เขียนหนังสือไม่ได้ ≠ เรียนไม่เก่ง : ชวนสังเกตพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กที่มีผลต่อการเขียนในเด็ก

“ตั้งใจเขียนหน่อยสิลูก เขียนให้ตรง เขียนให้อยู่ในบรรทัด เข้าใจมั้ย”

“ทำไมเขียนหนังสือเบี้ยวขนาดนี้ ไม่ได้เรื่องเลย”

หากหมุนเวลากลับไปเป็นเด็กตัวเล็กๆ คุณยังจำประโยคเชิงตำหนิแบบนี้ได้หรือเปล่า ไม่ว่าคุณจะเคยหรือไม่เคย แต่ว่าประโยคเหล่านี้เคยเกิดขึ้นจริงในระบบการศึกษา จนสร้างบาดแผลทางการเรียนรู้ให้เด็กอยู่ไม่น้อย

โดยธรรมชาติความพยายามในการเขียนในช่วงแรกของเด็กเล็ก มักไม่ได้ออกมาดูเหมือนเป็นคำและประโยคที่สละสลวย แต่การเขียนลายเส้นและภาพวาดของพวกเขาเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยให้เด็กๆ พร้อมที่เรียนรู้ตัวอักษรต่างๆ 

ข้อมูลจาก รายงานฉบับพิเศษห้องเรียนฟื้นฟูหลัง COVID-19 บอกว่า ตลอดระยะเวลาที่เด็กเล็กวัยอนุบาลต้องเรียนหนังสือผ่านระบบออนไลน์ ทำให้พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับการโหมข้อมูลอย่างหนักและถูกเร่งให้อ่านออก-เขียนได้ภายใต้ทฤษฎี แทนที่จะได้ลงมือเล่นอย่างอิสระและปฏิบัติจริงในห้องเรียนๆ ส่งผลให้เกิด ‘ภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss)’ ที่ส่งผลต่อพัฒนาการทุกมิติ ทั้งร่างกายและจิตใจ

การสำรวจระบุว่า พบเด็กประถมต้นในวันนี้กำลังเผชิญหน้าปัญหาเรื่อง ‘กล้ามเนื้อมัดเล็ก’ ที่ส่งผลต่อการเขียนหนังสือ พบว่าเด็กมีแรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กในวัยเดียวกัน เขียนหนังสือช้า ควบคุมทิศทางการเขียนได้ไม่ดี รวมถึงการทรงตัวในการนั่งเขียนไม่ดี และเรียนหนังสืออย่างไม่มีความสุข

ความพยายาม(เขียน)ที่ถูกมองไม่เห็น 

แม้ว่าสถานการณ์โรคระบาดจะคลี่คลายแล้ว โรงเรียนกลับมาเปิดเรียนเต็มรูปแบบ เด็กอนุบาลที่ผ่านช่วงเวลาการเรียนออนไลน์ ได้กลับเข้าไปนั่งเรียนในห้องเรียนในฐานะพี่วัยประถมต้น แต่พบว่าพัฒนาการยังเท่าเดิมหรือบางคนถอยหลัง เนื่องจากไม่มีการฟื้นฟูทักษะเพื่อเรียกศักยภาพที่หล่นหายไปคืนมา 

ผศ.พรพิมล คีรีรัตน์ มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ในฐานะโค้ชโครงงานฐานวิจัยโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) โดย กสศ. กล่าวไว้ในงานวิจัยว่า การที่เด็กคนหนึ่งเขียนหนังสือได้ช้าหรือเขียนไม่เสร็จ ล้วนมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับพัฒนาการที่บกพร่องของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ในร่างกายแทบทั้งสิ้น

ดังนั้นการบังคับให้เด็กเล็ก ‘เขียนหนังให้ได้’ หรือ ‘เขียนหนังสือให้สวย’ ก่อนวัยอันควร ผ่านคำพูดเชิงตำหนิที่ซ่อนความหวังดี จึงอาจไม่ใช่แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง เพราะเรื่องที่สำคัญที่สุดของเด็กวัยนี้คือการส่งเสริมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กของพวกเขาและท้ายที่สุดทักษะการใช้มือและนิ้วมือทำงานที่เป็นไปตามพัฒนาการจะช่วยสร้างรากฐานของการเขียนและทักษะการช่วยเหลือตัวเองของพวกเขาได้ในระยะยาวต่อไป

ทําไมเด็กเล็กจึงยังเขียนไม่ได้ดี?

“ทำไมลูกฉันยังเขียนหนังสือไม่ได้”

หนึ่งในความกังวลของพ่อแม่และครูหลายท่านที่มีต่อเด็กเล็ก ต้องเริ่มทำความเข้าใจก่อนว่าการที่เด็กคนหนึ่งจะเขียนหนังสือได้หรือไม่ได้นั้นขึ้นอยู่กับลำดับขั้นของพัฒนาการ

การเร่งให้เด็กวัยอนุบาลเขียนตัวหนังสือยากๆ หรือประโยคยาวๆ เพราะคิดว่าเป็นการวัดระดับหรือเกณฑ์บ่งชี้ว่าเด็กมีศักยภาพในการเรียนรู้ขั้นสูงหรือเป็นเด็กฉลาด จึงเป็นความเข้าใจที่ผิด 

การที่เด็กจะเขียนดีได้ก็ต่อเมื่อพวกเขามีร่างกายและจิตใจที่พร้อม จนส่งผลต่อการเตรียมกล้ามเนื้อเด็กตามลำดับขั้น และเกิดเป็นความสามารถในการเขียนที่ดีในระยะยาว 

เมื่อการเรียนรู้ถูกขังอยู่ในระบบออนไลน์เป็นเวลานาน นั่นเท่ากับว่าเรากำลังฝืนธรรมชาติของพัฒนาการเด็กเล็ก อีกทั้งการถูกบังคับให้จดจ่อกับหน้าจอแทนการได้เล่นและเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเพียงพอ ยังส่งผลต่ออารมณ์ก่อเกิดเป็นความหงุดหงิด งุ่นง่าน รวมทั้งการคงสมาธิจดจ่อต่อสิ่งใดได้ไม่ต่อเนื่อง ทําให้ทํากิจกรรมไม่เสร็จและรอคอยได้ไม่นาน

ครูเม-เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาจากเพจตามใจนักจิตวิทยา ให้ข้อมูลสำคัญไว้ในรายงานฉบับพิเศษห้องเรียนฟื้นฟูหลัง COVID-19 ถึงสาเหตุ ‘ทําไมเด็กเล็กจึงยังเขียนไม่ได้ดี’ ได้อย่างน่าสนใจว่า 

“หลักฐานจากภาพถ่ายเอกซเรย์ทําให้ เราได้มองเห็นความแตกต่างที่พบระหว่างเด็ก 2 ปี กับ 7 ปี และผู้ใหญ่อย่างชัดเจน ซึ่งส่งผลให้มือของเด็กเล็กทํางานได้ไม่ดีเทียบเท่าผู้ใหญ่”

โดยพบว่ากระดูกข้อมือของเด็กอนุบาลวัย 2 ปี กระดูกข้อมือยังเติบโตได้ไม่เต็มที่ กระดูกหลายชิ้นยังคงเป็นกระดูกอ่อน (Cartilage) ในขณะที่กระดูกข้อมือของเด็กวัย 7 ปี และวัยผู้ใหญ่นั้นพบว่า กระดูกข้อมือเติบโตจนเกือบเต็มบริเวณตามลําดับ

ที่สำคัญในมือของเด็ก วัย 2 ปี ยังมีช่องว่างมากมาย ทั้งในบริเวณฝ่ามือและข้อต่อของนิ้วมือที่รอให้กล้ามเนื้อกับเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue: เนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่ยึดเหนี่ยวหรือพยุงอวัยวะให้คงรูปอยู่ได้) เติบโตเพื่อเติมเต็มช่องว่างเหล่าน้ัน

ในขณะที่เด็กวัย 7 ปีและวัยผู้ใหญ่นั้นพบว่ากล้ามเนื้อมีการเชื่อมต่อกันอย่างชัดเจน ส่งผลให้ข้อมือและนิ้วมือต่างๆ มีความแข็งแรงมากขึ้นตามลําดับ ด้วยเหตุนี้ทําให้เด็กก่อนวัยเรียนหยิบจับอุปกรณ์และสิ่งต่างๆ รวมทั้งควบคุมการขีดเขียนได้ไม่เทียบเท่าเด็กวัยเรียนและผู้ใหญ่ เราจึงพบว่าเด็กเล็กๆ มักทําของหลุดมืออยู่เสมอ

ดังนั้นก่อนที่เด็กเล็กจะเขียนได้ พวกเขาควรมีกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่แข็งแรงก่อน อันได้แก่ แขน ขา และแกนกลางลําตัว เพื่อส่งไม้ต่อไปที่กล้ามเนื้อมัดเล็ก อันได้แก่ นิ้ว มือ ข้อมือ ดวงตา จะถูกพัฒนาเป็นขั้นลำดับ

ครูเม ยังได้อธิบายถึงความสำคัญกล้ามเนื้อมัดใหญ่ไว้ว่า การที่กล้ามเนื้อมัดใหญ่แข็งแรงจะทำให้เด็กๆ สามารถทรงตัวและมีท่านั่งอย่างมั่นคงและต่อเนื่องในช่วงวัยเรียน ส่งผลให้ร่างกายเคลื่อนไหวด้วยการเดิน การวิ่ง การขึ้น บันได และปีนป่ายสิ่งต่างๆ อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายจากการฝึกฝนดังกล่าว กล้ามเนื้อมัดเล็กจะถูกพัฒนาไม่ว่าจะเป็นมือและนิ้วทั้งสิบของพวกเขา สะท้อนผ่านการหยิบจับสิ่งต่างๆ และจับอุปกรณ์เพื่อขีดเขียน ตัด และอื่น ๆ 

กว่าเด็กคนหนึ่งจะเขียนได้ เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง 

จุดเริ่มต้นของพัฒนาการจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเด็กรู้สึกไว้วางใจร่างกายของตนเอง เด็กต้องได้รับการเตรียมกล้ามเนื้อไม่ว่าจะมัดใหญ่หรือมัดเล็ก เพื่อไปสู่การใช้กล้ามเนื้อที่ละเอียดประณีตมากขึ้นเป็นลำดับ 

นอกจากนั้น เมื่อเด็กๆ มอบความไว้ใจและมั่นใจในความสามารถของร่างกายตัวเองมากเท่าไร กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของพวกเขายิ่งถูกพัฒนามากขึ้นเท่านั้น

รายงานฉบับพิเศษห้องเรียนฟื้นฟูหลัง COVID-19  ได้นิยามความรู้สึก“ฉันสามารถทําได้” ในความหมายของเด็กเล็กแปลว่าความสำเร็จเชิงรูปธรรมที่เด็กๆ สามารถรับรู้ได้ด้วยตัวเอง 

ยกตัวอย่าง เมื่อพวกเขาเจอคูน้ำที่อยู่ตรงหน้า สิ่งที่จะพาเขาข้ามไปได้คือร่างกายที่มั่นใจ เมื่อไรก็ตามที่เขารู้สึกไม่ปลอดภัยเขาจะหาตัวช่วยทันที พ่อแม่และครูสามารถสังเกตลูกได้ผ่านโจทย์ในลักษณะเดียวกันที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น ทำไมลูกเกาะราวบันไดทุกครั้งและตลอดเมื่อเดินขึ้นลง สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะเขาอาจไม่มั่นใจว่าร่างกายจะช่วยให้เขาปลอดภัยตอนขึ้นลงบันไดก็เป็นได้ 

ดังนั้นก่อนที่เด็กเล็กจะเขียนหนังสือได้ กล้ามเนื้อมัดใหญ่- กล้ามเนื้อมัดเล็ก-แกนกลางลําตัวต้องแข็งแรงและทนทาน สมาธิและสมองของเขาพร้อมเปิดรับการเรียนรู้

นอกจากนี้ ครูเม-เมริษา ในฐานะนักจิตวิทยา ยังอธิบายถึงลำดับขั้นตอนที่เกี่ยวกับพัฒนาด้านการเขียนของเด็กไว้ว่า กว่าที่เด็กคนนึงจะเขียนหนังสือได้นั้นจำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการฝึกฝนทางด้านร่างกายทั้ง 8 ลำดับต่อไปนี้

ขั้นที่ 1 : Hand and Finger Strength 

หมายถึง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือและนิ้วมือ เพื่อที่พวกเขาจะได้จับอุปกรณ์การเขียนได้

ขั้นที่ 2 : Crossing the Midline 

ระยะนี้เรียกว่าข้ามเส้นกึ่งกลาง วิธีสังเกตในระยะนี้คือหากเด็กเอื้อมไปทั่วร่างกายเพื่อไปยังปลายเท้าทั้งสองข้างของร่างกายได้ จะสามารถเขียนทั้งสองแถบบนพื้นที่กระดาษได้

ขั้นที่ 3 : Correct Pencil Grasp 

เด็กสามารถจับดินสอได้ถูกต้อง โดยต้องดูตามความเหมาะสมตามวัย

ขั้นที่ 4 : Hand Eye Coordination 

เมื่อดวงตามองและมือเอื้อมจับสิ่งของได้ถูกต้อง แปลว่ากล้ามเนื้อมัดเล็กอย่างดวงตาและมือทำงานประสานกันได้ดี

ขั้นที่ 5 : A Strong Core 

ความแข็งแรงของแกนกลางร่างกายสำคัญมาก เพราะมีผลต่อการนั่งเขียนได้อย่างมั่นคง

ขั้นที่ 6 : A Strong Neck 

ความแข็งแรงของคอสำคัญมาก เพื่อที่เด็กจะนั่งเขียนโดยที่ศีรษะตั้งอยู่มั่นคง

ขั้นที่ 7 : A Strong Shoulders and Wrists

การมีหัวไหล่และข้อมือทั้งสองข้างที่แข็งแรง ส่งเสริมให้เด็กเขียนหนังสือได้โดยไม่เมื่อยล้าไปเสียก่อนและยังเกี่ยวข้องกับการลงน้ำหนักการเขียนอย่างเหมาะสม ไม่หนักหรือเบาจนเกินไป

ขั้นที่ 8 :  Visual Perception

สุดท้ายคือการรับรู้ภาพ เพื่อแยกแยะความแตกต่างระหว่างภาพ เพื่อพัฒนาไปสู่การจดจําภาพและตัวอักษรที่แตกต่างกัน 

เขียนหนังสือไม่ได้ ≠ เรียนไม่เก่ง

ถึงแม้ว่า ‘การเขียน’ จะเป็นหนึ่งในทักษะที่ผู้ใหญ่เป็นกังวลมากทักษะหนึ่งเพราะสําหรับโรงเรียนส่วนใหญ่แล้ว การเขียนเป็นแบบทดสอบว่า เด็กพร้อมสำหรับการเขียนหรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม นอกจากทักษะการเขียนแล้ว ยังมีอีกหลายมิติที่เราควรให้ความสำคัญในช่วงที่เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) หลังสถานการณ์โรคระบาด ไม่ว่าจะเป็น ‘ทักษะการช่วยเหลือตนเอง’ ‘ทักษะการสื่อสาร’ และอื่นๆ ที่อาจมีความสําคัญต่อเด็กอนุบาลและเด็กประถมก่อนการเขียนเสียด้วยซ้ํา

สุดท้ายความสําคัญของการเขียนจึงไม่ใช่แค่เพื่อให้ได้ตัวอักษรที่สวยงาม แต่เพื่อให้เด็กได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กของเขาให้มือจดจำน้ำหนักและทิศทางการเคลื่อนไหว เพื่อให้สมองได้พัฒนาและการควบคุมน้ำหนักมือจะช่วยให้เขาควบคุมตนเองได้ดีและเติบโตไปอย่างคุณภาพ

“เกิดอะไรขึ้นกับลูกของเรา?”
ชวน ‘พ่อแม่’ สังเกตสัญญาณเตือนในบ้านที่อาจเกี่ยวกับอาการกล้ามเนื้อบกพร่องของลูก
– ลูกไม่สามารถเดินโดยเอาปลายเท้าต่อปลายเท้าและทรงตัวไม่ได้
– ลูกไม่สามารถกระโดดขาเดียวและกระโดดสองขาพร้อมกันได้
– ลูกไม่สามารถนอนหงายราบ ยกศีรษะจากพื้น โดยหัวไหล่ลอยจากพื้น
– ลูกจับดินสอผิดวิธี มีอาการเกร็งมือและเกร็งตัวขณะเขียน และไม่สามารถจัดท่านั่งให้พอดี ต้องก้มหรือนอนเขียน ไม่สามารถควบคุมการเขียนหนังสือเองได้
– ลูกไม่สามารถใช้กรรไกรตัดกระดาษ หรือจับกรรไกรไม่ถูก ไม่มีแรงง้างและกดกรรไกร
– เมื่อทำกิจกรรมต่างๆ มือและตาของลูกไม่ประสานกันขณะทำงาน
– ลูกเขียนหนังสือช้า อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แม้คําพื้นฐาน 
– ลูกหยิบจับไม่คล่อง ทําของตกบ่อย
– ลูกพูดเป็นคำสั้นๆ ไม่สามารถพูดเป็นประโยคหรือเล่าเรื่องได้ 
– ลูกเดินขึ้นลงบันไดได้ทีละขั้นและต้องใช้ 2 มือจับราวบันได 
– ลูกไม่อยากไปโรงเรียน งอแง ไม่มั่นใจ ไม่โต้ตอบ ไม่สื่อสาร และไม่มีความสุขในการเรียนหนังสือ 

ย้อนอ่านความสำคัญของกล้ามเนื้อมัดเล็กและสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับเด็กอนุบาลในช่วงหลัง COVID-19 ได้ที่ : https://mutualfinding.co/learningloss01/

ที่มา : รายงานฉบับพิเศษห้องเรียนฟื้นฟูหลัง COVID -19

https://creativeschools.eef.or.th/article-201022/