‘เดอะแบก’ ชีวิตของแรงงานที่ไม่มีวันหยุด เพราะชีวิตเราขับเคลื่อนด้วยเงิน เงิน และเงิน 

ที่ทำงานใครหยุดบ้างวันนี้?

1 พฤษภาคมของทุกปีคือ ‘วันแรงงานแห่งชาติ’ หรือ May day ซึ่งมีเพื่อยกย่องและให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของ ‘แรงงาน’ คนกลุ่มสำคัญที่สร้างสิ่งต่างๆ ในสังคมและผลักมันให้เคลื่อนต่อไปได้

หลายๆ คนจึงได้หยุดวันนี้ ขณะที่อีกหลายคนทำงาน

อาจจะเป็นพนักงานบัญชีที่ต้องเร่งทำเอกสารการเงิน 

หรือป้าแม่บ้านที่เข้ามาทำความสะอาดออฟฟิศเกือบจะทุกวัน แม้ในวันที่ไม่มีคนมาทำงาน 

พนักงานรักษาความปลอดภัยที่อยู่เกือบจะเป็นคนสุดท้าย เพื่อดูแลความปลอดภัยของทุกคน

มีหลายเหตุผลที่ทำให้เราต้องทำงานในวันหยุด หนึ่งในนั้นคือการเป็น ‘เดอะแบก’ แบกรับชีวิตตัวเองและ หรือชีวิตคนอื่นๆ เป็นเหตุให้พวกเขาทำงานหนักเพื่อมั่นใจว่าจะมีรายได้มาเลี้ยงดูคนในความรับผิดชอบ

รวมถึงแบกรับความเสี่ยงต่างๆ จากการทำงาน ทำให้การต่อสู้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในการทำงานยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้

เนื่องในวันแรงงาน Mutual ชวนไปอ่านบทความที่เล่าถึงชีวิตแรงงานอย่างแรงงานข้ามชาติ ที่จากบ้านมาที่นี่พร้อมความหวังได้คุณภาพชีวิตที่ดี แรงงานอย่างคนไร้บ้านที่แบกรับความมั่นคงของงานที่อาจไม่ได้มีตลอดไป และไรเดอร์ที่แบกรับความเสี่ยงตลอดเวลาทำงาน

มันอาจย้ำเตือนว่า แรงงานไม่จำเป็นต้องเป็น ‘เดอะแบก’ ในชีวิตจริงหรือที่ทำงาน หากอยู่ในสังคมที่ให้ความสำคัญกับ ‘แรงงาน’ จริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่แสดงออกด้วยการมีวันหยุดหนึ่งวัน

“เราอยู่บ้านทำไร่ทำนา พอทำจบค่อยไปทำไร่อ้อย เราปลูกอะไรต้องรอ 3 – 4 เดือนกว่าจะได้เงิน แต่พอเรามาอยู่เมืองไทย มีงานให้ทำทุกวัน บางที่ได้ทุกวัน บางที่ได้เงิน 15 วัน มีรายได้กำไร อยู่บ้านทำไร่ กว่าจะเก็บข้าวได้ ได้เงินก็ 2 ครั้งต่อปี จะกินอะไรล่ะ? จะหารายได้อะไรก็ยาก นายจ้างมันน้อย แต่กรุงเทพฯ มีงานให้ทำทุกวัน เงินได้ทุกวัน” 

‘สิงห์ อภิชาติ’ ชาวปะโอที่อาศัยอยู่ที่ประเทศพม่า ตัดสินใจเดินทางมาอยู่ที่ประเทศไทยได้หลายปี เพราะ ‘ความหวัง’ ที่ว่าการทำงานที่ประเทศไทยจะทำให้เขามีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ปริมาณงานและรายได้ก็เป็นสิ่งที่สิงห์เจอตามที่เขาตั้งใจไว้ แต่ก็ตามมาด้วยความยากของการอยู่ที่นี่ โดยเฉพาะการทำเอกสารทางกฎหมาย

‘ใจดี แก่ทุต’ แรงงานข้ามชาติอีกคน เล่าว่า เอกสารที่แรงงานข้ามชาติแบบถูกกฎหมายต้องทำมี 3 อย่างด้วยกัน เอกสารแรก คือ CI (Certificate of Identity) หรือที่พวกเขาเรียกกันว่าพาสปอร์ตสีเขียว เป็นเอกสารรับรองบุคคลต่างชาติมีสิทธิอยู่และทำงานในไทยอย่างถูกกฎหมาย

เอกสารที่ 2 คือ ใบขออนุญาตทำงาน (Work Permit) และสุดท้ายเป็นวีซ่า รวมค่าใช้จ่ายในการทำเอกสารทั้งสามอย่างอยู่ที่ประมาณ 12,000 บาท ซึ่งเอกสารต้องมีการต่ออายุทุกๆ 2 ปี แต่ความยากของสิ่งนี้ที่ใจดีและคนอื่นๆ เจอ คือ ระยะเวลาดำเนินการนาน ทำให้มีผลตอนเจอเจ้าหน้าที่ขอตรวจเอกสารเพื่อยืนยันว่าอยู่อย่างถูกกฎหมาย แต่พวกเขาไม่มีเอกสารให้ดู  

“ถ้าเจอเจ้าหน้าที่หรือตำรวจแล้วเขาบอกว่าเอกสารมีปัญหา เช่น เอกสารใช้ไม่ได้ หรือเราออกนอกเขต ตำรวจจะให้จ่าย 2,000 บาท หรือถ้าบอกว่ากำลังอยู่ในช่วงต่ออายุเอกสาร ตำรวจจะให้จ่ายประมาณ 12,000 บาทก็มี มีบางคนที่โดนข้อหาว่าไม่ได้พกเอกสารติดตัว เขาก็จะโทรให้ญาติเอามาให้ แต่บางคนไม่สู้ก็ยอมจ่ายตามที่เจ้าหน้าที่บอก 

แม้การอยู่ที่นี่จะไม่ง่าย แต่แรงงานข้ามชาติหลายคนก็ขออยู่สู้ต่อ เพราะพวกเขาเห็นความหวังของชีวิต มากกว่าการอยู่ที่บ้านเกิดของพวกเขาเอง

อ่าน “เหมือนเวลาคนไทยไปทำงานต่างประเทศ เราเองก็อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น” คุยกับแม่บ้าน ช่างทาสี พนักงานเสิร์ฟ อาชีพที่ ‘แรงงานข้ามชาติ’ ทำ แต่เราไม่ทำ

‘รับจ้างต่อคิว’

เป็นหนึ่งในลิสท์อาชีพที่ ‘คนไร้บ้าน’ สามารถทำได้ เพราะข้อจำกัดทางสถานะของพวกเขาที่ทำให้หางานยาก และมันก็เป็นการทำงานที่ต้องอาศัยความอดทนในการรอต่อคิวซื้อของที่ไม่ใช่แค่หลักชั่วโมง แต่เป็นหลักวัน ทำให้คนไร้บ้านหลายคนเลือกทำอาชีพนี้

‘พิม’ (นามสมมติ) คนไร้บ้านที่ทำอาชีพนี้เล่าถึงขั้นตอนของการทำงานว่า เริ่มต้นเมื่อนายจ้างโทรศัพท์มาบอกว่ามีงานจองสินค้าพร้อมกับแจ้งสถานที่และจำนวนคนที่ต้องการ หน้าที่ของพิม คือ แจ้งข่าวให้เพื่อนคนอื่นๆ ที่ทำงานอยู่กลุ่มเดียวกันรับรู้ผ่านไลน์กลุ่ม เมื่อได้ผู้สนใจรับงานครบจำนวน ทุกคนจะมารวมตัวกับเพื่อออกเดินทางไปพร้อมกัน   

“คำว่า ‘ออกเดี๋ยวนี้’ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน สภาพยังไง ใส่รองเท้าแล้วออกเลย เพื่อที่จะไปรอหน้าห้าง มันอยู่ใกล้แค่นี้ เคาะเรียก วิ่งตามกัน แล้วนั่งแท็กซี่ไป”   

สินค้าบางชนิดรอเพียงคืนเดียว บางชนิดก็ต้องรอ 15 วันกว่าจะได้คิว คนไร้บ้านจึงเรียกช่วงเวลาการรอนี้ว่าเป็น ‘การนอนแคมป์’ ซึ่งหมายถึงใช้ชีวิตหน้าห้างสรรพสินค้าหรือลานจอดรถ  

“เราต้องไปตั้งหัวคิวก่อน ไม่งั้นเราต้องไปต่อเขา พี่ห้องโน้นไปมาวันนี้ รองเท้ามี 16 คู่ 100 กว่าคน ถ้าคุณเกินที่ 16 จากที่ได้ 500 อาจจะเหลือ 200 บาท ซึ่งบางทีต้องวิ่งแข่งกัน เราเคยไปซื้อนาฬิกาโดนเหยียบจนขาพลิก เพื่อที่จะเอาเงิน เพราะเงิน 1,000 มันสำคัญสำหรับพวกเรามาก งานวันนั้นวันเดียว เราได้ค่าห้องแล้ว” 

ความยากอย่างหนึ่งของการทำงานรับจ้างต่อคิว คือ งานอาจไม่ได้มีทุกวัน หรือนานๆ มาที ทำให้พวกเขาต้องมองหางานอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจว่ายังมีรายได้เพียงพอเลี้ยงตัวเอง แล้วจะไม่ทำให้เขาต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมอีก

อ่าน ‘รับจ้างต่อคิว’ อาชีพที่ทำให้คนไร้บ้านมีบ้านให้กลับ

“ระบบการรับงานของไรเดอร์จะแบ่งเป็น 2 แบบ แบบที่ 1 ยิงงานเข้าหาตัวเอง และแบบที่ 2 แย่งกันกดงาน แบบยิงงานเข้าหาตัว คือ เราเปิดรับงานไว้ในหน้าแอปรอให้งานเด้งเข้ามาโดยอัตโนมัติ”

‘เรย์’ อนุกูล ราชกุณา ไรเดอร์และแอดมินประจำเพจสหภาพไรเดอร์ เล่าให้ฟังถึงวิธีทำงานของไรเดอร์ที่ต้องแข่งทั้งกับเวลาและระบบ 

“แบบแย่งงานคือเมื่องานเด้งขึ้นมา คุณก็กดเลือกทำงานนั้น ถ้าคุณช้าเพียงเสี้ยววินาที คนอื่นก็ได้งานไป เห็นไหมที่ไรเดอร์อยู่อย่างนี้บนรถ (ทำท่ากดมือถือแบบรัวๆ) คือเขากำลังเร่งกดรับงาน มันเป็นสภาวะแข่งขันที่แพลตฟอร์มสร้างขึ้นมา ทำให้ไรเดอร์แย่งกันกิน ทะเลาะกันเอง  การแย่งรับงานยังส่งผลต่อความปลอดภัยบนท้องถนน หลายคนมองแบบปัจเจก โทษไรเดอร์ที่ขับรถฝ่าไฟแดง แต่ถ้ามองที่โครงสร้าง แพลตฟอร์มต่างหากที่กำหนดกติกา ให้ไรเดอร์วิ่งงานมากขึ้น เร็วขึ้น อันตรายขึ้น”

เป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมไรเดอร์ถึงต้องขับรถอย่างเร่งรีบ หรือทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพราะพวกเขาต้องการทำรอบงานให้ได้เยอะๆ เพื่อให้มีรายได้เพียงพอ 

การทำงานบนความเสี่ยงและไร้การคุ้มครองก็ทำให้ไรเดอร์ต้องแบกรับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเอง

“บางบริษัทมักตั้งเงื่อนไขประมาณว่า คุณจะได้รับสวัสดิการก็ต่อเมื่อคุณรับงานครบ 350 งานต่อเดือน ไรเดอร์ก็ต้องเร่งรับงานให้ครบ ถ้าทำไม่ครบก็จะไม่ได้การคุ้มครองหรือสวัสดิการ เช่น ประกันอุบัติเหตุ กลายเป็นเจ็บฟรี ตายฟรี 

“ประกันอุบัติเหตุที่แพลตฟอร์มทำให้ส่วนใหญ่จะเป็นประกันชั้น 2 ซึ่งคุ้มครองทุกกรณี แต่ไม่คุ้มครองเรา แล้วเบิกยาก แทบเคลมไม่ได้”

สิ่งที่ไรเดอร์หลายคนต้องการ ไม่ใช่การเปลี่ยนงานใหม่ที่ปลอดภัย แต่การทำให้อาชีพนี้มีสวัสดิการและรับการคุ้มครองเหมือนอาชีพอื่นๆ เพราะบริบททุกวันนี้บอกเราว่าพวกเขามีความสำคัญกับชีวิตประจำวันเรา ในการทำหน้าที่แทนหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะซื้อข้าว พาไปส่งในที่ที่ต้องการ หรือส่งของให้เรา

“เราไม่ควรมองสิ่งที่ไรเดอร์เจอเป็นเรื่องโรแมนติก เพราะมันคือการบดบังปัญหาที่แท้จริง ทำไมไรเดอร์ต้องทำงานตากฝน หรือเอาลูกมาทำงาน ถ้าค่ารอบมันเพียงพอเหมาะสมกับการเลี้ยงชีพ ทำงานไม่กี่ชั่วโมงก็สามารถหยุดงานเพื่อมาอยู่กับลูกได้แล้ว เป็นแบบนี้มันจะไม่ดีกว่าหรอ”

อ่าน “ไม่ต้องเรียก ‘พาร์ทเนอร์’ ก็ได้ แค่มี ‘สวัสดิการ’ ให้เราก็พอ” ความเปราะบางบนมอเตอร์ไซค์ กับ เรย์ อนุกูล ราชกุณา สหภาพไรเดอร์