใช้งานออกแบบ

celebrity คนไหนมี power ในการ endorse สินค้า follower กี่ล้านคน อันนี้มันเริ่มจะอ่อนแรงลง ซึ่งคนในเจนที่เด็กลง มันมีเรื่อง media literacy มันรู้ไปหมดแล้ว ถ้าเราใช้ celebrity แบบไม่ระวัง มันจะกลายเป็นดาบสองคมที่มาเฉือนตัวเราเอง เพราะคนสมัยใหม่เขารู้ว่าอะไรคืออะไร

เราต้องเข้าใจใน content ของ celebrity คนนั้นก่อนว่า เขามีจุดยืนอะไร ถ้า celebrity  มี follower เป็น 10 ล้าน แต่ไม่มีจุดยืนด้านการนำเสนอมุมมองอะไรกับสังคมเลย มันว่างเปล่า เขาเป็นหุ่นเชิดในระบบทุนนิยม อันนี้ถ้าเป็นคลิปจะไม่พูด (หัวเราะ)

เราผ่านตรงนั้นมาแล้ว เราดูออก ทุกวันนี้เราแบ่งเป็นสองกรุ๊ปได้เลย กรุ๊ปแรก มาร่วมงานกับเรา เพราะ exposure (ภาพภายนอก) เขาอยากเดินแฟชั่นกับเราเพราะเขารู้ว่ามันจะ viral ขณะที่อีกกลุ่มมาร่วมงานกับเรา เพราะศรัทธาในตัวแบรนด์ มีความเชื่อมโยงกับแนวคิดในการออกแบบของเรา อย่างโอปอล์ ปาณิสรา จุ๋ย วรัทยา

คนที่เดินเข้ามาแล้วบอกว่า ฉันอยากเดินให้ POEM คุณฌอนบอกเค้ายังไง

เราก็เงียบๆ ไม่ได้พูดอะไร  ความที่เขาไม่ได้เข้าใจในเนื้อหาของเราจริงๆ ในฐานะที่เราเป็นดีไซเนอร์ที่มองว่าสังคมควรไปทางไหน พอมันมาเจอกัน มันจะไม่ตรงล็อก เหมือนจิ๊กซอว์ที่ไม่ได้ประกบกัน มันจะไม่ได้สร้างอะไร มีแต่เสียเวลา 

เราอยู่ตรงนี้มานานจนเห็นอะไรหลายๆ อย่าง แล้วบางอย่างเราเห็นว่ามันมีค่าจริงๆ แต่อีกหลายอย่างเราไม่ตื่นเต้นกับมันอีกต่อไปแล้ว เพราะเรารู้ว่าคุณค่าจริงๆ ของการเป็นดีไซเนอร์อยู่ตรงไหน 

อ่านในสัมภาษณ์บอกว่า 5 ปีที่แล้ว ความงามของคุณฌอนเป็นแบบหนึ่ง แล้วตอนนี้เป็นอีกแบบหนึ่ง อธิบายความแตกต่างได้ไหม

ความคิดดีกว่าไม่ใช่แค่ความงาม มันเป็นเรื่องการให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ ในสังคมรอบตัวเรา อย่างแฟชั่นโชว์ครั้งนี้ แคสติ้งส่วนใหญ่เป็นเพื่อนที่เจอกันทุกวัน แล้วเรารู้สึกว่ามันจะมีเพื่อนอยู่บางคนที่อยู่ในชีวิตประจำวันที่เรารู้สึกว่าคนจริงๆ มันต้องเป็นแบบนี้ มันเป็นความจริง เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีแรงบันดาลใจในการทำงาน 

ความจริงคืออะไร

ความจริง คือ การที่เราได้เจอคนที่มีความเชื่อแบบเดียวกับเรา ซึ่งความเชื่อแบบเดียวกันคือความจริง แล้วเราพยายามหาคนแบบนี้ให้อยู่รอบตัวเราให้มากที่สุด อันนี้เป็นสิ่งที่ empower เราในเชิงอายุมากขึ้นทุกวัน เราจะไม่รู้สึกห่อเหี่ยวกับการทำงาน เราอยู่กับคนจริงๆ ที่อยู่รอบตัวเราเต็มไปหมด เขาไม่จำเป็นต้องเป็น celebrity ก็ได้ เราไม่ได้ให้คุณค่ากับ follower ในไอจีหรือทวิตเตอร์อีกต่อไปแล้ว 

และนี่เป็นสิ่งที่ผมคิดว่ามันไม่ใช่กระแสหรือเทรนด์ที่ดีไซเนอร์หรือศิลปินหรือคนในวงการที่มันจะเปลี่ยนมาในทิศทางเดียวกันนะ แต่มันจะเป็นบรรทัดฐานในการให้คุณค่าที่จะอยู่ได้ยาวและยั่งยืน

แฟชั่นโชว์ล่าสุด มันมีความหลากหลาย มีความเป็นคนอยู่จริงๆ 

จริงๆ แล้ววันที่ 9 ก.ย. ก่อนที่จะมีงาน Fashion Week ได้มีการจัดงาน M Choice 2022 ครบรอบ 10 ปีของ Hive Salon พี่ก้องบอกไว้นานมากแล้วว่า อยากทำโชว์กับ POEM  มาก เราก็ซัพพอร์ตกัน อันนั้น celebrity endorsement ตัวจริง เบอร์ใหญ่ ทุกคน follower หลักล้าน ยอมรับว่างานนั้นเราตัดสินใจทำเพราะความศรัทธาในตัวพี่ก้องที่เป็นคนนึงที่เรา look up to ในวงการแฟชั่น 

สองแฟชั่นโชว์นี้มันอยู่ในช่วงไทม์ไลน์สองอาทิตย์ที่ต่างกัน แล้วเราคิดว่าเราจะทำทั้งสองงานนี้ เพราะเราอยากทำให้เห็นความ contrast (ตรงข้าม) บางอย่าง อันแรก มันคือ celebrity endorsement ส่วนอีกอันเป็นแฟชั่นโชว์ที่เราแสดงจิตวิญญาณของการเป็นดีไซเนอร์จริงๆ แต่ไม่ได้เห็นแย้งกับ พี่ก้องหรือไม่ได้คิดต่างนะ เรารู้สึกชื่นชมความสามารถในการ gather super endorser อย่าง F4 Thailand ที่มี exposure ดีมาก 

มันเป็นการทำให้แบรนด์เราเป็นที่รู้จักในลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เช่น เด็กๆ กลุ่มแฟนคลับ

เอาจริงๆ ในงานรู้จักแค่พีพี บิวกิ้น ส่วนคนอื่นเราไปรู้จักวันนั้น แล้วเราก็จะมีน้องผู้ช่วยคอยกระซิบว่าน้องคนนี้ชื่ออะไร ไม่รู้ว่าคนไหนเป็นคนไหน  เพราะน้องๆ หน้าเหมือนกันหมดเลย (ยิ้ม) 

มันเป็นแฟชั่นโชว์ที่พอจบแล้ววันรุ่งขึ้นเราก็ลืมทุกอย่าง เพราะเรามองว่ามันเป็นงาน เป็นประสบการณ์ที่ได้ทำงานกับคนเก่งในวงการ ขณะที่เรากำลังสนุกกับการโทร.ตามจิกเพื่อนๆ ในวันที่ 23 ว่าแกต้องมาเดินแบบให้ฉัน แล้วเพื่อนๆ ก็แบบจะดีเหรอ เพื่อนบอกไม่เอา แต่ความจริงมึงซุ่มพร้อม ลดความอ้วนกันสุดฤทธิ์ เราบอกว่าไม่ต้อง จะให้มาเป็นสาว plus size เรารู้สึกว่าพลังงานและจิตวิญญาณทั้งหมดอยู่กับแฟชั่นโชว์วันที่ 23  

เห็นตัวเองทั้งสองงานต่างกันยังไง

งานแรกไม่เห็นตัวเอง

จำได้ว่าวันที่ 9 (งาน M Chioce) เราก็เจอพี่แอน ทองประสม แต่เรารู้สึกว่าเราทำชุดให้พี่แอนใส่ในแบบที่พี่แอนรู้สึกว่าเขามีพลัง เหมือนที่แม่สอน คือ ทำเสื้อผ้า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ทำให้คนใส่ชุดมั่นใจมากกว่า คือ เรามองโลกเปลี่ยนไปแล้ว เราไม่ได้สนุก ไม่ได้ตื่นเต้นกับการทำงานที่ทำครบทุกอย่าง แต่ไม่ได้สร้างเสริมเรื่องจิตวิญญาณของเรา

แฟชั่นโชว์วันที่ 23 ชวนคนมาเดินแฟชั่น ชวนจากอะไรบ้าง 

อันดับแรกเลยต้องเป็นคนที่ให้แรงบันดาลใจกับเรา ย้อนกลับไปปี 2015 POEM จัดแฟชั่นโชว์ ครั้งแรก เรา cast แบบที่สูงเท่ากัน หุ่นคล้ายๆ กัน และเดินออกมาเป็นเอว 22 เหมือนกัน แบบที่รัด corset แต่คนที่มาเดินให้เราในปี 2022 เขาให้แรงบันดาลใจในวันสำคัญของเรา 

ในความคิดคุณฌอน คนเหล่านี้มีอะไรเหมือนกัน

เป็นคนที่มีพลังงานด้านบวกให้กับคนที่อยู่ใกล้ อันนี้เป็นข้อมูลเชิงนามธรรมอย่างมาก (หัวเราะ) เราอยากจะอยู่กับเฉพาะคนที่ให้พลังงานด้านบวกกับเรา อันนี้เป็นสิ่งสำคัญในการที่เราอยู่ในสังคม เราอยากสร้างสังคมที่มีแต่พลังงานด้านบวก เพราะช่วงล็อคดาวน์ เราอยู่บ้านคนเดียว เป็นคนชอบอยู่คนเดียว สามารถล็อคดาวน์ตลอดไปถ้ามีเงินใช้ (หัวเราะ) อยู่คนเดียวได้ อาจจะไปไกลกว่า introvert หน่อย อยู่คนเดียวแบบที่ไม่ต้องพูดอะไรกับใครทั้งวันก็ได้  ดังนั้นถ้าจะมีคนมาอยู่ใกล้ๆ มันต้องเป็นคนที่มีพลังงานด้านบวกแบบนี้กับเรา

คนที่เป็นพลังงานด้านบวกและหลากหลายเหล่านี้ จะผลัก message อะไรไปสู่สังคม

สังคมในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ลูกค้า กลุ่มคนเหล่านี้มีความ real ความ real ในที่นี้ไม่ใช่แค่ real size มันเป็น real ในเชิง character เป็นความ real ในเชิงนามธรรมหลายๆ อย่าง และความ real นี้คือสิ่งที่คน relate

ศัพท์คำหนึ่งที่ผมใช้ใน social media คือ inclusivity การรวมกันของความหลากหลาย 

รันเวย์วันนั้นไอเดียมันชัด เรามีจุดยืนตั้งแต่แรกว่าจะไม่ใช้นางแบบที่สูง เราชอบนางแบบที่เตี้ยลงมา เพราะมีเส้นโค้งที่ชัดกว่านางแบบสูง 180 

ถ้ามีแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งทำแฟชั่นโชว์ครั้งแรก เปิดคอลเลคชั่นแล้วทำ diversity มันจะไม่น่าสนใจเท่าเราที่เคยทำแบบแฟลต(แบบเดียว)มาตลอดแล้วเปลี่ยนเป็นแบบที่มีความหลากหลาย

เราอยากจะให้คนที่เป็นคนจริงๆ มา อยู่ในงานของเรา อาจารย์หนึ่ง (รศ.ดร.ปรีชญา สิทธิพันธุ์) พี่สาวคุณชัชชาติ คืออาจารย์ที่ปรึกษา ครูประศาสน์วิชา โทรไปเชิญให้มางานแฟชั่นชว์ แต่ท่านบอกว่า วันที่ 23 วันเกิดฉันนะ ถ้าฉันมา ขอฉันเดิน (หัวเราะ) ก็แอบสะพรึงไปแป๊ปนึง วันรุ่งขึ้นก็โทรไปหาอาจารย์เดินนะเดิน อาจารย์ก็บอก นี่ ครูล้อเล่น ไม่ต้องเดินหรอก ยังไงก็ต้องไปอยู่แล้ว

อาจารย์หนึ่งเป็นแรงบันดาลใจของชีวิตผม เป็นคนสอนวิธีจัดระเบียบความคิดเพื่อใช้ในการตัดสินใจ เพื่อสร้างงานออกแบบที่มีคุณภาพ อาจารย์ไม่ได้สอนเรื่องโครงสร้าง ฟิสิกส์ เสา คาน อะไรแบบนี้นะ แต่สอนว่า ถ้ายูจะมาทำธุรกิจแฟชั่น อะไรจะเป็นปัจจัยที่คุณอยู่ในธุรกิจนี้ได้ หาบริบทที่เป็นกายภาพ การเรียนในคณะสถาปัตย์ เราแทบจะไม่มีเหตุผลเชิงนามธรรมเลย ต้องมีตัวเลขที่เป็นเปเปอร์ชัดเจน เพราะเราเป็นคณะที่อยู่ในฝั่งวิทยาศาสตร์ไง 

แต่บางครั้งการตอบในเชิงนามธรรมมันเป็นคำตอบที่น่าประทับใจมากกว่า (ยิ้ม)

คุณณอนเคยให้สัมภาษณ์เร็วๆ นี้ว่าอยากนำเสนอมาตรฐานใหม่ให้แฟชั่น มาตรฐานใหม่นี้คือความ real หรือเปล่า

เอาจริงๆ ถ้าในวงการแฟชั่นทั่วโลกมันก็ไม่ได้ใหม่หรอก แต่ในวงการแฟชั่นไทยมันอาจจะใหม่ เราอยู่ในจุดเปลี่ยนใหม่ของสังคม สิ่งเดียวที่เรายังยึดติดได้คือการให้คุณค่ากับความแตกต่าง ความหลากหลาย มันไม่ใช่แค่เรื่องจุดยืนทางการเมือง เรื่องผลประโยชน์ หรือว่าใครมีความคิดเป็นอย่างไร อนุรักษ์นิยมหรือเสรีนิยม ก็ตาม แต่จุดยืนตอนนี้คือเราต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ในสังคมที่ให้คุณค่ากับความแตกต่างหลากหลาย

ให้อยู่ในที่ของตัวเอง แต่อยู่ร่วมกันได้ อะไรเป็นตัวยึดโยงคุณค่าเหล่านั้น 

การสื่อสาร ถ้าบอกว่าการเปิดอกเปิดใจมันจะเป็นนามธรรม แต่การสื่อสารเป็นรูปธรรม การสื่อสารเป็นสิ่งที่ทรงพลังในเชิงการ PR ผมคุยเรื่อง Designer as a Citizen of the World ในงานของไทยคม ผมยกโควทอันหนึ่งของสถาปนิกชื่อดัง Ludwig Mies van der Rohe ว่า God is in Details ผมทำแบรนด์เสื้อผ้า เป็น Designer มา 16 ปีแล้ว วันนี้ผมอยากจะเถียง van der Rohe ว่า God is not in Details, But in Proportion. อยู่ที่การให้สัดส่วน เพราะสถาปนิกทุกคนมีฟอร์มที่เป็น Proportion ของตัวเอง การบอกว่า God is in Details นั่นคือการใช้เลนซ์ซูม แต่ถ้าคุณใช้เลนส์ไวด์ดูล่ะ คุณจะรู้ว่า God is in Proportion แล้วถ้าคุณได้เจอกับ God ใน Proportion มันจะเป็นสิ่งที่ทรงพลังในเชิงการออกแบบมากกว่า

แต่ถ้าเราเปลี่ยนเลนส์ที่กว้างที่สุด ในมุมมองของสังคมวัฒนธรรม เราจะรู้ว่า God is in Communication อยู่ที่การสื่อสาร การถ่ายทอดข้อมูล บางทีเราอายุมากแล้วเราจะคิดไม่เหมือนกับหนังสือที่เรียนมา ตั้งแต่เด็ก แม่จะสอนวิธีการทำเสื้อ แพทเทิร์น ทุกวันนี้ที่ POEM คือ ฉีก จนให้มันค้านกับที่แม่ทำให้มากที่สุด เพราะมันมีอะไรที่เราทดลองแล้วเราทำได้ดี บางทีมันอาจจะเป็นวิถีทางที่ทำให้เราเจอตัวตนที่เป็น Signature ของเรา เราควรจะมีแนวความคิดที่เป็นของตัวเอง และแนวความคิดของตัวเองนี่แหละคือความหลากหลายจริงๆ

อย่างแฟชั่นโชว์ที่เพิ่งจบไป เราไม่ได้ทำไซส์ใหญ่ขึ้นมาเพื่อขายคนที่ไซส์ใหญ่ แต่เรากำลังให้คุณค่ากับความหลากหลาย ที่เรามองว่าสังคมมันกำลังเปลี่ยนทิศทาง ซึ่งสิ่งเดียวที่เรายึดถือได้คือการให้คุณค่าบนความแตกต่างและเคารพความหลากหลาย มันเป็นสิ่งที่ถ้ามองหยาบๆ อาจจะเหมือนกัน แต่พอเราขึ้นรันเวย์แล้ว มันบอกว่าสิ่งที่เราคิดนั้นไม่หมือนกับคนอื่น 

แฟชั่นกำลังผลักดันความงามไปตั้งต้นที่คน ไม่ใช่ที่ชุด?  

มันจะมีหลักหนึ่งที่เรายึดและตัดสินได้ว่าเป็นความงาม นั่นคือ ความงามคือความสุข บางคนใช้คำว่า there is no beauty without confindence ถ้าไม่มีความมั่นใจ มันก็ไม่ถึง ถ้าคุณแต่งตัวแบบนี้ ต่อให้คนทั้งประเทศบอกว่าคุณสวย แต่คุณไม่ได้มั่นใจกับชุดที่ใส่ ชุดนั้นไม่ถือว่าสวย แต่ถ้าคุณมั่นใจจนถึงขั้นคุณมีความสุขกับลุคของคุณวันนั้น นั่นคือคุณ achieve ในความงาม

ถ้าทุกคนมองความงามแบบนี้ได้ มันจะเป็นมุมมองความงามแบบเสรีนิยม แล้วความหลากหลายหรือ diversity มันจะหนักแน่น เราไม่ได้อิงกับเทรนด์ อิงกับมีเดีย ถ้าเราไปอิงกับมีเดียเราจะไปเจอกับบล็อกของออเดรย์เฮปเบิร์นที่รอเราอยู่ นางแบบในพินเทอร์เรสทุกคนสูง 180 ในรันเวย์ก็ยังแคสต์ 180 อยู่ ผิวขาว หน้าอกแบน หน้าเหลี่ยม ขายาว ซึ่งไม่ใช่ว่าขายาวแล้วจะสวยนะ บางคนขายาวแต่โก่ง

มั่นใจว่าลูกค้า poem เกือบทุกคนไปถึงตรงนี้กัน (ความงามคือความสุข) โดยเฉพาะคนที่เราได้เจอ โดยเฉพาะชุดเจ้าสาว หนึ่ง เค้าจะไม่อิงเทรนด์แฟชั่น เราต้องดูสรีระ คาแรคเตอร์ แล้วดีไซน์ชุดออกมาให้เหมาะ

แต่การทำชุดเจ้าสาวก็ยาก เวลาตัดชุดแต่งงาน ผู้หญิงปลายเจนเอ็กซ์ต้นเจนวาย ก็จะมีคุณแม่สิงมาด้วย ประมาณว่าสมัยชั้นแต่ง ชั้นไม่ได้ทำตามความฝัน ชุดเจ้าสาวจึงต้องแสดงออกถึงสถานะการเงินของที่บ้าน งานแต่งงานต้องโชว์คอนเนคชั่นที่ใหญ่โต ท่านประธานเป็นคนที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวไม่เคยได้เจอแต่ต้องมาให้คล้องมาลัย 

เจ้าสาวก็ใครวะ พ่อเชิญใครมา แขก 1,000 คน  รู้จักแค่ 200 ที่เหลือเป็นการ gather super connection ของครอบครัวชั้นที่มี power ในสังคม 

ปีสองปีที่ผ่านมาเจ้าสาวหลายคนฉวยโอกาสช่วงล็อคดาวน์รีบจัดงานแต่งงานเพราะไม่อยากเจออะไรแบบนี้ จัดงานอาทิตย์หน้า ประกาศวันนี้ แล้วมาซื้อชุด POEM ready to wear จัดง่ายๆ มีแค่พ่อแม่สองฝ่าย 

งานนี้คืองานแต่งงานในอุดมคติของคนเจนเราที่โตมากับวงจรคอนเนคชั่นของการแต่งงานในประเทศไทย มันหมักหมม งานแต่งงานเมืองไทยไม่ต่างอะไรกับอีเวนท์เปิดตัวสินค้า 

คิดอย่างไรที่หลายคนแยกการเมืองออกจากเรื่องแฟชั่น

ตอนนี้มันเบลนด์กันแล้ว เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม   ผู้แทนราษฎรคือตัวแทนของเราที่จะมากำหนดว่าทิศทางของประเทศจะเป็นยังไง เราไม่สามารถเอาตัวออกจากสังคมที่เราอยู่ได้ เพราะฉะนั้นแฟชั่นมันไม่ได้ห่างไกลจากการเมืองเลย ถ้ามันอยู่รอบตัวเรา มันก็คือเรื่องเดียวกัน 

ทุกคนรู้ดีว่าในสายแฟชั่น ส่วนใหญ่เป็นสายอนุรักษ์นิยมแบบรุนแรง คลั่งรักในอนุรักษ์นิยม เพราะฉะนั้นแนวความคิดทางการเมืองที่ขัดแย้งกับแนวความคิดเดิมที่เชิดชูอุปถัมภ์ มันอาจจะผลักให้แฟชั่นกับการเมืองอยู่ไกลออกไป 

มันเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้ดีแต่ไม่มีใครพูด สุดท้ายแล้วมันคือจุดยืนแห่งความต่าง มันเป็นสิ่งที่สุดท้ายเค้าก็หนีไม่พ้น ไม่ว่าเค้าจะคิดยังไง ถ้าเค้ายังเป็นพลเมืองภายใต้ระบบระเบียบนี้ที่แต่งหน้าทาปากแล้วอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย แต่คุณภาพชีวิตของเราทุกคนมันก็อยู่ตรงนี้แหละ 

มันอาจไม่มีสิ่งไหนผิดสิ่งไหนถูก ถ้าเราจะเขียน ออกแบบ นำเสนอความคิดที่มันต่างกันออกไป เราต้องมีวิธีการที่ชาญฉลาดและละเมียดละไมพอที่จะแทรกแมสเสจนี้เข้ามาในวงสังคมที่คนยังยึดติดกับวิธีคิดแบบเดิม อันนี้สำคัญมาก 

แล้ววิธีการของคุณฌอนเป็นอย่างไร 

บางทีเราต้องใช้วิธีการนำเสนอทางอ้อม อย่างเช่นชุดไฮไลท์ของคุณช่อ พรรณิการ์ วานิช วันโหวตเลือกนายกฯ  มันเป็นชุดที่เค้าเอามาใส่อีกครั้งวันอภิปรายนอกสภา

วันแรก ที่ทุกคนเห็นคุณช่อใส่ชุดออมเบร (ขาวไล่โทนดำ)  ถูกวิจารณ์ว่าไม่ให้เกียรติ เพราะวันนั้นเป็นวันไว้ทุกข์ แต่จริงๆ แล้วแฟชั่นมันจะเล่นกับความสองแง่สองง่ามได้อย่างสุภาพ 

สิ่งที่ผมชอบที่สุดคือการใช้ชุดครั้งที่สองใของคุณช่อแบบที่มีแมสเสจ 

มันบ่งบอกว่าลูกค้าของเราเป็นผู้หญิงที่ฉลาด ไม่ใช่แค่ฉลาดเรื่องการทำงานแต่ฉลาดเรื่องการใช้เงิน 

ชุดนั้นใช้สองครั้งก็เหลือครั้งละหมื่น มันเป็นหลักการหนึ่งที่ใช้ในการออกแบบ ผู้หญิง POEM ต้องเข้าใจสามอย่าง หนึ่งเข้าใจตัวเอง สองเข้าใจกาลเทศะ สาม มาคิดได้ตอนโควิด เข้าใจเรื่องการใช้เงิน ผู้หญิง POEM  สามารถแมตช์ชุดเรากับแบรนด์อื่นก็ได้ แบรนด์ POEM เองก็ได้

การใส่ชุดซ้ำเป็น มันเป็นสกิลในเชิงแฟชั่นที่ผมคิดว่าเป็นขั้นสูงสุด ซึ่งดีไซเนอร์บางสายบอกว่าการรีไซเคิลเดอะเดรสเป็นสิ่งที่บุลชิต มาร์ค จาค็อบ บอกว่าการใส่ชุดเดิมครังที่สองเป็นเรื่องน่าตลกมาก คือ ใช้อะไรคิด 

ความฉลาดเป็นความงามอย่างหนึ่งไหม

มันอยู่คนละมิติกัน ความฉลาดทำให้ความงามมีคุณค่า วงการนางงามให้ความสำคัญกับการตอบคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ 

ดังนั้นความต่างทางการเมืองไม่ควรเอฟเฟคท์กับแนวความคิดในการออกแบบ หรือชอบในผลิตภัณฑ์อะไร 

ถ้าคุณไม่ชอบ POEM เพียงเพราะว่าคุณคิดเห็นต่าง มันก็บอกชัดเจนแล้วว่าคุณจัดอยู่ในคนประเภทไหน ฉะนั้นคุณก็ไม่ควรเดินเข้ามาแล้วใส่ชุดของผม เพราะคุณมันแคบ ไม่ใช่ใจแคบนะ เพราะคุณมันแคบ 

ผมเองยังซื้อสินค้าจากคนที่คิดเห็นต่างเลย เพราะผมชอบไอเดียในการออกแบบและคุณภาพของสินค้าของเค้า ไม่ได้ซื้อเพราะเค้าคิดเหมือนเรา นี่คือคำตอบง่ายๆ เลย ง่ายจนไม่รู้จะตอบยังไง